เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน

เขื่อนในจังหวัดพิษณุโลก ประเทศไทย

โครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพิษณุโลก เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำแควน้อยตอนล่างท้องที่ประสบปัญหาอุทกภัย รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำสำหรับการเพาะปลูกทั่วไปฤดูฝนและฤดูแล้ง ตลอดจนสำหรับการอุปโภค-บริโภค มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำที่ระดับกักเก็บ 61.39 ตารางกิโลเมตร ความจุอ่าง ณ ระดับเก็บกักปกติ 939 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตร 155,166 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอวัดโบสถ์ อำเภอวังทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก และอำเภอบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลกกั้นแม่น้ำแควน้อย

เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน
แผนที่
ชื่อทางการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพิษณุโลก
ที่ตั้งหมู่ที่ 4 บ้านเขาหินลาด ตำบลคันโช้ง อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก
เริ่มก่อสร้าง21 มกราคม พ.ศ. 2546
เปิดดำเนินการ7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
งบก่อสร้าง8,881.62 ล้านบาท
ผู้ดำเนินการกรมชลประทาน
เขื่อนและทางน้ำล้น
ปิดกั้นแม่น้ำแควน้อย
ความสูง75 เมตร
ความยาว681 เมตร
อ่างเก็บน้ำ
ปริมาตรกักเก็บน้ำ939 ล้านลูกบาศก์เมตร
พื้นที่กักเก็บน้ำ61.39 ตารางกิโลเมตร

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดเขื่อนนเรศวร และทรงเยี่ยมราษฎร ณ บริเวณเขื่อนนเรศวร บ้านหาดใหญ่ ตำบลพรหมพิราม อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก และได้พระราชทานแนวพระราชดำริ ให้วางโครงการและก่อสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำแควน้อยโดยเร่งด่วน เพื่อการบรรเทาอุทกภัยในเขตลุ่มน้ำแควน้อยตอนล่าง และจัดหาน้ำสนับสนุนโครงการชลประทานพิษณุโลก และโครงการชลประทานเจ้าพระยาใหญ่ ให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์ และเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2538ศาลาดุสิตาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า[1]

...ส่วนที่พิษณุโลกก็มีน้ำไหลลงมาจากข้าง ๆ อีกสายหนึ่ง แควน้อยซึ่งจะต้องทำ...อันนี้ก็ยังไม่ได้ทำ ซี่งจะต้องทำ เพื่อเก็บกักน้ำที่มาจากอำเภอชาติตระการ อาจจะมีคนค้านว่าทำไมทำเขื่อนพวกนี้แล้วมีประโยชน์อะไร ก็เห็นแล้วประโยชน์ของเขื่อนใหญ่เขื่อนนี้ ถ้าไม่มี 2 เขื่อนนี้ ที่นี่น้ำจะท่วมยิ่งกว่า จะไม่ท่วมเพียงแค่นี้ จะท่วมทั้งหมด...

หลังจากได้มีแนวพระราชดำริก็ได้มีการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ รวมทั้งการออกแบบรายละเอียดโครงการจนแล้วเสร็จเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2545 และได้ผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติเห็นชอบรายงาน เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2545 และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้เริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการเขื่อนแควน้อย ในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2546 และมอบหมายให้กรมชลประทานวางแผนงานที่จะดำเนินการก่อสร้างใน พ.ศ. 2546–2554 ระยะเวลาดำเนินการ 9 ปี โดยใน พ.ศ. 2546 จะขอใช้งบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) และใช้งบประมาณปกติก่อสร้างโครงการในปีต่อ ๆ ไปจนแล้วเสร็จ[1]

เมื่อการก่อสร้างดำเนินมาถึงจุดที่สามารถพร้อมที่จะทำหน้าที่กับเก็บน้ำได้แล้วนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีเริ่มการกักเก็บน้ำเขื่อนแควน้อย เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ต่อมาเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้พระราชทานนามเขื่อนนี้เพิ่มเติมว่า เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน หมายถึง เขื่อนแควน้อยที่ทำให้มีความเจริญในพื้นที่[2]

เมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์และพร้อมใช้งานใน พ.ศ. 2554 และในวันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2555 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินออกจากอาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช มาที่ท่าเทียบเรือ ประทับเรือพระที่นั่งอังสนา ซึ่งกองทัพเรือจัดถวาย ล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเรือพระที่นั่งมาจอดเทียบท่าและขึ้นประทับที่เกาะเกร็ด และในเวลา 19.50 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงวางพระหัตถ์บนแท่นตราสัญลักษณ์โครงการ เป็นการเปิดโครงการชลประทาน 5 โครงการ พร้อมกันทั่วประเทศ ผ่านระบบวิดีโอลิงก์ ได้แก่

  1. โครงการพัฒนาลุ่มน้ำพนังตอนบน จังหวัดกาฬสินธ์
  2. โครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำ จังหวัดนครพนมและจังหวัดสกลนคร
  3. โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง
  4. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน
  5. เขื่อนขุนด่านปราการชล[2][3]

ความสำคัญ

แก้

ลุ่มน้ำแควน้อยเป็นลุ่มน้ำสาขาด้านฝั่งซ้ายของลุ่มน้ำน่าน มีต้นน้ำอยู่ในอำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก พื้นที่ตอนล่างของลุ่มน้ำเป็นพื้นที่เกษตรกรรม และมักประสบกับปัญหาอุทกภัยในฤดูน้ำหลากและขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งเป็นประจำทุกปี ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการชลประทาน เขื่อนแควน้อย เพื่อให้ราษฎรสามารถทำการเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปีอย่างสมบูรณ์[2] เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนจึงมีความสำคัญในแง่ของการบรรเทาปัญหาอุทกภัยและปัญหาการขาดแคลนน้ำในการทำการเกษตรของราษฎรในพื้นที่ลุ่มน้ำแควน้อย และพื้นที่ใกล้เคียง

โครงสร้างและลักษณะ

แก้

โครงการเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพิษณุโลก เป็นอ่างเก็บน้ำอเนกประสงค์ขนาดใหญ่ สามารถกักเก็บน้ำได้สูงสุด 1,080 ล้านลูกบาศก์เมตร ประกอบด้วย 3 เขื่อนติดต่อกัน ไดแก่ เขื่อนปิดช่องเขาต่ำ เป็นเขื่อนดิน สูง 16 เมตร ยาว 640 เมตร เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เป็นเขื่อนทิ้งหินดาดคอนกรีต สูง 75 เมตร ยาว 681 เมตร สร้างปิดกั่นแม่น้ำแควน้อย และเขื่อนสันตะเคียน เป็นเขื่อนทิ้งหินแกนดินเหนียว สร้างปิดกั้นลำห้วยสันตะเคียน สูง 80 เมตร ยาว 1,270 เมตร[2]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมชลประทาน, โครงการเขื่อนแควน้อยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เก็บถาวร 2017-03-10 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2559
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 พิธีเปิด 5 โครงการชลประทาน น้ำสร้างชีวิต : กรมชลประทาน, สืบค้นเมื่อ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2559
  3. ข่าวสด, เปิดพิพิธภัณฑ์เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน สถานที่ศึกษาและรับชมพระอัจฉริยภาพ “ในหลวง”, วันที่ 15 ตุลาคม 2559

ดูเพิ่ม

แก้