แอลเลอร์ เอลลิส
ศาสตราจารย์อุปการคุณ นายแพทย์ แอลเลอร์ กัสติน เอลลิส (อังกฤษ: Aller Gustin Ellis; A.G. Ellis) (15 มกราคม พ.ศ. 2411 - 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496) เป็นแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน รับราชการในไทยในสัญญากับรัฐบาลไทยผ่านมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์โดยเป็นอาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นคนที่สามในช่วงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2478 - 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2479 หลังจากสิ้นสุดสัญญาระหว่างรัฐบาลไทยได้ใช้ชีวิตบั้นปลายในสหรัฐอเมริกาจนถึงแก่กรรม
แอลเลอร์ กัสติน เอลลิส | |
---|---|
Aller Gustin Ellis | |
อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | |
ดำรงตำแหน่ง 21 ตุลาคม พ.ศ. 2478 – 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2479 (1 ปี 33 วัน) | |
ก่อนหน้า | พระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) |
ถัดไป | จอมพล แปลก พิบูลสงคราม |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 15 มกราคม พ.ศ. 2411 |
เสียชีวิต | 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 (85 ปี) |
ประวัติ
แก้เอลลิสเป็นชาวอเมริกัน ศึกษาขั้นต้นที่วิทยาลัยเจนีวา และระดับอุดมศึกษาในสายแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเจฟเฟอร์สัน ได้รับปริญญาวิทยาศาสตร์บัณฑิต ปริญญาแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต พ.ศ. 2433 และปริญญาวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต พ.ศ. 2458[1]
เอลลิสเดินทางมาประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2462 เข้ารับราชการเป็นอาจารย์สอนวิชาพยาธิวิทยาที่คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล ร่วมงานปรับปรุงด้านการศึกษาการแพทย์เป็นเวลา 2 ปีครบตามสัญญาจึงได้เดินทางกลับสหรัฐอเมริกา ต่อมารัฐบาลไทยมีโครงการปรับปรุงการศึกษาด้านการแพทย์จึงได้ขอร้องให้เอลลิสกลับมาช่วยดำเนินการ ซึ่งท่านก็ได้อพยพครอบครัวมาอยู่ในประเทศไทย ได้สอนวิชาพยาธิวิทยาตามแนวการศึกษาแพทย์แผนปัจจุบันซึ่งทันสมัยมากในสมัยนั้น นอกจากนี้ยังได้ปรับปรุงการศึกษาของประเทศไทยให้ได้มาตรฐาน ด้วยความช่วยเหลือและความร่วมมือจากมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้มีอาคารใหม่พร้อมทั้งเครื่องมือทางการแพทย์เพิ่มขึ้น
เอลลิสได้ทำหน้าที่ประสานงานนำศาสตราจารย์สาขาต่างๆ ทางการแพทย์จากต่างประเทศเข้ามาช่วยสอน มีการสร้างหอสมุด จัดหาตำราและหนังสือทางการแพทย์รวมไว้ในหอสมุด นอกจากนี้ท่านยังได้เขียนรายงานเกี่ยวกับโรคมะเร็งและโรคอื่นในประเทศไทยเพื่อใช้ในการศึกษาไว้หลายเรื่อง
เกียรติประวัติ
แก้โดยที่ศาสตราจารย์ เอลลิสได้สร้างคุณประโยชน์ในด้านการศึกษาวิชาการแพทย์และการแพทย์โดยทั่วไปเป็นอย่างมาก เมื่อ พ.ศ. 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงได้พระราชทานปริญญาแพทย์ศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แก่ศาสตราจารย์เอลลิสในวาระที่มีการประสาทปริญญาทางการแพทย์เป็นครั้งแรกของประเทศไทย และต่อมาในปี พ.ศ. 2478 ศาสตราจารย์จึงได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นอธิการบดีคนที่ 3 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 1 ปี กับ 1 เดือนและ ได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์อุปการคุณ (Emeritus Professor) แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2481
บั้นปลายชีวิต
แก้หลังจากพ้นจากตำแหน่งอธิการบดีแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม มาดำรงตำแหน่งแทนศาสตราจารย์ เอลลิส ได้กลับไปทำงานที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลอีกระยะหนึ่ง โดยผลงานชิ้นสุดท้ายของท่านได้แก่บทความที่กล่าวถึงพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์ของสมเด็จพระราชบิดาและเมื่อสัญญาจ้างของรัฐบาลไทยสิ้นสุดลง ศาสตราจารย์เอลลิสจึงได้เดินทางกลับประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อ พ.ศ. 2481 ใช้ชีวิตบั้นปลายและถึงแก่กรรมเมื่ออายุได้ 85 ปี
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2477 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.)
- พ.ศ. 2474 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ (ม.ว.ม.)
อ้างอิง
แก้- ↑ "Prof. Aller G. Ellis". มหาวิทยาลัยมหิดล. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 กรกฎาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 2 มกราคม 2011.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- เอ.จี. เอลลิส ประมวลประวัติครู คุรุสภาจัดพิมพ์ร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี กระทรวงศึกษาธิการ. กรุงเทพฯ โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว, 2535. หน้า 34. ISBN 974-0-00811-9.
- ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 52 หน้า 2327 วันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2478
ก่อนหน้า | แอลเลอร์ เอลลิส | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
มหาอำมาตย์ตรี พระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) |
อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (21 ตุลาคม พ.ศ. 2478 – 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2479) |
จอมพล แปลก พิบูลสงคราม |