พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ (15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466 - 10 เมษายน พ.ศ. 2546) เป็นพระโอรสใน จอมพล จอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ประสูติแต่สมพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ทรงดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภากาชาดไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2511 - 2512 เป็นอุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดไทย ระหว่างปี พ.ศ. 2512 - 2516[1] ทรงดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทเป็นพระองค์ที่สอง ระหว่างปี พ.ศ. 2511 - 2514

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์
พระวรวงศ์เธอ ชั้น 5
พระองค์เจ้าชั้นตรี
หม่อมหม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา
พระนามเต็ม
– หม่อมเจ้าสุขุมาภินันท์ บริพัตร :
15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466 – 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470
– พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ :
8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 – 10 เมษายน พ.ศ. 2546
พระบุตรหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร
หม่อมราชวงศ์วโรรส บริพัตร
ราชสกุลบริพัตร
ราชวงศ์จักรี
พระบิดาสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
พระมารดาสมพันธุ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา
ประสูติ15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466
สิ้นพระชนม์10 เมษายน พ.ศ. 2546 (79 ปี)
พระราชทานเพลิง28 ธันวาคม พ.ศ. 2546
เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส
ศาสนาพุทธ
สภากาชาดไทย

พระประวัติ แก้ไข

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ ประสูติเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466 เป็นพระโอรสในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต กับหม่อมสมพันธุ์ บริพัตร ณ อยุธยา (ราชสกุลเดิม ปาลกะวงศ์; ธิดาของพระยาวทัญญูวินิจฉัย (หม่อมหลวงชุ่ม ปาลกะวงศ์)) มีพระยศเดิมเมื่อแรกประสูติว่า หม่อมเจ้าสุขุมาภินันท์ บริพัตร มีโสทรเชษฐภคินี 1 องค์ คือ หม่อมเจ้าอินทุรัตนา บริพัตร|พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทุรัตนา มีโสทรานุชา 1 องค์ คือ หม่อมเจ้าชาย (สิ้นชีพิตักษัยหลังประสูติ 3-4 วัน ในปลายรัชกาลที่ 6 จึงไม่ทันได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้า)[2] และมีเชษฐาและเชษฐภคินีต่างพระมารดาอีก 8 พระองค์ ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ (ท.ศ.4336)

 
หม่อมสมพันธ์ บริพัตร ณ อยุธยา หม่อมเจ้าอินทุรัตนา และหม่อมเจ้าสุขุมาภินันท์ บริพัตร

เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 ขณะชันษา 4 ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าอินทุรัตนาและหม่อมเจ้าสุขุมาภินันท์ บริพัตร มีพระยศขึ้นเป็น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า" พร้อมกัน[3][4]

ระหว่างที่กำลังศึกษาที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ ได้เกิดเหตุการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อ พ.ศ. 2475 หลังจากนั้นได้ตามเสด็จพระบิดาไปประทับที่เมืองบันดุง เกาะชวา ซึ่งในขณะนั้นเป็นอาณานิคมของประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมของชาวดัตช์ ทรงมีโอกาสรู้จักกับชาวดัตช์ ฝและชาวตะวันตก ทำให้พระองค์มีความรู้และทักษะด้านภาษา ทรงสามารถใช้ภาษาอังกฤษ ภาษาดัทช์ ภาษาเยอรมัน ภาษาฝรั่งเศส และภาษาซุนดาของชาวชวาตะวันตกได้เป็นอย่างดี

เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์ ใน พ.ศ. 2487 แต่ยังไม่สามารถนำพระศพกลับประเทศไทยได้เนื่องจากอยู่ในระหว่างสงคราม จนกระทั่งเมื่อ พ.ศ. 2491 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ส่งเครื่องบินเพื่อรับพระศพพระบิดากลับสู่ประเทศไทย พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ จึงตามพระศพกลับมายังประเทศไทยด้วย

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ ได้เสด็จไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ยังมหาวิทยาลัยเทมเปิล สหรัฐอเมริกา ทรงเลือกเรียนสาขาบริหารธุรกิจ เพราะทรงเห็นว่าการเรียนไม่ยากมากนักและสามารถสำเร็จการศึกษาได้ภายในระยะเวลาอันจำกัด เนื่องจากพระองค์ทรงสูญเสียเวลาไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว ทรงเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ จนสำเร็จการศึกษาและเสด็จกลับประเทศไทย ใน พ.ศ. 2495

หลังจากกลับประเทศไทย ทรงเริ่มเข้ารับราชการที่กระทรวงการคลัง และต่อมาทรงงานที่บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในช่วงที่เริ่มก่อตั้ง โดยทรงได้เรียนรู้งานจากพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ซึ่งเป็นประธานกรรมการ ทรงดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการทั่วไป ใน พ.ศ. 2503 จนถึง พ.ศ. 2505[5] หลังจากนั้นทรงเข้ารับตำแหน่งทรงดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทเป็นคนที่สอง ในระหว่าง พ.ศ. 2511 - 2514

ทั้งนี้พระองค์เป็นเจ้านายฝ่ายหน้าชั้น "พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า" ที่ดำรงพระชนม์ชีพอยู่เป็นพระองค์สุดท้าย ก่อนสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2546 สิริพระชันษา 79 ปี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชทานเพลิงพระศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2546

พระทายาท แก้ไข

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์เสกสมรสกับหม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา (สกุลเดิม ณ ถลาง) ธิดาของหลวงอิศเรศรักษา (ปลื้ม ณ ถลาง) กับดรุณ อิศเรศรักษา มีพระโอรสสองคน ได้แก่

  • หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร สมรสกับนุชวดี บำรุงตระกูล ต่อมาได้หย่ากันและสมรสใหม่กับสาวิตรี บริพัตร ณ อยุธยา (สกุลเดิม ภมรบุตร) มีบุตรสองคน ได้แก่
    • หม่อมหลวงพินิตพันธุ์ บริพัตร สมรสกับมิยา บริพัตร ณ อยุธยา (สกุลเดิม รีวงษ์)
    • หม่อมหลวงวราภินันท์ บริพัตร
  • พลโท หม่อมราชวงศ์วโรรส บริพัตร สมรสกับพัฒนาพร นิยมศิริ ต่อมาได้หย่ากันและสมรสใหม่กับวรภาทิพย์ บริพัตร ณ อยุธยา (เดิม ละอองดาว โตเจริญ) มีบุตรธิดาสามคน ได้แก่
    • หม่อมหลวงวรพินิต บริพัตร
    • หม่อมหลวงวรภานัน บริพัตร (ชื่อเดิม สุภานัน)
    • หม่อมหลวงภูมิอาชว์ บริพัตร (ชื่อเดิม วรทย์)

พระเกียรติยศ แก้ไข

ธรรมเนียมพระยศของ
พระวรวงศ์เธอ
พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์
การทูลฝ่าพระบาท
การแทนตนเกล้ากระหม่อม/เกล้ากระหม่อมฉัน
การขานรับเกล้ากระหม่อม/เพคะ

พระอิสริยยศ แก้ไข

  • หม่อมเจ้าสุขุมาภินันท์ บริพัตร (15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466 – 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470)
  • พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ (8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 – 10 เมษายน พ.ศ. 2546)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก้ไข

พงศาวลี แก้ไข

อ้างอิง แก้ไข

  1. ราชกิจจานุเบกษา 12 มีนาคม 2512 ประกาศแต่งตั้งอุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดไทยhttp://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2512/A/021/4.PDF
  2. เนื่องในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงพิสิฐสบสมัย. กรุงเทพฯ : [ม.ป.พ.], พ.ศ. 2517. 50 หน้า.
  3. "ประกาศตั้งพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 44 (0ก): 253. 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  4. ศุภวัฒย์ เกษมศรี, พลตรี หม่อมราชวงศ์, และรัชนี ทรัพย์วิจิตร. พระอนุวงศ์ชั้นหม่อมเจ้าในพระราชวงศ์จักรี. กรุงเทพ : สำนักพิมพ์บรรณกิจ, พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2549. 360 หน้า. หน้า หน้าที่. ISBN 974-221-818-8
  5. อนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส 2545.
  6. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า, เล่ม ๘๘ ตอนที่ ๔๙ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๘, ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๑๔
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2015-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๒๔๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑, ๑ ธันวาคม ๒๕๓๐
  8. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เก็บถาวร 2019-11-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๒ ตอนที่ ๑๗ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๔๔, ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘
  9. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญ เก็บถาวร 2017-02-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๔๔ ตอนที่ ๐ ง หน้า ๒๕๗๓, ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๗๐

แหล่งข้อมูลอื่น แก้ไข