แซมซั่น กระทิงแดงยิม

แซมซั่น กระทิงแดงยิม มีชื่อจริงว่า สมบุญ พานตะสี (ชื่อเล่น: จ่อย) เกิดเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 ที่ อำเภอจังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด

แซมซั่น กระทิงแดงยิม
เกิดสมบุญ พานตะสี
11 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 (52 ปี)

แซมซั่นเคยเป็นนักมวยไทยชื่อดัง ค่าตัวเงินแสน ในชื่อ แสนเมืองน้อย ลูกเจ้าพ่อมเหศักดิ์ โดยเป็นมวยที่เดินหน้าชกบุกตะลุยตลอด ไม่มีถอยหลัง เป็นที่ถูกใจของแฟนมวยเป็นอย่างมาก โดยชื่อ "แซมซั่น" นั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่ชื่อ แต่เป็นฉายา โดยแฟนมวยตั้งให้สอดคล้องกับ "แรมโบ้" พงษ์ศิริ พ.ร่วมฤดี ซึ่งเป็นนักมวยที่ชกในรูปแบบเดียวกัน ที่ขณะนั้นอยู่ในช่วงปลายชีวิตของการชกมวยแล้ว การชกมวยไทยของแซมซั่นนั้น เคยผลัดกันแพ้-ชนะกับ วีระพล สหพรหม ด้วยการน็อกเพียงกันแค่ยกที่ 2 ทั้ง 2 ครั้ง[1], ได้ครองแชมป์แบนตั้มเวต เวทีลุมพินี, ชนะ หลักหิน วสันตสิทธิ์ ได้ครองแชมป์จูเนียร์แบนตั้มเวต เวทีราชดำเนิน, ชกกับแสนไกร ศิษย์ครูอ๊อด มากถึง 13 ครั้ง ตั้งแต่ทั้งคู่ยังชกกันอยู่ในเวทีมวยในต่างจังหวัดจนกระทั่งมาถึงกรุงเทพมหานคร แซมซั่นเป็นฝ่ายชนะไปได้ 6 ครั้ง และแพ้ 7 ครั้ง [2]

ในปี พ.ศ. 2537 ทาง "เสี่ยเน้า" วิรัตน์ วชิรรัตนวงศ์ ผู้จัดการให้เบนเข็มมาชกมวยสากลอาชีพ และให้ใช้ชื่อว่าแซมซั่นไปเลยตามความคุ้นเคย เพียงแค่ 4 ครั้งเท่านั้น แซมซั่นก็ได้แชมป์โลกในรุ่นจูเนียร์แบนตั้มเวทของสหพันธ์มวยโลก (WBF) โดยชนะน็อกยก 3 นักมวยชาวออสเตรเลียไปอย่างง่ายดาย

แม้จะเป็นเพียงแชมป์ของสถาบันที่ไม่มีได้รับการยอมรับมากเท่าไหร่ แต่แซมซั่นก็ได้สร้างประวัติศาสตร์หลายอย่างให้เกิดขึ้นกับวงการมวยไทยและวงการมวยโลก โดยสามารถป้องกันตำแหน่งไว้ได้ถึง 38 ครั้ง มากกว่านักมวยคนใด ๆ ในโลก ได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมายจากหลายหน่วยงานในประเทศไทย นับเป็นนักมวยที่ขึ้นป้องกันตำแหน่งเดือนต่อเดือน ในแบบที่ไม่มีนักมวยคนใดทำมาก่อน แม้จะเป็นการชกในเมืองไทยเท่านั้น แต่ก็มีบรรดาผู้ให้การสนับสนุนมากมาย ไม่ว่าจะเป็น นักการเมืองท้องถิ่นหรือนักการเมืองระดับประเทศก็ตาม หรือสินค้าประเภทต่าง ๆ อย่างชนิดที่นักมวยแชมป์โลกชาวไทยในสถาบันที่มีมาตรฐานกว่ายังไม่อาจจะทำได้ และเป็นนักมวยคนหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากแฟนมวย ในการชกแต่ละครั้งจะมีผู้ชมจำนวนมาก

โดยในระหว่างนี้ แซมซั่นได้มีโอกาสแสดงภาพยนตร์ด้วยเรื่องหนึ่ง เป็นภาพยนตร์ทุนต่ำ ถ่ายทำเพียง 3 วันเสร็จ เป็นชีวประวัติของแซมซั่นเอง ชื่อ "แซมซั่น เลือดอีสาน"[3] ซึ่งไม่มีการฉายในโรงภาพยนตร์ทั่วไป แต่ออกฉายเป็นหนังเร่ในภาคอีสาน และออกเป็นวิดีโอในภายหลัง

แม้จะประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ในปี พ.ศ. 2541 ต้องผ่าตัดชายโครงแต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการชกมวยของแซมซั่นเลย แซมซั่นยังคงเดินหน้าทำสถิติการชกต่อไป

แซมซั่น แขวนนวมในปี พ.ศ. 2544 หลังการแขวนนวม แซมซั่นมีทรัพย์สินไม่ต่ำกว่า 20 ล้าน ซึ่งได้มาจากการชกมวยอย่างเดียว มีบ้านราคาเป็นล้านที่กรุงเทพฯ มีรถยนต์ราคาแพงขับ และยังมีกิจการร้านอาหารที่ จังหวัดร้อยเอ็ด บ้านเกิดอีกด้วย

ชีวิตส่วนตัว แซมซั่น สมรสกับ ชารีฟดา พานตะสี ภรรยาซึ่งรับราชการเป็นตำรวจหญิง มีธิดา 1 คน

ในปลายปี พ.ศ. 2547 ในโอกาสครบ 48 ปี ของสนามมวยเวทีลุมพินี แซมซั่น ได้ชกโชว์ในแบบมวยไทยกับ "แรมโบ้" พงษ์ศิริ พ.ร่วมฤดี นักมวยต้นแบบของตนด้วย ซึ่งเรียกเสียงปรบมือฮือฮาอย่างมากจากแฟนมวยที่เข้าชม

ในช่วงเดือนกันยายน พ.ศ. 2560 มีกระแสข่าวว่าแซมซั่นเตรียมจะขึ้นชกมวยไทยกับวีระพล สหพรหม อดีตนักมวยไทยชื่อดังและอดีตแชมป์โลกรุ่นแบนตั้มเวทสองสถาบัน (WBA และ WBC) โดยเป็นการชกแบบจริงจัง เน้นผลแพ้ชนะ ซึ่งนายณัฐเดช วชิรรัตนวงศ์ โปรโมเตอร์ศึกเพชรยินดี ได้ประกาศว่า มวยคู่นี้จะขึ้นชกกันในวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2560 ในรายการศึกเพชรยินดี ที่เวทีราชดำเนิน [4]ผลการชกเป็น แสนเมืองน้อย ลูกเจ้าพ่อมเหศักดิ์ เป็นฝ่ายเอาชนะคะแนนไปอย่างขาดลอย โดยไม่มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์แต่อย่างใด

ชื่อในการชกมวยชื่ออื่น

แก้
  • แซมซั่น อีลิทยิม
  • แซมซั่น ดัทช์บอยยิม
  • แซมซั่น สามเคแบตเตอรี่
  • แซมซั่น โตโยต้าไทยแลนด์

เกียรติประวัติ

แก้
  • แชมป์โลกรุ่นจูเนียร์แบนตัมเวท WBF (2537 - 2544)
    • ชิง17 กันยายน 2537 ชนะน็อค ยก 3 คอลลิน เนลสัน (  ออสเตรเลีย) ที่ อีลิทสปา
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 1, 6 พฤศจิกายน 2537 ชนะน็อค ยก 6 ฮิปโป กาลา (  อินโดนีเซีย) ที่ จ.เชียงราย
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 2, 8 มกราคม 2538 ชนะน็อค ยก 8 โรลันโด ปัสกวา (  ฟิลิปปินส์) ที่ จ.แพร่[5]
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 3, 12 มีนาคม 2538 ชนะน็อค ยก 6 แมกซิม ปูกาเชฟ (  รัสเซีย) ที่ จ.พิษณุโลก
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 4, 14 พฤษภาคม 2538 ชนะน็อค ยก 5 เนเน่ วูยานี (  แอฟริกาใต้) ที่ จ.ลำปาง
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 5, 25 มิถุนายน 2538 ชนะน็อค ยก 5 แมสสิโม สปิเนลลี (  อิตาลี) ที่ จ.เชียงราย
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 6, 27 สิงหาคม 2538 ชนะน็อค ยก 2 ฆุสโต ซูนิกา (  เม็กซิโก) ที่ จ.ปทุมธานี
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 7, 5 พฤศจิกายน 2538 ชนะน็อค ยก ลุยส์ กุซมัน (  เวเนซุเอลา) ที่ จ.สระบุรี
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 8, 22 ธันวาคม 2538 ชนะน็อค ยก 9 เทมปิโคซี่ ยีนคารา (แอฟริกาใต้) ที่ จ.สกลนคร
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 9, 17 กุมภาพันธ์ 2539 ชนะน็อค ยก 7 เฆนาโร การ์​ซิอา (เม็กซิโก) ที่ จ.ชลบุรี
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 10, 4 เมษายน 2539 ชนะน็อค ยก 1 ลุยส์ โซซา (  สาธารณรัฐโดมินิกัน) ที่ จ.อุดรธานี
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 11, 24 พฤษภาคม 2539 ชนะน็อค ยก 2 ริยันเต อลอสโซ (เม็กซิโก) ที่ จ.เพชรบูรณ์
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 12, 11 กรกฎาคม 2539 ชนะน็อค ยก 4 ริกกี้ ซาเลส (ฟิลิปปินส์) ที่ จ.กาฬสินธุ์
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 13, 23 สิงหาคม 2539 ชนะน็อค ยก 6 ดิเอโก อันดราเด (เม็กซิโก) ที่จ.สุราษฎร์ธานี
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 14, 4 ตุลาคม 2539 ชนะน็อค ยก 4 เซลิเดย์ โซบรันดา (แอฟริกาใต้) ที่ จ.ร้อยเอ็ด
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 15, 22 พฤศจิกายน 2539 ชนะน็อค ยก 7 อเล็กซานเดอร์ แมกนูตอฟ (รัสเซีย) ที่ จ.สุรินทร์
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 16, 30 มกราคม 2540 ชนะคะแนน เจส มาคา (ฟิลิปปินส์) ที่ จ.ชุมพร
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 17, 7 มีนาคม 2540 ชนะน็อค ยก 4 กรุซ การ์บาฆัล (เม็กซิโก) ที่ จ.เลย
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 18, 2 พฤษภาคม 2540 ชนะน็อค ยก 4 บอง อาลอส(ฟิลิปปินส์) ที่ จ.นครราชสีมา
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 19, 24 มิถุนายน 2540 ชนะน็อค ยก 6 อูโก ราฟาเอล โซโต (  อาร์เจนตินา) ที่ จ.ชัยภูมิ
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 20, 26 กันยายน 2540 ชนะคะแนน เจส มาคา (ฟิลิปปินส์) ที่ จ.สระบุรี
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 21, 21 พฤศจิกายน 2540 ชนะน็อค ยก 4 จิน ยังยุง (  เกาหลีใต้) ที่ จ.สุโขทัย
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 22, 6 กุมภาพันธ์ 2541 ชนะน็อค ยก 4 เฟลิกซ์ มาฟา (ฟิลิปปินส์) ที่ ป.กุ้งเผา รัชดา
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 23, 30 กรกฎาคม 2541 ชนะน็อค ยก 7 เรย์ ลีกัส (ฟิลิปปินส์) ที่ บิ๊กฟัน รัชดา
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 24, 23 ตุลาคม 2541 ชนะน็อค ยก 7 เอ็ดเวิร์ด เอสครีเบอร์ (ฟิลิปปินส์) ที่ จ.สกลนคร
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 25, 5 กุมภาพันธ์ 2542 ชนะน็อค ยก 3 แอนดี้ ฮลาเจนนิโอ (ฟิลิปปินส์) ที่ จ.พัทลุง
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 26, 30 เมษายน 2542 ชนะน็อค ยก 7 ดันแคน มาคูเบอเน่ (แอฟริกาใต้) ที่ จ.นครศรีธรรมราช
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 27, 23 กรกฎาคม 2542 ชนะน็อค ยก 4 แพทริค ซาเบอลินี (แอฟริกาใต้) ที่ จ.ยะลา
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 28, 17 กันยายน 2542 ชนะน็อค เอเรียล ออสเตรีย (ฟิลิปปินส์) ยก 4 ที่ จ.นครศรีธรรมราช
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 29, 12 พฤศจิกายน 2542 ชนะน็อค ยก 5 โอเลก ไซโคลอฟ (รัสเซีย) ที่ จ.สระบุรี[6]
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 30, 29 มกราคม 2543 ชนะน็อค ยก 1 ลี จินโฮ (เกาหลีใต้) ที่ ป.กุ้งเผา รัชดา[7]
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 31, 17 มีนาคม 2543 ชนะคะแนน โรเบอร์โต โมเรโน (ฟิลิปปินส์) ที่ จ.ร้อยเอ็ด[8]
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 32, 1 กรกฎาคม 2543 ชนะน็อค ยก 8 ราฟฟี่ ตลาดี้ (ฟิลิปปินส์) ที่ จ.นครปฐม
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 33, 25 สิงหาคม 2543 ชนะน็อค ยก 4 โรเบอร์โต โมเรโน (ฟิลิปปินส์) ที่ จ.สกลนคร
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 34, 3 พฤศจิกายน 2543 ชนะน็อค ยก 3 เอ็ดกา ทาฮัด (ฟิลิปปินส์) ที่ จ.ลพบุรี
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 35, 29 ธันวาคม 2543 ชนะน็อค ยก 5 คิง ดีกัล จูเนียร์ (ฟิลิปปินส์) ที่ เกาะกง กัมพูชา
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 36, 8 พฤษภาคม 2544 ชนะคะแนน ดิออสกาโด กาบี (ฟิลิปปินส์) ที่ จ.อุดรธานี
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 37, 26 ตุลาคม 2544 ชนะคะแนน ออร์ดี ปาดิลโญ (ฟิลิปปินส์) ที่ จ.สงขลา
    • ป้องกันแชมป์ครั้งที่ 38, 19 เมษายน 2545 ชนะคะแนน อัลเฟรน บูเลลา (ฟิลิปปินส์) ที่ จ.ขอนแก่น
    • สละแชมป์

อ้างอิง

แก้
  1. "แฟนพันธุ์แท้ 2014_7 มี.ค. 57 (มวยไทย)". แฟนพันธุ์แท้ 2014. 2014-03-07.
  2. หน้า 18 ต่อข่าวกีฬาหน้า 17, 'คู่เดือดศึกวันทรงชัย' . "รุกฆาต" โดย นนท์ นารายณ์. คมชัดลึกปีที่ 15 ฉบับที่ 5448: วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2559
  3. จาก ฐานข้อมูลภาพยนตร์ไทย
  4. ลงตัวแล้ว!มวยย้อนยุคแซมซั่น-วีระพล 27ธ.ค.นี้
  5. เทปการชกของ เม็ดเงิน กระทิงแดงยิม กับ โรแลนโด พลาสคัว เมื่อ 8 มกราคม 2538
  6. เทปการชกของ เม็ดเงิน กระทิงแดงยิม กับ โอเลก ไซโคลอฟ เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2542
  7. เทปการชกของ เม็ดเงิน กระทิงแดงยิม กับ ลี จินโฮ เมื่อ 29 มกราคม 2543
  8. เทปการชกของ เม็ดเงิน กระทิงแดงยิม กับ โรเบอร์โต โมเรโน เมื่อ 17 มีนาคม 2543