ไอศกรีม

อาหารหวานชนิดหนึ่ง ทำด้วยน้ำหวาน กะทิ หรือนม แล้วทำให้ข้นด้วยความเย็น
(เปลี่ยนทางจาก ไอศครีม)

ไอศกรีม (อังกฤษ: ice cream) หรือภาษาปากว่า ไอติม เป็นของหวานแช่แข็งชนิดหนึ่ง ได้จากการผสมส่วนผสม นำไปผ่านการฆ่าเชื้อ แล้วจากนั้นนำไปปั่นในที่เย็นจัด เพื่อเติมอากาศเข้าไปพร้อม ๆ กับการลดอุณหภูมิ โดยอาศัยเครื่องปั่นไอศกรีม ไอศกรีมตักโดยทั่วไปจะต้องผ่านขั้นตอนการแช่เยือกแข็งอีกครั้งก่อนนำมาขายหรือรับประทาน

ไอศกรีม
ชื่ออื่นไอติม
มื้อของหวาน
แหล่งกำเนิดจักรวรรดิโรมัน
อุณหภูมิเสิร์ฟเย็น
ส่วนผสมหลักนม, ครีม, วัตถุให้ความหวานทดแทนน้ำตาล
รูปแบบอื่นเจลาโต

ไอศกรีม (อ่านว่า ไอ-สะ-กฺรีม) มาจากคำภาษาอังกฤษว่า ice-cream   พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานให้เขียนเป็นภาษาไทยว่า ไอศกรีม ซึ่งเป็นคำที่เขียนกันมาแต่เดิม ไอศกรีม เป็นชื่อขนมอย่างหนึ่งทำด้วยครีม นม น้ำตาลเป็นต้น ผสมกัน แล้วปั่นให้ข้นในอุณหภูมิต่ำอาจเติมรส สี และกลิ่นต่าง ๆ ได้ตามชอบ  เช่น ไอศกรีมช็อกโกแลต ไอศกรีมกาแฟ ไอศกรีมวานิลลา ถ้าใช้น้ำกะทิแทนครีม ก็จะเรียกว่า ไอศกรีมกะทิ ถ้าใส่เครื่องอย่างอื่น ๆ ประสม ก็อาจเรียกตามชื่อเครื่องประสมนั้น ๆ เช่น ไอศกรีมเม็ดแมงลัก ไอศกรีมทุเรียน ไอศกรีมข้าวโพด ไอศกรีมเผือก ภาษาปากหรือภาษาพูดมักจะเรียกว่า ไอติม และบางครั้ง ไอติม จะหมายถึงไอศกรีมชนิดที่ไม่ใส่ครีมหรือนมด้วย เช่น ไอติมแท่ง ไอติมหลอด

ประวัติ แก้

ต้นกำเนิดของไอศกรีมนั้น ไม่เป็นที่แน่ชัดมาเริ่มจากไหน บางข้อมูลก็ว่าเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยจักรพรรดิเนโรแห่งจักรวรรดิโรมัน ที่ได้มีการพระราชทานเลี้ยงไอศกรีมทหาร โดยในสมัยนั้นทำจากเกล็ดน้ำแข็ง (หิมะ) ผสมน้ำผึ้งและผลไม้ ซึ่งคล้ายกับไอศกรีมซอร์เบในปัจจุบัน แต่บ้างก็ว่ามาจากประเทศจีน เกิดจากเมื่อสมัยโบราณที่นมถือเป็นของหายาก จึงได้มีการคิดวิธีเก็บรักษาโดยการเอาไปฝังในหิมะ จึงเกิดเป็นไอศกรีมขึ้น แม้จะไม่ได้มีลักษณะเหมือนกับไอศกรีมอย่างทุกวันนี้

แต่บ้างก็ว่ามาจากอิตาลีโดยมาร์โค โปโล กลับจากจีนแล้วเอาสูตรไอศกรีมมาเผยแพร่ ซึ่งในตอนนั้นไอศกรีมของจีนยังไม่มีนม เป็นคล้ายน้ำแข็งไสมากกว่า ยังมีจุดเริ่มต้นจากอังกฤษเมื่อสมัยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 พ่อครัวคนหนึ่งมีสูตรเด็ดเป็นครีมแช่แข็งปรุงรส ซึ่งเป็นสูตรลับสุดยอดที่ส่งเป็นของหวานถวายพระองค์ ทว่าเมื่อพระองค์ถูกปลงพระชนม์โดยโอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ระหว่างสงครามกลางเมืองอังกฤษระหว่างปี ค.ศ. 1642-ค.ศ. 1651 พ่อครัวต้องลี้ภัยไปยุโรปจึงได้นำสูตรไอศกรีมนี้เผยแพร่ออกไป

ไอศกรีมในประเทศไทย แก้

 
ไอศกรีมหลอด หรือไอศกรีมแท่งแบบไทย

ในประเทศไทยนั้น ไอศกรีมเริ่มเข้ามาในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมตะวันตกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนำมาเผยแพร่ในสยาม หลังเสร็จประพาสอินเดีย, ชวาและสิงคโปร์ น้ำแข็งในตอนแรก ๆ ก็ยังไม่สามารถผลิตในประเทศได้ จึงต้องนำเข้าจากประเทศสิงคโปร์ เมื่อไทยสั่งเครื่องทำน้ำแข็งเข้ามาก็เริ่มมีการทำไอศกรีมกินกันมากขึ้น ถือว่าไอศกรีมเป็นของเสวยเฉพาะสำหรับเจ้าขุนมูลนายเท่านั้น ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพบันทึกไว้ว่า

ไอศกรีมเป็นของที่วิเศษในเวลานั้น เพราะเพิ่งได้เครื่องทำน้ำแข็งอย่างเล็กที่เขาทำกันตามบ้านเข้ามา ทำบางวันน้ำก็แข็งบางวันก็ไม่แข็ง มีไอศกรีมบ้างบางวันก็ไม่มี จึงเห็นเป็นของวิเศษ

โดยไอศกรีมในพระราชวังนั้นจะทำจากน้ำมะพร้าวอ่อน ใส่เม็ดมะขามคั่ว จนต่อมาเมื่อมีโรงงานทำน้ำแข็ง แต่ก็ยังถือเป็นของชั้นดี โดยมีไอศกรีมระดับชาวบ้านทำเองด้วย ในช่วงแรก ๆ นั้นไอศกรีมกะทิมีลักษณะเป็นน้ำแข็งละเอียดใส ๆ รสหวานไม่มาก และมีกลิ่นหอมของดอกนมแมว ในสมัยนั้นวิถีการกินของผู้คนจะนิยมกินอาหารกันในเรือนแพ เหมือนที่สมัยนั้นจะขายก๋วยเตี๋ยว หรือกาแฟกันบนเรือ

ลักษณะของไอศกรีมกะทิใส่ถ้วยพร้อมโรยด้วยถั่วลิสงคั่วก็มีมาตั้งแต่สมัยนั้น ซึ่งต่อมาไอศกรีมกะทิก็มีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาขึ้น จากกะทิใส ๆ ก็มีความเข้มข้น มีการใส่ลอดช่อง, เม็ดแมงลัก และขนุนฉีกเข้าไป โดยคนไทยได้ดัดแปลงไอศกรีมของต่างชาติมาเป็นไอติมกะทิ โดยใช้กะทิสดผสมกับน้ำตาลนำไปปั่นให้แข็ง เนื้อไอติมค่อนข้างใสเป็นเกล็ดน้ำแข็งละเอียด เวลารับประทานต้องขูดไอติมออกจากขอบหม้อโลหะเมื่อไอติมเริ่มแข็งตัว ตอนขายตักใส่ถ้วยเป็นลูก ๆ เรียกไอติมตัก กินกับถั่ว ข้าวเหนียวหรือลูกชิด บางคนกินกับขนมปังที่หั่นเป็นท่อน และมีรอยแยกเป็นร่องอยู่ตรงกลาง [1]

ส่วน ไอศกรีมหลอด หรือไอศกรีมแท่งก็เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 7 โดยใช้น้ำหวานใส่หลอดสังกะสีและเขย่าให้แข็ง และมีก้านไม้เสียบ โดยจะใส่ถังขับไปขายตามถนน สั่นกระดิ่งเป็นสัญญาณเพื่อเรียกลูกค้า นอกจากนี้ยังมีจุดขายที่การลุ้นไอศกรีมฟรีจากไม้เสียบที่หากมีสีแดงป้ายอยู่ก็จะได้กินฟรีอีกหนึ่งแท่งด้วย ซึ่งไอศกรีมแบบหลอดก็มีการพัฒนาจนมาเป็นไอศกรีมโบราณที่มีส่วนผสมของนมโดยมีลักษณะเป็นแท่งสี่เหลี่ยม อาจทานเป็นแท่ง หรือตัดใส่ถ้วยรับประทานก็ได้

จากนั้นมาก็เป็นยุคของไอศกรีมแบบวัฒนธรรมตะวันตกแท้ ๆ จนถึงปัจจุบัน [2]

ไอศกรีมในรูปแบบต่าง ๆ แก้

อ้างอิง แก้

  1. เจตนา พิสุทธิ์. ไอติม... ไอศครีม. ครัว. 1 (11): 77 - 79, พฤษภาคม 2538
  2. [https://web.archive.org/web/20151118152444/http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000047164 เก็บถาวร 2015-11-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ย้อนตำนานไอศกรีม สู่วัฒนธรรมการกินที่หลากหลาย จากผู้จัดการออนไลน์]

ดูเพิ่ม แก้