เจ้าผู้ครองนครพะเยา (ยุคฟื้นฟู)

เจ้าผู้ครองนครพะเยา (ยุคฟื้นฟู) (พ.ศ. 2387 - พ.ศ. 2456) เป็นตำแหน่งที่เกิดขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระยาน้อยอินท์ เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 8 กับ พระเจ้ามโหตรประเทศ พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 5 ขณะดำรงพระยศ เจ้าอุปราชนครเชียงใหม่ ได้ลงมายังกรุงเทพพระมหานครเพื่อทูลขอตั้งเมืองเชียงรายโดยให้เป็นเมืองขึ้นของเชียงใหม่ และตั้งเมืองงาว เมืองพะเยา เป็นเมืองขึ้นของนครลำปาง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระราชทานตั้งเมืองและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระยาเจ้าผู้ครองเมืองทั้งสามมีพระนามพ้องจองกันดังนี้ เจ้าธรรมลังกา เป็น พระยารัตนอาณาเขตร เจ้าหลวงเมืองเชียงราย เจ้าพุทธวงศ์ เป็น พระยาประเทศอุดรทิศ เจ้าหลวงเมืองพะเยา เจ้าหนานมหาวงศ์เป็น พระยาฤทธิภิญโญยศ เจ้าหลวงเมืองงาว [1]

เจ้าผู้ครอง
แห่งนครพะเยา
ราชาธิปไตยในอดีต

ปฐมกษัตริย์ พระยาประเทศอุตรทิศ (พุทธวงศ์)
องค์สุดท้าย พระยาประเทศอุดรทิศ (มหาไชย)
ผู้แต่งตั้ง พระมหากษัตริย์สยาม
เริ่มระบอบ พ.ศ. 2387
สิ้นสุดระบอบ พ.ศ. 2456

จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเปลี่ยนอำนาจการบริหารปกครองประเทศใหม่โดยยกเลิกมณฑลเปลี่ยนมาเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ตำแหน่งเจ้าผู้ครองเมืองจึงได้ยกเลิกไป พระยาประเทศอุดรทิศเจ้าเมืองพะเยาองค์สุดท้ายได้กราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่ง ทางการจึงตั้งนายคลาย บุษยบรรณ มาเป็นนายอำเภอเมืองพะเยา จังหวัดเชียงราย

รายนามเจ้าผู้ครองนครพะเยา (ยุคฟื้นฟู) แก้

  1. เจ้าหลวงมหาวงศ์ (เจ้าน้อยพุทธวงศ์ ณ ลำปาง) (พ.ศ. 2387 - พ.ศ. 2391) ราชโอรสองค์ที่ 5 ใน พระยาคำโสม เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 4 โดยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ เจ้าน้อยพุทธวงศ์ ณ ลำปาง เป็น พระยาประเทศอุดรทิศ เมื่อ พ.ศ. 2387 เป็นต้นราชตระกูล "มหาวงศ์"
  2. เจ้าหลวงมหายศ (เจ้าน้อยมหายศ ณ ลำปาง) (พ.ศ. 2391 - พ.ศ. 2398) ราชโอรสองค์ที่ 7 ใน พระยาคำโสม เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 4 เสกสมรสกับเจ้าหญิงพิมพา ศีติสาร พระธิดาเจ้าฟ้าเมืององค์ มีราชบุตร-ธิดา คือ เจ้าหญิงฟองสมุทร เจ้าราชบุตรแก้ววิราช และเจ้าราชบุตรจันทยศ
  3. เจ้าหลวงฟ้าเมืองแก้วขัตติยะ (เจ้าฟ้าขัตติยะ ศีติสาร) (พ.ศ. 2398 - พ.ศ. 2403) ราชบุตรของเจ้าฟ้าเมืององค์ เสกสมรสกับเจ้าหญิงอุบลวรรณา ณ ลำปาง ราชธิดาองค์สุดท้าย ใน พระยาคำโสม เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ 4 มีราชบุตรและราชธิดาทั้งสิ้น 2 พระองค์ คือ เจ้าหลวงอินทะชมภู เจ้าหญิงบัวทิพย์ และเจ้าหลวงฟ้าเมืองแก้วขัตติยะได้เสกสมรสกับเจ้าหญิงเทียมตา (ราชธิดาของเจ้าราชบุตรคำเครื่องนครลำปาง) มีราชบุตรอีก 3 องค์ คือ เจ้าหลวงไชยวงศ์ เจ้าน้อยมหายศ เจ้าหลวงมหาไชย
  4. เจ้าหลวงอินทะชมภู (เจ้าหนานอินต๊ะชมภู ศีติสาร) (พ.ศ. 2403 - พ.ศ. 2413) ราชบุตรของเจ้าฟ้าขัตติยะ ศีติสาร เสกสมรสกับเจ้าหญิงฟองสมุทร (พระธิดาของเจ้าหลวงมหายศ) มีราชธิดา คือ เจ้าหญิงอุษาวดี (เสกสมรสกับเจ้าราชสัมพันธวงศ์ (เจ้าคำผาย) ณ ลำปาง ราชบุตรของเจ้าชวลิตวรวุธ หรือเจ้าน้อยหมู ณ ลำปาง ราชโอรสใน เจ้านรนันทไชยชวลิต เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ ๑๑) เจ้าหญิงบุษย์ (เสกสมรสกับเจ้าราชบุตรแก้วเมืองมูล ต้นสกุล ณ ลำปาง สายพะเยา(ราชโอรสใน เจ้าสุริยะจางวาง หรือเจ้าน้อยคำป้อ ณ ลำปาง ราชโอรสใน เจ้าวรญาณรังษี เจ้าผู้ครองนครลำปาง องค์ที่ ๙)
  5. เจ้าหลวงอริยะราชา (เจ้าน้อยขัตติยะ ณ ลำปาง) (พ.ศ. 2413 - พ.ศ. 2437) ราชบุตรของพระยาอุปราชหมูล่าและเจ้าหญิงสนธนา ณ ลำปาง มีราชบุตร 2 องค์ คือ เจ้าบุรีรัตน์เมืองพะเยา (เจ้าเมืองแก้ว) และเจ้าราชบุตรศรีสองเมือง (เจ้าน้อยใจเมือง)
  6. เจ้าหลวงไชยวงศ์ (เจ้าหนานไชยวงศ์ ศีติสาร) (พ.ศ. 2437 - พ.ศ. 2448) ราชบุตรของเจ้าฟ้าขัตติยะ ศีติสาร มีชายา 2 องค์ คือ เจ้าหญิงกาบแก้วและเจ้าหญิงอุ้ม มีราชบุตร-ธิดารวมทั้งสิ้น 10 องค์ คือ เจ้าราชวงศ์เมืองพะเยา (เจ้าน้อยอินทร์) พระญาบุรีรัตน์ (เจ้าน้อยพรหม) เจ้าน้อยแก้วมูล เจ้าน้อยวงศ์ เจ้าหนานเทพ เจ้าน้อยแก้ว เจ้าน้อยแสงฟ้า เจ้าหญิงบัวจี๋น (คู่แฝด) เจ้าหญิงบัวคำ (คู่แฝด) และเจ้าหญิงตุ้ม (แม่เจ้าคือเจ้าหญิงอุ้ม)
  7. เจ้าหลวงมหาไชย (เจ้าน้อยมหาไชย ศีติสาร) (พ.ศ. 2449 - พ.ศ. 2456) ราชบุตรของเจ้าฟ้าขัตติยะ ศีติสาร มีชายาทั้งสิ้น 3 องค์ คือ เจ้าหญิงจำปี เจ้าหญิงบัวเหลียว และเจ้าหญิงบัวไหว ศักดิ์สูง (พระธิดาเจ้าบุรีรัตน์เมืองพะเยา) และมีราชบุตร - ธิดา ทั้งสิ้น 5 องค์ คือ เจ้าอืด เจ้าหญิงบัวเงา เจ้าหญิงจ๋อย เจ้าศรีนวล เจ้าภูมิประเทศ *( ในหนังสือประวัติศาสตร์เมืองพะเยายุคหลัง โดยพระเทพวิสุทธิเวที รองเจ้าคณะภาค ๖ ได้บันทึกไว้ว่าเมื่อสิ้นเจ้าหลวงมหาไชยแล้วจึงถือเป็นการสิ้นสุดตำแหน่งเจ้าหลวงเมืองพะเยา ทางการได้แต่งตั้งให้นายคลาย บุษยบรรณ เป็นนายอำเภอเมืองพะเยา และในพุทธศักราช 2457 ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นที่รองอำมาตย์โท ขุนสิทธิประศาสน์ ปกครองเมืองพะเยาสืบต่อมา )* ป่วยลำไส้พิการ อนิจกรรมวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2467 สิริอายุ 69 ปี

สายสกุลเจ้าผู้ครองนครพะเยา แก้

มีการรวบรวมประวัติสายสกุลเจ้าหลวงเมืองพะเยาไว้มีทั้งสิ้น 12 สกุล คือ

  1. มหาวงศ์ ต้นสกุล คือ เจ้าหลวงมหาวงศ์ เจ้าผู้ครองนครพะเยา (ยุคฟื้นฟู) องค์ที่ 1
  2. วิรัตน์เกษม ต้นสกุล คือ เจ้าราชบุตรแก้ววิราช บุตรเจ้าหลวงมหายศ (เจ้าผู้ครองนครพะเยา (ยุคฟื้นฟู) องค์ที่ 2)
  3. จันทยศ, จันต๊ะยศ ต้นสกุล คือ เจ้าราชบุตรจันทยศ บุตรเจ้าหลวงมหายศ (เจ้าผู้ครองนครพะเยา (ยุคฟื้นฟู) องค์ที่ 2)
  4. ศีติสาร ต้นสกุล คือ เจ้าฟ้าญาร้อย (เจ้าน้อยศีธิวงศ์)
  5. ศักดิ์สูง ต้นสกุล คือ เจ้าบุรีรัตน์เมืองพะเยา หรือเจ้าเมืองแก้ว
  6. ไชยเมือง ต้นสกุล คือ เจ้าราชบุตรศรีสองเมือง หรือเจ้าน้อยใจเมือง
  7. เถาวัลย์ ต้นสกุล คือ เจ้าพญาวังใน (เจ้าน้อยเถา)
  8. สูงศักดิ์ ต้นสกุล คือ เจ้าน้อยธรรมลังกา
  9. ศักดิ์ศรีดี ต้นสกุล คือ เจ้าหนานญาวิราช
  10. สุยะราช ต้นสกุล คือ เจ้าราชสัมพันธวงศ์ หรือ เจ้าคำผาย
  11. วงศ์สุวรรณ ต้นสกุลคือ เจ้าราชวงศ์สุยะ มีบุตรคือ เจ้าน้อยธิ วงศ์สุวรรณ สมรส กับเจ้าปั๋น วิรัตน์เกษม (ธิดาเจ้าพระญาแก้ว วิรัตน์เกษม) มีราชบุตร - ธิดา ทั้งสิ้น 5 องค์ เจ้าบัวจันทร์ เจ้าแสนกัน เจ้าน้อยแสง เจ้าศรีพรรณ เจ้าแสงหล้า
  12. ณ ลำปาง (สายพะเยา) ต้นสกุลคือ เจ้าราชบุตรแก้วเมืองมูล ณ ลำปาง

อ้างอิง แก้

  1. "เมืองพะเยาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-01-25. สืบค้นเมื่อ 2010-08-19.
  • ศักดิ์ รัตนชัย. พงศาวดารสุวรรณหอคำนครลำปาง (ตำนานเจ้าเจ็ดพระองค์กับหอคำมงคล ฉบับสอบทานกับเอกสารสืบค้น สรสว.ลำปาง) .
  • คณะทายาทสายสกุล เจ้าหลวงเมืองพะเยา, สถาบันศิลปวัฒนธรรมโยนก. ครบรอบ 100 ปี แม่เจ้าทรายมูล (มหาวงศ์) ไชยเมือง และประวัติสายสกุลเจ้าหลวงเมืองพะเยา พุทธศักราช 2387 - 2456. พะเยา :บ.ฮาซัน พริ้นติ้ง จก., 2546
  • คัมภีร์ คัมภีรญาณนนท์ , นาวาอากาศเอก. เจ้านายฝ่ายเหนือ. [1] เก็บถาวร 2021-05-14 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน