เจ้าหญิงมินอะทเว

ภุ้นชิ่,[1] มินอะทเว (မင်းအထွေး, [mɪ́ɴ ʔə tʰwé])[2] หรือปรากฏในเอกสารไทยว่า เมงอะทเว[3][4] เป็นพระราชธิดาในพระเจ้าบุเรงนอง ประสูติแต่พระสุพรรณกัลยา และเป็นพระภาคิไนยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช[3] ในเอกสารไทยมักอธิบายว่า พระองค์ถูกพระเจ้านันทบุเรงสังหารด้วยโทสะพร้อมกับพระสุพรรณกัลยา พระชนนี[4][5] ขณะที่พงศาวดารพม่าไม่ได้ระบุเนื้อหาดังกล่าวไว้เลย[6][7][8]

มินอะทเว
พิษณุโลกเมียวซา
พระภัสดาเจ้าโกโตรันตรมิตร
พระบุตรเจ้าจันทร์วดี
ราชวงศ์ตองอู
พระบิดาพระเจ้าบุเรงนอง
พระมารดาพระสุพรรณกัลยา
ศาสนาพุทธ

พระประวัติ

แก้

มหาราชวงศ์ ระบุว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชาถวายตัวพระสุวรรณ พระสุพรรณกัลยา ซึ่งเป็นพระราชบุตรีแก่พระเจ้าบุเรงนองในคราวขึ้นไปตีอาณาจักรล้านช้างเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2113 ขณะนั้นพระสุพรรณกัลยามีพระชนมายุ 17 พรรษา พร้อมพระพี่เลี้ยง 15 คน ตามเสด็จไปเมืองเวียงจันทน์ด้วย[9][10] พระสุพรรณกัลยามีพระนามว่า อะเมี้ยวโยง[11] หรือ อมโรรุ้ง[12] (အမျိုးရုံ, [ʔə mjó jòʊɴ]) พระอิสริยยศเป็น พะยาเง คือพระมเหสีเล็ก และ โกโละดอ คือ เจ้าจอมมารดาผู้เป็นพระราชธิดาของเจ้าฟ้า[13]

หลังเสร็จศึกกับล้านช้างแล้ว พระสุพรรณกัลยาก็ให้ประสูติกาลพระราชธิดาที่พระราชวังกัมโพชธานี กรุงหงสาวดี มีพระนามว่า ภุ้นชิ่ แปลว่า ผู้มีบารมีและสติปัญญา และพระชนกชนนีมักเรียกด้วยพระนาม มินอะทเว แปลว่า เจ้าหญิงน้อย[1] เดือนมีนาคม พ.ศ. 2116 พระสุพรรณกัลยาและมินอะทเวประทับเรือพระที่นั่งโดยเสด็จพระเจ้าบุเรงนองไปสักการะเจดีย์ชเวดากอง ใช้เวลาแสวงบุญที่นั่นนานห้าวัน[14] หลังกลับกรุงหงสาวดีพระเจ้าบุเรงนองทรงนิมนต์พระสงฆ์มาทำบุญ พร้อมกับพระราชทานพระอิสริยยศต่าง ๆ แก่พระราชโอรสธิดาทุกพระองค์ ทรงตั้งให้มินอะทเวเป็นเมียวซา (မြို့စား) หรือผู้กินเมืองพิษณุโลก เพราะพระเจ้าบุเรงนองทรงมอบสิทธิกินเงินภาษีของเมืองพิษณุโลกแก่พระราชธิดาพระองค์นี้[1][15]

หลังการสวรรคตของพระเจ้าบุเรงนอง พระเจ้านันทบุเรงเสวยราชสมบัติสืบมา และหลังเหตุการณ์ที่มังกยอชวาสิ้นพระชนม์เมื่อคราวศึกยุทธหัตถีเมื่อ พ.ศ. 2135 ทำให้พระเจ้านันทบุเรงแค้นพระทัย คำให้การขุนหลวงหาวัด ระบุว่า "...ส่วนพระเจ้าหงสาวดีก็ทรงพระโกรธยิ่งนัก ก็เสด็จเข้าไปในพระราชฐาน จึงเห็นองค์พระพี่นางพระนเรศร์นั้นประทมอยู่ในพระราชโอรสเสวยนมอยู่ที่ในที่ พระเจ้าหงสาวดีจึงฟันด้วยพระแสง ก็ถูกทั้งพระมารดาและพระราชโอรสทั้งสองพระองค์ ก็ถึงแก่ความพิราลัยไปด้วยกันทั้งสองพระองค์ ด้วยพระเจ้าหงสาทรงพระโกรธยิ่งนักมิทันที่จะผันผ่อนได้..." ขณะที่ คำให้การชาวกรุงเก่า ระบุว่าอีกว่า "...พระเจ้าหงสาวดียังไม่คลายพิโรธ จึงใช้พระแสงดาบฟันพระธิดาน้อย อันเกิดแก่จันทกัลยาพระพี่นางพระนริศกับพระเจ้าหงสาวดีเองจนสิ้นพระชนม์..."[16][17] ซึ่งอู้เตงลาย นักประวัติศาสตร์ชาวพม่า มหาวิทยาลัยย่างกุ้ง เชื่อว่า ผู้ที่ถูกสังหารน่าจะเป็นพระธิดาของพระสุพรรณกัลยามากกว่า[8][18] ขณะที่มิคกี้ ฮาร์ท นักวิชาการชาวพม่าให้ข้อมูลว่า มินอะทเวเสด็จออกมาประทับร่วมกับพระสุพรรณกัลยาที่พระตำหนักส่วนพระองค์นอกเขตพระราชวังกัมโพชธานีตามพระราชประเพณีหลังสิ้นรัชกาลก่อน และมิได้ถูกปลงพระชนม์[19][20]

มิคกี้ ฮาร์ท ให้ข้อมูลว่า มินอะทเวเสกสมรสกับเจ้าโกโตรันตรมิตร (พระนามเดิมว่า เจ้าเกาลัด) เป็นบุตรของเจ้าอสังขยา (พระนามเดิม เจ้าเมืองคำ) เจ้าเมืองหญังเป็นหนึ่งในรัฐเจ้าฟ้าไทใหญ่ ที่ถูกพระเจ้าบุเรงนองกวาดต้อนไปหงสาวดีตั้งแต่ พ.ศ. 2100 เป็นต้นมา[21] เจ้าโกโตรันตรมิตรได้รับการแต่งตั้งจากพระเจ้านันทบุเรงให้เป็นเจ้าเมืองตะลุป มินอะทเวติดตามพระสวามีไปอยู่เมืองอังวะพร้อมกับพระชนนี มินอะทเวประสูติการพระธิดาพระองค์หนึ่ง มีพระนามว่า จันทร์วดี[22]

ทายาท

แก้

โยเดียกับราชวงศ์พม่า เรื่องจริงที่ไม่ทีใครรู้ ของมิคกี้ ฮาร์ท ระบุว่า จันทร์วดี พระธิดาเพียงองค์เดียวของมินอะทเว ซึ่งขณะนั้นมีพระชันษา 20 ปี เสกสมรสกับเจ้าจอสูร์ ซึ่งเป็นเจ้าเมืองส้า เมื่อ พ.ศ. 2168 และประสูติการพระโอรสคือ เจ้าจันทร์ญี และพระธิดาคือ เจ้ามณีโอฆะ[23][24]

เจ้ามณีโอฆะเสกสมรสกับเทวเศรษฐะ มหาเศรษฐีเมืองอังวะ มีบุตรคนหนึ่งคือ อู้กะลา ซึ่งเป็นผู้รวบรวมพงศาวดาร มหาราชวงศ์[23][24]

พงศาวลี

แก้

อ้างอิง

แก้
เชิงอรรถ
  1. 1.0 1.1 1.2 โยเดียกับราชวงศ์พม่า เรื่องจริงที่ไม่ทีใครรู้, หน้า 95
  2. Hmannan Vol. 3 2003: 72
  3. 3.0 3.1 พระสุพรรณกัลยา จากตำนานสู่หน้าประวัติศาสตร์, หน้า 164-165
  4. 4.0 4.1 กษัตริยา แก้วกัลยาแห่งแผ่นดิน อธิราชา โลกทัศน์ของนักเขียนที่มีต่อพม่า : ศึกษางานเขียนของ ทมยันตี (PDF). คณะศิลปศาสตร์ มหาวทิยาลัยธรรมศาสตร์. p. 55. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-12-11. สืบค้นเมื่อ 2022-12-11.
  5. พระสุพรรณกัลยา จากตำนานสู่หน้าประวัติศาสตร์, หน้า 142
  6. Maha Yazawin Vol. 3 2006: 103
  7. "พระสุพรรณกัลยาในมุมมองนักประวัติศาสตร์พม่า". MCOT. 5 กันยายน 2564. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  8. 8.0 8.1 สุเนตร ชุตินธรานนท์ (1 มกราคม 2565). "ค้นหลักฐานชะตากรรมพระสุพรรณกัลยา "ขัตติยนารี" แห่งอยุธยา และเหตุสิ้นพระชนม์". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า, หน้า 203
  10. พระสุพรรณกัลยา จากตำนานสู่หน้าประวัติศาสตร์, หน้า 122
  11. พระสุพรรณกัลยา จากตำนานสู่หน้าประวัติศาสตร์, หน้า 143
  12. โยเดียกับราชวงศ์พม่า เรื่องจริงที่ไม่ทีใครรู้, หน้า 94
  13. พระสุพรรณกัลยา จากตำนานสู่หน้าประวัติศาสตร์, หน้า 141
  14. โยเดียกับราชวงศ์พม่า เรื่องจริงที่ไม่ทีใครรู้, หน้า 100
  15. โยเดียกับราชวงศ์พม่า เรื่องจริงที่ไม่ทีใครรู้, หน้า 101
  16. พระสุพรรณกัลยา จากตำนานสู่หน้าประวัติศาสตร์, หน้า 148
  17. Taylor (2001), History, Simulacrum and the real, p. 6
  18. พระสุพรรณกัลยา จากตำนานสู่หน้าประวัติศาสตร์, หน้า 149
  19. โยเดียกับราชวงศ์พม่า เรื่องจริงที่ไม่ทีใครรู้, หน้า 108
  20. ตำนานนางกษัตริย์, หน้า 294
  21. โยเดียกับราชวงศ์พม่า เรื่องจริงที่ไม่ทีใครรู้, หน้า 109
  22. โยเดียกับราชวงศ์พม่า เรื่องจริงที่ไม่ทีใครรู้, หน้า 111
  23. 23.0 23.1 โยเดียกับราชวงศ์พม่า เรื่องจริงที่ไม่ทีใครรู้, หน้า 113-115
  24. 24.0 24.1 ตำนานนางกษัตริย์, หน้า 295
บรรณานุกรม
  • กิตติ วัฒนะมหาตม์. ตำนานนางกษัตริย์. กรุงเทพฯ : สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2553. ISBN 978-974-341-666-8
  • นายต่อ (แปล). มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า. กรุงเทพฯ : บริษัท ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006) จำกัด, 2562. 588 หน้า. ISBN 978-616-514-625-8
  • มิคกี้ ฮาร์ท. โยเดียกับราชวงศ์พม่า เรื่องจริงที่ไม่มีใครรู้. กรุงเทพฯ : สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ, 2561. 222 หน้า. ISBN 978-974-13-3129-1
  • สุเนตร ชุตินธรานนท์. พระสุพรรณกัลยา จากตำนานสู่หน้าประวัติศาสตร์. นนทบุรี : เมืองโบราณ, 2562. 168 หน้า. ISBN 978-616-465-016-9
  • Kala, U (1724). Maha Yazawin (ภาษาพม่า). Vol. 1–3 (2006, 4th printing ed.). Yangon: Ya-Pyei Publishing.
  • Royal Historical Commission of Burma (1832). Hmannan Yazawin (ภาษาพม่า). Vol. 1–3 (2003 ed.). Yangon: Ministry of Information, Myanmar.
  • Taylor, Jim (2001), "History, Simulacrum and the real: the making of a Thai princess", From Fact to Fiction: History of Thai-Myanmar Relations in Cultural Context, Institute of Asian Studies, Chulalongkorn University, pp. 1–16