โทโมโกะ คาวาชิตะ

เป็นอดีตนักแสดงละครเวทีชาวญี่ปุ่นที่ถูกฆาตกรรมระหว่างเดินทางท่องเที่ยวในอุทยานประวัติ

โทโมโกะ คาวาชิตะ (ญี่ปุ่น: 川下 智子โรมาจิKawashita Tomoko) เป็นอดีตนักแสดงละครเวทีชาวญี่ปุ่นที่ถูกฆาตกรรมระหว่างเดินทางท่องเที่ยวในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย[3][4] หลังจากการเสียชีวิตของเธอ ตำรวจท้องถิ่นในเขตพื้นที่ดังกล่าวได้สอบสวนผู้ที่อยู่ในละแวกนั้นแต่ได้ยกเลิกการดำเนินค้นหาเนื่องจากไม่พบผู้กระทำความผิด ต่อมาในปี พ.ศ. 2556 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ร้องขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษรับคดีการฆาตกรรมของเธอเป็นคดีพิเศษ[5] จวบจนถึงปัจจุบันยังไม่ทราบผู้กระทำความผิดที่ชัดเจน[4]

โทโมโกะ คาวาชิตะ
川下 智子
ภาพของโทโมโกะ คาวาชิตะ บนประกาศของกรมสอบสวนคดีพิเศษ
เกิดพ.ศ. 2523
ประเทศญี่ปุ่น
เสียชีวิต25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 (27 ปี)
วัดสะพานหิน อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ประเทศไทย
สาเหตุเสียชีวิตช็อคจากการสูญเสียเลือด[1][2]
อาชีพนักแสดงละครเวที
บิดามารดายาซูอากิ คาวาชิตะ (บิดา)
เอโกะ คาวาชิตะ (มารดา)

ประวัติ แก้

โทโมโกะเป็นนักแสดงละครเวทีให้กับโรงละครคารัปปาเระ (ญี่ปุ่น: 空晴 (からっぱれ)โรมาจิKarappare) ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดโอซากะ ผู้ว่าจ้างของเธอ นาโอโกะ โอกาเบะ ให้สัมภาษณ์กับอาซาฮิชินบุงว่าโทโมโกะพึ่งได้ร่วมการแสดงละครเวทีเปิดตัวโรงละครได้ไม่นานก่อนที่เธอจะเดินทางไปยังประเทศไทย[1] และมักได้รับบทตัวละครที่เป็นน้องสาวอยู่บ่อยครั้ง หลังจากโทโมโกะสำเร็จการศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เธอได้ทำงานพิเศษที่ร้านเค้กและในขณะเดียวกันก็แสดงละครเวทีด้วยเช่นกัน[6]

การฆาตกรรม แก้

 
วัดสะพานหิน บริเวณที่โทโมโกะถูกฆาตกรรม

ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2550 หลังจากที่โทโมโกะเข้าร่วมประเพณีลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟในจังหวัดสุโขทัย เธอได้กลับไปยังบ้านรับรองของเธอและทิ้งกระเป๋าสัมภาระไว้ที่นั้น วันที่ 25 พฤศจิกายน โทโมโกะได้เช่าจักรยานเพื่อขี่ชมทิวทัศน์รอบ ๆ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จากนั้นจึงเดินทางไปยังวัดสะพานหินเพื่อไหว้สักการะ เมื่อมาถึง โทโมโกะถูกซุ่มโจมตีและถูกใช้มีดปาดคอและลำตัวของเธอ[3][7] จนทำให้เธอช็อคจากการเสียเลือดและเสียชีวิตลงในที่สุด[1][2] เดอะเนชั่นกล่าวว่าเวลาในการฆาตกรรมนั้นอยู่ในกรอบเวลา 9:00 น. จนถึง 10:30 น.[3] ร่างของเธอถูกพบที่ทางขึ้นวัดสะพานหิน[8] ตำรวจสันนิษฐานว่าโทโมโกะพยายามขัดขืนการดักชิงทรัพย์ของผู้ก่อเหตุและวิ่งหนีลงเขา จากนั้นเธอจึงล้มลงและถูกผู้ก่อเหตุนำมีดปาดคอ[9] ส่วนกระเป๋าที่เธอห้อยคออยู่นั้นมีพาสปอร์ตและกล้องดิจิทัลหายไป ส่วนเงินสดจำนวน 2,877 บาทไม่ได้ถูกขโมย[10] อีกทั้งในกระเป๋าของเธอยังมีบัตรผู้เข้าชมศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยในจังหวัดลำปางซึ่งเป็นวัตถุที่ทำให้เจ้าหน้าที่ทราบถึงชื่อและสัญชาติของโทโมโกะ[11]

ระหว่างที่โทโมโกะได้ออกท่องเที่ยวอยู่ในประเทศไทย เธอได้เขียนบล็อคลงบนอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับความรู้สึกที่มีต่อประเทศไทย หนึ่งในข้อความที่เธอเขียน เช่น "คนไทยมีแต่คนดี ๆ !" (ญี่ปุ่น: タイ人めっちゃいい人ばっかり!) และ "[ประเทศไทย]เป็นสถานที่ที่ยอดเยี่ยม!!" (ญี่ปุ่น: めっちゃいいとこ!!) เป็นต้น[3] ในขณะที่ยาซูอากิ คาวาชิตะ บิดาของโทโมโกะ ให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐว่าเขารู้สึกเสียใจที่บุตรสาวต้องมาเสียชีวิตที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศที่ลูกสาวชื่นชอบและใฝ่ฝันที่จะมาเที่ยวตลอด 6 ปีที่ผ่านมา[8]

การสืบสวนและสอบสวน แก้

การสืบสวนและสอบสวนในคดีเหตุฆาตกรรมของโทโมโกะตกเป็นของสถานีตำรวจภูธรจังหวัดสุโขทัย[12] ผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดสุโขทัยในขณะนั้น ศิรินทร์ ผดุงชีวิตร์ กล่าวว่าการสืบสวนและสอบสวนอาจเป็นไปได้อย่างล้าช้าเนื่องจากผู้ก่อเหตุไม่ทิ้งหลักฐานพยานวัตถุใด ๆ ไว้ในที่เกิดเหตุเลย[11] ยกเว้นเนื้อเยื่อที่พบในซอกเล็บของโทโมโกะ[7][11][13] จนได้ยุติการสืบสวนและสอบสวนไว้ชั่วคราวในปี 2552[14] แต่ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรมได้รับเป็นคดีพิเศษหลังคำขอของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในปี 2556[5]

ในปี 2556 หลังการโอนคดีมาเป็นของกรมสอบสวนคดีพิเศษ เจ้าหน้าที่ได้พยายามติดตามหากล้องถ่ายรูปดิจิทัลของโทโมโกะที่หายไปจากกระเป๋าห้อยคอของเธอ โดยการประกาศรับซื้อกล้องถ่ายรูปรุ่นเดียวกันกับที่เธอมี หรือการติดต่อโรงรับจำนำในพื้นที่เพื่อขอซื้อ ก็ไม่พบกล้องถ่ายรูปของโทโมโกะ[12] การสืบสวนและสอบสวนจึงดำเนินต่อไปแต่ก็ยังคงไม่พบผู้ต้องสงสัย กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงยุติการสืบสวนและสอบสวนชั่วคราวในปี 2559[15]

ในวันที่ 16 ตุลาคม 2562 สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ได้จำกัดวงรัศมีในการค้นหาผู้ต้องสงสัย 200 เมตรจากจุดที่ค้นพบร่างของโทโมโกะ โดยผู้ที่อยู่ในวงรัศมีนั้นจะถูกเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอเพื่อนำไปเทียบกับวัตถุพยาน แต่ก็ไม่พบผู้ต้องสงสัย[16] ขณะที่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้มีการนัดสอบปากคำพยานที่ให้ข้อมูลว่าเคยได้ยินบุคคลในฟาร์มหมูพูดถึงการนำมีดเล่มหนึ่งแทงคนอื่นเสียชีวิตมาก่อน เมื่อเดินทางไปตรวจสอบฟาร์มหมูดังกล่าวพบว่าได้ปิดกิจการไปแล้ว[17] ส่วนผู้ต้องสงสัยดังกล่าวก็พบว่าได้เสียชีวิตลงเมื่อปี 2553 และเมื่อตรวจสอบดีเอ็นเอก็ไม่ตรงกันกับที่พบบนร่างของโทโมโกะ[13] เมื่อหวังจะสกัดดีเอ็นเอจากกระดูกก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจากศพถูกเผาในอุณหภูมิกว่า 900 องศา[18] เจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจเก็บดีเอ็นเอของพี่สาวและลูกชายของผู้ต้องสงสัยแทน[19]

จวบจนถึงวันที่ 2562 ได้มีการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอชาวไทยไปแล้วกว่า 400 คน และได้ขยายรัศมีในการค้นหาจาก 200 เมตรเป็น 938 เมตรตามที่มีผู้แจ้งเบาะแสเกี่ยวกับผู้ต้องสงสัย[14][20] กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเปิดเผยในงานแถลงผลการการตรวจดีเอ็นอีที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับผู้ก่อเหตุว่าไม่พบดีเอ็นเอ็นของชาวไทนที่ตรงกับขอบกางเกงหลังของโทโมโกะ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์กล่าวว่าดีเอ็นเอ็นบนขอบกางเกงของโทโมโกะตรงกับกลุ่มประเทศ 7 กลุ่มได้แก่ ออสโตร-เอเชียติก เอสโตเนียน ดราวิเดียน อินโด-แปซิฟิก เจแปนิส โคเรียน และไทเคได[14][15] สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมกล่าวเพิ่มเติมว่าดีเอ็นเอที่พบบทกางเกงของโทโมโกะนั้นไม่ได้มีความสมบูรณ์ จากโครโมโซมของมนุษย์ที่มีอยู่ 23 คู่ สามารถเก็บได้อย่างสมบูรณ์อยู่ 3 จุด ขณะในส่วนที่เหลือเก็บได้ไม่สมบูรณ์ อีกทั้งยังพบดีเอ็นเอของบุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีซึ่งอาจมาจากการสัมผัสกับบุคคลเหล่านั้น[20] โทโมยูกิ ฟูจิยามะ หัวหน้านายตำรวจญี่ปุ่น[21] ในฐานะผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยกล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยและจะร่วมมือในการสอบสวนต่อไป ส่วนในกรณีของชาวญี่ปุ่น 1 คนที่เป็นผู้ต้องสงสัยซึ่งได้เดินทางกลับประเทศญี่ปุ่นไปแล้วและปฏิเสธในการให้ความร่วมมือ กรวัชร์กล่าวว่าเรื่องดังกล่าวได้ตกเป็นของรัฐบาลญี่ปุ่นในการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศและได้มีการประสานงานไปทางตำรวจสากลแล้วด้วยเช่นกัน[15] การที่ผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ได้ออกมาว่าผู้ก่อเหตุนั้นไม่ใช่คนไทย สมศักดิ์จึงมีความเห็นให้ปิดคดีและส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศญี่ปุ่น โดยให้เหตุผลอีกว่าการสอบสวนในประเทศไทยนั้นสมบูรณ์แล้ว[22]

การตอบสนอง แก้

ครอบครัวคาวาชิตะ แก้

หลังครอบครัวของเธอทราบข่าวการเสียชีวิตของเธอจึงเดินทางมายังประเทศไทยโดยทันที[1] ในวันที่ 5 มีนาคม 2558 ครอบครัวคาวาชิตะเดินทางมายังกรมสอบสวนคดีพิเศษเพื่อให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของโทโมโกะหลังพวกเขาทราบว่าจะทำการสืบสวนและสอบสวนขึ้นใหม่อีกครั้ง[23]

รัฐบาลไทย แก้

 
ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

หลังเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ชิโร ซาโดชิมะ พร้อมด้วยครอบครัวคาวาชิตะเข้าพบ พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีเพื่อทวงถามความคืบหน้าของคดีฆาตกรรมของโทโมโกะอีกและเสนอให้รัฐบาลฯ เพิ่มรางวัลนำจับจาก 1.6 ล้านบาทเป็น 2 ล้านบาท ประจินกล่าวว่ารัฐบาลไทย กำลังติดตามคดีนี้อย่างใกล้ชิดและจะออกมาตรการดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว อีกทั้งในส่วนของความคืบหน้าในคดีจะแจ้งให้ทราบผ่านเอกอัครราชทูตชิโรต่อไป[24] ในวันที่ 13 ธันวาคม 2562 สมศักดิ์ เทพสุทิน ได้เปิดเผยถึงการลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงยุติธรรมไทยและกระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่น[25]

รัฐบาลญี่ปุ่น แก้

อัครราชทูตที่ปรึกษาทางการเมือง สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย โอซามุ อิซาวะ ได้เดินทางพร้อมกับคณะมายังบริเวณที่โทโมโกะเสียชีวิตและวางช่อดอกไม้แสดงความไว้อาลัย[26] ขณะที่เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ชิโร ซาโดชิมะ ได้นำบิดาของโทโมโกะเข้าพบ ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีในขณะน้ันเพื่อกำชับและทวงถามถึงความคืบหน้าในคดี ประจินกล่าวว่ารัฐบาลไทยยังคงติดตามดำเนินคดีนี้อย่างต่อเนื่อง และยังเปิดรับข้อห่วงใยจากชาวญี่ปุ่นเพื่อมาแก้ไขปรับปรุงดูแลความปลอดภัยให้เป็นระบบและดียิ่งขึ้น นอกจากนี้บิดาของโทโมโกะกล่าวเพิ่มเติมว่าตนมีความต้องการให้รัฐบาลไทยได้พิจารณาในเรื่องอายุความของคดีนี้ที่มีอายุ 20 ปีแต่การดำเนินคดียังเป็นไปอย่างล้าช้า[27] เมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายญี่ปุ่นที่ไม่มีการกำหนดอายุความของคดีประเภทนี้[24]

อ้างอิง แก้

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 "タイで奪われた娘の命 「なぜ」父親は追い続ける". อาซาฮิชินบุง (ภาษาญี่ปุ่น). 2020-12-23. สืบค้นเมื่อ 2022-02-12.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  2. 2.0 2.1 "〈タイ邦人女性殺害〉犯人は死んでいた?タイ政府が出してきたずさんすぎる証拠2". woman.excite.co.jp (ภาษาญี่ปุ่น). 2019-12-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-14. สืบค้นเมื่อ 2022-02-13.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 "ブログで「めっちゃいい人ばっかり」 タイで刺殺日本女性痛ましいブログ". JCASTニュース (ภาษาญี่ปุ่น). 2007-11-27. สืบค้นเมื่อ 2022-02-12.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  4. 4.0 4.1 "คดีสุดเศร้า "โทโมโกะ คาวาชิตะ" ชีวิตสาวญี่ปุ่นที่ถูกพรากในไทย". ไทยรัฐ. 2022-02-12. สืบค้นเมื่อ 2022-02-12.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  5. 5.0 5.1 "13 ปีพิสูจน์คนร้ายคดีโทโมโกะ ไม่ใช่คนไทย ประสาน ตร.สากลสอบเพื่อนญี่ปุ่น". ไทยรัฐ. 2020-07-23. สืบค้นเมื่อ 2022-02-12.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  6. "〈タイ邦人女性殺害〉犯人は死んでいた?タイ政府が出してきたずさんすぎる証拠". woman.excite.co.jp (ภาษาญี่ปุ่น). 2019-12-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-14. สืบค้นเมื่อ 2022-02-13.
  7. 7.0 7.1 "'ดีเอสไอ' รื้อคดีสอบใหม่ ฆ่าปาดคอสาวยุ่น ทิ้งอุทยานฯสุโขทัย". ไทยรัฐ. 2015-03-03. สืบค้นเมื่อ 2022-02-13.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  8. 8.0 8.1 ""DSI"เดินหน้าตรวจDNA คดีฆ่าสาวยุ่น". ไทยรัฐ. 2015-10-30. สืบค้นเมื่อ 2022-02-13.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  9. "ชันสูตรศพสาวญี่ปุ่น ยังไม่รู้ถูกข่มขืนหรือไม่". เอเอสทีวีผู้จัดการ. 2007-11-26. สืบค้นเมื่อ 2022-02-13.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  10. "〈タイ邦人女性殺害〉犯人は死んでいた?タイ政府が出してきたずさんすぎる証拠3". excite.co.jp (ภาษาญี่ปุ่น). 2019-12-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-14. สืบค้นเมื่อ 2022-02-13.
  11. 11.0 11.1 11.2 "คดีฆ่าปาดคอสาวยุ่น". สถานีตำรวจภูธรคลองลาน. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-14. สืบค้นเมื่อ 2022-02-13.
  12. 12.0 12.1 "ดีเอสไอวิเคราะห์เส้นทางฆาตรกรรมนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น ปี 2550". ไทยพีบีเอส. 2013-10-17. สืบค้นเมื่อ 2022-02-13.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  13. 13.0 13.1 "ยธ.แถลงผลการสืบสวน หาฆาตกร ฆ่าปาดคอ โทโมโกะ นทท.ชาวญี่ปุ่น". อีจัน. 2020-07-23. สืบค้นเมื่อ 2022-02-13.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  14. 14.0 14.1 14.2 "ยธ.เปิดผลดีเอ็นเอคดี"โทโมโกะ"ฆาตกรไม่ใช่คนไทย". พีพีทีวี. 2020-07-23. สืบค้นเมื่อ 2022-02-14.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  15. 15.0 15.1 15.2 "รอมา 13 ปี "สมศักดิ์" เผย ผลตรวจ DNA คดี "โทโมโกะ" ไม่ใช่คนไทย เตรียมประสานตร.สากล - ญี่ปุ่น หาตัวเพื่อนมาสอบ". คมชัดลึก. 2020-07-23. สืบค้นเมื่อ 2022-02-14.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  16. "พบเบาะแสผู้ต้องสงสัยคดีฆาตกรรม "โทโมโกะ" นักท่องเที่ยวสาวชาวญี่ปุ่น". ไทยพีบีเอส. 2019-10-16. สืบค้นเมื่อ 2022-02-13.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  17. "รมว.ยุติธรรม ตรวจสอบเบาะแส 12 ปี คดีฆาตกรรม "โทโมโกะ"". ไทยพีบีเอส. 2019-11-25. สืบค้นเมื่อ 2022-02-13.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  18. ""สมศักดิ์" เซ่นวิญญาณ "โทโมโกะ" เผยคดีคืบ 80% พร้อมคำยืนยันจากพยานปากเอก". มติชน. 2019-11-25. สืบค้นเมื่อ 2022-02-14.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  19. "โชว์ผลดีเอ็นเอผู้ต้องสงสัย ตรงกับกางเกง "โทโมโกะ" ถูกฆ่าคดีดังปี 50". สนุกดอทคอม. 2020-11-02. สืบค้นเมื่อ 2022-02-13.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  20. 20.0 20.1 "รมว.ยุติธรรมขยายผลตรวจไมโทคอนเดรียดีเอ็นเอหาตัวฆาตกรฆ่าโทโมโกะ". โพสต์ทูเดย์. 2019-11-20. สืบค้นเมื่อ 2022-02-14.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  21. "รมว.ยุติธรรมแถลงความคืบหน้าคดีฆาตกรรม"โทโมโกะ"". gnews.app.go.th. 2020-07-31. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-02-14. สืบค้นเมื่อ 2022-02-14.
  22. ""สมศักดิ์"กู้ศักดิ์ศรี ผลดีเอ็นเอชี้ชัด'คนไทย'ไม่ได้ฆ่าสาวยุ่น". เดลินิวส์. 2020-07-23. สืบค้นเมื่อ 2022-02-14.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  23. "DSIเร่งล่ามือฆ่านักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่สุโขทัยปี50". สนุกดอทคอม. 2015-03-05. สืบค้นเมื่อ 2022-02-14.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  24. 24.0 24.1 "11 ปี ฆาตกรรมโทโมโกะคดีไม่คืบญาติร้องเพิ่มรางวัลนำจับ หวั่นคดีหมดอายุความ". เวิร์คพอยท์ทูเดย์. 2019-01-18. สืบค้นเมื่อ 2022-02-14.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  25. ""สมศักดิ์"มั่นใจปิดคดีฆาตกรรม"โทโมโกะ"ได้ต้นปี63". โพสต์ทูเดย์. 2019-12-13. สืบค้นเมื่อ 2022-02-13.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  26. "ทูตยุ่นวางดอกไม้ศพ'โทโมโกะ' อาลัยเหยื่อฆ่าปาดคอสุโขทัย". แนวหน้า. 2014-10-17. สืบค้นเมื่อ 2022-02-14.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  27. "11 ปีไม่หมดหวัง "ใครฆ่าโทโมโกะ" พ่อเหยื่อทวงถามคดีฆาตกรรมลูกไม่คืบ". สนุกดอทคอม. 2019-01-17. สืบค้นเมื่อ 2022-02-13.{{cite news}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)