หุบเขาฟาร์ฆอนา

หุบเขาในเอเชียกลาง

หุบเขาฟาร์ฆอนา (อุซเบก: Fargʻona vodiysi; คีร์กีซ: Фергана өрөөнү, อักษรโรมัน: Fergana öröönü; ทาจิก: водии Фарғона, อักษรโรมัน: Vodii Farg'ona) เป็นบริเวณหนึ่งในเอเชียกลาง ตั้งอยู่ทางตะวันออกของอุซเบกิสถาน รวมถึงทางใต้ของคีร์กีซสถานและทางเหนือของทาจิกิสถาน

หุบเขาฟาร์ฆอนา
หุบเขาฟาร์ฆอนา (เน้นสีเหลือง) หลัง ค.ศ. 1991
ความยาว300 กิโลเมตร (190 ไมล์)
พื้นที่22,000 ตารางกิโลเมตร (8,500 ตารางไมล์)
ภูมิศาสตร์
ที่ตั้งอุซเบกิสถาน, ทาจิกิสถาน, คีร์กีซสถาน
พิกัด40.9008°N 71.7578°E 
แม่น้ำซีร์ดาร์ยา (นารึนและคาราดาร์ยา)

หุบเขาฟาร์ฆอนามีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ มีสภาพอากาศแห้งแล้ง บริเวณนี้ได้รับน้ำจากแม่น้ำสองสายคือแม่น้ำนารึนและคาราดาร์ยาที่ไหลมาจากทิศตะวันออก ก่อนจะไปรวมกันที่ตอนเหนือสุดของหุบเขากลายเป็นแม่น้ำซีร์ดาร์ยา หุบเขาฟาร์ฆอนามีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 2,300 ปี เมื่ออเล็กซานเดอร์มหาราชตั้งเมืองอาเลกซันเดรอาเอสคาเตที่ปลายสุดด้านตะวันตกเฉียงใต้ของหุบเขา

หุบเขาฟาร์ฆอนาตั้งอยู่บนเส้นทางสายไหมซึ่งเชื่อมระหว่างทวีปยุโรป อาหรับ เปอร์เซีย และจีน[1] หุบเขาฟาร์ฆอนายังเป็นแหล่งกำเนิดของจักรพรรดิบาบูร์ ผู้สถาปนาราชวงศ์โมกุลที่แผ่อำนาจลงมายังอนุทวีปอินเดีย จักรวรรดิรัสเซียพิชิตหุบเขานี้เมื่อสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 และเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 ชาติพันธุ์ส่วนใหญ่ที่อาศัยในพื้นที่นี้ ได้แก่ ชาวอุซเบก ชาวทาจิก และชาวคีร์กีซซึ่งเป็นมุสลิม ในอดีตมีชนกลุ่มน้อยอย่างชาวรัสเซีย คัชการ์ คิปชาก ชาวยิวบูฆอรอ และชาวโรมานีอาศัยอยู่ด้วย

การเพาะปลูกฝ้ายซึ่งริเริ่มโดยโซเวียตเป็นอุตสาหกรรมหลักในพื้นที่นี้ ร่วมกับการปลูกธัญพืช ผัก และผลไม้ นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงปศุสัตว์ การทำเครื่องหนัง และการทำเหมือง หุบเขาฟาร์ฆอนามีแหล่งถ่านหิน เหล็ก กำมะถัน ยิปซัม เกลือหิน แนปทา และน้ำมันสำรองจำนวนเล็กน้อย

ภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา และภูมิอากาศ แก้

หุบเขาฟาร์ฆอนาเป็นแอ่งระหว่างภูเขา ลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม ยาวประมาณ 300 กิโลเมตร (190 ไมล์) กว้างถึง 70 กิโลเมตร (43 ไมล์) ครอบคลุมพื้นที่ 22,000 ตารางกิโลเมตร (8,500 ตารางไมล์) ล้อมรอบด้วยเทือกเขาเทียนชานทางเหนือและเทือกเขาอาลัยทางใต้ มีแม่น้ำนารึนและคาราดาร์ยาไหลผ่านก่อนจะรวมกันที่เมืองนามังแกนที่อยู่ขอบทางเหนือของหุบเขา เกิดเป็นแม่น้ำซีร์ดาร์ยา[2]

บริเวณตรงกลางที่เป็นหุบเขาเกิดการยุบตัวที่มีความลึกประมาณ 6–7 กิโลเมตร (3.7–4.3 ไมล์) ประกอบด้วยชั้นตะกอนที่มีอายุช่วงยุคเพอร์เมียน–ไทรแอสซิก[3] หุบเขาฟาร์ฆอนามีรอยเลื่อนแขนงแบบอัด[4] รอยเลื่อนเหล่านี้ยังก่อให้เกิดชั้นหินโค้งรูปประทุน[5] ที่กักเก็บปิโตรเลียมและแก๊สธรรมชาติ มีรายงานพบกลุ่มบ่อน้ำมันขนาดเล็ก 52 แห่ง[6]

หุบเขาฟาร์ฆอนามีภูมิอากาศแบบแห้งแล้งภาคพื้นทวีป ส่วนใหญ่เป็นแบบทะเลทรายเขตอบอุ่น (เคิพเพิน: BWk) หรือกึ่งทะเลทรายเขตอบอุ่น (BSk) อุณหภูมิในเดือนมีนาคมอยู่ที่ 20° ซ ก่อนจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วถึง 35° ซ ในเดือนมิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคม มีปริมาณฝนน้อยในช่วง 5 เดือนหลังจากเดือนเมษายนแต่เพิ่มขึ้นในเดือนตุลาคม ในเดือนธันวาคม–มกราคมเกิดหิมะและน้ำค้างแข็ง ขณะที่อุณหภูมิลดลงถึง −20 °ซ[7]

ประวัติศาสตร์ แก้

ประมาณ 500 ปีก่อนคริสตกาล ภาคตะวันตกของหุบเขาฟาร์ฆอนาเป็นส่วนหนึ่งของซอกเดียที่ปกครองโดยจักรพรรดิดาไรอัสมหาราชแห่งจักรวรรดิอะคีเมนิด ต่อมาในปี 327 ปีก่อนคริสตกาล อเล็กซานเดอร์มหาราชยึดซอกเดียนร็อก ป้อมปราการสำคัญของซอกเดียในการศึกเพื่อพิชิตจักรวรรดิอะคีเมนิด ก่อนจะรวมซอกเดียกับแบกเตรียเป็นเขตปกครองเซแทร็ปเดียวกัน

ในปี 329 ปีก่อนคริสตกาล อเล็กซานเดอร์มหาราชตั้งเมืองอาเลกซันเดรอาเอสคาเต (แปลว่า อะเล็กซานเดรียที่ไกลที่สุด) ที่ริมฝั่งแม่น้ำซีร์ดาร์ยา ทางตะวันตกเฉียงใต้ของหุบเขาฟาร์ฆอนา (ปัจจุบันคือเมืองฆูจันด์ ประเทศทาจิกิสถาน) ต่อมาเมืองนี้ถูกปกครองโดยจักรวรรดิซิลูซิด ก่อนที่ประมาณปี 250 ปีก่อนคริสตกาล อาณาจักรกรีก-แบกเตรียจะยึดครองเมืองนี้ หุบเขาฟาร์ฆอนาเป็นพื้นที่สำคัญของอาณาจักรกรีก-แบกเตรียจนกระทั่งในรัชสมัยของเดเมตริอุสที่ 1 แห่งแบกเตรีย (ครองราชย์ 200–180 ปีก่อนคริสตกาล) พระองค์เผชิญกับการรุกรานจากชนเยฺว่จือทางตะวันตกกับชนศกะ-ซิเทียทางใต้ จากนั้นราวปี 160 ปีก่อนคริสตกาล ชนศกะเข้ามามีอำนาจในฟาร์ฆอนา[8]

ฉื่อจี้ หรือบันทึกประวัติศาสตร์จีนในสมัยราชวงศ์ฮั่นกล่าวถึงบริเวณฟาร์ฆอนาในชื่อต้าหยวน (大宛) ขึ้นชื่อในเรื่องม้าเหงื่อโลหิต ราชวงศ์ฮั่นทำสงครามกับชนศกะที่ปกครองฟาร์ฆอนาจนได้รับชัยในปี 101 ปีก่อนคริสตกาล ก่อนจะรวมเข้ากับดินแดนอารักขาภาคตะวันตก หลังจากนั้นชนหลายกลุ่มเข้ามามีอำนาจในฟาร์ฆอนา เช่น จักรวรรดิกุษาณะ จักรวรรดิซาเซเนียน เฮฟทาไลต์ รัฐเคาะลีฟะฮ์อับบาซียะฮ์ และจักรวรรดิฆวอแรซม์ ก่อนที่ในปี ค.ศ. 1876 จักรวรรดิรัสเซียผนวกรัฐข่านโกกอนที่ปกครองฟาร์ฆอนา กลายเป็นแคว้นฟาร์ฆอนา[9] แคว้นนี้สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1918 ในสมัยสหภาพโซเวียตและถูกแทนที่ด้วยสาธารณรัฐโซเวียตเตอร์กิสถาน ก่อนจะแยกเป็นสาธารณรัฐโซเวียตอุซเบก สาธารณรัฐโซเวียตเติร์กเมน และสาธารณรัฐโซเวียตทาจิก หลังสหภาพโซเวียตล่มสลายและสาธารณรัฐทั้งสามได้รับเอกราช หุบเขาฟาร์ฆอนากลายเป็นฉากความขัดแย้งในคริสต์ศตวรรษที่ 21 เนื่องจากความหลากหลายทางชาติพันธุ์และข้อพิพาทเรื่องพรมแดน[10]

อ้างอิง แก้

  1. "Investment Guide to the Fergana Valley" (PDF). United Nations Development Programme. January 1, 2009. สืบค้นเมื่อ November 19, 2023.
  2. "Central Asia: The Complexities Of The Fergana Valley". Forbes. October 10, 2013. สืบค้นเมื่อ November 19, 2023.
  3. Clarke, James W. (January 1, 1984). "Geology and possible uranium deposits of the Fergana region of Soviet Central Asia" (PDF). United States Department of the Interior Geological Survey. สืบค้นเมื่อ November 19, 2023.
  4. Feld, Christian; Haberland, Christian; Schurr, Bernd; Sippl, Christian; Wetzel, Hans-Ulrich; และคณะ (March 15, 2015). "Seismotectonic study of the Fergana Region (Southern Kyrgyzstan): distribution and kinematics of local seismicity". Earth, Planets and Space. 67 (40). doi:10.1186/s40623-015-0195-1. สืบค้นเมื่อ November 19, 2023.
  5. Abdurazakovich, Umurzakov Rakhimjan; Asatovich, Rabbimkulov Samariddin (August 11, 2022). "Possibilities of mapping neotectonic elements based on the interpretation of space images: A study of Fergana Depression". Geodesy and Geodynamics. 13 (6): 602–608. doi:10.1016/j.geog.2022.06.003. สืบค้นเมื่อ November 19, 2023.
  6. "Petroleum Potential of Fergana Intermontane Basin". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 27, 2009. สืบค้นเมื่อ 2014-03-26.
  7. Kropotkin & Bealby 1911, p. 270.
  8. Craig Benjamin (October 2003). "The Yuezhi Migration and Sogdia". Transoxiana Webfestschrift Series I: Eran Ud Aneran.
  9. "Fergana Valley". Britannica. July 20, 1998. สืบค้นเมื่อ November 19, 2023.
  10. Borthakur, Anchita (May 31, 2017). "An Analysis of the Conflict in the Ferghana Valley". Asian Affairs. 48 (2): 334–350. doi:10.1080/03068374.2017.1313591. สืบค้นเมื่อ November 19, 2023.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

40°54′03″N 71°45′28″E / 40.90083°N 71.75778°E / 40.90083; 71.75778