อินทุรัตนา บริพัตร

อินทุรัตนา บริพัตร (ประสูติ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2465) มีนามเดิมว่า หม่อมเจ้าอินทุรัตนา และ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทุรัตนา เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต กับหม่อมสมพันธุ์ บริพัตร ณ อยุธยา และเป็นเจ้านายในราชวงศ์จักรีที่พระชันษาสูงที่สุดในปัจจุบัน

อินทุรัตนา บริพัตร
เกิดหม่อมเจ้าอินทุรัตนา
2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2465 (102 ปี)
คู่สมรสสมหวัง สารสาส (2496–ไม่ทราบ; หย่า)
บุตรธรณินทร์ สารสาส
สินนภา สารสาส
สันติ สารสาส
บุพการีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
หม่อมสมพันธุ์ บริพัตร ณ อยุธยา

ประวัติ แก้

อินทุรัตนาเป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ประสูติแต่หม่อมสมพันธุ์ บริพัตร ณ อยุธยา (สกุลเดิม ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา; ธิดาพระยาวทัญญูวินิจฉัย (หม่อมหลวงชุ่ม ปาลกะวงศ์) กับคุณหญิงเลี่ยน วทัญญูวินิจฉัย (สกุลเดิม บุนนาค)) ประสูติเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2464 (แบบสากลคือ พ.ศ. 2465) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อประสูติดำรงพระยศที่ "หม่อมเจ้าอินทุรัตนา ในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต" มีอนุชาร่วมหม่อมมารดาสององค์ คือ หม่อมเจ้าสุขุมาภินันท์ และหม่อมเจ้าชายไม่มีพระนาม (ถึงชีพิตักษัยหลังประสูติได้ 3-4 วัน ในปลายรัชกาลที่ 6)[1] มีเชษฐาและเชษฐภคินีต่างหม่อมมารดาอีกแปดพระองค์

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกหม่อมเจ้าอันเป็นพระโอรสธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้าซึ่งพระชนนีทรงศักดิ์ชั้นสมเด็จ ซึ่งมารดามิได้เป็นเจ้าขึ้นดำรงพระยศเป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า"[2] หม่อมเจ้าอินทุรัตนาและหม่อมเจ้าสุขุมาภินันท์ ในสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต จึงมีพระยศขึ้นเป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า" พร้อมกัน

ต่อมาขณะพระชันษา 10 ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีโสกันต์และพิธีเกศากันต์พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทุรัตนา พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา และหม่อมเจ้ากาญจนฉัตร ฉัตรชัย เมื่อวันที่ 28-29 มีนาคม พ.ศ. 2474 (แบบสากลคือ พ.ศ. 2475) นับเป็นพระราชพิธีโสกันต์และพิธีเกศากันต์ครั้งสุดท้าย ก่อนการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 หลังจากนั้นก็ไม่มีพระราชพิธีโสกันต์และพิธีเกศากันต์อีกเลยจนถึงปัจจุบัน

ชีวิตครอบครัว แก้

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทุรัตนา ได้ขอพระราชทานกราบถวายบังคมทูลลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์เพื่อสมรสกับร้อยเอก สมหวัง สารสาส (บุตรของพระสารสาสน์พลขันธ์ (ลอง สุนทานนท์) กับสวัสดิ์ สารสาสน์พลขันธ์ (สกุลเดิม อัศวนนท์)) และเป็นพี่ชายของหม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ณ อยุธยา (หม่อมในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเปรมบุรฉัตร))[3] เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496[4] นับเป็นเจ้านายชั้นพระองค์เจ้าพระองค์แรกและพระองค์เดียวที่ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์เพื่อสมรส[5] พิธีสมรสจัดขึ้นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 ทั้งสองมีบุตร-ธิดาด้วยกันสามคน ได้แก่[6]

  • ธรณินทร์ สารสาส (เกิด 20 กันยายน พ.ศ. 2496) สมรสกับสุมิตรา เรืองสมวงศ์ มีบุตรธิดาสองคน ได้แก่
    • แคทเธอรีน สารสาส
    • เควิน สารสาส
  • สินนภา สารสาส (เกิด 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2499) สมรสและหย่ากับอนันต์ ตาราไต
  • สันติ สารสาส (ชื่อเดิม พญาณินทร์; เกิด 10 สิงหาคม พ.ศ. 2507) สมรสกับสุรีรัตน์ สีดาวรพงษ์ มีบุตรหนึ่งคน คือ
    • ปรัชญ์ สารสาส[7]

ต่อมาทั้งสองได้หย่ากัน โดยร้อยเอกสมหวังได้สมรสใหม่กับพนิดา สารสาส[8] (สกุลเดิม กำเนิดกาญจน์)

วันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2559 พลเรือโท พิเชฐ ตานะเศรษฐ เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ นำคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่เข้าเฝ้าพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทุรัตนา เพื่อทูลเชิญให้เสด็จร่วมงานวันบริพัตร ในฐานะพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต[9]

อินทุรัตนาเป็นเจ้านายในราชวงศ์จักรีที่พระชันษาสูงที่สุดในปัจจุบัน และเป็นป้าของหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

เกียรติยศ แก้

ฐานันดรศักดิ์และคำนำหน้านาม แก้

ธรรมเนียมพระยศของ
พระองค์เจ้าอินทุรัตนา
(พ.ศ. 2470–2496)
การทูลฝ่าพระบาท
การแทนตนเกล้ากระหม่อม/เกล้ากระหม่อมฉัน
การขานรับเกล้ากระหม่อม/เพคะ
  • 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2465 – 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 : หม่อมเจ้าอินทุรัตนา
    • 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2465 – 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 : หม่อมเจ้าอินทุรัตนา ในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต
    • 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 – 21 มีนาคม พ.ศ. 2469 : หม่อมเจ้าอินทุรัตนา ในสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมหลวงนครสวรรค์วรพินิต
    • 21 มีนาคม พ.ศ. 2469 – 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 : หม่อมเจ้าอินทุรัตนา ในสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
  • 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 – 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 : พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทุรัตนา
  • 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496 – ไม่ทราบ : นางอินทุรัตนา สารสาส
  • ไม่ทราบ – ปัจจุบัน : นางอินทุรัตนา บริพัตร

พงศาวลี แก้

อ้างอิง แก้

  1. เนื่องในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพิสิฐสบสมัย. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทยเขษม, พ.ศ. 2517. 43 หน้า.
  2. "ประกาศตั้งพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 44 (0ก): 253. 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  3. กิติวัฒนา ปกมนตรี, ม.ร.ว. สายพระโลหิตในพระพุทธเจ้าหลวง. กรุงเทพฯ : ดีเอ็มจี, 2551. 285 หน้า. ISBN 9789743120220
  4. "ประกาศสำนักพระราชวัง ที่ ๑/๒๔๙๖ เรื่อง พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 70 (15ก): 755. 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2496. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  5. วีระยุทธ ปีสาลี (27 ตุลาคม 2564). ""รักของท่านหญิง" สำรวจความรัก-การแต่งงานของเจ้านายสตรีที่เปลี่ยนไปหลัง 2475". ศิลปวัฒนธรรม. สืบค้นเมื่อ 24 ธันวาคม 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  6. ไฟน์สโตน, เจฟฟรี่. จุฬาลงกรณราชสันตติวงศ์ พระบรมราชวงศ์แห่งประเทศไทย: The Royal family of Thailand : the descendants of King Chulalongkorn. กรุงเทพฯ : บริษัท พิษณุโลกการพิมพ์, 2532. 688 หน้า. ISBN 9748356906
  7. [สุขุมพันธุ์ บริพัตร, ม.ร.ว. http://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:184746. อนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ ป.จ., ม.ป.ช., ม.ว.ม. ณ พระเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร]. กรุงเทพฯ : บริษัท เจ.เอ.เอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, 2546. 208 หน้า. ISBN 9749181107
  8. "บุคคลในข่าว". ไทยรัฐออนไลน์. 4 สิงหาคม 2553. สืบค้นเมื่อ 22 มกราคม 2558. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  9. "เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ นำคณะนายทหารชั้นผู้ใหญ่ เข้าเฝ้า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทุรัตนา พระธิดาใน จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต". กองทัพเรือ. 20 มิถุนายน 2559. สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2565. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)