เนื้อทราย
สถานะการอนุรักษ์
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Mammalia
อันดับ: Artiodactyla
วงศ์: Cervidae
วงศ์ย่อย: Cervinae
สกุล: Hyelaphus
สปีชีส์: A.  porcinus
ชื่อทวินาม
Axis porcinus
(Zimmermann, 1780)
ชื่อพ้อง
  • megaloceros porcinus
  • Axis porcinus

เนื้อทราย ทราย หรือ ตามะแน (ชื่อวิทยาศาสตร์: Axis porcinus) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกกวางชนิดหนึ่ง มีรูปร่างอ้วนป้อม ขาสั้น เนื้อทรายจะมีสีขนเปลี่ยนไปตามสภาพภูมิอากาศ

ลักษณะ แก้

โดยปกติจะมีสีน้ำตาลเข้มในฤดูหนาว สีเทาในฤดูร้อน ลูกเนื้อทรายเมื่อแรกเกิดจะมีจุดสีขาวตามลำตัว เมื่อโตขึ้นจึงจางหายไป บริเวณช่วงท้องมีสีอ่อนกว่าลำตัว ขนสั้นมีปลายขนสีขาว มีแถบสีเข้มพาดตามหน้าผาก มีเขาเฉพาะเพศผู้ ลักษณะเขาคล้ายกวางป่า มีความยาวลำตัวและหัว 140–150 เซนติเมตร ความยาวหาง 17.5–21 เซนติเมตร ความสูงจากพื้นดินถึงหัวไหล่ 65–72 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 70–110 กิโลกรัม

ถิ่นที่อยู่ แก้

มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่ภาคเหนือของอินเดีย, เนปาล, ศรีลังกา, ภูฏาน, บังกลาเทศ, พม่า, ภาคใต้ของจีน, ไทย, ลาว, พม่า, กัมพูชา, เวียดนาม, หมู่เกาะกาลาเมียนในฟิลิปปินส์ และเกาะบาเวอันในอินโดนีเซีย

มักอาศัยอยู่ในบริเวณที่ราบต่ำที่น้ำท่วมถึง ออกหากินในเวลากลางคืน มีประสาทสัมผัสในการดมกลิ่นและฟังเสียงดีเยี่ยม แม่เนื้อทรายสามารถจดจำลูกตัวเองได้โดยการดมกลิ่น เมื่อพบศัตรูจะวิ่งหนีไม่กระโดดเหมือนเก้งและกวาง โดยปกติจะอาศัยอยู่ตามลำพัง แต่ในฤดูผสมพันธุ์ ราวเดือนกันยายนตุลาคม อาจหากินเป็นฝูงเล็ก ๆ ได้ ราว 12 ตัว ตั้งท้องประมาณ 8 เดือน วัยเจริญพันธุ์อยู่ที่ 2 ปี ออกลูกครั้งละ 1 ตัว ในสถานที่เลี้ยงมีอายุราว 10–15 ปี

สัตว์สงวน แก้

เนื้อทราย เคยเป็นสัตว์ป่าสงวนในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503[2] และถูกถอดชื่อออกเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1 ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เนื่องจากสามารถเพาะขยายพันธุ์ได้ในปริมาณที่มากจำนวนหนึ่ง แต่สถานะในธรรมชาติในประเทศไทย เชื่อว่าในปัจจุบันเหลือเพียง 2 แห่งเท่านั้น คือ ห้วยขาแข้ง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ โดยเฉพาะที่ภูเขียว เป็นสถานที่ที่มีเนื้อทรายอยู่มากที่สุด จากการเพาะขยายพันธุ์และสืบพันธุ์เองตามธรรมชาติจากพ่อแม่พันธุ์ที่เกิดจากการเพาะโดยมนุษย์ที่ถูกปล่อย

เนื้อทรายตามคติของคนไทย ถือว่าเป็นสัตว์ที่มีนัยน์ตาสวย จึงมีคำเปรียบเปรยว่า "ตาสวยดังเนื้อทราย"

เนื้อทรายยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น "กวางแขม", "ลำโอง" และ "กวางทราย"[3]

หมายเหตุ: เดิมเนื้อทรายเคยถูกแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดย่อย คือ เนื้อทรายอินเดีย (Hyelaphus porcinus porcinus) และเนื้อทรายอินโดจีน (Hyelaphus porcinus annamiticus) แต่ปัจจุบันเห็นว่าควรแยกออกมาเป็นชนิดต่างหาก[4]

ชนิดย่อย แก้

เนื้อทรายมีชนิดย่อยสองชนิด คือ Hyelaphus porcinus porcinus อาศัยอยู่ตามที่ราบอินโด-คงคาของประเทศปากีสถาน ภาคเหนือของอินเดีย เนปาล ตะวันตกเฉียงใต้ของยูนนาน จนถึงตะวันตกของประเทศไทย อีกชนิดย่อยหนึ่งคือ Hyelaphus porcinus annamiticus พบในตะวันออกและอีสานตอนใต้ของประเทศไทย ลาว กัมพูชา ส่วนเนื้อทรายในศรีลังกา ออสเตรเลีย และสหรัฐ เป็นสัตว์ที่มนุษย์นำเข้าไปปล่อย

ระเบียงภาพ แก้

อ้างอิง แก้

  1. Timmins, R.J., Duckworth, J.W., Samba Kumar, N., Anwarul Islam, Md., Sagar Baral, H., Long, B. & Maxwell, A. (2008).Axis porcinus In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 8 April 2009. Database entry includes a brief justification of why this species is of endangered.
  2. ราชกิจจานุเบกษา. พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๐๓. เล่ม 77 ตอนที่ 108 หน้า 1085. วันที่ 27 ธันวาคม 2503.
  3. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์, 2539. 972 หน้า. หน้า 65. ISBN 974-8122-79-4
  4. Ungulate Taxonomy – A new perspective from Groves and Grubb (2011). ultimateungulate.com

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  •   ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Hyelaphus porcinus ที่วิกิสปีชีส์