กระจงควาย
กระจงควาย | |
---|---|
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Mammalia |
อันดับ: | Artiodactyla |
วงศ์: | Tragulidae |
สกุล: | Tragulus |
สปีชีส์: | T. napu |
ชื่อทวินาม | |
Tragulus napu (F. Cuvier, 1822) | |
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของกระจงควาย |
กระจงควาย หรือ กระจงใหญ่ (อังกฤษ: Greater mouse-deer, Napu) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในอันดับสัตว์กีบคู่ชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tragulus napu อยู่ในวงศ์ Tragulidae
มีขาเล็กเรียว ซึ่งมีนิ้วเท้าข้างละ 4 นิ้ว ทั้งตัวผู้และตัวเมียไม่มีเขา แต่ตัวผู้จะมีเขี้ยวบนยาวเลยริมฝีปากบนลงมา เมื่อโตเต็มวัยมีน้ำหนักตัวประมาณ 5 กิโลกรัม ขนบนตัวสีน้ำตาลออกเทา มีจุดสีเข้มกว่ากระจายอยู่ทั่วไป ที่ใต้คอและบนหน้าอกมีลายพาดตามยาวสีขาว 5 ลาย ด้านใต้ท้องสีขาว หางค่อนข้างสั้นสีน้ำตาลอ่อนด้านบนและสีขาวด้านล่าง
ปกติชอบอยู่โดดเดี่ยว นอกจากในฤดูผสมพันธุ์จึงจะอยู่เป็นคู่ ออกหากินในเวลากลางคืน กินอาหารได้แก่ หญ้าอ่อน ๆ, ผลไม้, ยอดไม้ และใบไม้อ่อน ในเวลากลางวันจะหลบพักนอนตามหลืบหินและโพรงไม้ ออกลูกครั้งละ 1 ตัว แต่บางครั้งก็พบออกลูกแฝด ระยะตั้งท้องนานประมาณ 5-6 เดือน
พบกระจายพันธุ์ตั้งแต่ตอนใต้ของประเทศพม่า, เทือกเขาตะนาวศรี ไปจนถึงแหลมมลายู, เกาะสุมาตรา และเกาะบอร์เนียว นอกจากนี้แล้วยังพบได้ที่ภาคตะวันออกของไทยไปจนถึงตอนใต้ของกัมพูชาและเวียดนาม จัดเป็นกระจงอีกชนิดหนึ่ง ที่สามารถพบได้ในประเทศไทยนอกจาก กระจงเล็ก (T. kanchil) ที่มีขนาดตัวเล็กกว่า โดยมักอาศัยอยู่ในป่าดิบชื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ บางครั้งยังอาจพบได้ที่พื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น ป่าพรุหรือป่าชายเลนได้อีกด้วย
จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 2 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 [2]
อ้างอิง
แก้- ↑ Timmins, R.J., Duckworth, J.W., Steinmetz, R. & Pattanavibool, A. (2008). Tragulus napu. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 29 March 2009. Database entry includes a brief justification of why this species is of least concern
- ↑ ชุติอร กาญวัฒนกิจ. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน. กรุงเทพฯ : กองทุนสัตว์ป่าโลก สำนักงานประเทศไทย, 2543. 256 หน้า. หน้า 119. ISBN 974-87081-5-2
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Tragulus napu ที่วิกิสปีชีส์