อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก

(เปลี่ยนทางจาก อัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก)

อัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก (อังกฤษ: Alfred Hitchcock; 13 สิงหาคม 189929 เมษายน 1980) ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอังกฤษที่มีชื่อเสียงมากในแนวระทึกขวัญหรือ ทริลเลอร์ ฮิตช์ค็อกได้เริ่มต้นกำกับภาพยนตร์ในอังกฤษ ก่อนที่จะไปกำกับที่อเมริกาในปี 1939

อัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด13 สิงหาคม ค.ศ. 1899
เซอร์ อัลเฟร็ด โจเซฟ ฮิตช์ค็อก
เสียชีวิต29 เมษายน ค.ศ. 1980(1980-04-29) (80 ปี)
ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา
คู่สมรสอัลม่า เรวิลล์
รางวัล
ออสการ์เสนอชื่อ ผู้กำกับยอดเยี่ยม
1940 – Rebecca
1944 – Lifeboat
1945 – Spellbound

1954 – Rear Window

1960 – Psycho
ฐานข้อมูล
IMDb

ฮิตช์ค็อกถือเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่เป็นตำนานบนแผ่นฟิล์มของฮอลลีวู้ดและของโลก ในด้านการทำภาพยนตร์แนวทริลเลอร์ และผู้กำกับภาพยนตร์รุ่นหลัง ๆ ต่อมา ก็มีหลายคน ที่ยกย่องฮิตช์ค็อกซ์ และเอาสไตล์ของฮิตช์ค็อกเป็นต้นแบบในการทำหนัง

ถึงแม้ภายในช่วงชีวิตของฮิตช์ค็อกเมื่ออยู่ในอเมริกานั้นเขาจะโด่งดังและมีชื่อเสียงมาก แต่กลับไม่ได้รับคำวิจารณ์ที่ดีนักจากนักวิจารณ์ในสมัยนั้น

ภาพยนตร์ของเขาส่วนใหญ่ที่สร้างขึ้น จะเน้นทางด้านความแฟนตาซี และความหวาดกลัวของมนุษย์ในรูปแบบต่าง ๆ และชอบใช้เหตุการณ์ที่มีตัวละครที่ไม่รู้ประสีประสา ให้ตกอยู่ในสถานการณ์ที่อยู่เหนือการควบคุมของตัวละครนั้น ๆ ซึ่งนักวิจารณ์หลายคนกล่าวว่า ฮิตช์ค็อกนั้นไม่ได้กำกับภาพยนตร์แต่กำกับอารมณ์ของคนดูมากกว่า และตัวฮิตช์ค็อกเองก็เคยกล่าวว่า เขาสนุกกับการได้เล่นกับความรู้สึกของคนดู

ฮิตช์ค็อกเปิดเผยว่า เมื่อตอนอายุได้ 5 ขวบ เขาจำได้ว่าเคยถูกพ่อส่งตัวไปให้ตำรวจจับเข้าคุกเป็นเวลา 10 นาที เป็นการลงโทษเนื่องจากความซุกซน นั่นทำให้เขาหวาดกลัวมาก และเป็นอิทธิพลส่งผลให้ผลงานภาพยนตร์แต่ละเรื่องของเขา เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือนักสืบผู้เชี่ยวชาญจะไม่ใช่ตัวละครสำคัญหรือเป็นเงื่อนไขในการคลี่คลายปมลับเลย ซ้ำในบางเรื่องยังทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงกว่าเดิมหรือยุ่งยากยิ่งขึ้นไปอีก

นอกจากนี้แล้ว อัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก ยังมีรูปแบบการมีส่วนร่วมในภาพยนตร์ของตัวเองที่ไม่เหมือนใคร ไม่เพียงแต่กำกับเท่านั้น เขายังมักปรากฏตัวในหนังแต่ละเรื่องด้วย โดย การเดินผ่านไปมาหน้ากล้อง หรือโผล่มาเป็นตัวประกอบในฉากต่าง ๆ ซึ่งทางภาษาภาพยนตร์เรียกว่า cameo

ประวัติ แก้

อัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก มีชื่อเต็มว่า อัลเฟร็ด โจเซฟ ฮิตช์ค็อก (Alfred Joseph Hitchcock) เกิดเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 1899 ที่กรุงลอนดอน ในครอบครัวคาทอลิกที่เคร่งครัดและรักการละคร โดยครอบครัวมีกิจการค้าขายสินค้าทางการเกษตร ในวัยเด็กฮิตช์ค็อกเริ่มเรียนหนังสือกับโรงเรียนคณะเยซูอิต ทั้งที่ครอบครัวเป็นคาทอลิกที่เคร่งครัด แต่เขาเรียนไม่จบ ในเวลาต่อมา เขาอยากจะเป็นวิศวกร จึงถูกส่งไปเรียนที่โรงเรียนวิศวกรรมและการเดินเรือ จึงทำให้ฮิตช์ค็อกได้เรียนรู้เกี่ยวกับงานด้านเครื่องกล ไฟฟ้าเสียง และการเดินเรือ ฮิตช์ค็อกทำงานครั้งแรกเมื่ออายุได้ 19 ปี เป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์งบประมาณทางเทคนิคของบริษัทโทรเลขแห่งหนึ่ง ขณะเดียวกันก็เข้าเรียนศิลปะในมหาวิทยาลัยลอนดอนไปด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะเขาสนใจในงานด้านภาพยนตร์มาตั้งแต่อายุ 16 ปี

จากนั้นฮิตช์ค็อกได้ย้ายไปทำงานด้านศิลป์และเป็นผู้ช่วยงานด้านเลย์เอ๊าท์ในแผนกโฆษณาของบริษัท ในปี 1920 ฮิตช์ค็อกมีผลงานด้านภาพยนตร์เป็นครั้งแรก ในฐานะเป็นผู้ออกแบบไตเติล ให้กับบริษัทภาพยนตร์ที่ชื่อ เฟมัส เพลเยอร์ส-ลาสกี้ (Famous Players-Lasky ซึ่งต่อมาก็คือ บริษัท พาราเม้าท์ พิคเจอร์) ที่มาเปิดสาขาในกรุงลอนดอน ในเวลาไม่นานนัก ฮิตช์ค็อกก็ได้เลื่อนเป็นหัวหน้าแผนกและได้ทำงานใกล้ชิดกับผู้เขียนบทและแผนกตัดต่อ และได้ทำหน้าที่กำกับฉากที่ไม่สำคัญบางฉากอีกด้วย ต่อมาในปี 1922 เฟมัส เพลเยอร์ส-ลาสกี้ ได้ขายกิจการให้กับบริษัทภาพยนตร์ของอังกฤษ เขาก็ได้รับเลือกให้มาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ

ในปี 1925 หลังจากทำหน้าที่ผู้ช่วยผู้กำกับมานาน ฮิตช์ค็อกก็ได้ทำหน้าที่กำกับภาพยนตร์เองเรื่องแรก คือเรื่อง The Pleasure Garden ซึ่งเป็นภาพยนตร์ธรรมดาที่ไม่ได้สะท้อนตัวตนของฮิตช์ค็อกเลย ภาพยนตร์เรื่องแรกของฮิตช์ค็อกที่ถือว่าเป็นตัวตนจริง ๆ คือเรื่อง The Lodger: A Story of the London Fog ในปี 1927 และจากนั้นฮิตช์ค็อกก็ได้ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้มีโอกาสเข้าไปทำภาพยนตร์ในฮอลลีวู้ดในปี 1939

ด้านชีวิตครอบครัว ฮิตช์ค็อกสมรสกับ อัลม่า เรวิลล์ เมื่อปี 1926 โดยที่เธอป็นผู้เขียนบทและทำงานภาพยนตร์ร่วมกับฮิตช์ค็อกมาก่อน ทั้งคู่มีบุตรสาวด้วยกันหนึ่งคน คือ แพทริเซีย ฮิตช์ค็อก ซึ่งต่อมากลายเป็นนักแสดงประกอบคนหนึ่งของฮิตช์ค็อกด้วย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะได้รับฉายาว่าเป็น ราชาหนังเขย่าขวัญ หรือ ราชาหนังระทึกขวัญ ก็ตาม ฮิตช์ค็อกกลับไม่เคยได้รางวัลอคาเดมี่หรือรางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมเลยแม้สักครั้ง ใกล้เคียงที่สุดคือได้เข้าชิงใน 5 เรื่อง แม้ในเรื่อง Rebecca ในปี 1940 จะได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมก็ตาม จนกระทั่งในปี 1968 สถาบันศิลปะและวิทยาศาสตร์ภาพยนตร์แห่งอเมริกามอบรางวัลเกียรติยศ อนุสรณ์เออร์วิ่ง จี. ธัลเบิร์ก (Irving G. Thalberg Memorial Award) ให้แก่ฮิตช์ค็อก ซึ่งเขาก็ได้ขึ้นไปกล่าวสั้น ๆ ว่า "ขอบคุณ" บนเวทีเท่านั้นแล้วก็เดินลงมา

ฮิตช์ค็อกได้รับรางวัลเกียรติยศอีกครั้งหนึ่ง ในปี 1979 โดยสถาบันภาพยนตร์อเมริกัน โดยมอบรางวัล Life Achievement Award ให้ สองสัปดาห์ต่อมาขณะที่ฮิตช์ค็อกเตรียมงานเรื่องใหม่ คือ The Short Night แต่ว่าสภาพร่างกายของเขาไม่อำนวยเสียแล้ว เขาปิดสำนักงานในฮอลลีวู้ดและร่ำลาเพื่อนร่วมงานกลับไปใช้ชีวิตในบั้นปลายที่บ้านพักที่แคลิฟอร์เนีย

3 มกราคม 1980 ฮิตช์ค็อกได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวิน จากการพระราชทานจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยเจ้าหน้าที่กงสุลนำรางวัลนี้มามอบให้แก่เขาถึงที่ยูนิเวอร์แซลสตูดิโอ เนื่องจากเขาไม่สามารถเดินทางไปอังกฤษเพื่อรับพระราชทานรางวัลนี้ได้ด้วยตนเอง จากสภาพร่างกายที่ทรุดโทรมเต็มที่

อัลเฟร็ด ฮิตช์ค็อก เสียชีวิตลงในเวลา 09.17 น. ของเช้าวันที่ 29 เมษายน 1980 ที่บ้านพัก รวมอายุได้ 80 ปี [1]

ฮิตช์ค็อก ได้รับการจัดอันดับจากเว็บไซต์โททัลฟิล์มให้เป็นผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีผลงานดีเยี่ยมที่สุดเป็นอันดับ 1 ตลอดกาล[2]

รายชื่อภาพยนตร์ของฮิตช์ค็อก แก้

(ภายในวงเล็บ คือ ปีที่เริ่มฉาย, ตัวดำ คือ ผลงานเด่น)

ภาพยนตร์เงียบ แก้

  • No. 13 (1922)
  • Always Tell Your Wife (1923)
  • The Pleasure Garden (1927)
  • The Mountain Eagle (1927)
  • The Lodger: A Story of the London Fog (1927), เป็นภาพยนตร์ในแนวตื่นเต้นระทึกขวัญเรื่องแรกของฮิตช์ค็อก
  • Downhill (1927)
  • Easy Virtue (1927)
  • The Ring (1927)
  • The Farmer's Wife (1928)
  • Champagne (1928)
  • The Manxman (1928)

ภาพยนตร์เสียง (ภาพยนตร์สมัยใหม่) แก้

  • Blackmail (1929), เป็นภาพยนตร์เสียงในฟิล์มเรื่องแรกของฮิตช์ค็อกและเรื่องแรกของอังกฤษด้วย
  • Juno and the Paycock (1930)
  • Murder! (1930)
  • Elstree Calling (1930)
  • The Skin Game (1931)
  • Mary (1931)
  • Number Seventeen (1932)
  • Rich and Strange (1932)
  • Waltzes from Vienna (1933)
  • The Man Who Knew Too Much (1934)
  • The 39 Steps (1935)
  • Secret Agent (1936)
  • Sabotage (1936), ดัดแปลงมาจากนิยายของโจเซฟ คอนราด เรื่อง The Secret Agent
  • Young and Innocent (1938)
  • The Lady Vanishes (1938)
  • Jamaica Inn (1939)
  • Rebecca (1940), เป็นเรื่องเดียวที่ฮิตช์ค็อกได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากอคาเดมี่อวอร์ด
  • Foreign Correspondent (1940)
  • Mr. & Mrs. Smith (1941)
  • Suspicion (1941)
  • Saboteur (1942)
  • Shadow of a Doubt (1943)
  • Lifeboat (1944)
  • Aventure Malgache (1944), เป็นภาพยนตร์ภาษาฝรั่งเศสสร้างขึ้นเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลอังกฤษในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
  • Bon Voyage (1944), คล้ายกับเรื่อง Aventure Malgache
  • Spellbound (1945), ซาลวาดอร์ ดาลี เป็นผู้ออกแบบไตเติลให้
  • Notorious (1946)
  • The Paradine Case (1947)
  • Rope (1948), เป็นภาพยนตร์สีเรื่องแรกของฮิตช์ค็อกและใช้การตัดต่อเพียงแค่ 11 ครั้งเท่านั้น
  • Under Capricorn (1949)
  • Stage Fright (1950)
  • Strangers on a Train (1951)
  • I Confess (1953)
  • Dial M for Murder (1954), เป็นภาพยนตร์สามมิติ
  • Rear Window (1954)
  • To Catch a Thief (1955)
  • The Trouble with Harry (1955), เป็นภาพยนตร์ตลกที่แหวกแนวของฮิตช์ค็อกไป แต่ก็ยังคงอารมณ์ขันแบบร้าย ๆ อยู่
  • The Man Who Knew Too Much (1956), สร้างใหม่ แต่ใช้เค้าโครงเดิมจากปี 1934
  • The Wrong Man (1956)
  • Vertigo (1958)
  • North by Northwest (1959)
  • Psycho (1960)
  • The Birds (1963)
  • Marnie (1964)
  • Torn Curtain (1966)
  • Topaz (1969)
  • Frenzy (1972)
  • Family Plot (1976)

อ้างอิง แก้

  1. หนังสือ ตำนานระทึกขวัญ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อค โดย ประวิทย์ แต่งอักษร สำนักพิมพ์ แพรว (กรุงเทพ, กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2543) ISBN 974-85060-0-2
  2. Greatest Directors Ever - Part 2 (อังกฤษ)

แหล่งข้อมูลอื่น แก้