นกยูงไทย
นกยูงไทย หรือ นกยูงสีเขียว (อังกฤษ: Green peafowl; ชื่อวิทยาศาสตร์: Pavo muticus มาจากภาษาละติน Pavo, นกยูง; muticus, เชื่อมต่อ หรือ ตัดทอน)[2] เป็นไก่ฟ้าขนาดใหญ่ที่พบในป่าเขตร้อนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นญาติใกล้ชิดกับนกยูงอินเดียหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่านกยูงสีฟ้า (ชื่อวิทยาศาสตร์: Pavo cristatus) ที่ส่วนมากพบในอนุทวีปอินเดีย โดยจัดให้อยู่ในกลุ่มชนิดใกล้สูญพันธุ์ตามบัญชีแดงไอยูซีเอ็นตั้งแต่ ค.ศ. 2009 เนื่องจากประชากรทั่วโลกลดลงอย่างมากและมีการกระจัดกระจายอย่างมากจากการสูญเสียที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ[1]
นกยูงไทย | |
---|---|
เพศผู้ | |
เพศเมีย | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอต Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง Chordata |
ชั้น: | สัตว์ปีก Aves |
อันดับ: | อันดับไก่ Galliformes |
วงศ์: | วงศ์ไก่ฟ้าและนกกระทา Phasianidae |
สกุล: | Pavo Pavo Linnaeus, 1766 |
สปีชีส์: | Pavo muticus |
ชื่อทวินาม | |
Pavo muticus Linnaeus, 1766 | |
ชนิดย่อย | |
ของเขตของนกยูงไทย |
ลักษณะ
แก้นกยูงไทยเป็นนกจำพวกไก่ฟ้าขนาดใหญ่ นกตัวผู้อาจยาวได้ถึง 3 เมตรเมื่อรวมหาง อาจหนักถึง 5 กก. ตัวเมียยาว 1.1 เมตร หนักประมาณ 1.1 กก. ช่วงปีกกว้าง 1.2 เมตร นกตัวผู้มีหงอนเป็นพู่สูงและมีแผ่นหนังที่หน้าสีฟ้าสลับสีเหลืองเห็นได้ ชัดเจน ขนลำตัวมีสีเขียวเป็นประกายแววเหลือบสีน้ำเงินบนปีกและสีทองแดงทางด้านข้าง ลำตัวดูเป็นลายเกล็ดแพรวพราวไปทั้งตัว ขนปีกบินสีน้ำตาลแดง ขนคลุมโคนหางยื่นยาวออกมาก มีสีเขียวและมีจุดดวงตากลมที่ขลิบด้วยสีฟ้าและสีน้ำเงิน นกตัวเมียลักษณะโดยทั่วไปคล้ายนกตัวผู้ แต่ขนสีเหลือบเขียวน้อยกว่าและมีประสีน้ำตาลเหลืองอยู่ทั่วไป ขนคลุมโคนหางไม่ยื่นยาวดังเช่นในนกตัวผู้ นกยูงไทยบินได้เก่งกว่านกยูงอินเดีย
นกตัวผู้ของสปีชีส์ย่อย imperator และ spicifer มีสีเขียวออกฟ้า ชนิดย่อยแรกมีสีเขียวเหลือบที่อก คอ ปีกด้านใน และด้านนอกขนปีกกลาง ชนิดหลังสีทึบกว่า อกและคอสีออกฟ้ากว่า มีสีดำมากกว่าตรงปีกด้านใน และด้านนอกขนปีกกลาง ขณะที่ชนิดย่อย muticus มีขนสีเขียวทองมีสีฟ้าเล็กน้อยบนคอและอก ขนอกและคออาจเปลี่ยนได้หลากหลายขึ้นอยู่กับอายุและเพศ[3]
การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย
แก้นกยูงมีการกระจายพันธุ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในรัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย[4] ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีนจนถึงลาว ไทย เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซียตะวันตก และ อินโดนีเซีย ในประเทศไทยพบในภาคเหนือและภาคตะวันตก[5]
นกยูงไทยพบได้ในถิ่นอาศัยหลากหลายไม่ว่าจะเป็นป่าเก่าหรือป่าปลูกในระดับความสูงไม่เกิน 1,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล[4]ทั้งในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน ทั้งพบได้ในป่าไผ่ ทุ่งหญ้า เช่นกัน ในเวียดนามพบนกอาศัยอยู่ป่าแล้งผลัดใบใกล้แหล่งน้ำและห่างจากการรบกวนของมนุษย์[6] แหล่งน้ำนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญของถิ่นอาศัย[7]
การจัดจำแนก
แก้ตามคำแนะนำของตัวแทนผู้ก่อตั้งสมาคมไก่ฟ้าโลกและนักปักษีวิทยา ฌ็อง เดอลากูร์ แบ่งออกเป็น 3 ชนิดย่อย:[3][8][9]
- P. m. muticus (ชนิดย่อยที่ได้รับการตั้งชื่อตามสปีชีส์) – นกยูงชวา หรือ นกยูงใต้ พบในชวา มาเลเซียตะวันตกจากทางเหนือไปทางใต้จนถึงรัฐเกอดะฮ์
- P. m. imperator – นกยูงอินโดจีน หรือ นกยูงเหนือ พบในพม่าจนถึงไทย ตอนใต้ของจีนและอินโดจีน
- P. m. spicifer – นกยูงพม่า พบทางตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า ตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียและบังคลาเทศ
ผู้แต่งบางคนเสนอให้ประชากรที่พบในยูนานแยกเป็นอีกชนิดย่อยหนึ่ง[10] ปัจจุบันไม่พบนกยูงไทยในสุมาตราและบอร์เนียวแล้ว และบันทึกการพบทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียก็เป็นบันทึกเมื่อนานมาแล้วปัจจุบันอาจสูญพันธุ์ไปจากพื้นที่แล้วเช่นกัน[11]
พฤติกรรม
แก้ออกหากินตามหาดทรายและสันทรายริมลำธารในตอนเช้าตรู่จนกระทั่งถึง ตอนบ่ายกินทั้งเมล็ดพืชและสัตว์เล็ก ๆ แล้วจึงบินกลับมาเกาะนอนอยู่บนยอดไม้สูง ปกติอยู่เป็นฝูงเล็ก ๆ 2-6 ตัว ยกเว้นในบางบริเวณ เช่น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี พบนกยูงอยู่รวมกันเป็นฝูงถึง 10 ตัว ซึ่งที่นี่ก็นับเป็นสถานที่ ๆ มีนกยูงไทยอาศัยอยู่มากที่สุดในประเทศไทยด้วย ปัจจุบันมีประมาณ 400 ตัว[12] และยังมีรายงานการพบนกยูงในภาคเหนือที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าวียงลอ ซึ่งสามารถพบนกยูงในช่วงเดือน ตุลาคม - พฤษภาคม ของทุกปี [13] รวมทั้งยังพบนกยูงไทยจำนวนมากในผืนป่าจังหวัดลำพูนและจังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้การดูแลของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าป่าบ้านโฮ่ง[14]
การสืบพันธุ์
แก้ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในระหว่างเดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนเมษายน ขนคลุมโคนหางของนกตัวผู้จะเจริญเต็มที่ในเดือนตุลาคม และจะผลัดขนนี้ในเดือนกุมภาพันธ์ การเกี้ยวพาราสีกันของนกยูงเริ่มเมื่อนกยูงตัวเมียหากินเข้าไปดินแดนของนกตัวผู้ ตัวผู้จะร่วมเข้าไปหากินในฝูงด้วย และแสดงการรำแพนหาง กางปีกสองข้างออกพยุงลำตัว ชูคอขึ้นแล้วย่างก้าวเดินหมุนตัวไปรอบ ๆ ตัวเมีย การรำแพนหางจะใช้เวลาประมาณ 5 - 10 นาที หากตัวเมียพร้อมที่จะผสมพันธุ์จะย่อตัวลงให้ตัวผู้ขึ้นผสมพันธุ์ นกยูงทำรังบนพื้นดินตามที่โล่งหรือตามซุ้มกอพืช อาจมีหญ้าหรือใบไม้แห้งมารองรัง วางไข่ครั้งละ 3 - 6 ฟอง เริ่มฟักไข่หลังจากออกไข่ฟองสุดท้ายแล้ว โดยใช้เวลาฟักทั้งสิ้น 26 วัน ลูกนกแรกเกิดมีขนอุยคลุมทั่วตัว สามารถยืนและเดินตามแม่ไปหาอาหารได้ทันทีที่ขนแห้ง โดยลูกนกจะตามแม่ไปหากินไม่น้อยกว่า 6 เดือน จากนั้นจึงหากินตามลำพัง[4]
ความสำคัญทางวัฒนธรรม
แก้ถึงแม้ว่านกแว่นสีเทาเป็นนกประจำชาติพม่า นกยูงไทยถือเป็นสัญลักษณ์ในอดีตของพระมหากษัตริย์พม่า[15]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 BirdLife International (2018). "Pavo muticus". IUCN Red List of Threatened Species. 2018: e.T22679440A131749282. doi:10.2305/IUCN.UK.2018-2.RLTS.T22679440A131749282.en. สืบค้นเมื่อ 27 January 2022.
- ↑ Johnsgard, P.A. (1999). The Pheasants of the World: Biology and Natural History. Washington, DC: Smithsonian Institution Press. p. 374. ISBN 1-56098-839-8.
- ↑ 3.0 3.1 Zoological Museum Amsterdam. เก็บถาวร 2009-08-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน Accessed 20 April 2008
- ↑ 4.0 4.1 4.2 นกยูงไทย องค์การสวนสัตว์
- ↑ BirdLife International 2006. Threatened birds of Asia: the BirdLife International Red Data Book. Cambridge, UK. pp. 1052–1087 Pavo muticus PDF เก็บถาวร 2011-07-22 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Brickle, Nick W. (2002). "Habitat use, predicted distribution and conservation of green peafowl (Pavo muticus) in Dak Lak Province, Vietnam". Biological Conservation. 105 (2): 189. doi:10.1016/S0006-3207(01)00182-3.
- ↑ Brickle, N. W., Nguyen Cu, Ha Quy Quynh, Nguyen Thai Tu Cuong and Hoang Van San (1998) The Status and Distribution of Green Peafowl Pavo muticus in Dak Lak Province, Vietnam. BirdLife International - Vietnam Programme, Hanoi, VietnamHanoi. PDF[ลิงก์เสีย]
- ↑ Clements, James F. (2007). The Clements Checklist of the Birds of the World (6th ed.). London: Christopher Helm. ISBN 978-0-7136-8695-1.
- ↑ Dickinson, Edward C., บ.ก. (2003). The Howard and Moore Complete Checklist of the Birds of the World (3rd ed.). ISBN 0-7136-6536-X..
- ↑ Madge, Steve; McGowan, Phil (2002). Pheasants, Partridges, and Grouse: A Guide to the Pheasants, Partridges, Quails, Grouse, Guineafowl, Buttonquails, and Sandgrouse of the World. Princeton, NJ: Princeton University Press. ISBN 0-7136-3966-0.
- ↑ Rasmussen, P.C.; Anderton, J.C. (2005). The Birds of South Asia. Smithsonian Institution & Lynx Edicions. ISBN 978-84-96553-85-9.
- ↑ "เรื่องเด่นเย็นนี้". ช่อง 3. 11 December 2014. สืบค้นเมื่อ 11 December 2014.[ลิงก์เสีย]
- ↑ https://www.tnews.co.th/contents/380610
- ↑ https://web.facebook.com/%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%95%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A7%E0%B9%8C%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%AE%E0%B9%88%E0%B8%87-146562265448752/?ref=bookmarks
- ↑ "Burma: historical flags". crwflags.com.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- Arkive images and movies of the green peafowl (Pavo muticus)
- The Green Peafowl of Thailand เก็บถาวร 2022-05-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- Audio recordings of Green peafowl on Xeno-canto.
- BirdLife species factsheet for Pavo muticus
- Green peafowl (Pavo muticus) at gbwf.org
- "Pavo muticus". Avibase.
- "Green peafowl media". Internet Bird Collection.
- นกยูงไทย photo gallery at VIREO (Drexel University)
- แม่แบบ:IUCN Map