เทศกาลกินเจ
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
บทความนี้หรือส่วนนี้ของบทความต้องการปรับรูปแบบ ซึ่งอาจหมายถึง ต้องการจัดรูปแบบข้อความ จัดหน้า แบ่งหัวข้อ จัดลิงก์ภายใน และ/หรือการจัดระเบียบอื่น ๆ คุณสามารถช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้โดยการกดที่ปุ่ม แก้ไข ด้านบน จากนั้นปรับปรุงหรือจัดรูปแบบอื่น ๆ ในบทความให้เหมาะสม |
เทศกาลกินเจ หรือ กินเจ[1] (จีน: 九皇勝會; ฮกเกี้ยน: กิ้วหองเซ่งโห่ย; หรือ จีน: 九皇大帝誕; ฮกเกี้ยน: กิ้วหองไต่เต้ตั้น) หรือบางแห่งเรียกว่า ประเพณีถือศีลกินผัก[2] กำหนดเอาวันตามจันทรคติ คือ เริ่มต้นตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ ถึง ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนของทุกปี รวม 9 วัน สันนิษฐานว่ามีจุดเริ่มต้นในประเทศมาเลเซีย และภาคใต้ของประเทศไทย เทศกาลกินเจไม่ใช่ประเพณีของชาวจีนโพ้นทะเลทั้งหมด เพราะชาวจีนในประเทศจีนปัจจุบันไม่ค้นพบว่ามีการสืบทอดหรือจัดประเพณีกินเจนี้เลย แม้มีอยู่บางหมู่บ้านก็ปรากฏว่าได้จัดประเพณีตามประเทศไทย และไม่พบประเพณีนี้ในชุมชนชาวจีนในประเทศอื่น ๆ ดังนั้น จึงสันนิษฐานว่าเป็นเทศกาลที่เกิดขึ้นจากคนไทยเชื้อสายจีนในประเทศไทย ก่อนประเทศไทยจะเสียดินแดนบางส่วนให้อังกฤษและกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเทศมาเลเซีย คนมาเลเซียเชื้อสายจีนในประเทศมาเลเซีย จึงยังคงมีเทศกาลกินเจเช่นเดียวกับประเทศไทย โดยมีตำนานเล่าขานกันว่าประมาณปี 2370 ได้เกิดโรคระบาดที่เกาะภูเก็ตทำให้มีคนตายเป็นจำนวนมาก มีชาวจีนที่อพยบมาจากอำเภอกังไส(มณฑลเจียงซี)ประเทศจีน มาอยู่ที่บ้านในทูหรือกระทู้จังหวัดภูเก็ต ได้ร่วมกันถือศีลกินเจซึ่งเป็นประเพณีความเชื่อในภูมิภาคบ้านเกิดของตนเองด้วยเชื่อว่าจะทำให้รอดพ้นเคราะห์กรรมนี้ไปได้ และคนจีนกลุ่มที่ถือศีลกินเจได้รอดตายจากโรคระบาดมาได้ทั้งหมด จึงทำให้ผู้คนเลื่อมใสศรัทธาในการถือศีลกินเจนี้มาก และประมาณปี2400ก็ได้เกิดโรคระบาดเกิดขึ้นต่อมาอีกหลายครั้ง ชาวบ้านที่อื่นจึงได้ถือศีลกินเจตามอย่างชาวจีนบ้านกระทู้ ว่ากันว่าทำให้มีคนรอดชีวิตจากโรคระบาดจำนวนมาก จึงเกิดความเลื่อมใสกลายเป็นประเพณีถือศีลกินเจที่สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน ในปัจจุบันเทศกาลกินเจจัดขึ้นในประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ตลอดจนหมู่เกาะเรียวในอินโดนีเซียและอาจมีในบางประเทศที่ได้รับอิทธิพลผ่านคนไทยและคนมาเลเซียเชื้อสายจีน ที่ย้ายไปพำนักที่ต่างประเทศจัดขึ้นตามอย่างจนเกิดเป็นประเพณีในชุมชนชาวจีนในประเทศเหล่านั้นด้วย
ประวัติ
แก้ประเพณีถือศีลกินเจหรือกินเจซึ่งเป็นพิธียันตรกรรมบูชาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด โดยอาศัยพระแม่แห่งดวงดาวมารีจี ( 摩利支 ) ในแบบของพระพุทธศาสนานิกายมหายาน แต่ในทางลัทธิเต๋าเรียกว่า เต้าโบ้หงวนกุนหรือเต้าโบ้เทียนจุนในภาษาฮกเกี้ยน (斗姆元君, 斗姆天尊 ) เป็นศูนย์กลางสมมติของพิธีศักดิ์สิทธิ์นี้ มักอิงประวัติผูกติดอยู่กับฝ่ายตำนานเทพแห่งดาวนพเคราะห์มากกว่า ซึ่งเป็นศาสตร์แห่งลัทธิเต๋า ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาเผยแผ่เข้าสู่เมืองจีน นับจากนั้นเป็นต้นมาเมื่อพระพุทธศาสนาเจริญขึ้น จึงปรากฏตำนานความเชื่อที่ผูกโยงกับพระพุทธเจ้า 7 พระองค์และพระโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ เรียกว่า กิ้วอ้วงฮุดโจ้วในภาษาจีนแต้จิ๋ว (九皇佛祖) โดยคติความเชื่อในประเพณีของชาวจีน โดยเฉพาะลัทธิขงจื๊อซึ่งเน้นในเรื่องบรรพบุรุษและความกตัญญู บรรดาบูรพกษัตริย์ที่เคยอุทิศตนเพื่อให้ประชาชนมีความเจริญโดยใช้หลักเมตตาธรรมก็จะเป็นบุคคลผู้ได้รับการสรรเสริญจากประชาชน ตามตำนานสามารถรวบรวมได้ 9 พระองค์ ซึ่งอยู่ในยุคสมัยต่างๆกัน ทั้ง 9 พระองค์รวมเรียกว่าพระราชาธิราช 9 พระองค์ ในภาษาจีนฮกเกี้ยนเรียกว่า : กิ๋วหองไต่เต่ ,(九皇大帝 ) ซึ่งชาวจีนเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกเป็นธรรมชาติและดำเนินไปตามวิถีแห่งสวรรค์ อาศัยตามความเชื่อในลัทธิเต๋า จึงส่งผลให้เกิดการนับถือดวงวิญญาณที่สถิตอยู่ในสรวงสวรรค์ พระเจ้าแผ่นดินทั้งเก้าพระองค์เมื่ออยู่ในโลกมนุษย์ได้ประกอบกรรมดีมากมาย เมื่อสิ้นพระชนม์แล้วจึงได้จุติเป็นเทพเจ้าประจำดาวนพเคราะห์ ทำหน้าที่คุ้มครองมวลหมู่ประชาราษฎร์ให้บังเกิดความร่มเย็นสืบไป[3]
ชื่อเรียกอืนๆ
แก้- 九皇大帝聖誕千秋 (ตัวย่อ: 九皇大帝圣诞千秋, พินอิน: Jiǔ huáng dàdì shèngdàn qiānqiū จิ้วหวงต้าตี่เซิงตั้นเชียนชิว, ฮกเกี้ยน: กิ๋วหองไต่เต้เซ่งตั๋นเชียนชิว ) แปล วันประสูติพระจักพรรดิ 9 พระองค์
- 九皇勝會 (ตัวย่อ: 九皇胜会, พินอิน: Jiǔ huáng shèng huì จิ้วหวงต้าตี่เซิงตั้นเชียนชิว, ฮกเกี้ยน: กิ๋วหองเซ่งห้วย )
- 九皇節 (ตัวย่อ: 九皇节, พินอิน: Jiǔ huáng Jié จิ้วหวงเจี่ย, ฮกเกี้ยน: กิ๋วหองจ้วย )
ตำนาน
แก้บางแห่งเชื่อกันว่ากินเจเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระมหาโพธิสัตว์กวนอิม ส่วนความเชื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวกับเทศกาลกินเจนั้นมีดังนี้
ตำนานที่ 1
แก้กล่าวกันว่า การกินเจเริ่มขึ้นเพื่อรำลึกถึงนักรบ "หงี่หั่วท้วง" ซึ่งเป็นทหารชาวบ้านของจีนที่ต่อสู้ต้านทานกองทัพแมนจูอย่างกล้าหาญ ฝ่ายแมนจูมีปืนไฟของชาวตะวันตกที่ฝ่ายจีนไม่มี นักรบหงี่หั่วท้วงเหล่านี้จะประกอบพิธีกรรมนุ่งขาวห่มขาว ไม่กินเนื้อสัตว์และผักที่มีกลิ่นฉุน และท่องบริกรรมคาถาตามความเชื่อของจีน เชื่อกันว่าจะสามารถป้องกันปืนไฟได้ แต่ก็ไม่ประสบผล ครั้นจีนพ่ายแพ้แมนจู ชายชาวจีนถูกบังคับให้ไว้ผมอย่างชาวแมนจู ซึ่งสร้างความคับแค้นให้แก่ชาวจีนอย่างมาก ชาวจีนจึงรำลึกถึงนักรบหงี่หั่วท้วงเหล่านี้ด้วยสำนึกในบุญคุณ
ตำนานที่ 2
แก้เพื่อเป็นการประกอบพิธีกรรมเพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้าในอดีตกาล 7 พระองค์และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ รวมเป็น 9 พระองค์ด้วยกัน หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่า “ดาวนพเคราะห์” ทั้ง 9 ได้แก่ พระอาทิตย์ พระจันทร์ พระอังคาร พระพุธ พระพฤหัสบดี พระศุกร์ พระเสาร์ พระราหู และพระเกตุ ในพิธีกรรมบูชานี้สาธุชนในพระพุทธศาสนาสละเวลาทางโลกมาบำเพ็ญศีลงดเว้นเนื้อสัตว์และแต่งกายด้วยชุดขาว
ตำนานที่ 3
แก้ผู้ถือศีลกินเจในพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาของชาวจีนในประเทศไทย เพื่อสักการบูชาพระพุทธเจ้าในอดีลกาล 7 พระองค์ ดังมีในพระสูตร ปั๊กเต๊าโก๋ว ฮุดเชียวไจเอียงชั่วเมียวเกง กล่าวไว้คือ พระวิชัยโลกมนจรพุทธะ พระศรีรัตนโลกประภาโมษอิศวรพุทธะ พระเวปุลลรัตนโลกวรรณสิทธิพุทธะ พระอโศกโลกวิชัยมงคลพุทธะ พระวิสุทธิอาศรมโลกเวปุลลปรัชญาวิภาคพุทธะ พระธรรมมติธรรมสาครจรโลกมโนพุทธะ พระเวปุลลจันทรโภคไภสัชชไวฑูรย์พุทธะ และพระมหาโพธิสัตว์อีก 2 พระองค์ คือพระศรีสุขโลกปัทมอรรถอลังการโพธิสัตว์และพระศรีเวปุลกสังสารโลกสุขอิศวรโพธิสัตว์ รวมเป็น 9 พระองค์(หรือ “เก้าอ๊อง”)ทรงตั้งปณิธานจักโปรดสัตว์โลก จึงได้แบ่งกายมาเป็นเทพเจ้า 9 พระองค์ด้วยกันคือ ไต้อวยเอี๊ยงเม้งทัมหลังไทแชกุน ไต้เจียกอิมเจ็งกื้อมึ้งงวนแชกุน ไต้กวนจิงหยิ้งลุกช้งเจงแชกุน ไต้ฮั่งเฮี่ยงเม้งม่งเคียกนิวแชกุน ไต้ปิ๊กตังง้วนเนี้ยบเจงกังแชกุน ไต้โพ้วปั๊กเก๊กบู๊เอียกกี่แชกุน ไต้เพียวเทียนกวนพัวกุงกวนแชกุน ไต้ตั่งเม้งงั่วคูแชกุน ฮุ้ยกวงไตเพียกแชกุน เทพเจ้าทั้ง 9 พระองค์ ทรงอำนาจตบะอันเรืองฤทธิ์บริหารธาตุดิน ทอง น้ำ ไม้ และไฟ ทั่วทุกพิภพน้อยใหญ่สารทิศ[4]
ตำนานที่ 4
แก้กินเจเพื่อเป็นการบูชา“จักรพรรดิซ่งตี้ปิง”ซึ่งเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์ซ้องซึ่งสิ้นพระชนม์โดยทรงทำอัตวินิบาตกรรม (การฆ่าตัวตาย) ในขณะที่เสด็จไต้หวันโดยทางเรือ เมื่อมีพระชนนมายุได้ 9 พรรษา พิธีบูชาเพื่อระลึกถึงราชวงศ์ซ้องนี้ มีแต่เฉพาะในมณฑลฮกเกี้ยนซึ่งเป็นดินแดนผืนสุดท้ายของราชวงศ์ซ้องเท่านั้น โดยชาวฮกเกี้ยนได้จัดทำพิธีดังกล่าวนี้ขึ้นด้วยการอาศัยศาสนาบังหน้าการเมือง การที่เผยแผ่มาสู่เมืองไทยได้นั้นเพราะชาวจีนจากฮกเกี้ยนนำมาเผยแผ่
ตำนานที่ 5
แก้1,500 ปีมาแล้ว มณฑลกังไสเป็นดินแดนที่เจริญรุ่งเรืองมาก ฮ่องเต้เมืองนี้มีพระราชโอรส 9 พระองค์ซึ่งเป็นเลิศทั้งบุ๋นและบู๊จึงทำให้หัวเมืองต่างๆ ยอมสวามิภักดิ์ ยกเว้นแคว้นก่งเลี้ยดที่มีอำนาจเข้มแข็งและมีกองกำลังทหารที่เหนือกว่า ทั้งสองแคว้นทำศึกกันมาถึงครั้งที่ 4 แคว้นก่งเลี้ยดชนะโดยการทุ่มกองกำลังทหารที่มีทั้งหมดที่มากกว่าหลายเท่าตัวโอบล้อมกองทัพพระราชโอรสทั้งเก้าไว้ทุกด้าน แต่กองทัพก่งเลี้ยดไม่สามารถบุกเข้าเมืองได้จึงถอยทัพกลับ
จนวันหนึ่งชาวกังไสเกิดความแตกสามัคคีและเอาเปรียบกัน เทพยดาทราบว่าอีกไม่นานกังไสจะเกิดภัยพิบัติจึงหาผู้อาสาช่วยแต่ชาวบ้านจะพ้นภัยได้ก็ต่อเมื่อได้สร้างผลบุญของตนเอง ดวงวิญญาณพระราชโอรสองค์โตรับอาสาและเพ่งญาณเห็นว่าควรเริ่มที่บ้านเศรษฐีใจบุญ ลีฮั้วก่าย
คืนวันหนึ่งคนรับใช้แจ้งเศรษฐีลีฮั้วก่ายว่ามีขอทานโรคเรื้อนมาขอพบเศรษฐีจึงมอบเงินจำนวนหนึ่งให้เป็นค่าเดินทาง แต่ขอทานไม่ไปและประกาศให้ชาวเมืองถือศีลกินเจเป็นเวลา 9 วัน 9 คืนผู้ใดทำตามภัยพิบัติจะหายไป เศรษฐีนำมาปฏิบัติก่อนและผู้อื่นจึงปฏิบัติตามจนมีการจัดให้มีอุปรากรเป็นมหรสพในช่วงกินเจด้วย
เล่าเอี๋ยเกิดศรัทธาประเพณีกินเจของมณฑลกังไสจึงได้ศึกษาตำราการกินเจของเศรษฐีลีฮั้วก่ายที่บันทึกไว้ แต่ได้ดัดแปลงพิธีกรรมบางอย่างให้รัดกุมยิ่งขึ้นและให้มีพิธีเชี้ยยกอ๋องส่องเต้ (พิธีเชิญเง็กเซียนฮ่องเต้มาเป็นประธานในพิธี)
ตำนานที่ 6
แก้ชายขี้เมานามว่า เล่าเซ็ง เข้าใจผิดคิดว่าแม่ตนตายไปเพราะเป็นโรคขาดสารอาหาร จนคืนหนึ่งแม่ได้มาเข้าฝันบอกว่า แม่ตายไปได้รับความสุขมากเพราะแม่กินแต่อาหารเจและตอนนี้แม่อยู่บนเขาโพถ้อซัว ตั้งอยู่บนเกาะน่ำไฮ้ ในมณฑลจิ๊ดเจียงถ้าลูกอยากพบแม่ให้ไปที่นั่น
ครั้นถึงเทศกาลไหว้พระโพธิสัตว์กวนอิมที่เขาโพถ้อซัว เล่าเซ็งอยากไปแต่ไปไม่ถูกจึงตามเพื่อนบ้านที่จะไปไหว้พระโพธิสัตว์ เพื่อนบ้านเห็นเล่าเซ็งสัญญาว่าจะไม่กินเหล้าและเนื้อสัตว์จึงให้ไปด้วย ระหว่างทางเดินสวนกับคนขายเนื้อเล่าเซ็งลืมสัญญาที่ให้ไว้เพื่อนบ้านก็หนีไป โชคดีที่มีหญิงสาวคนหนึ่งเดินผ่านมาและต้องการไปไหว้พระโพธิสัตว์เล่าเซ็งจึงขอตามนางไป
เมื่อถึงเขาโพถ้อซัวขณะที่เล่าเซ็งก้มลงกราบไหว้พระโพธิสัตว์นั้น เขาเห็นแม่ลอยอยู่เหนือกระถางธูปที่คนอื่นมองไม่เห็น ขณะเดินทางกลับเขาได้แยกทางกับหญิงสาวและได้พบเด็กชายคนหนึ่งยืนร้องไห้อยู่จึงเข้าไปถามไถ่ได้ความว่าเป็นลูกของเขากับภรรยาที่เลิกกันไปนานแล้ว เขาจึงพาไปอยู่ด้วยแล้ววันหนึ่งหญิงสาวที่นำทางไปเขาโพถ้อซัวมาขออาศัยอยู่ด้วย ทั้งสามอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
หญิงสาวผู้นั้นเป็นสาวบริสุทธิ์ประพฤติตนเป็นคนดีอยู่ในศีลธรรมและถือศีลกินเจอยู่เนืองนิตย์ นางรู้ว่าใกล้ถึงวันตายของนางแล้วจึงบอกเล่าเซ็ง เมื่อถึงวันนั้นนางอาบน้ำแต่งตัวด้วยอาภรณ์ที่ขาวสะอาดแล้วนั่งสักครู่ก็สิ้นลม เล่าเซ็งเห็นการจากไปด้วยดีของนางคล้ายกับแม่จึงเกิดศรัทธายกสมบัติให้ลูกชายแล้วประพฤติตนใหม่ เมื่อตายไปจะได้บังเกิดผลเช่นเดียวกับแม่และหญิงสาวและประเพณีกินเจจึงเริ่มขึ้น
ความหมายของ เจ
แก้บทความนี้อาจมีงานค้นคว้าต้นฉบับรวมอยู่ |
คำว่า เจ ในภาษาจีนทางพุทธศาสนานิกายมหายานมีความหมายเดียวกับคำว่า อุโบสถ ดังนั้นการกินเจก็คือการรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวัน เหมือนกับที่ชาวพุทธในประเทศไทยที่ถืออุโบสถศีล หรือรักษาศีล 8 โดยไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว แต่เนื่องจากการถืออุโบสถศีลของชาวพุทธนิกายมหายานที่ไม่กินเนื้อสัตว์ จึงนิยมนำการไม่กินเนื้อสัตว์ไปรวมกันเข้ากับคำว่ากินเจ กลายเป็นการถือศีลกินเจ ในปัจจุบันผู้ที่รับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังคงเรียกว่ากินเจ ฉะนั้นความหมายก็คือคนกินเจมิใช่เพียงแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่ยังต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์ สะอาด ทั้งกาย วาจา ใจ
ในภาษาจีนมีคำหรือวลีที่ใช้อักษรแจ (เจ, 齋/斋) เป็นตัวประกอบร่วมด้วยหลายคำ แต่คำว่าโป๊ยกวนแจไก่ (八關齋戒) แปลว่า ศีลบริสุทธิ์แปดประการ อันหมายถึง อุโบสถศีล ซึ่งเป็นศัพท์ของทางพุทธศาสนา การแปลและเข้าใจคลาดเคลื่อนดังกล่าวยังถูกใช้เป็นบรรทัดฐานในการอธิบายวัตรปฏิบัติของการกินเจผิดตามไปด้วยว่า “การกินเจต้องถือศีลข้อวิกาลโภชน์” หรือการงดกินของขบเคี้ยวหลังเที่ยงวันไปแล้ว ซึ่งเป็นศีลข้อหนึ่งในศีลแปด ทั้งๆที่โรงครัวของศาลเจ้าหรือโรงเจที่เปิดเลี้ยงผู้คนในช่วงเทศกาลกินเจล้วนแต่มีอาหารมื้อเย็นให้กับผู้เข้าไปกิน ยิ่งวันที่มีการประกอบพิธีกรรมในตอนค่ำยังมีอาหารมื้อค่ำบริการเสริมให้เป็นพิเศษด้วย ที่เป็นเช่นนั้นเพราะในช่วงเทศกาลกินเจนั้นเขาถือเพียงศีลห้าที่เป็นนิจศีล ไม่ได้ครองศีลแปดอย่างที่หลายคนเข้าใจ (เว้นแต่ผู้ตั้งจิตอธิษฐานว่าจะครองศีลแปดเป็นการส่วนตัวเท่านั้น)
ในทางอักษรศาสตร์จีน อักษรตัว “แจ” มีพัฒนาการมาจาก ตัวอักษร ฉี “ 齊 ” ซึ่งแปลว่าบริบูรณ์ , เรียบร้อย อักษรแจเกิดจากการเพิ่มเส้นตั้งและสองจุด ( 小 ) เข้าไปกลางอักษรฉี ทำให้เกิดตัว ซื ( 示 ) ซึ่งแปลว่าการสักการะ อยู่ในแก่นกลางของตัวฉี
แจ( 齋 ) จึงมีความหมายว่า การรักษาความบริสุทธิ์(ทั้งกายและใจ)เพื่อการสักการะ หรือ การปฏิบัติบูชาถวายเทพยดา
ซึ่งการอธิบายในแนวทางนี้จะสอดคล้องกับ คำว่า “ 齋醮 ” ในลัทธิเต๋า ซึ่งย่อมาจากคำว่า 供齋醮神 ที่แปลว่าการบำเพ็ญกายใจให้บริสุทธิ์เพื่อเป็นสักการบูชาเทพยดา
ความหมายของแจในศาสนาอิสลาม
ศัพท์คำว่า ศีลแจ / 齋戒 ในภาษาจีน นอกจากใช้ในลัทธิเต๋าและศาสนาพุทธแล้ว ยังหมายถึง “ศีลอด” ที่ถือปฏิบัติในเดือนถือศีลอดของชาวจีนอิสลาม สาระของศีลก็คือการห้ามรับประทานอาหารใดๆในระหว่างเวลาที่พระอาทิตย์ขึ้นจวบจนลับขอบฟ้า ตลอดเดือนถือศีลอด
แจในวัฒนธรรมดั่งเดิมของจีน
ศัพท์ แจ พบในเอกสารจีนเก่าที่มีอายุกว่าสองพันปีหลายฉบับ เช่น 禮記 , 周易 , 易經 , 孟子 , 逸周書 (เอกสารที่อ้างนี้ปัจจุบันถือว่าเป็นคัมภีร์ในลัทธิหยู) เอกสารเหล่านั้นยังใช้อักษรตัวฉี(齊 )แต่เวลาอ่านออกเสียงกลับต้องอ่านออกเสียงว่า ไจ เช่น คำว่า ไจเจี๋ย / 齊潔 หรือ ไจเจี้ย / 齊戒 ซึ่งก็คือการออกเสียงแจในสำเนียงแต้จิ๋วนั่นเอง อักษรฉีในเอกสารนั้นนักอักษรศาสตร์ตีความว่าแท้จริงแล้วก็คืออักษรตัวแจหรือใช้แทนตัวแจ แจที่ว่านี้หาได้หมายถึงการงดกินของสดคาว หรือ การงดรับประทานอาหารหลังเที่ยง หากหมายถึงการชำระล้างร่างกาย สงบจิตใจ และสวมใส่เสื้อผ้าใหม่สะอาด เป็นการเตรียมกายและใจให้บริสุทธิ์เพื่อประกอบพิธีกรรมสักการบูชา ขอพร หรือแสดงความขอบคุณต่อเทพยดาแห่งสรวงสวรรค์
แจเพื่อการจำแนกความเคร่งครัดของภิกษุฝ่ายมหายาน
ศีลของภิกษุฝ่ายมหายาน ในส่วนเกี่ยวกับการฉันของภิกษุแตกต่างจากฝ่ายเถรวาททั้งมีการจำแนกเป็นสองลักษณะตามสำนักศึกษาได้แก่
- เหล่าที่ถือมั่นในศีลวิกาลโภชน์และฉันอาหารเจ จะไม่ฉันอาหารหลังอาทิตย์เที่ยงวัน เรียก ถี่แจ /持齋
- เหล่าที่ถือมั่นแต่การฉันอาหารเจ เรียกถี่สู่ /持素
เจียะแจ (食齋) เป็นการออกเสียงตามสำเนียงถิ่นแต้จิ๋ว ศัพท์คำนี้ใช้และเป็นที่เข้าใจแต่ทางตอนใต้ของจีนโดยเฉพาะแถบลุ่มอารยธรรมหลิ่งหนาน (領南) ในมณฑลกวางตุ้ง อันเป็นแหล่งอาศัยดั้งเดิมของคนแคะ แต้จิ๋ว กวางตุ้งและไหหนำ ซึ่งเป็นชาวจีนกลุ่มใหญ่ในประเทศไทย เจียะหรือเจี๊ยะ (食) ในภาษาถิ่นใต้ แปลว่า กิน ส่วน แจ (齋) แปลว่า บริสุทธิ์ (อ้างตามปทานุกรมพุทธศาสนาฉบับ วัดฝอกวงซัน ไต้หวัน) เจียะแจตรงกับคำว่า ชือซู่ (吃素) ในภาษาจีนกลาง และตรงกับคำไทยที่นิยมใช้กันว่า กินเจ จึงแปลว่า การกินอาหารที่บริสุทธิ์ตามความเชื่อ (ในลัทธิกินเจ) คำว่าเจียะแจนี้ชาวจีนฮกเกี้ยนทางปักษ์ใต้แถบจังหวัดภูเก็ตเรียกต่างออกไปว่า เจียะฉ่าย (食菜) ที่แปลตามตัวอักษรได้ว่า กินผัก แต่มีนิยามหรือความหมายตรงกับคำว่าเจียะแจที่กล่าวข้างต้น
จุดประสงค์ของการกินเจ
แก้ผู้ที่กินเจอาจจะมีจุดเริ่มต้นที่แตกต่างกันไป แต่จุดประสงค์หลักสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทดังนี้
- กินเพื่อสุขภาพ อาหารเจเป็นอาหารประเภทชีวจิต เมื่อกินติดต่อกันไปช่วงเวลาหนึ่งจะทำให้ร่างกายเกิดการปรับตัวให้อยู่ในสภาวะสมดุล สามารถขับพิษของเสียต่างๆ ออกจากร่างกายได้ ปรับระบบไหลเวียนโลหิต ระบบทางเดินอาหารให้มีเสถียรภาพ
- กินด้วยจิตเมตตา เนื่องจากอาหารที่เรากินอยู่ในชีวิตประจำวัน ประกอบด้วยเลือดเนื้อของสรรพสัตว์ ผู้มีจิตเมตตา มีคุณธรรมและมีจิตสำนึกอันดีงามย่อมไม่อาจกินเลือดเนื้อของสัตว์เหล่านั้นซึ่งมีเลือดเนื้อ จิตใจและที่สำคัญมีความรักตัวกลัวตายเช่นเดียวกับคนเรา
- กินเพื่อเว้นกรรม ผู้ที่เข้าใจอย่างลึกซึ้งย่อมตระหนักว่าการกินซึ่งอาศัยการฆ่าเพื่อเอาเลือดเนื้อผู้อื่นมาเป็นของเราเป็นการสร้างกรรม แม้ว่าจะไม่ได้เป็นผู้ลงมือฆ่าเองก็ตาม การซื้อจากผู้อื่นก็เหมือนกับการจ้างฆ่าเพราะถ้าไม่มีคนกินก็ไม่มีคนฆ่ามาขาย (ถ้าไม่ฆ่าไม่ขายก็ไม่มีคนกิน) กรรมที่สร้างนี้จะติดตามสนองเราในไม่ช้าทำให้สุขภาพร่างกายอายุขัยของเราสั้นลงเป็นบ่อเกิดของโรคภัยไข้เจ็บ เมื่อผู้หยั่งรู้เรื่องกฎแห่งกรรมนี้จึงหยุดกินหยุดฆ่าหันมารับประทานอาหารเจ ซึ่งทำให้ร่างกายเติบโตได้เหมือนกัน โดยไม่เห็นแก่ความอร่อยช่วงเวลาสั้นๆ เพียงแค่อาหารผ่านลิ้นเท่านั้น
อาหารเจ
แก้อาหารเจเป็นอาหารที่ปรุงขึ้นโดยไม่มีเนื้อสัตว์ หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ (เช่น นม ไข่ น้ำผึ้ง น้ำปลา เจลาติน คอลลาเจน ) และไม่ปรุงด้วยผักที่มีกลิ่นฉุน ได้แก่ กระเทียม หอม (ทุกชนิดอาทิ ต้นหอม หัวหอม หอมแดง) หลักเกียว กุยช่าย และผักชี
บ้างก็รวมผักชีและเครื่องเทศรสเผ็ดร้อนเข้ามาด้วย เพราะผักเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อธาตุในร่างกาย[5] บ้างเชื่อว่าผักเหล่านี้เพิ่มความกำหนัดหรือมาจากเลือดของสัตว์ตามตำนานจีน ทำให้อาหารเจไม่มีกลิ่นคาว เนื่องจากการงดเนื้อสัตว์ ทำให้ผู้ที่กินเจหันมาบริโภคธัญพืชในธรรมชาติเพื่อให้ได้มาซึ่งโปรตีน ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง[6] โดยในประเทศจีน พบว่ามีภัตตาคารบางแห่งซึ่งบริการ "ปรุงอาหารตามใบสั่งแพทย์" (กล่าวคือผู้ที่เข้ามารับประทานจะต้องได้รับใบสั่งอาหารของแพทย์เสียก่อน) โดยลูกค้าของภัตตาคารดังกล่าวเป็นคนไข้ที่กำลังเข้ารับ "การบำบัดโรคด้วยอาหารตามหลักเวชศาสตร์โบราณ" หลังเข้ารับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว[6]
หลักธรรมในการกินเจ
แก้ในทัศนะของคนกินเจ การกินที่ทำให้ชีวิตผู้อื่นต้องเดือดร้อนล้มตายนั้น “มันมากเกินไป” ทั้งๆ ที่มนุษย์กินแต่อาหารพืชผักก็สามรถมีชีวิตอยู่ได้
การกินเจตั้งมั่นอยู่บนหลักธรรมสำคัญ 2 ประการคือ ดำรงชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่ไม่เบียดเบียนตนเองและดำรงชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น กล่าวคือ
- ไม่เอาชีวิตของสัตว์ทั้งหลายมาต่อเติมบำรุงเลี้ยงชีวิตของตน
- ไม่เอาเลือดของสัตว์ทั้งหลายมาเป็นเลือดของตน
- ไม่เอาเนื้อของสัตว์ทั้งหลายมาเป็นเนื้อของตน
การรับประทานสิ่งใดก็ตามที่ทำลายสุขภาพร่างกายของตนให้ทรุดโทรม คือ การเบียดเบียนตนเอง ปัจจุบันวิทยาการเจริญก้าวหน้าได้พิสูจน์ยืนยันว่าเลือดและเนื้อของสัตว์ที่ถูกฆ่าตายเต็มไปด้วยพิษภัยมากมาย
ดังนั้นการกินเจจึงไม่ใช่เพื่อให้เกิดผลดีต่อจิตใจเท่านั้นแต่ยังครอบคลุมไปถึงการมีสุขภาพพลานามัยที่ดีอีกด้วย ร่างกายและจิตใจเป็นของคู่กันมีความสัมพันธ์ส่งผลถึงกันคนเราย่อมไม่อาจจะรู้สึกเบิกบานสดชื่นร่าเริงได้ในขณะที่ร่างกายเจ็บป่วยทรุดโทรมย่ำแย่
การปฏิบัติตนในช่วงกินเจ
แก้ในช่วงเทศกาลกินเจ 9 วัน 9 คืน ผู้ที่ต้องการกินเจอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ตามประเพณีการกินเจ จะต้องปฏิบัติดังนี้
- รับประทาน "อาหารเจ"
- งดอาหารรสจัด ซึ่งหมายถึงอาหารเผ็ด หวานมาก เปรี้ยวมาก เค็มมาก งดผักที่มีกลิ่นฉุนทั้งหลาย แยกภาชนะสำหรับอาหารเจเท่านั้น
- รักษาศีลห้า
- รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์ รักษาอารมณ์ ไม่พูดคำหยาบคาย รวมถึงงดการมีเพศสัมพันธ์
- ทำบุญทำทาน ไหว้พระ สวดมนต์
- นุ่งขาวห่มขาวตลอดเทศกาลกินเจ และควรแต่งกายชุดขาวเข้าร่วมพิธีกรรมต่างๆในแต่ละศาลเจ้า
สำหรับผู้ที่เคร่งครัดเพื่อการกินเจให้เป็นไปอย่างบริสุทธิ์โดยแท้ จะเพิ่มการปฏิบัติโดยการกินอาหารเฉพาะที่คนกินเจด้วยกันเป็นผู้ปรุงเท่านั้น รวมถึงจะล้างหม้อไหจนสะอาดเอี่ยมแยกภาชนะสำหรับการปรุงอาหารเจไว้โดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังจุดตะเกียงไว้ 9 ดวงตลอดช่วงเทศกาลกินเจ 9 วัน โดยไม่ปล่อยให้ดับเพื่อเป็นพุทธบูชาและรำลึกถึงบุญคุณของพ่อแม่ญาติพี่น้องตลอดจนผู้ที่มีบุญคุณต่อผืนแผ่นดินเกิด
สี
แก้สีในเทศกาลกินเจ
สีแดง เป็นสีที่ชาวจีนเชื่อว่าเป็นสีศิริมงคล ดังจะเห็นได้ว่าในงานมงคลต่างๆ ของคนจีนไม่ว่าจะเป็นงานแต่ง วันตรุษจีน
สีเหลือง เป็นสีสำหรับใช้ในราชวงศ์ซึ่งอนุญาตให้ใช้ได้เพียงคนสองกลุ่มเท่านั้น กลุ่มแรกคือกษัตริย์ซึ่งเห็นได้จากหนังจีน เครื่องแต่งกายและภาชนะต่างๆ เป็นสีเหลืองหรือทองซึ่งคนสามัญห้ามใช้เด็ดขาด กลุ่มที่สองคืออาจารย์ปราบผีถ้าท่านสังเกตในหนังผีจีนจะเห็นว่าเขาแต่งกายและมียันต์สีเหลือง
สีขาว ตามธรรมเนียมจีนสีขาวคือสีสำหรับการไว้ทุกข์ สีดำที่เราเห็นกันอยู่ในขณะนี้เป็นการรับวัฒนธรรมตะวันตก ถ้าท่านสังเกตในพิธีงานศพของจีนจะเห็นลูกหลานแต่งชุดสีขาวอยู่
ความหมายของ "ธงเจ"
แก้ในช่วงเทศกาลกินเจ จะปรากฏธงประจำเทศกาลตามสถานที่ต่าง ๆ โดยมีพื้นธงเป็นสีเหลืองซึ่งเป็นสีที่อนุญาตให้ใช้กับคนสองกลุ่มเท่านั้น คือกลุ่มกษัตริย์ ราชวงศ์ และกลุ่มอาจารย์ปราบผี ดังจะเห็นจากยันต์สีเหลืองตามภาพยนตร์จีน ดังนั้นสีเหลืองจึงเป็นสีของพุทธศาสนา หรือผู้ทรงศีล บนธงจะเขียนตัวอักษรสีแดง อ่านว่า "ไจ" หรือ "เจ" มีความหมายว่า "ของไม่มีคาว" เหตุที่ใช้สีแดง เพราะชาวจีนเชื่อว่า เป็นสีมงคล สร้างความเจริญให้แก่ชีวิต ธงเจนอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของอาหารเจแล้ว ยังเป็นการเตือนให้พุทธศาสนิกชนที่ปฏิบัติตนถือศีลกินเจได้ตระหนักถึงการไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ และการตั้งอยู่ในศีลตลอดช่วงกินเจ
อ้างอิง
แก้- ↑ "พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-03. สืบค้นเมื่อ 2011-11-18.
- ↑ http://news.phuketindex.com/travel/phuket-vegetarian-2-190191.html
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-12-19. สืบค้นเมื่อ 2013-09-27.
- ↑ http://www.dhammathai.org/articles/dbview.php?No=1687
- ↑ อาหารเจ สูตรอาหารเจ ในเทศกาลกินเจ 2556
- ↑ 6.0 6.1 http://www.horapa.com/content.php?Category=Tips&No=663