แผ่นแอฟริกา (อังกฤษ: African Plate) เป็นแผ่นธรณีแปรสัณฐานขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยทวีปแอฟริกา (ยกเว้นส่วนตะวันออกสุด) และเปลือกสมุทรที่อยู่ติดกันในทางตะวันตกและใต้ แผ่นแอฟริกาถูกโอบล้อมทางตะวันตกด้วยแผ่นอเมริกาเหนือและแผ่นอเมริกาใต้ (โดยคั่นด้วยเทือกเขากลางมหาสมุทรแอตแลนติก) ทางตะวันออกติดกับแผ่นอาหรับและแผ่นโซมาเลีย ทางเหนือติดกับแผ่นยูเรเชีย แผ่นทะเลอีเจียน และแผ่นอานาโตเลีย และทางใต้ติดกับแผ่นแอนตาร์กติก

แผ่นแอฟริกา
แผ่นแอฟริกา
ประเภทแผ่นหลัก
พื้นที่โดยประมาณ61,300,000 กม.2[1]
ลักษณะภูมิศาสตร์ทวีปแอฟริกา, มหาสมุทรแอตแลนติก, ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน, ทะเลแดง

ช่วงระหว่าง 60 ถึง 10 ล้านปีก่อน แผ่นโซมาเลียเริ่มแตกออกจากแผ่นแอฟริกาไปตามการแยกแอฟริกาตะวันออก[2] ทั้งนี้ เนื่องจากทวีปแอฟริกานั้นตั้งอยู่บนทั้งแผ่นแอฟริกาและแผ่นโซมาเลีย ดังนั้นวรรณกรรมบางเล่มจึงเรียกแผ่นแอฟริกาว่า แผ่นนิวเบีย (อังกฤษ: Nubian Plate) เพื่อให้ต่างจากชื่อที่อาจหมายถึงทั้งทวีปได้[3]

ขอบเขต แก้

ขอบด้านตะวันตกของแผ่นแอฟริกาเป็นแนวแผ่นเปลือกโลกแยกตัวร่วมกับแผ่นอเมริกาเหนือในด้านเหนือและแผ่นอเมริกาใต้ในด้านใต้ ซึ่งก่อตัวขึ้นเป็นส่วนกลางและใต้ของเทือกเขากลางมหาสมุทรแอตแลนติก ขอบด้านตะวันออกเฉียงเหนือติดกับแผ่นอาหรับ ขอบด้านตะวันออกเฉียงใต้ติดกับแผ่นโซมาเลีย ขอบด้านเหนือติดกับแผ่นยูเรเชีย แผ่นทะเลอีเจียน และแผ่นอานาโตเลีย และขอบด้านใต้ติดกับแผ่นแอนตาร์กติกา ทั้งหมดนี้นั้นเป็นแนวแผ่นเปลือกโลกแยกตัวที่มีการแยกตัวออกของแผ่นเปลือกโลก เว้นแต่ขอบด้านเหนือและส่วนสั้น ๆ ใกล้กับอะโซร์สที่เรียกว่าการแยกตือร์ไซรา

ส่วนประกอบ แก้

แผ่นแอฟริกาประกอบด้วยหินฐานธรณีจำนวนมาก เช่น บล็อกเสถียร (stable blocks) ของแผ่นเปลือกโลกเก่าที่ฝังตัวลึกอยู่ในเนื้อดาวของธรณีภาคอนุทวีป และศิลาภูมิประเทศ (terranes) ที่มีความเสถียรน้อยกว่าซึ่งรวมตัวกันขึ้นเป็นทวีปแอฟริกาในช่วงการรวมตัวของมหาทวีปแพนเจียเมื่อประมาณ 250 ล้านปีที่แล้ว โดยหินฐานธรณีไล่เรียงจากใต้ขึ้นเหนือ ได้แก่ หินฐานธรณีคาลาฮารี หินฐานธรณีคองโก หินฐานธรณีแทนซาเนีย และหินฐานธรณีแอฟริกาตะวันตก ในอดีตหินฐานธรณีเหล่านี้แยกออกจากกันอย่างกว้าง แต่ได้เกิดรวมตัวกันขึ้นในช่วงการก่อเทือกเขาแพนแอฟริกาและได้รวมอยู่ด้วยกันเมื่อมหาทวีปกอนด์วานาแยกตัวออก หินฐานธรณีเหล่านี้มีการเชื่อมต่อกันด้วยแนวการก่อเทือกเขา ซึ่งเป็นบริเวณของหินที่มีการผิดรูปอย่างมากจากการแปรสัณฐานแผ่นธรณีภาค โดยมีมหาหินฐานธรณีสะฮาราที่ถูกระบุว่าเป็นส่วนที่หลงเหลืออย่างไม่เป็นทางการของหินฐานธรณีที่แยกออกจากชั้นเนื้อดาวของธรณีภาคอนุทวีป แต่ในอีกทางหนึ่งอาจประกอบด้วยกลุ่มของเศษเปลือกโลกที่ไม่เกี่ยวข้องกับแต่ถูกพามารวมกันในช่วงการก่อเทือกเขาแพนแอฟริกา

ในบางพื้นที่ หินฐานธรณีถูกปกคลุมด้วยแอ่งตกตะกอน เช่น แอ่งทินดูฟ แอ่งตาอูเดนี และแอ่งคองโก ซึ่งมีเปลือกโลกโบราณถูกทับด้วยชั้นตะกอนนีโอโพรเทอโรโซอิกที่ใหม่กว่า นอกจากนี้ยังมีเขตเฉือน (shear zone) เช่น เขตเฉือนแอฟริกากลาง (CASZ) ซึ่งในอดีตเป็นแผ่นเปลือกโลกสองแผ่นที่เคลื่อนตัวในทิศทางตรงกันข้าม และมีการแยก (rift) เช่น ร่องแอนซา (Anza trough) ซึ่งเป็นบริเวณที่เปลือกโลกถูกดึงแยกออกจากกัน ทำให้เกิดแอ่งที่ถูกตะกอนที่ใหม่กว่าลงมาเติมในภายหลัง

การเคลื่อนตัวสมัยใหม่ แก้

 
ทุกวันนี้ แผ่นแอฟริกามีการเคลื่อนที่ไปบนพื้นผิวโลกด้วยความเร็ว 0.292° ± 0.007° ต่อล้านปีเทียบกับความเร็วเชิงมุมของเปลือกโลก "เฉลี่ย" ของโลก (ดูที่ NNR-MORVEL56)
 
แผนที่บริเวณแอฟริกาตะวันออกแสดงให้เห็นภูเขาไฟมีกำลังในอดีต (สามเหลี่ยมสีแดง) และสามเหลี่ยมอาฟาร์ (บริเวณแรเงากลางภาพ) ซึ่งเป็นสามแยก (triple junction) ที่แผ่นเปลือกโลกทั้งสามนั้นแยกตัวออกจากกัน ในสามเหลี่ยมนี้คือแผ่นอาหรับ แผ่นแอฟริกา และแผ่นโซมาเลีย (USGS)

แผ่นแอฟริกานั้นกำลังแยกออกในบริเวณด้านตะวันออกของทวีปแอฟริกาในตามแนวการแยกแอฟริกาตะวันออก เขตการแยกนี้ได้แยกแผ่นแอฟริกาที่อยู่ทางตะวันตกออกจากแผ่นโซมาเลียที่อยู่ทางตะวันออก สมมติฐานหนึ่งเสนอว่ามีเสาเนื้อโลก (mantle plume) อยู่ใต้บริเวณอาฟาร์ ขณะที่อีกสมมติฐานหนึ่งเสนอว่าการแยกนั้นเป็นเพียงพื้นที่ที่มีความอ่อนแอมากที่สุดของแผ่นแอฟริกาที่กำลังผิดรูป ขณะที่แผ่นเปลือกโลกทางด้านตะวันออกเคลื่อนตัวไปทางเหนืออย่างรวดเร็ว

ความเร็วของแผ่นแอฟริกาอยู่ที่ประมาณ 2.15 เซ็นติเมตรต่อปี[4] ในภาพรวมช่วง 100 ล้านปีที่ผ่านมามีการเคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ตัวแผ่นเข้าใกล้แผ่นยูเรเชียมากขึ้นและเกิดการมุดตัวของเปลือกโลกในจุดที่เปลือกโลกภาคพื้นสมุทรบรรจบกับเปลือกโลกภาคพื้นทวีป (เช่น ตอนกลางและด้านตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน) ในด้านตะวันตกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน การเคลื่อนที่ของแผ่นแอฟริกาและแผ่นยูเรเซียจะสัมพันธ์กัน ทำให้เกิดการรวมกันไปทางด้านข้างและแรงอัด โดยกระจุกกันอยู่ในบริเวณที่เรียกว่าเขตรอยเลื่อนยิบรอลตาร์–อะโซร์ส บริเวณขอบด้านตะวันออกเฉียงเหนือ แผ่นแอฟริกาถูกล้อมรอบด้วยการแยกทะเลแดงซึ่งแผ่นอาหรับกำลังเคลื่อนตัวออกจากแผ่นแอฟริกา

จุดความร้อนนิวอิงแลนด์ในมหาสมุทรแอตแลนติกอาจเป็นตัวที่สร้างแนวเส้นสั้น ๆ บนภูเขาใต้ทะเลอายุกลางถึงปลายเทอเทียรีขึ้น แต่ในปัจจุบันนั้นคล้ายว่าไม่มีกำลังแล้ว[5]

อ้างอิง แก้

  1. "Sizes of Tectonic or Lithospheric Plates". About.com. สืบค้นเมื่อ 30 June 2015.
  2. "Somali Plate". Ashten Sawitsky. สืบค้นเมื่อ 30 June 2015.
  3. Chu, D.; Gordon, R.G. (1999). "Evidence for motion between Nubia and Somalia along the Southwest Indian ridge". Nature. 398 (6722): 64–67. Bibcode:1999Natur.398...64C. doi:10.1038/18014. S2CID 4403043.
  4. Huang, Zhen Shao (1997). "Speed of the Continental Plates". The Physics Factbook. สืบค้นเมื่อ 7 June 2018.
  5. Duncan, R.A. (1984). "Age progressive volcanism in the New England Seamounts and the opening of the central Atlantic Ocean". Journal of Geophysical Research: Solid Earth. 89 (B12): 9980–90. Bibcode:1984JGR....89.9980D. doi:10.1029/jb089ib12p09980.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้