เนินปราสาท (อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)

เนินปราสาท เป็นโบราณสถานภายในกำแพงของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อยู่ทางทิศตะวันออกของวัดมหาธาตุ

เนินปราสาท
ฐานอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าของเนินปราสาท
เนินปราสาท (อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)ตั้งอยู่ในจังหวัดสุโขทัย
เนินปราสาท (อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)
ที่ตั้งของเนินปราสาทในจังหวัดสุโขทัย
เนินปราสาท (อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)ตั้งอยู่ในประเทศไทย
เนินปราสาท (อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)
เนินปราสาท (อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย) (ประเทศไทย)
ที่ตั้งตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย
ประเภทอาคาร
ส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
ความเป็นมา
สร้างไม่ปรากฏ
ละทิ้งไม่ปรากฏ
สมัยสุโขทัย
หมายเหตุเกี่ยวกับสถานที่
ผู้ขุดค้นกรมศิลปากร
สภาพซากปรักหักพัง
ผู้บริหารจัดการกรมศิลปากร
การเปิดให้เข้าชมทุกวัน 06.00-21.00 น.
สถาปัตยกรรม
รูปแบบสถาปัตยกรรมสุโขทัย
ข้อมูลสถาปัตยกรรมได้รับอิทธิพลจากลังกา
เกณฑ์วัฒนธรรม: (i), (iii)
ขึ้นเมื่อ1991
เป็นส่วนหนึ่งของเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร
เลขอ้างอิง574
ชื่อที่ขึ้นทะเบียนเนินปราสาท
ขึ้นเมื่อ8 มีนาคม พ.ศ. 2478
เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย
เลขอ้างอิง0004036

ลักษณะทางกายภาพ

แก้

โบราณสถานประกอบด้วยฐานอาคารอบฐานบัวคว่ำบัวหงาย ลักษณะเป็นฐานสูงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ ขนาด 27.5 x 51.5 เมตร มีบันไดที่ด้านหน้าและด้านหลังอย่างละหนึ่งแห่ง[1]: 15 

ฐานอาคาร

แก้
 
ฐานอาคารก่อด้วยอิฐแบบบัวคว่ำบัวหงาย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสำรวจเมืองเก่าสุโขทัยเมื่อ พ.ศ. 2450 และทรงสันนิษฐานว่า เนินดินรูปสี่เหลี่ยมรีที่ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของวัดมหาธาตุ น่าจะเป็นลานปราสาทและปราสาท[2]

พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เสนอว่า การขุดค้นทางโบราณคดีไม่พบหลักฐานที่พอจะบ่งชี้ได้ว่าสถานที่นี้เป็นปราสาทราชวัง อีกทั้งแผนที่เก่าทำในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็บ่งบอกว่าเป็นบริเวณเดียวกันกับวัดมหาธาตุ กล่าวคือเป็นสิ่งก่อสร้างเนื่องในทางศาสนาของวัดมากกว่าเป็นพระราชวัง[1]: 15 

แต่เดิมพระราชวังของพระมหากษัตริย์สุโขทัยควรเป็นตำหนักไม้ ตำแหน่งที่ตั้งควรอยู่เหนือศาลตาผาแดง ติดกับวัดสรศักดิ์ทางทิศตะวันตก ซึ่งศิลาจารึกวัดสรศักดิ์กล่าวว่า เป็นตำหนักของเจ้านายสุโขทัย เมื่อตอนกลางพุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งตำแหน่งที่ตั้งเช่นนี้จะตรงกันกับตำแหน่งของพระราชวังกษัตริย์แบบเขมรที่เมืองพระนครหลวง หรือนครธม[1]: 15  บริเวณอาคารอาจเปรียบเทียบได้กับท้องพระโรงของพระเจ้าปรากรมพาหุที่ 1 ในพระราชวังเมืองโปลนนารุวะ หรือถ้าไม่เป็นพระราชวังก็อาจเป็นที่รักษาโรคหรือประกอบพิธีกรรมรักษาโรค เพราะพบพวกตลับยา ตามข้อสันนิษฐานของพิเศษ เจียจันทร์พงษ์[3]: 35 

ส่วนฐานอาคารที่พบ ยังไม่สามารถใช้สรุปได้แน่ชัดว่าเป็นฐานของอะไร เพราะเป็นเพียงฐานอาคารยกสูง ส่วนบนจึงน่าจะเป็นอาคารไม้[3]: 35 

สุจิตต์ วงษ์เทพ กล่าวว่า โบราณสถานของสุโขทัยมักได้รับอิทธิพลมาจากลังกา เนินปราสาทจึงคาดว่าเป็นมหาสันนิบาตศาลา เป็นศาลาขนาดใหญ่ไว้สำหรับทำบุญ หรือประกอบศาสนพิธี[4]

โบราณวัตถุ

แก้

ศักดิ์ชัย สายสิงห์ เสนอว่าหลักฐานทางโบราณคดีที่กรมศิลปากรขุดค้นพบที่เนินปราสาท เช่น ภาชนะดินเผาประเภทเครื่องเคลือบ พบตั้งแต่ชั้นดินอยู่อาศัยระยะแรกสุดสมัยก่อนสุโขทัย โดยเฉพาะเครื่องถ้วยราชวงศ์ซ้อง, เครื่องถ้วยชิงไป๋ที่มีขนาดเล็กจำพวกกระปุก, ตลับ โดยพบร่วมกับเครื่องถ้วยเขมร นอกจากนั้นในชั้นดินอื่น ๆ ยังพบเครื่องถ้วยราชวงศ์หยวน, ราชวงศ์หมิง, เครื่องถ้วยสุโขทัย เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้เป็นเขตที่อยู่อาศัย มิใช่ศาสนสถาน[3]: 35 

เครื่องถ้วยที่พบเป็นเครื่องถ้วยที่มีคุณภาพดี พบจำนวนมาก แตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ ที่พบน้อยหรือพบเพียงเครื่องปั้นดินเผาไม่เคลือบที่ใช้งานในชีวิตประจำวัน ประกอบกับที่ตั้งของบริเวณนี้เป็นที่สูง และอาจเป็นชุมชนที่อยู่อาศัยมาแล้วตั้งแต่สมัยก่อนสุโขทัย จึงอาจกล่าวได้ว่าผู้ที่อยู่อาศัยในเขตเนินปราสาทนี้น่าจะเป็นชนชั้นสูงหรืออาจเป็นเขตพระราชวังได้[3]: 35 

จารึก

แก้
 
จารึกพ่อขุนรามคำแหง ถูกค้นพบที่เนินปราสาท ปัจจุบันเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพมหานคร

โบราณสถานแห่งนี้เป็นที่ค้นพบศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักที่ 1 ปรากฏข้อความในจดหมายเหตุ และสมุดไทยของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ได้กล่าวไว้ว่า

“เมื่อศักราช 1195 ปีมเสง เบญศก (พ.ศ. 2376) จะเสด็จขึ้นไปประภาสเมืองเหนือมัศการเจตียสฐานต่างๆ ... ครั้น ณ วันขึ้นหกค่ำกลับมาลงเรือ เจ็ดค่ำเวลาเที่ยงถึงท่าธานี เดินขึ้นไปเมืองศุโขทัยถึงเวลาเยน อยู่ที่นั้นสองวัน เสด็จไปเที่ยวประภาษพบแท่นสีลาแห่งหนึ่ง อยู่ริมเนินปราสาทก่อไว้เปนแท่นหักพังลงมาตะแคงอยู่ที่เหล่านั้น ชาวเมืองเขาเครพย์ (เคารพ) สำคัญเป็นสานเจ้า เขามีมวยสมโพธทุกปี ... รับสั่งให้ฉลองลงมา ก่อเปนแท่นขึ้นไว้ใต้ต้นมะขามที่วัดสมอราย กับเสาสิลาที่จารึกเปนหนังสือเขมรฯ ที่อยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้น เอามาคราวเดียวกับแท่นสีลา”[5]

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ขณะดำรงพระอิสริยศเป็นน้องยาเธอ) ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ และในราวปี พ.ศ. 2376 ได้ออกเสด็จจาริกธุดงค์ไปยังหัวเมืองเหนือ เมื่อครั้งเสด็จถึงสุโขทัย ทรงพบศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง, ศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง และพระแท่นมนังศิลาบาตร

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. นำชมอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร. 2546.
  2. สำรวจ. พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว. 2520
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 ศักดิ์ชัย สายสิงห์. ศึกษาวิจัยศิลปะสุโขทัยจากหลักฐานโบราณคดีจารึกและศิลปกรรม. 2547.
  4. สุจิตต์ วงษ์เทพ. เนินปราสาทตรงข้ามวัดมหาธาตุสุโขทัย ไม่ใช่วังพระร่วง. มติชน. 2562.
  5. สัมมนา. สมุดไทยของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์. 2520.