กัลมาษบาท

(เปลี่ยนทางจาก Kalmashapada)

ในเทพปกรณัมฮินดู กัลมาษบาท (สันสกฤต: कल्माषपाद กลฺมาษปาท), เสาทาส (สันสกฤต: सौदास), มิตรสหะ (สันสกฤต: मित्रसह), หรือ อมิตรสหะ เป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์อิกษวากุ ซึ่งถูกฤษีวสิษฐะสาปให้กลายเป็นรากษส[1] พระเจ้ากัลมาษบาทเป็นต้นวงศ์ของพระรามซึ่งถือกันว่าเป็นอวตารของเทพวิษณุและเป็นวีรบุรุษในมหากาพย์ฮินดูเรื่อง รามายณะ เอกสารหลายฉบับพรรณนาว่า พระเจ้ากัลมาษบาททรงถูกสาปให้สิ้นพระชนม์ถ้าร่วมประเวณีกับพระมเหสี พระองค์จึงขอให้ฤษีวสิษฐะประทานบุตรให้ด้วยวิธีนิโยคอันเป็นวิธีตามประเพณีโบราณที่ชายสามารถขอให้ภริยามีสัมพันธ์กับชายอื่นเพื่อให้เกิดบุตรได้ [1] พระเจ้ากัลมาษบาทยังปรากฏในร้อยกรองเรื่องสำคัญอย่าง ปุราณะ, มหาภารตะ, และ รามายณะ[1]

ภูมิหลัง แก้

ปุราณะ และ มหาภารตะ ระบุตรงกันว่า พระเจ้ากัลมาษบาทเป็นพระโอรสของพระเจ้าสุทัศน์ แต่ รามายณะ ว่า เป็นพระโอรสของพระเจ้ารัคหุ ขณะที่เอกสารอื่นกลับระบุว่า พระรัคหุทรงเป็นเชื้อสายของพระเจ้ากัลมาษบาท[2] เอกสารทั้งหมดกล่าวเหมือนกันว่า บรรพบุรุษของพระเจ้ากัลมาษบาท คือ พระเจ้าสัคระ และพระเจ้าภคีรถ แต่ระบุต่างกันตรงสายวงศ์ฝ่ายพระเจ้าภคีรถจนถึงพระเจ้ากัลมาษบาท[3][2]

บางฉบับว่า พระเจ้ากัลมาษบาทเป็นที่รู้จักด้วยพระนาม "เสาทาส" อันเป็นชื่อวงศ์ฝ่ายพระบิดา และมีพระนามเดิมว่า "มิตรสหะ" แปลว่า ผู้งดเว้นเพื่อน[4] อรรถกถาซึ่งอธิบาย วิษณุปุราณะ กล่าวว่า มิตรสหะเป็นพระนามที่ทรงได้มาเนื่องจากทรงงดตอบโต้ฤษีวสิษฐะผู้เป็นพระสหาย หลังจากฤษีวสิษฐะสาปแช่งพระองค์[5]

ส่วน พรัหมปุราณะ, วายุปุราณะ, หริวงศ์, และ อัคนิปุราณะ ออกพระนามพระองค์ว่า "อมิตรสหะ" อันแปลว่า ผู้งดเว้น "อมิตร" (ศัตรู) จึงมีการตีความว่า เอกสารเหล่านี้ถือเอาฤษีวสิษฐะเป็นศัตรูของพระองค์[5]

เอกสารกล่าวว่า พระเจ้ากัลมาษบาทเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรโกศล เมืองหลวง คือ อโยธยา พระมเหสี คือ พระนางมทยันตี[1] แต่ ภาควตปุราณะ ว่า พระมเหสี คือ พระนางทมยันตี[3]

การกลายเป็นรากษส แก้

คำสาปของศักติ แก้

มหาภารตะ ว่า ครั้งหนึ่ง พระเจ้ากัลมาษบาทประพาสป่าล่าสัตว์ เสด็จมาถึงทางแคบ ทรงพบศักติมหาฤษี บุตรหัวปีของฤษีวสิษฐะ แต่ไม่ทรงหลีกทางให้ เพราะถือว่า พระองค์ทรงอยู่ในวรรณะกษัตริย์ซึ่งสูงกว่าวรรณะนักบวช ส่วนฤษีศักติก็ไม่หลีกทางให้พระองค์เช่นกัน พระเจ้ากัลมาษบาทพิโรธ ทรงตีฤษีศักติด้วยแส้ในพระหัตถ์ ฤษีศักติจึงสาปให้พระองค์ต้องทรงติดอยู่ในป่า 16 ปี เมื่อฤษีวิศวามิตร คู่แข่งของฤษีวสิษฐะ ทราบเรื่อง จึงส่งรากษสตนหนึ่งไปสิงพระเจ้ากัลมาษบาท เพื่อใช้พระองค์บ่อนทำลายโคตรวงศ์ของฤษีวสิษฐะ ด้วยอำนาจของรากษสที่มาสิงสู่อยู่ในพระองค์ พระเจ้ากัลมาษบาททรงออกล่ามนุษย์เอาเนื้อมาเซ่นสรวงพราหมณ์ จึงทรงกลายเป็นรากษสกินเนื้อมนุษย์ในที่สุด[1][6][7]

คำสาปของวสิษฐะ แก้

ใน ศิวปุราณะ และในภาค อุตตรกัณฑ์ ของ รามายณะ มีเนื้อหาว่า ฤษีวสิษฐะสาปพระเจ้ากัลมาษบาท โดย อุตตรกัณฑ์ ว่า ครั้งหนึ่งขณะเสด็จป่าล่าสัตว์ พระเจ้ากัลมาษบาททรงประหารรากษสตนหนึ่งซึ่งแปลงกลายเป็นลูกเสือ เพื่อนตนอื่น ๆ ของรากษสนั้นจึงคืนร่างแล้วประกาศจะล้างแค้นแทนเพื่อน ส่วน ภาควตปุราณะ และ ศิวปุราณะ ว่า รากษสที่คืนร่างนั้นมิใช่เพื่อน แต่เป็นน้องชายหรือพี่ชาย และไม่ได้ระบุเกี่ยวกับการแปลงกลายเป็นเสือ[3][1] ขณะที่ วิษณุปุราณะ ว่า เป็นยักษ์ มิใช่รากษส[1]

เมื่อเสด็จกลับพระนคร พระเจ้ากัลมาษบาททรงเชิญฤษีวสิษฐะมาร่วมพิธีอัศวเมธ รากษสที่ว่าจะล้างแค้นจึงแปลงตัวเป็นฤษีวสิษฐะมาทูลว่า ตนประสงค์จะบริโภคเนื้อ ขอให้พระองค์จัดมาถวายถึงอาศรมด้วยเถิด แต่ตามปรกติแล้ว นักบวชไม่บริโภคเนื้อ เมื่อพระเจ้ากัลมาษบาทเสด็จพร้อมด้วยพระมเหสีมาถวายเนื้อต่อฤษีวสิษฐะถึงอาศรม ฤษีจึงมองว่า เป็นการดูถูกเหยียดหยาม และสาปให้พระเจ้ากัลมาษบาทกลายเป็นรากษส[1]

ส่วน ภาควตปุราณะ, วิษณุปุราณะ, และ ศิวปุราณะ ว่า รากษสล้างแค้นด้วยการแปลงตนเป็นพราหมณ์เข้าไปในครัวหลวง เมื่อฤษีวสิษฐะมาถึงพระราชวังเพื่อร่วมพิธีสารท รากษสตนนั้นก็ปรุงเนื้อมนุษย์มาถวายฤษี กล่าวว่า เป็นของจากพระมหากษัตริย์ ฤษีจึงโกรธ สาปให้พระเจ้ากัลมาษบาทกลายเป็นรากษสกินเนื้อมนุษย์ ต้องเร่ร่อนอยู่ในป่าเรื่อยไป พระเจ้ากัลมาษบาทเห็นว่า พระองค์มิได้กระทำผิดอันใด ฤษีจึงให้พระองค์กลายเป็นรากษสไปร่อนเร่อยู่ในป่าเป็นเวลา 12 ปีแทน พระเจ้ากัลมาษบาทไม่พอพระทัย ทรงคว้าน้ำมาสาปและจะสาดใส่ฤษีวสิษฐะ พระมเหสีทรงห้ามไว้ แต่น้ำที่สาปแล้วมิอาจลบล้างได้ หากสาดลงดิน พืชพันธุ์ก็พังสิ้น สาดขึ้นฟ้า ฟ้าฝนก็สูญสิ้น หรือสาดไปทิศใด สรรพชีวิตก็ตายสิ้น พระองค์จึงตัดสินพระทัยสาดลงตรงพระบาทของพระองค์เอง เป็นเหตุให้พระบาทกลายเป็นสีกระดำกระด่าง[1][6][3][8]

การเป็นรากษส แก้

มหาภารตะ ว่า การถูกฤษีวสิษฐะสาปให้เป็นรากษส ทำให้พระเจ้ากัลมาษบาททรงเคียดแค้นฤษีวสิษฐะและวงศ์วานยิ่งนัก พระองค์ทรงจับลูกหลานของฤษีวสิษฐะมาสังหารและเสวยเนื้อถึง 99 คนเป็นการล้างแค้น ฤษีวสิษฐะจึงหนีออกจากอาศรมไปธุดงค์ในป่า[1] มหาภารตะ และ ลิงคปุราณะ ว่า ฤษีวิศวามิตรเป็นผู้ยุยงให้รากษสกัลมาษบาทไปจับญาติพี่น้องของฤษีวสิษฐะกิน[9] ส่วนเอกสารที่เก่ากว่าอย่าง พฤหัทเทวตา เอ่ยถึงเจ้าชายกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นโอรสของพระมหากษัตริย์พระนาม สุทัส ออกเข่นฆ่าลูกหลานของฤษีวสิษฐะ[10]

เอกสารหลายฉบับกล่าวอีกว่า เมื่อทรงถูกสาปให้เป็นรากษสอยู่ในป่านั้น พระเจ้ากัลมาษบาททรงพบพราหมณ์ชายหญิงคู่หนึ่งกำลังร่วมรักกัน ขณะที่ทั้งสองกำลังจะถึงจุดสุดยอด พระเจ้ากัลมาษบาททรงเข้าไปจับพราหมณ์หนุ่มเพื่อจะฆ่ากิน พราหมณ์ภรรยาร้องขอให้พระองค์ไว้ชีวิตสามีผู้กำลังจะทำให้นางตั้งครรภ์อยู่แล้ว ทั้งยังวิงวอนว่า การสังหารนักบวชนั้นเป็นบาป แต่พระเจ้ากัลมาษบาทไม่ทรงฟัง ทรงฆ่าพราหมณ์หนุ่มและเสวยเนื้อเขาเสีย พราหมณ์หญิงนั้นจึงสาปให้พระองค์สิ้นพระชนม์ทันทีที่แตะต้องหญิงใดก็ตามด้วยความรู้สึกทางเพศ ครั้นแล้ว พราหมณ์ภรรยาก็เผาร่างสามี แล้วโจนเข้ากองไฟตายตามไป[1][3]

ศิวปุราณะ ระบุต่อว่า บาปแห่งการที่พระเจ้ากัลมาษบาททรงประหารพราหมณ์ เกิดเป็นอสูรกายนามว่า พราหมณหัตยะ ออกตามล่าพระองค์ พระเจ้ากัลมาษบาททรงเร้นหนีอสูรนั้นจนมาถึงราชสำนักของพระเจ้าชนก ที่ซึ่งเคาตมมหาฤษีให้โอวาทแก่พระองค์ และแนะให้พระองค์ไปไถ่บาปที่วัดพระศิวะแห่งเมืองโคกรรณะ เมื่อเสด็จไปบำเพ็ญพรตที่โคกรรณะแล้ว อสูรพราหมณหัตยะก็เลิกจองเวรพระองค์[1]

มหาภารตะ ยังว่า พระเจ้ากัลมาษบาททรงพบกับฤษีอุตตังกะผู้ฝึกวิชา ณ สำนักฤษีโคตมะมาครบ 100 ปี และต้องชำระค่าครู เรียก "คุรุทักษิณ" ภรรยาของฤษีอุตตังกะจึงกล่าวแก่สามีว่า ให้ไปขอต่างหูของพระนางมทยันตี พระมเหสีพระเจ้ากัลมาษบาท มาเป็นค่าครู เมื่ออุตตังกะออกเดินทางไปราชสำนักพระเจ้ากัลมาษบาท ก็พบว่า พระมหากษัตริย์กลายเป็นรากษสเสียแล้ว พระเจ้ากัลมาษบาทหมายพระทัยจะจับอุตตังกะเสวย แต่อุตตังกะทูลว่า ยังมีหน้าที่ต้องไปต่างหูของพระนางมทยันตีมาเป็นค่าครูเสียก่อน และยอมกลับมาให้กินเมื่อทำหน้าที่ลุล่วงแล้ว พระเจ้ากัลมาษบาทจึงทรงบอกทางให้ฤษีอุตตังกะไปเข้าเฝ้าพระนางมทยันตี แต่พระราชินีไม่ประทานต่างหู จนกว่าอุตตังกะจะถวายหลักฐานว่า พระสวามีของพระนางทรงอนุญาตแล้ว อุตตังกะจึงต้องย้อนกลับไปขอสิ่งของเป็นหลักฐานจนได้ต่างหูของนางพระยามาใช้ชำระค่าครูในที่สุด[11]

การพ้นจากคำสาป แก้

ตามความใน มหาภารตะ เมื่อครบกำหนด 12 ปีแล้ว ฤษีวสิษฐะมาเข้าเฝ้าพระเจ้ากัลมาษบาท แล้วถอนคำสาปให้พระองค์กลับคืนเป็นมนุษย์ไปปกครองราชอาณาจักรตามเดิม เมื่อทรงพ้นจากคำสาป พระเจ้ากัลมาษบาททรงรับเอาฤษีวสิษฐะเป็นพระอาจารย์และปุโรหิต ทั้งสองกลับไปนครอโยธยาด้วยกัน แต่คำสาปของหญิงพราหมณ์ยังไม่ถูกถอน พระเจ้ากัลมาษบาทจึงทรงไม่อาจร่วมประเวณีกลับพระมเหสีได้ ทรงขอให้ฤษีวสิษฐะร่วมรักของพระมเหสีแทนเพื่อให้พระองค์มีบุตรสืบวงศ์ พระนางมทยันตีทรงพระครรภ์มาจน 12 ปี มิอาจทรงรอได้อีกต่อไป ทรงเอาศิละทุบพระครรภ์แยก พระโอรสจึงประสูติ ได้พระนามว่า "อัศมกะ" เหตุที่เกิดจากศิลา[12]

มหาภารตะ ยังระบุว่า การยกเมียให้นักบวช ทำให้พระเจ้ากัลมาษบาทได้ขึ้นสวรรค์[13]

เหตุการณ์ครั้งนี้ยังเป็นต้นแบบให้พระมหากษัตริย์พระองค์อื่น ๆ เช่น พระเจ้าปาณฑุ ซึ่ง มหาภารตะ ว่า ทรงถูกสาปให้สวรรคตทันทีที่ทรงร่วมประเวณีกับพระมเหสี จึงทรงให้พระนางกุนตีร่วมประเวณีกับเทวดาเพื่อมีบุตร เหมือนอย่างพระเจ้ากัลมาษบาท[14] นักวิชาการสันนิษฐานว่า เรื่องพระเจ้าปาณฑุน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากเรื่องพระเจ้ากัลมาษบาทซึ่งเก่าแก่กว่ามาก[15]

เอกสารบางฉบับก็กล่าวไว้อีกอย่างเกี่ยวกับการประสูติพระโอรสของพระนางมทยันตี เช่น ภาควตปุราณะ ว่า หลังจากพระนางทรงพระครรภ์มา 7 ปี ฤษีวสิษฐะเอาศิลาตีพระนาภี พระโอรสก็คลอด[3] ส่วน วิษณุปุราณะ ว่า พระราชินีทรงเอาศิลาทุบพระนาภีพระองค์เอง หลังจากทรงพระครรภ์มา 7 ปี[16]

เอกสารทุกฉบับกล่าวสอดคล้องกันว่า พระเจ้ากัลมาษบาททรงเป็นบรรพบุรุษของพระเจ้าทศรถ พระบิดาของพระราม แต่ว่าไว้ต่างกันเรื่องลูกหลานของพระเจ้ากัลมาษบาทที่สืบเชื้อสายกันมาจนถึงพระเจ้าทศรถ เช่น กูรมปุราณะ, ลิงคปุราณะ, ภาควตปุราณะ, วายุปุราณะ, และ วิษณุปุราณะ ว่า หลังจากอัศมกะแล้ว มีเชื้อสายสืบมาอีก 9 รุ่นถึงพระเจ้าทศรถ ส่วน พรัหมปุราณะ, มัตสยปุราณะ, หริวงศ์, และ อัคนิปุราณะ ขนานนามพระโอรสของพระเจ้ากัลมาษบาทว่า "สรวกรรมา" และมีเชื้อสายสืบมาอีก 9 รุ่นเช่นกัน แต่ วิษณุปุราณะ และเอกสารอื่นว่า สรวกรรมาเป็นพระนามพระเจ้าปู่หรือตาของพระเจ้ากัลมาษบาท ขณะที่ รามายณะ ว่า พระโอรสของพระเจ้ากัลมาษบาทมีพระนามว่า "สังขานะ" และสืบสายอีก 10 รุ่นจึงถึงพระเจ้าทศรถ[17]

อ้างอิง แก้

  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 Mani, p. 377
  2. 2.0 2.1 Wilson p. 315
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 Bhagavata Purana เก็บถาวร 2013-11-03 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน by Prabhupada
  4. Mani, p. 376
  5. 5.0 5.1 Wilson p. 305
  6. 6.0 6.1 Dowson's Classical Dictionary of Hindu Mythology
  7. Wilson p. 306
  8. Wilson pp. 306-8
  9. Mitchiner p. 204
  10. Meyer p. 233
  11. Mani, p. 816
  12. Mani, pp. 377-8
  13. Mitchiner p. 240
  14. Candrabalī Tripāṭhī (1 January 2005). The Evolution of Ideals of Womenhood in Indian Society. Gyan Books. p. 140. ISBN 978-81-7835-425-5.
  15. Meyer, p. 234
  16. Wilson p. 307
  17. Wilson pp. 313-4

บรรณานุกรม แก้

  • Mani, Vettam (1975). Purāṇic encyclopaedia : a comprehensive dictionary with special reference to the epic and Purāṇic literature. Delhi: Motilal Banarsidass. ISBN 978-0-8426-0822-0.
  • Meyer, Johann (1971). Sexual life in ancient India : a study in the comparative history of Indian culture. Delhi: Motilal Banarsidass Publishers Private Ltd. ISBN 978-81-208-0638-2.
  • Mitchiner, John (2000). Traditions of the seven Risis. Delhi: Motilal Banarisdass. ISBN 978-81-208-1324-3.
  • Wilson, H. H. (1866). The Vishńu Puráńa. Trübner & CompanyBooks. สืบค้นเมื่อ 2014-07-15.