ไฮน์ริช ฮิมเลอร์

ผู้บัญชาการเอ็สเอ็ส
(เปลี่ยนทางจาก ไฮน์ริช ฮิมม์เลอร์)

ไฮน์ริช ลูอิทพ็อลท์ ฮิมเลอร์ (เยอรมัน: Heinrich Luitpold Himmler) เป็นหนึ่งในผู้นำพรรคนาซีในประเทศเยอรมนี และดำรงตำแหน่ง ไรชส์ฟือเรอร์-เอ็สเอ็ส ขององค์การ ชุทซ์ชตัฟเฟิล (เอ็สเอ็ส) รับผิดชอบด้านการคุมกำลังวัฟเฟิน-เอ็สเอ็สทั้งหมดในไรช์ เขาเป็นหนึ่งในผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในไรช์ และเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในการทำฮอโลคอสต์ชาวยิว[2][3][4] ซึ่งสังหารชาวยิวกว่าหกล้านคน

ไฮน์ริช ฮิมเลอร์
Heinrich Himmler
ไฮน์ริช ฮิมเลอร์ ในปี 1942
ไรชส์ฟือเรอร์-เอ็สเอ็ส คนที่ 4
ดำรงตำแหน่ง
6 มกราคม 1929 – 29 เมษายน 1945
ผู้นำ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์
ก่อนหน้า แอร์ฮาร์ด ไฮเดิน
ถัดไป คาร์ล ฮันเคอ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
ดำรงตำแหน่ง
24 สิงหาคม 1943 – 29 เมษายน 1945
หัวหน้ารัฐบาล อดอล์ฟ ฮิตเลอร์
ก่อนหน้า วิลเฮล์ม ฟริค
ถัดไป วิลเฮล์ม ชตุคอาร์ท
ผู้บัญชาการตำรวจเยอรมัน
ดำรงตำแหน่ง
17 มิถุนายน 1936 – 29 เมษายน 1945
ก่อนหน้า ไม่มี (เป็นคนแรก)
ถัดไป คาร์ล ฮังเคอ
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด ไฮน์ริช ลูอิทพ็อลท์ ฮิมเลอร์
7 ตุลาคม ค.ศ. 1900[1]
มิวนิก ราชอาณาจักรบาวาเรีย เยอรมนี
เสียชีวิต 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1945(1945-05-23) (44 ปี)
ลือเนอบวร์ค นีเดอร์ซัคเซิน, เยอรมนี
พรรค พรรคนาซี
คู่สมรส มากาเร็ท ฮิมเลอร์
บุตร 3 คน
วิชาชีพ นักปฐพีวิทยา
ลายมือชื่อ Himmler Signature 2.svg
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง
รับใช้  เยอรมนี
สังกัด กองทัพบกบาวาเรีย
ประจำการ ค.ศ. 1917–18
ยศ ฟาเนินยุงเกอร์
การยุทธ์ สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และ สงครามโลกครั้งที่สอง

ฮิมเลอร์เกิดเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ค.ศ. 1900 ในครอบครัวคาทอลิกชนชั้นกลางในเมืองมิวนิก เป็นบุตรคนที่สองในบ้าน บิดาเป็นครูในราชสำนักบาวาเรีย มารดาผู้เคร่งศาสนา[5][6] ฮิมเลอร์เข้าโรงเรียนในเมืองลันทซ์ฮูทซึ่งบิดาเป็นรองครูใหญ่อยู่ที่นั่น เขาเป็นเด็กที่เรียนเก่งแต่มีสุขภาพไม่ดี เขาป่วยเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและมีอาการป่วยอื่น ๆ ร่วม ในวัยเด็กเขาพยายามออกกำลังกายทุกวันเพื่อจะแข็งแรงขึ้น เขามีภาพลักษณ์ในวัยเด็กเป็นเด็กเรียนที่ไม่ค่อยเข้าสังคม[7]

ฮิมเลอร์เคยรับใช้จักรวรรดิเยอรมันโดยการเป็นทหารในกองพันสำรองในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง หลังจากนั้นก็เข้าศึกษาด้านปฐพีวิทยา และเข้าร่วมกับพรรคนาซีใน ค.ศ. 1923 เมื่อพรรคนาซีล้มเหลวในการทำรัฐประหารโรงเบียร์ ฮิตเลอร์และบรรดาผู้นำของพรรคนาซีต่างถูกรัฐบาลจับกุมและต้องโทษจำคุก ฮิมเลอร์รอดคุกมาได้เนื่องจากพยานหลักฐานไม่เพียงพอ หลังพรรคนาซีเริ่มมีอำนาจ ในปี ค.ศ. 1929 ฮิตเลอร์ก็แต่งตั้งให้เขาเป็น ไรชส์ฟือเรอร์-เอ็สเอ็ส โดยตลอด 16 ปีที่เขาดำรงตำแหน่งนี้ เขาได้ทำให้หน่วยเอ็สเอ็สมีกำลังพลเพิ่มขึ้น จาก 290 นายเป็นกว่าล้านนาย เขาจัดตั้งค่ายกักกันนาซีตามคำสั่งของฮิตเลอร์ เขามีทักษะในการบริหารองค์กรและคัดเลือกคนเก่ง ๆเข้ามาทำงาน อาทิ ไรน์ฮาร์ด ฮายดริช เป็นต้น ในปีค.ศ. 1943 ฮิมเลอร์ได้ดำรงตำแหน่งควบทั้งผู้บัญชาการตำรวจและรัฐมนตรีมหาดไทย คอยควบคุมดูแลหน่วยรักษาความสงบเรียบร้อยและกำลังตำรวจทั้งหมดในไรช์ รวมถึงหน่วย เกสตาโพ (ตำรวจลับ)

ฮิมเลอร์มีความสนใจในด้านโหราศาสตร์และสิ่งลี้ลับ[8] เขาได้ก่อตั้งองค์กร อาเนินแอร์เบอ (Ahnenerbe) เพื่อทำการวิจัยเกี่ยวกับพันธุ์ศาสตร์, ภูมิศาสตร์การเมือง, นิรุกติศาสตร์, มานุษยวิทยา, ประวัติศาสตร์, โบราณคดี, เทพนิยาย ตลอดจนเวทมนตร์คาถา ฮิมเลอร์มุ่งหวังใช้ผลการวิจัยเป็นเครื่องมือสนับสนุนลัทธิเชื้อชาติอารยันอันสูงส่ง มีการส่งหน่วยเพื่อสืบเสาะตามหาวัตถุในตำนานต่าง ๆ อาทิ หีบแห่งพันธสัญญา, ทวนศักดิ์สิทธิ์, จอกศักดิ์สิทธิ์[8]

ฮิมเลอร์ยังจัดจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษ ไอน์ซัทซ์กรุพเพิน (Einsatzgruppen) และสั่งสร้างค่ายมรณะหลายแห่ง ด้วยการอำนวยความสะดวกของฮิมเลอร์นี้เอง ทำให้ชาวยิวกว่า 6 ล้านคนและชาวโรมานีอีกราว 2 ถึง 5 แสนคนถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด[9][10] และตลอดช่วงการเรืองอำนาจของนาซี มีพลเรือนถูกสังหารไปราว 11 ถึง 14 ล้านคน ส่วนมากเป็นพลเรือนชาวโปแลนด์และโซเวียตรัสเซีย

ปลายสงครามโลกครั้งที่สอง ฮิมเลอร์ตระหนักว่าเยอรมนีกำลังจะแพ้สงคราม เขาจึงแอบเจรจาสันติภาพกับผู้แทนฝ่ายสัมพันธมิตรอย่างลับ ๆ เมื่อสถานีวิทยุบีบีซีแฉเรื่องนี้ในวันที่ 28 เมษายน ค.ศ. 1945 ฮิตเลอร์ก็สั่งปลดเขาจากทุกตำแหน่งและมีคำสั่งให้ตามจับกุมเขา หลังกรุงเบอร์ลินถูกโซเวียตตีแตก​ในวันที่ 30 เมษายน ค.ศ. 1945 ฮิมเลอร์ก็แฝงตัวเป็นพลเรือนเดินทางไปอย่างไร้จุดหมาย เขาถูกด่านตรวจของโซเวียตกักตัวไว้ในวันที่ 21 พฤษภาคม และถูกส่งตัวให้กับหน่วยทหารอังกฤษในเมืองลือเนอบวร์คในวันที่ 23 พฤษภาคม[11] เขาถูกสอบสวนและรับสารภาพว่าตัวเองเป็นใคร ขณะที่ถูกแพทย์อังกฤษพิสูจน์อัตลักษณ์นั่นเอง เขาก็กัดไซยาไนด์ที่ซ่อนไว้ในปากและเสียชีวิตลงในเวลา 15 นาที[12][13] ร่างของเขาถูกเผาบริเวณใกล้กับเมืองลือเนอบวร์ค

อ้างอิงแก้ไข

  1. Manvell & Fraenkel 2007, p. 13.
  2. Speer, Albert, Inside the Third Reich, Macmillan (New York and Toronto), 1970, ISBN 0-297-00015-2
  3. Zentner, Christian Ed (1991). The Encyclopedia of the Third Reich. New York: Macmillan. p. 1150. ISBN 0028975022. {{cite book}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |coauthors= ถูกละเว้น แนะนำ (|author=) (help)
  4. Source: Der Spiegel, Issue dated 3 November 2008: Hitlers Vollstrecker – Aus dem Leben eines Massenmörders
  5. Manvell & Fraenkel 2007, p. 1.
  6. Breitman 2004, p. 9.
  7. Manvell & Fraenkel 2007, pp. 3, 6–7.
  8. 8.0 8.1 นงนภัส ตรัยรัตนบำรุง (7 มีนาคม พ.ศ. 2560). "แนวคิดเพ้อคลั่งของเจ้าพ่อแห่งไรช์ที่ 3". ศิลปวัฒนธรรม. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  9. อ้างใน Re. Holocaust Victim Assets Litigation (Swiss Banks) Special Master's Proposals, 11 September 2000 เก็บถาวร 2012-05-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน).
  10. "Sinti and Roma", United States Holocaust Memorial Museum.
  11. Longerich 2012, pp. 1, 736.
  12. Bend Bulletin 1945.
  13. Longerich 2012, pp. 1–3.

แหล่งข้อมูลอื่นแก้ไข

  วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Heinrich Himmler

ก่อนหน้า ไฮน์ริช ฮิมเลอร์ ถัดไป
แอร์ฮาร์ด ไฮเดิน   ไรชส์ฟือเรอร์-เอ็สเอ็ส
(6 มกราคม 1929 – 29 เมษายน 1945)
  คาร์ล ฮังเคอ
วิลเฮล์ม ฟริค   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
(24 สิงหาคม 1943 – 29 เมษายน 1945)
  วิลเฮล์ม ชตุคอาร์ท
ไม่มี   ผู้บัญชาการตำรวจเยอรมัน
(17 มิถุนายน 1936 – 29 เมษายน 1945)
  คาร์ล ฮังเคอ
พลเอกอาวุโส ฟรีดริช ฟร็อม   ผู้บัญชาการกำลังสำรอง
(21 กรกฎาคม 1944 – 29 เมษายน 1945)
  ไม่มี