หม่อมเจ้าประโลมจิตร ไชยันต์
บทความนี้ต้องการข้อความอธิบายความสำคัญที่กระชับ และสรุปเนื้อหาไว้ย่อหน้าแรกของบทความ |
หม่อมเจ้าประโลมจิตร ไชยันต์ (ราชสกุลเดิม จิตรพงศ์; 8 มีนาคม พ.ศ. 2449 – 31 ตุลาคม พ.ศ. 2513) เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประสูติแต่หม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์
หม่อมเจ้าประโลมจิตร ไชยันต์ | |
---|---|
หม่อมเจ้า ชั้น 4 | |
ประสูติ | 8 มีนาคม พ.ศ. 2449 |
สิ้นชีพตักษัย | 31 ตุลาคม พ.ศ. 2513 (64 ปี) |
สวามี | หม่อมเจ้าตระนักนิธิผล ไชยันต์ |
พระบุตร | 7 คน |
ราชสกุล | จิตรพงศ์ (ประสูติ) ไชยันต์ (เสกสมรส) |
ราชวงศ์ | จักรี |
พระบิดา | สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ |
พระมารดา | หม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์ |
พระประวัติ
แก้หม่อมเจ้าประโลมจิตร ไชยันต์[1] (ราชสกุลเดิม จิตรพงศ์) เป็นพระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ประสูติแต่หม่อมราชวงศ์โต จิตรพงศ์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2448 (แบบสากล คือ พ.ศ. 2449) ที่วังท่าพระ ถนนหน้าพระลาน เป็นพระธิดาองค์ที่สองจึงได้รับประทานพระนามลำลองว่า "ท่านหญิงอี่" มีโสทรภราดาและโสทรภคินี 4 องค์ คือ
- หม่อมเจ้าดวงจิตร จิตรพงศ์ (ท่านหญิงอาม)
- หม่อมเจ้ายาใจ จิตรพงศ์ (ท่านชายไส)
- หม่อมเจ้าเพลารถ จิตรพงศ์ (ท่านชายงั่ว)
- หม่อมเจ้ากรณิกา จิตรพงศ์ (ท่านหญิงไอ)
เมื่อครั้งยังเยาว์ หม่อมเจ้าประโลมจิตร ได้รับการศึกษาในโรงเรียนสตรีวิทยา ต่อมาได้เสกสมรสกับ อำมาตย์เอก หม่อมเจ้าตระนักนิธิผล ไชยันต์ เนติบัณฑิตอังกฤษ พนักงานอัยการประจำกรมอัยการ พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย มีโอรสและธิดาด้วยกัน 7 คน คือ
- หม่อมราชวงศ์เอก ไชยันต์ (ถึงแก่กรรมแต่ยังเยาว์)
- หม่อมราชวงศ์หญิงทวี พิชัยศรทัต (เกิด 8 สิงหาคม พ.ศ. 2464[2])
- หม่อมราชวงศ์สำพันธ์ ไชยันต์ (เกิด 28 ธันวาคม พ.ศ. 2465[2])
- หม่อมราชวงศ์หญิงวิสาขา ไชยันต์ (เกิด 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2468[2])
- หม่อมราชวงศ์เฉลิม ไชยันต์
- หม่อมราชวงศ์สาฎก ไชยันต์ สมรสกับมนูญศิริ ไชยันต์ ณ อยุธยา (สกุลเดิม ลักษณสุต) มีบุตร-ธิดา คือ
- หม่อมหลวงหญิงศิริพัตรา ไชยันต์
- หม่อมหลวงอนุวาต ไชยันต์
- หม่อมราชวงศ์หญิงยิ่งวัน ไชยันต์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ สมเด็จตา เป็นผู้ประทานนามให้พระนัดดาทั้ง 7 คนนี้ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความหมายทั้งสิ้น เช่น หม่อมราชวงศ์วิสาขา เนื่องจากเกิดในวันวิสาขบูชาปี พ.ศ. 2468 หรือหม่อมราชวงศ์สาฎก เนื่องจากเกิดในวันที่พระบรมวงศานุวงศ์ในรัชกาลที่ 4 ทรงบำเพ็ญพระกุศลถวายผ้าวัสสาสิกสาฎก (ผ้าอาบน้ำฝน) ณ วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม
หลังจากเสกสมรสได้ประมาณ 10 ปี หม่อมเจ้าตระนักนิธิผล สิ้นชีพิตักษัย เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2473 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ทรงพระกรุณารับกลับมาอยู่ในพระอุปการะโดยทรงปลูกบ้านประทานให้อยู่ในบริเวณวังคลองเตย และทรงเลี้ยงดูพระนัดดาเล็ก ๆ ทั้ง 6 คน และประทานทุนการศึกษาให้แก่ทุกคนมากที่สุดเท่าที่จะเล่าเรียนได้
หม่อมเจ้าประโลมจิตร ไชยันต์ สิ้นชีพิตักษัย เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2513 สิริชันษา 64 ปี พระราชทานเพลิงศพ ณ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
แก้- พ.ศ. 2496 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) (ฝ่ายใน)[3]
- พ.ศ. 2487 – เหรียญช่วยราชการเขตภายใน การรบสงครามมหาเอเชียบูรพา (ช.ร.)
- พ.ศ. 2493 – เหรียญบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9 (ร.ร.ศ.9)
อ้างอิง
แก้- ↑ เรื่องไปชวา ลายพระหัตถ์และบันทึกของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์เมื่อคราวเสด็จชวา พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมเจ้าหญิง ประโลมจิตร ไชยันต์ ณ วัดเทพศิรินทราวาส 8 กุมภาพันธ์ 2514. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์พระจันทร์.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ, 2404-2474, ผู้รวบรวม. บาญชีมหามกุฏราชสันตติวงศ์ พุทธศก 2468 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงรวบรวม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, พ.ศ. 2468. 167 หน้า.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, เรื่องพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เล่ม 70 ตอนที่ 29, วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2496 หน้า 2055