แมรี เคแซต
แมรี สตีเวนสัน เคแซต (อังกฤษ: Mary Stevenson Cassatt; 22 พฤษภาคม ค.ศ. 1844 - 14 มิถุนายน ค.ศ. 1926) เป็นจิตรกรสมัยอิมเพรสชันนิสม์คนสำคัญของสหรัฐอเมริกาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึง 20 มีความเชี่ยวชาญทางการเขียนภาพสีน้ำมัน และการทำภาพพิมพ์ มักจะวาดภาพชีวิตทั้งทางการสังคมและการส่วนตัวของผู้หญิงโดยเน้นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งระหว่างแม่และลูก แมรี เคแซตใช้เวลาส่วนใหญ่ในประเทศฝรั่งเศส และเมื่อย้ายไปอยู่ปารีสแมรีก็ทำความรู้จักกับแอดการ์ เดอกา ผู้มีอิทธิพลต่องานเขียนของเคแซต ต่อมาแมรีก็ได้แสดงผลงานร่วมกับจิตรกรอิมเพรสชันนิสม์คนอื่น ๆ
แมรี เคแซต |
---|
เบื้องต้น
แก้เคแซตเกิดที่แอลลิเกนีในรัฐเพนซิลเวเนียซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของพิตส์เบิร์ก จากครอบครัวที่มีฐานะดี บิดาของเคแซตโรเบิร์ต ซิมพ์สัน เคแซตเป็นนายหน้าค้าหุ้นและผู้เก็งการลงทุนในการซื้อขายที่ดิน ส่วนแม่แคทเธอริน เคลโซ จอห์นสันมาจากครอบครัวนายธนาคาร นามสกุลเดิมของครอบครัวคือ "Cossart"[1] เคแซตเป็นลูกหนึ่งในเจ็ดคนที่สองคนเสียชีวิตตั้งแต่ยังเป็นทารก ครอบครัวย้ายไปทางตะวันออก เริ่มด้วยแลงคาสเตอร์ในเพนซิลเวเนีย ต่อมาก็ย้ายไปในบริเวณฟิลาเดลเฟียที่เคแซตเริ่มการศึกษาเมื่ออายุได้หกปี เคแซตเป็นญาติห่าง ๆ กับศิลปินรอเบิร์ต เฮนรี (Robert Henri)[2]
เคแซตเติบโตขึ้นมาในสิ่งแวดล้อมที่ถือว่าการเดินทางท่องเที่ยวเป็นสิ่งสำคัญในการศึกษา และใช้เวลาห้าปีในยุโรปเที่ยวเยี่ยมเมืองหลวงหลายเมืองรวมทั้งลอนดอน, ปารีส และเบอร์ลิน ขณะที่อยู่ต่างประเทศเคแซตเรียนภาษาเยอรมันและฝรั่งเศส และเริ่มเรียนการวาดเส้นและดนตรีเป็นครั้งแรก[3] เคแซตได้มีโอกาสพบกับศิลปินฝรั่งเศสหลายคน เช่น ฌ็อง-โอกุสต์-ดอมีนิก แอ็งกร์, เออแฌน เดอลาครัว, ฌ็อง-บาติสต์ กอโร (Jean-Baptiste-Camille Corot) และกุสตาฟว์ กูร์แบ (Gustave Courbet) อาจจะที่งานแสดงสินค้าโลกที่ปารีสในปี ค.ศ. 1855 นอกจากนั้นผู้ที่มีงานแสดงที่นั่นก็ได้แก่แอดการ์ เดอกา และกามีย์ ปีซาโร ทั้งสองผู้ต่อมาเป็นทั้งผู้ร่วมงานและผู้ที่เคแซตนับถือ[4]
แม้ว่าครอบครัวจะต่อต้านการเป็นจิตรกรอาชีพ แต่เคแซตก็เริ่มเข้าศึกษาการเขียนภาพที่สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania Academy of the Fine Arts) ในฟิลาเดลเฟียเมื่ออายุได้สิบห้าปี[5] ส่วนหนึ่งของความกังวลของบิดามารดาของเคแซตก็คือจะเป็นโอกาสที่ทำให้ได้รับความคิดเกี่ยวกับสิทธิสตรีและความเป็นอยู่แบบโบฮีเมียของนักศึกษาศิลปะชายบางคน แม้ว่า 20% ของนักเรียนจะเป็นสตรีแต่ส่วนใหญ่มีทัศนคติว่าศิลปะเป็นสิ่งที่มีค่าทางสังคมและมีเพียงไม่กี่คนที่คิดจะยึดเป็นงานอาชีพเช่นเคแซต[6] เคแซตร่ำเรียนต่อไปแม้ในระหว่างสงครามกลางเมืองอเมริกัน ในบรรดานักเรียนรุ่นเดียวกันก็มีทอมัส เอคินส์ ผู้ที่ต่อมาได้เป็นผู้อำนวยการของสถาบันผู้ที่ค่อนข้างจะมีปัญหา
เพราะความหมดความอดทนกับความเชื่องช้าในบทเรียนและทัศนคติที่ออกจะปกป้องของนักศึกษาผู้ชายและอาจารย์ เคแซตตัดสินใจเรียนการเขียนจากงานของจิตรกรเอกด้วยตัวเอง เคแซตต่อมากล่าวว่า สถาบัน "ไม่ให้การศึกษาอะไร" นักเรียนสตรีไม่ได้รับอนุญาตให้วาดจากแบบจริงจนต่อมาภายหลัง และการศึกษาก็เพียงวาดจากรูปหล่อ[7]
เคแซตตัดสินใจหยุดการศึกษาและย้ายไปปารีสแม้ว่าบิดาจะคัดค้านในปี ค.ศ. 1866 กับมารดาและเพื่อนของครอบครัวที่ทำตัวเป็นพี่เลี้ยง[8] เพราะสตรียังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าศึกษาในสถาบันวิจิตรศิลป์ (École des Beaux-Arts) เคแซตจึงเรียนเป็นการส่วนตัวจากอาจารย์จากสถาบัน[9] และได้รับเข้าศึกษากับฌอง-เลออง เจอโรม (Jean-Léon Gérôme) ผู้ที่เป็นอาจารย์ที่รู้จักกันว่าเป็นผู้เน้นการวาดตามความเป็นจริงและการวาดหัวเรื่องแปลก ๆ สองสามเดือนต่อมาเจอโรมก็รับทอมัส เอคินส์เข้าเป็นนักเรียนด้วย[9] เคแซตเพิ่มฝึกด้วยการก็อปปีงานของจิตรกรสำคัญ ๆ ในพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ซึ่งเป็นที่ที่ใช้เป็นที่พบปะระหว่างชายฝรั่งเศสและนักเรียนสาวอเมริกันเช่นเดียวกับเคแซต ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้นั่งตามคาเฟที่จิตรกรอาวองการ์ดใช้เป็นที่พบปะกัน การพบปะกันเช่นนี้ก็ทำให้พบเนื้อคู่บ้างเช่นอิลิซาเบท เจน การ์ดเนอร์ (Elizabeth Jane Gardner) ผู้ที่ได้พบและแต่งงานกับจิตรกรสถาบันคนสำคัญวีลียาม-อาดอลฟ์ บูกโร (William-Adolphe Bouguereau)[10] สังฆ
ในปลายปี ค.ศ. 1866 เคแซตก็เข้าเรียนการเขียนภาพในชั้นเรียนกับชาลส์ จอชัว แชปลิน (Charles Joshua Chaplin) ผู้มีชื่อเสียงทางการเขียนภาพชีวิตประจำวัน ในปี ค.ศ. 1868 เคแซตก็ศึกษากับตอมา กูตูร์ (Thomas Couture) ผู้มีความชำนาญในการเขียนภาพแบบโรแมนติคและภูมิทัศน์เมือง[11] นักเรียนถูกนำไปวาดภาพนอกสถานที่จากชีวิตจริงโดยเฉพาะภาพชีวิตชาวนาหรือชาวบ้านที่ทำกิจการประจำวัน ในปี ค.ศ. 1868 ภาพเขียนภาพหนึ่งของเคแซต "คนเล่นแมนโดลิน" ได้รับการยอมรับเป็นครั้งแรกโดยคณะกรรมการสำหรับ นิทรรศการศิลปะแห่งปารีส (Salon de Paris) งานชิ้นนี้เป็นงานแบบศิลปะจินตนิยมของฌ็อง-บาติสต์ กอโร (Jean-Baptiste-Camille Corot) และคูทัวร์[12] และเป็นภาพเขียนหนึ่งในสองภาพจากสิบปีแรกของการเขียนที่มีหลักฐานในปัจจุบัน[13] วงการศิลปะในฝรั่งเศสในขณะนั้นกำลังอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนแปลง โดยมีจิตรกรผู้นำขบวนการเปลี่ยนแปลงเช่นกูร์แบร์และเอดัวร์ มาแน ที่พยายามแยกตัวจากธรรมเนียมการเขียนแบบสถาบัน ไปเป็นกระบวนการเขียนแบบอิมเพรสชันนิสม์ที่เพิ่งจะริเริ่มขึ้น อีไลซา ฮาลดิแมนเพื่อนของเคแซตเขียนถึงบ้านว่า "ศิลปินเริ่มทิ้งลักษณะการเขียนแบบสถาบันและพยายามหาแนวทางใหม่ของตนเอง ซึ่งทำให้ทุกอย่างยุ่งเหยิงไปหมด"[10] ส่วนเคแซตยังคงเขียนภาพแบบเดิมและส่งงานไปแสดงในนิทรรศการอยู่กว่าสิบปีแต่ด้วยความอึดอัดกระวนกระวายที่เพิ่มขึ้น
เคแซตเดินทางกลับสหรัฐปลายฤดูร้อนปี ค.ศ. 1870 เมื่อสงครามฝรั่งเศส-ปรัสเซียเริ่มคุกรุ่นขึ้นและไปพักอยู่กับครอบครัวที่อัลทูนา บิดาของเคแซตยังคงต่อต้านความคิดที่เคแซตเลือกอาชีพเป็นจิตรกร ยอมจ่ายค่าใช้จ่ายค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ให้แต่ไม่ยอมจ่ายค่าอุปกรณ์การเขียนภาพ[14] เคแซตแสดงภาพสองภาพในหอศิลป์ในนครนิวยอร์กและมีผู้แสดงความสนใจแต่ไม่มีผู้ซื้อ นอกจากนั้นเคแซตก็ยังมีความรู้สึกอึดอัดที่ไม่มีภาพเขียนที่จะใช้ศึกษาขณะที่พำนักอยู่ที่บ้านฤดูร้อน และคิดว่าจะเลิกการเขียนภาพเพื่อหาอาชีพที่เลี้ยงตัวได้ เคแซตเขียนจดหมายในปลายเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1871 ว่า "ฉันเลิกสตูดิโอที่มี และฉีกภาพเหมือนของพ่อทิ้ง และยังไม่ได้แตะต้องแปรงมาหกอาทิตย์ได้แล้ว และจะยังคงไม่หยิบแปรงจนกว่าจะเห็นหนทางที่จะกลับไปยุโรป ฉันรู้สึกกระวนกระวายที่จะไปทางตะวันตกในฤดูใบไม้ร่วงและไปหางานทำแต่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะไปที่ไหน"[15] เคแซตเดินทางไปชิคาโกเพื่อไปลองเสี่ยงดูแต่ก็ไปสูญเสียภาพเขียนไปกับเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในชิคาโก (Great Chicago Fire) ในปี ค.ศ. 1871[16] หลังจากนั้นไม่นานงานของเคแซตก็ได้รับความสนใจโดยอัครบาทหลวงแห่งพิตส์เบิร์กที่จ้างให้วาดภาพของภาพเขียนของอันโตนิโอ ดา คอร์เรจจิโอที่พาร์มาในประเทศอิตาลีโดยให้เงินล่วงหน้าพอสำหรับค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายระหว่างที่อยู่ที่นั่น ด้วยความตื่นเต้นเคแซตเขียนว่า "โอ ฉันตื่นเต้นที่จะได้ทำงานจนมือไม้สั่นไปหมดและต้องร้องไห้ด้วยความตื่นเต้นที่จะได้เห็นภาพที่งดงามอีกครั้งหนึ่ง[17] จากนั้นเคแซตก็ออกเดินทางไปยุโรปพร้อมกับเอมิลี ซาร์เทนเพื่อนศิลปินจากครอบครัวศิลปินมีชื่อจากฟิลาเดลเฟียอีกครั้งหนึ่ง
อิมเพรสชันนิสม์
แก้ภายในสองสามเดือนหลังจากที่กลับไปยุโรปในฤดูใบไม้ร่วงของปี ค.ศ. 1871 แล้วอนาคตของเคแซตก็ดูจะดีขึ้น ภาพเขียน "สตรีสองคนโยนดอกไม้ในคาร์นิวาล" ได้รับการต้อนรับดีในการแสดงในนิทรรศการที่ซาลอนในปี ค.ศ. 1872 และมีผู้ซื้อ งานของเคแซตเป็นที่รู้จักกันในพาร์มาและได้รับการสนับสนุนจากวงศิลปินที่นั่น: "ผู้คนในพาร์มาพูดถึงกันแต่มิสเคแซตและภาพเขียนของเธอ และทุก ๆ คนต่างก็ต้องการทำความรู้จักกับเธอ"[18]
หลังจากเขียนงานที่ได้รับจ้างจากอัครบาทหลวงแล้ว เคแซตก็เดินทางไปมาดริดและเซบิยา ไปเขียนภาพเขียนเกี่ยวกับสเปนที่รวมทั้งภาพ "นักเต้นรำโพกผ้าลูกไม้" (Spanish Dancer Wearing a Lace Mantilla) ในปี ค.ศ. 1873 ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะอเมริกันแห่งชาติของสถาบันสมิธโซเนียน ในปี ค.ศ. 1874 เคแซตก็ตัดสินใจตั้งถิ่นฐานในฝรั่งเศส และต่อมาน้องสาวก็ตามมา สองคนพักอยู่ในอพาร์ตเม้นท์เดียวกัน
เคแซตยังคงบ่นเรื่องการเมืองของการยอมรับภาพเข้าแสดงในนิทรรศการการแสดงภาพของซาลอน และรสนิยมที่ยังเป็นอนุรักษนิยมของสถาบัน เคแซตออกความเห็นอย่างเปิดเผยตามรายงานของซาร์แทง และมีความเห็นว่างานเขียนของศิลปินสตรีมักจะถูกละเลยนอกจากศิลปินจะรู้จักคนในวงการหรือมีผู้พิทักษ์ในคณะกรรมการ[19] ความผิดหวังก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่องานเขียนสองชิ้นที่เขียนในปี ค.ศ. 1875 ถูกปฏิเสธโดยคณะกรรมการแต่มาได้รับการยอมรับในปีต่อมา หลังจากที่เคแซตเพียงทำให้ฉากหลังเข้มขึ้นเท่านั้น เคแซตมีปากมีเสียงกับซาร์แทงผู้มีความเห็นว่าเคแซตออกจะเห็นแก่ตัวและมีความเห็นอย่างออกนอกหน้าจนเกินไป ในที่สุดทั้งสองก็แยกกัน หลังจากนั้นเคแซตก็ตัดสินใจเปลี่ยนจากการเขียนภาพชีวิตประจำวันไปเป็นการเขียนหัวเรื่องที่เป็นที่นิยมกันเพื่อให้ได้งานจ้างในการเขียนภาพเหมือนเพิ่มขึ้นจากชาวอเมริกันชาวสังคม แต่ก็ไม่มีผลเท่าใดนักในระยะแรก[20]
ในปี ค.ศ. 1877 งานทั้งสองชิ้นได้รับการปฏิเสธจากสถาบันซึ่งทำให้เป็นครั้งแรกในเจ็ดปีที่เคแซตไม่มีงานแสดงในนิทรรศการ[21] ในช่วงเวลาที่ต่ำที่สุดในงานอาชีพของเคแซต ๆ ก็ได้รับคำเชิญจากแอดการ์ เดอกาให้มาแสดงภาพเขียนร่วมกับจิตรกรอิมเพรสชันนิสต์ซึ่งเป็นกลุ่มจิตรกรที่มีงานแสดงศิลปะของตนเองที่เริ่มในปี ค.ศ. 1874 อย่างเป็นที่เล่าลือ กลุ่มจิตรกรอิมเพรสชันนิสต์ (หรือที่เรียกว่า "กลุ่มอิสระ" หรือ "กลุ่มต่อต้าน") ที่เป็นกลุ่มศิลปินที่ไม่มีหลักการอย่างเป็นทางการและหัวเรื่องและวิธีการการสร้างศิลปะของสมาชิกในกลุ่มก็แตกต่างจากกันเป็นอันมาก แต่สิ่งที่คล้ายคลึงกันคือความนิยมการวาดภาพนอกสถานที่ซึ่งต่างกับช่างเขียนยุคก่อนหน้านั้นที่มักจะเขียนภาพภายในห้องเขียนภาพ และการใช้สีที่สดใสมีชีวิตชีวา (vibrant color) ในฝีแปรงโดยตรงบนผ้าใบโดยไม่มีการผสมบนจานสีก่อน ซึ่งเป็นการใช้ตาผู้ดูผสมเอาด้วยตนเองในลักษณะของ "อิมเพรสชันนิสม์" -- ลักษณะที่เกิดจากความประทับใจของผู้ดูเอง
จิตรกรอิมเพรสชันนิสต์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงโดยนักวิจารณ์ศิลปะอยู่หลายปี เฮนรี เบคอนเพื่อนของเคแซตมีความเห็นว่าจิตรกรอิมเพรสชันนิสต์มีหัวรุนแรงและเป็นผู้ "ได้รับเชื้อโรคอะไรสักอย่างในดวงตา"[22] กลุ่มนี้ก็มีแบร์ต มอรีโซ (Berthe Morisot) เป็นจิตรกรสตรีคนหนึ่งอยู่แล้ว ผู้ที่ต่อมามาเป็นเพื่อนและเพื่อนร่วมอาชีพของเคแซต
เคแซตชื่นชมงานเขียนของเดอกาอยู่แล้วโดยเฉพาะในการใช้พาสเตลซึ่งสร้างความประทับใจให้แก่เคแซตเป็นอันมาก และเคแซตเล่าว่าทุกครั้งเมื่อเห็นงานของเดอกาในตู้กระจกหน้าร้านของนักขายศิลปะในปี ค.ศ. 1875 ก็จะ "เอาจมูกเข้าไปจรดกระจกเพื่อจะดูดดื่มทุกสิ่งทุกอย่างจากงานศิลปะของเดอกา" เคแซตกล่าวต่อมาว่างานของเดอกาเป็นงานที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของตนเอง และกล่าวว่าเป็นครั้งแรกที่ได้เห็นศิลปะอย่างที่ต้องการจะเห็น[23] ฉะนั้นเมื่อได้รับคำเชิญจากเดอกาเคแซตก็ยอมรับด้วยความยินดีและเริ่มเตรียมงานเขียนสำหรับการแสดงครั้งต่อไปในปี ค.ศ. 1878 ที่หลังจากถูกเลื่อนเพราะงานมหกรรมโลกก็เริ่มขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1879 เคแซตมีความรู้สึกว่าเข้ากับกลุ่มจิตรกรอิมเพรสชันนิสต์ได้ดีในทางปรัชญาและความกระตือรือร้น และมีความเห็นด้วยในการประกาศว่า: "เราจะดำเนินหน้าต่อไปในการต่อสู้ด้วยกำลังทั้งหมดของเรา"[24] แต่เคแซตไม่สามารถพบปะกับกลุ่มศิลปินนี้ตามคาเฟได้โดยไม่ทำให้เป็นที่ดึงดูดความสนใจของผู้คน จึงจำต้องพบกับเพื่อนศิลปินเป็นการส่วนตัวหรือในการแสดงนิทรรศการ หลังจากนั้นเคแซตก็เริ่มตั้งความหวังว่าจะขายภาพเขียนให้กับชาวปารีสผู้มีรสนิยมสูงที่นิยมงานสมัยใหม่ ลักษณะงานเขียนของเคแซตในช่วงสองปีหลังก็เริ่มแสดงการตอบรับอย่างธรรมชาติ (spontaneity) มากขึ้น เดิมเคแซตเป็นศิลปินที่ทำงานในห้องเขียนภาพแต่ต่อมาก็มักเห็นจะถือสมุดร่างติดตัวไปทุกหนทุกแห่ง และเริ่มวาดภาพสิ่งที่เห็นรอบตัว[25]
ในปี ค.ศ. 1877 พ่อแม่ของเคแซตก็มาพบกับเคแซตที่ปารีสและกลับไปกับลิเดียน้องสาว แมรีซาบซึ้งในคุณค่าของความเป็นเพื่อนของน้องสาวเพราะทั้งสองคนต่างก็เป็นโสด แมรีตัดสินใจตั้งแต่เริ่มแรกแล้วว่าการแต่งงานเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะกับการมีอาชีพ ลิเดียผู้ที่เคแซตใช้เป็นแบบบ่อย ๆ ป่วยกระเสาะกระแสะอยู่เสมอและในที่สุดก็เสียชีวิต การเสียชีวิตเมื่อปี ค.ศ. 1882 ก็ทำให้เคแซตหมดกำลังใจที่จะการเขียนภาพอยู่ระยะหนึ่ง[26]
พ่อของเคแซตเห็นว่าเคแซตควรจะหารายได้ให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายสำหรับห้องเขียนภาพแลอุปกรณ์การเขียนด้วยตนเองซึ่งขณะนั้นยังเป็นรายได้เพียงเล็กน้อย ด้วยความกลัวที่จะต้องเขียนภาพโหลขายเพื่อจุนเจือค่าใช้จ่ายเคแซตก็เริ่มพยายามเขียนงานที่มีคุณภาพดีขึ้นสำหรับงานนิทรรศการครั้งต่อไป ภาพที่ดีที่สุดที่เขียนในปี ค.ศ. 1878 ก็ได้แก่ "ภาพเหมือนของศิลปิน" (ภาพเหมือนตนเอง), "เด็กหญิงบนเก้าอี้สีน้ำเงิน" (Little Girl in a Blue Armchair) และ "อ่านฟิกาโร" (ภาพเหมือนของแม่)
เดอกามีอิทธิพลต่อการเขียนของเคแซตเป็นอันมาก และทำให้เคแซตกลายมาเป็นผู้มีความสามารถในการใช้พาสเตล และสร้างงานที่ดีที่สุดหลายชิ้นจากการการเขียนด้วยพาสเตล นอกจากนั้นเดอกาก็ยังเป็นผู้มีฝีมือชั้นครูในวิธีพิมพ์กัดกรด (etching) ยังแนะนำการสร้างงานชนิดนี้ให้แก่เคแซตด้วย เดอกาและเคแซตทำงานเคียงข้างกันอยู่ระยะหนึ่งซึ่งเป็นผลให้งานการวาดเส้น (draftsmanship) ของเคแซตมีคุณภาพดีขึ้น เดอกาพิมพ์ภาพชุดที่มีเคแซตเป็นแบบของการเดินทางไปลูฟวร์ เคแซตมีความรู้สึกต่อเดอกาแต่ก็ทราบถึงความจุกจิกเจ้าอารมณ์ของเดอกาพอที่จะไม่หวังอะไรจากความรู้สึกมากนัก เดอกาผู้ชอบแต่งตัวดีและวางท่าหรูมักจะเป็นมาเป็นแขกในงานเลี้ยงอาหารค่ำที่ที่พักของเคแซต[27]
การแสดงนิทรรศการของกลุ่มจิตรกรอิมเพรสชันนิสต์ในปี ค.ศ. 1879 เป็นงานที่ประสบความสำเร็จมาที่สุดสำหรับศิลปินตั้งแต่จัดตั้งมาแม้ว่าจะไม่มีงานเขียนของปีแยร์-ออกุสต์ เรอนัวร์ , อัลเฟรด ซิสลีย์, เอดวด มาเนท์ และพอล เซซานน์แสดงก็ตาม เพราะทั้งสามคนยังพยายามเข้าแสดงนิทรรศการของซาลอน จากการหนุนและการจัดการแสดงนิทรรศการโดยกุสตาฟ เคลเลโบท์ (Gustave Caillebotte) กลุ่มจิตรกรอิมเพรสชันนิสต์ก็สามารถทำเงินได้กำไรจากการขายภาพเขียนแม่ว่าจะยังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากนักวิจารณ์ศิลปะก็ตาม "Revue des Deux Mondes" บรรยายนิทรรศการว่า, "เดอกาและเคแซตอย่างไรก็ตามก็เป็นศิลปินเพียงสองคนที่ทำให้การแสดงค่อยน่าสนใจขึ้นบ้างและในการแสดงศิลปะของความเสแสร้งที่เป็นเพียงศิลปะหน้าร้านกับการแต้มสีเล่นอย่างทารก"[28]
เคแซตแสดงภาพเขียนสิบเอ็ดชิ้นที่รวมทั้ง "La Loge" นักวิจารณ์ติการใช้สีของเคแซตว่าจัดเกินไปและภาพเหมือนก็ตรงเกินโดยไม่ยกยอผู้เป็นแบบ แต่การวิจารณ์ที่ได้รับก็ไม่รุนแรงเท่าการวิจารณ์ของงานของโกลด มอแน เคแซตใช้กำไรที่ได้จากการขายภาพในการซื้อภาพเขียนภาพหนึ่งของเดอกาและอีกภาพหนึ่งของมอแน[29]
เคแซตยังคงแสดงภาพเขียนในนิทรรศการของกลุ่มจิตรกรอิมเพรสชันนิสต์ต่อมาในปี ค.ศ. 1880 และ ปี ค.ศ. 1881 และเป็นสมาชิกผู้มีบทบาทในวงจิตรกรอิมเพรสชันนิสต์มาจนถึงปี ค.ศ. 1886 ในปี ค.ศ. 1886 เคแซตส่งภาพเขียนสองภาพไปแสดงในนิทรรศการภาพเขียนจิตรกรอิมเพรสชันนิสม์ครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาที่จัดโดยตัวแทนซื้อขายศิลปะปอล ดูว์ร็อง-รุแอล (Paul Durand-Ruel) ต่อมาเมื่อเพื่อนของเคแซตลุยซีน เอลเดอร์ (Louisine Elder) สมรสกับเอช. โอ. เฮฟไมเยอร์ (H.O. Havemeyer) ในปี ค.ศ. 1883 เคแซตก็แนะนำให้ทั้งคู่สะสมศิลปะอิมเพรสชันนิสม์ ซึ่งทั้งสองก็เริ่มสะสมงาน อิมเพรสชันนิสม์อย่างเป็นจริงเป็นจัง งานสะสมเหล่านี้ส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นของพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโปลิตันในนครนิวยอร์ก[30]
ในช่วงนี้เคแซตเขียนภาพเหมือนของบุคคลในครอบครัวหลายภาพที่รวมทั้ง "ภาพเหมือนของอเล็กซานเดอร์ เคแซต และโรเบิร์ต เคลโซ ลูกชาย" (ค.ศ. 1885) ที่เป็นภาพที่ถือว่าเป็นภาพที่ดีที่สุด ลักษณะการเขียนของเคแซตก็วิวัฒนาการต่อไป และเริ่มแยกจากการเขียนแบบอิมเพรสชันนิสม์ไปเป็นการเขียนที่ง่ายขึ้นและตรงขึ้น และขณะเดียวกันก็เริ่มออกแสดงงานเขียนของตนเองในห้องแสดงภาพในนิวยอร์กด้วย หลังจากปี ค.ศ. 1886 เคแซตก็แยกตัวจากขบวนการศิลปะอิมเพรสชันนิสม์มาเป็นการทดลองวิธีเขียนต่าง ๆ
บั้นปลาย
แก้ความมีชื่อเสียงของเคแซตมาจากการเขียนที่เต็มไปด้วยพลัง (rigorously drawn), การวาดจากการสังเกต แต่เป็นงานเขียนในหัวข้อแม่และลูกก็ยังเป็นงานเขียนที่ยังไม่ค่อยแสดงความรู้สึกทางอารมณ์ (sentimental) เท่างานสมัยต่อมา งานเขียนแรกในหัวข้อนี้คืองาน "แม่อุ้มการ์ดเนอร์" (Gardner Held by His Mother)[31] แม้ว่าเคแซตจะเขียนภาพหัวข้อนี้มาก่อนหน้านั้น ภาพเขียนหลายภาพในระยะแรกเป็นภาพเขียนของญาติ, เพื่อน หรือลูกค้า แต่ในระยะหลังเคแซตมักจะใช้แบบอาชีพใน งานเขียนของเคแซตในระยะหลังทำให้นึกถึงภาพเขียนพระแม่มารีและพระบุตรของสมัยยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาอิตาลี หลังจากปี ค.ศ. 1900 เคแซตก็เขียนแต่แม่กับลูกเกือบทั้งหมด[32]
ในปี ค.ศ. 1891 เคแซตก็แสดงงานเขียนที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองของงานภาพพิมพ์จารเข็ม (drypoint) และภาพพิมพ์อย่างสีน้ำ (aquatint prints) ที่รวมทั้งภาพ "ผู้หญิงอาบน้ำ" และ "ช่างทำผม" ซึ่งมีแรงบันดาลใจมาจากงานของจิตรกรญี่ปุ่นที่นำไปแสดงในปารีสในปีก่อนหน้านั้น เคแซตรู้สึกดึงดูดในความง่ายและความชัดเจนในการออกแบบแบบญี่ปุ่น และการใช้สีพิมพ์ ในการตีความหมายของการเขียนแบบญี่ปุ่นของเคแซต เคแซตใช้แสดงตรง ใช้สีแพสเทล และเลี่ยงการใช้สีดำ (ซึ่งเป็นสีต้องห้ามของอิมเพรสชันนิสม์) เอ. เบรสคินแห่งสถาบันสมิธโซเนียนตั้งข้อสังเกตว่าภาพพิมพ์ชุดนี้เป็น "งานที่เป็นตัวของตัวเองที่สุดของเคแซต… ที่เพิ่มบทใหม่ในประวัติศาสตร์ของเลขนศิลป์ (graphic arts) …ซึ่งตามลักษณะงานแล้วยังไม่มีผู้ใดสามารถเท่าเทียมได้"[33]
คริสต์ทศวรรษ 1890 เป็นช่วงที่เคแซตมีงานเขียนมากที่สุดและเป็นช่วงที่เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์มากที่สุด ทางด้านส่วนตัวเคแซตเองก็มีความคิดเห็นรุนแรงลดน้อยลงกว่าเดิมและกลายเป็นตัวอย่างของจิตรกรอเมริกันรุ่นต่อมา ที่รวมทั้งลูซี เอ. เบคอน (Lucy A. Bacon) ผู้ที่เคแซตแนะนำให้รู้จักกับกามีย์ ปีซาโร
แม้ว่ากลุ่มจิตรกรอิมเพรสชันนิสต์จะยุบตัวไปแต่เคแซตก็ยังการติดต่อกับสมาชิกบางคนอยู่รวมทั้ง เรอนัวร์, มอแน และปิซาร์โร[34] ในศตวรรษใหม่เคแซตก็มีหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้แก่ผู้สะสมศิลปะรายใหญ่ ๆ หลายคนแต่เคแซตมีข้อแม้ว่าบุคคลเหล่านี้ต้องอุทิศงานเหล่านี้ให้แก่พิพิธภัณฑ์ศิลปะในสหรัฐอเมริกาในที่สุด แต่ความมีชื่อเสียงของเคแซตก็เชื่องช้าในสหรัฐอเมริกา แม้แต่ในบรรดาญาติพี่น้องด้วยกันเองเคแซตก็มิได้รับการยอมรับเท่าใดนักและถูกครอบงำโดยชื่อเสียงของพี่ชาย[35]
พี่ชายของเคแซตอเล็กซานเดอร์ เคแซต (Alexander Cassatt) (ประธานของการรถไฟเพนซิลเวเนียระหว่างปี ค.ศ. 1899 จนเสียชีวิต) เสียชีวิตในปี ค.ศ. 1906 ซึ่งทำความโศรกเศร้ามาให้เคแซตเป็นอย่างมากเพราะทั้งสองคนมีความใกล้ชิดกันแต่เคแซตก็ยังผลิตงานอย่างมากมายมาจนถึงปี ค.ศ. 1910[36] งานในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1900 เป็นงานที่เพิ่มการแสดงความมีอารมณ์ (sentimentality) มากขึ้น งานเขียนของเคแซตเป็นที่นิยมกันในสังคมและนักวิจารณ์ศิลปะแต่ในช่วงนี้เคแซตมิได้สร้างงานที่แตกต่างไปจากวิธีการเขียนที่เคยทำมา และเพื่อนฝูงในกลุ่มจิตรกรอิมเพรสชันนิสต์ผู้ที่เคยเป็นให้แรงบันดาลใจและการวิพากษ์วิจารณ์ก็เริ่มมาเสียชีวิตกันไป เคแซตเองก็ไม่ยอมรับขบวนการศิลปะใหม่เช่นศิลปะอิมเพรสชันนิสม์สมัยหลัง, คติโฟวิสต์ และบาศกนิยม[37]
การเดินทางไปอียิปต์ในปี ค.ศ. 1910 ทำความประทับใจให้แก่เคแซตในด้านความงามของศิลปะโบราณที่ตามมาด้วย "วิกฤติการณ์ทางการสร้างสรรค์" นอกจากการเดินทางจะทำให้เหนื่อยแล้วเคแซตก็ยังประกาศว่ารู้สึก "หมดแรงจากพลังของศิลปะนี้" และกล่าวต่อไปว่าตนเอง "...พยายามต่อสู้แต่ก็พ่ายแพ้ เพราะ[ศิลปะโบราณนี้]เป็นศิลปะอันยิ่งใหญ่ที่อดีตทิ้งไว้ให้ ...ฝีมืออันด้อยอย่างฉันจะทำอย่างไรจึงจะมีผลต่อตัวฉันเองได้เช่นนั้น"[38]
ในปี ค.ศ. 1911 เมื่อได้รับการตรวจว่าเป็นเบาหวาน, โรคไขข้อ, อาการปวดเส้นประสาท (neuralgia) และโรคต้อ เคแซตก็มิได้ชะลอตัวลง แต่หลังจากปี ค.ศ. 1914 เคแซตก็จำต้องหยุดเขียนภาพเมื่อเริ่มมองไม่เห็น และหันไปให้ความสนใจกับการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีแทนที่ ในปี ค.ศ. 1915 เคแซตก็แสดงงานเขียนสิบแปดชิ้นในงานนิทรรศการที่สนับสนุนขบวนการ
เพื่อแสดงความซาบซึ้งในผลงานทางศิลปะที่สร้างรัฐบาลฝรั่งเศสก็มอบเครื่องอิสริยาภรณ์เลฌียงดอเนอร์ ให้แก่เคแซตในปี ค.ศ. 1904 เคแซตเสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ. 1926 ใกล้ปารีสและถูกฝังไว้ที่ Mesnil-Théribus ในฝรั่งเศส
อ้างอิง
แก้- ↑ Nancy Mowll Mathews, Mary Cassatt: A Life, Villard Books, New York, 1994, p. 5, ISBN 0-394-58497-X.
- ↑ Perlman, Bennard B., Robert Henri: His Life and Art, page 1. Dover, 1991.
- ↑ Mathews, 1994, p. 11
- ↑ Robin McKown, The World of Mary Cassatt, Thomas Y. Crowell Co. , New York, 1972, pp. 10-12, ISBN 0-690-90274-3
- ↑ Mathews, 1994, p. 26
- ↑ Mathews, 1994, p. 18
- ↑ McKown, 1974, p. 16
- ↑ Mathews, 1994, p. 29
- ↑ 9.0 9.1 Mathews, 1994, p. 31
- ↑ 10.0 10.1 Mathews, 1994, p. 32
- ↑ Mathews, 1994, p. 54
- ↑ Mathews, 1998, p. 47
- ↑ Mathews, 1998, p. 54
- ↑ Mathews, 1998, p. 75
- ↑ Mathews, 1994, p. 74
- ↑ McKown, 1974, p. 36
- ↑ Mathews, 1994, p. 76
- ↑ Mathews, 1994, p. 79
- ↑ Mathews, 1998, pp. 104-105
- ↑ Mathews, 1994, p. 96
- ↑ Mathews, 1998, p. 100
- ↑ Mathews, 1994, p. 107
- ↑ Mathews, 1998, p. 114
- ↑ Mathews, 1994, p. 118
- ↑ Mathews, 1994, p. 125.
- ↑ Mathews, 1998, p. 163
- ↑ McKown, 1974, pp. 63-64
- ↑ McKown, 1974, p. 73
- ↑ McKown, 1974, pp. 72-73
- ↑ Mathews, 1994, p. 167
- ↑ Mathews, 1998, p. 182 and note, p. 346
- ↑ National Museum of American Art, 1985, p. 106
- ↑ McKown, 1974, pp. 124-126.
- ↑ McKown, 1974, p. 155.
- ↑ McKown, 1974, p. 182.
- ↑ Mathews, 1998, p. 281
- ↑ Mathews, 1998, p. 284
- ↑ Mathews, 1998, p. 291
ข้อมูลเพิ่มเติม
แก้แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- แมรี เคแซต ที่ MuseumSyndicate.com เก็บถาวร 2009-05-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
- แมรี เคแซต ที่ WebMuseum. (อังกฤษ)
สมุดภาพ
แก้-
"หลังจากการสู้วัว"
ค.ศ. 1873 -
"ที่โรงละคร"
(หรือ "At the Opera")
ค.ศ. 1878 -
"มุมหนึ่งในบอกซ์" (หรือ "In the Box")
ค.ศ. 1879 -
"แม่หวีผมให้ลูก"
ค.ศ. 1879 -
"เอลซีบนเก้าอี้สีน้ำเงิน"
ค.ศ. 1880 -
"ลิเดียในโรงละคร"
ค.ศ. 1880 -
"ดอกไลแล็คริมหน้าต่าง"
ค.ศ. 1880 -
"ลิเดียทอพรม"
ค.ศ. 1881 -
"ในบ็อกซ์"
"The Loge"
ค.ศ. 1882 -
"ผู้หญิงในชุดดำ"
ค.ศ. 1882 -
"เด็กที่ชายหาด"
ค.ศ. 1884 -
"เด็กเล่นกับแม่"
ค.ศ. 1890 -
"เด็กหญิงนั่งบนเก้าอี้เหลือง"
ค.ศ. 1902 -
"สตรีที่โต๊ะน้ำชา"
ราว ค.ศ. 1884 -
"เด็กหญิงแต่งผม"
ค.ศ. 1886 -
"ที่หน้าต่าง"
ค.ศ. 1889 -
"ตะเกียง"
ราว ค.ศ. 1891 -
"พี่เลี้ยงอ่านหนังสือให้เด็กฟัง"
ค.ศ. 1895 -
"แม่จูบลูก"
ค.ศ. 1896 -
"ซาราอุ้มแมว"
ค.ศ. 1908