หนิงหน่อง เพชรพิณทอง

หนิงหน่อง เพชรพิณทอง เป็นนักแสดงตลกในวงดนตรีเพชรพิณทอง เป็นศิลปินตลกหมอลำชาวจังหวัดหนองบัวลำภู มีชื่อเสียงจากการเล่นตลกในการแสดงสดของวงดนตรีเพชรพิณทอง ได้รับการยกย่องจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้เป็น "ศิลปินมรดกอีสาน" เมื่อปี พ.ศ. 2550

หนิงหน่อง เพชรพิณทอง
ชื่อเกิดสุดใจ เที่ยงตรงกิจ
รู้จักในชื่อแนบ นิ้งหน่อง
(ใช้ชื่อนี้ก่อนเข้าวงเพชรพิณทอง)
เกิด14 ธันวาคม พ.ศ. 2492
บ้านหนองสะพัง ตำบลหนองบัวใต้ อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู
เสียชีวิต20 มิถุนายน พ.ศ. 2560 (67 ปี)
โรงพยาบาลราชพฤกษ์ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น
แนวเพลงลูกทุ่ง หมอลำ
อาชีพนักร้อง ศิลปิน
ช่วงปีพ.ศ. 2525พ.ศ. 2540
ค่ายเพลงท็อปไลน์ ไดมอนด์,บ๊อกซิ่งซาวด์,มายด์ แอนด์ ไมค์,ปีเตอร์ กรุ๊ป,เมโทร,เอ็มดีเทป

ประวัติ แก้

หนิงหน่อง เพชรพิณทอง มีชื่อจริงว่า นายสุดใจ เที่ยงตรงกิจ เกิดวันอาทิตย์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2492 ที่บ้านหนองสะพัง ตำบลหนองบัวใต้ อำเภอโนนสัง จังหวัดอุดรธานี (ปัจจุบันขึ้นกับอำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู) จบการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 ต้องหยุดเรียนไปเนื่องจากฐานะทางบ้านค่อนข้างยากจน หลังจากนั้นหนิงหน่องได้ก้าวสู่เส้นทางศิลปินหมอลำหมู่ ทำนองขอนแก่น คณะบรรจงศิลป์ อำเภอเมืองขอนแก่น โดยได้รับบทเป็นพระเอกและบทอื่นๆ ในวรรณกรรมอีสานเรื่อง “ท้าวแสนโฮง” รวมระยะเวลาในการเป็นหมอลำประมาณ 10 ปี

ความสามารถและศิลปะการละเล่นที่ทำให้ใครต่อใครได้เห็นความสามารถ จึงทำให้นพดล ดวงพร เจ้าของวงดนตรีลูกทุ่งหมอลำคณะเพชรพิณทองชักชวนให้มาร่วมวงด้วยกันตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 หนิงหน่องได้แต่งบทเพลงในแนวตลกให้กับสมาชิกในวง ได้คิดมุขตลกที่เป็นเอกลักษณ์ แบบฉบับ สร้างความประทับใจ จนกระทั่งได้ลาออกจากวงเพชรพิณทองในปี พ.ศ. 2541 เนื่องจากสุขภาพไม่แข็งแรง

หนิงหน่องได้รับเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ตลกอีสาน) ประจำปี พ.ศ. 2550 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

หนิงหน่อง เพชรพิณทองสมรสกับนางนุสนา (ชื่อเดิม : นุสรา) เที่ยงตรงกิจ (เกิดเมื่อ พ.ศ. 2500) มีลูกสาวก็คือ ฉัตรแก้ว เที่ยงตรงกิจ สมรสกับสามีที่ใช้นามสกุล แสนภักดี

บั้นปลายชีวิต แก้

หนิงหน่องมีโรคประจำตัวหลายโรค เช่น โรคเกาต์ รูมาตอยด์ และความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นมาตั้งแต่ครั้งยังร่วมงานกับวงเพชรพิณทอง ในปี พ.ศ. 2540 หนิงหน่องได้ล้มลงหน้าเวทีการแสดงสดเนื่องจากป่วยเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี ต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลราชพฤกษ์ จังหวัดขอนแก่น เพื่อทำการผ่าตัดเป็นการด่วน หลังการผ่าตัดได้ 7 วัน แผลผ่าตัดเกิดการติดเชื้อและฉีกขาด ทำให้น้ำดีที่ค้างอยู่ไหลท่วมอวัยวะภายใน จึงต้องทำการผ่าตัดซ้ำเพื่อล้างอวัยวะภายในทั้งหมด เมื่อฟื้นขึ้นมาปรากฏว่าหนิงหน่องมีปัญหาเรื่องความจำเลอะเลือน ทำให้ไม่สามารถกลับไปเล่นตลกดังเดิม​ได้อีก จึงต้องลาออกจากวงเพื่อไปรักษาตัวเองอย่างจริงจัง[1][2]

ในปี พ.ศ. 2544 หนิงหน่องมีอาการไตไม่ทำงาน ความดันโลหิตสูง และน้ำท่วมปอด ทางครอบครัวได้พาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลราชพฤกษ์และทำการรักษาตัวอย่างต่อเนื่อง และตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา หนิงหน่องต้องฟอกไตเดือนละ 2 ครั้ง ทั้ง ๆ ที่มีฐานะยากจน ไม่มีเงินรักษา จนมีอาการติดเชื้อในกระแสโลหิต และโลหิตเป็นพิษ ทำให้ไม่ตอบสนองต่อการฟอกไต และได้เสียชีวิตอย่างสงบเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ที่โรงพยาบาลราชพฤกษ์ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ด้วยอาการไตวายเรื้อรัง สิริรวมอายุได้ 67 ปี[2]

พิธีสวดพระอภิธรรมศพของหนิงหน่องได้มีขึ้นระหว่างวันที่ 20-24 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ที่วัดโนนศิลา บ้านสำราญ ตำบลสำรา​ญอำเภอเมืองขอนแก่นจังหวัดขอนแก่น และได้มีการพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2560[3]

ผลงานที่สร้างชื่อเสียง แก้

ผลงานที่สร้างชื่อเสียง ประกอบด้วยแสดงสดตลกเพชรพิณทอง,หนิงหน่องม่วนสนุก,ลูกทุ่งหนิงหน่อง(อีสานสำราญศิลป์) มีผลงานอื่น ๆ มากกว่า 50 ชุด อาทิ

  • ก่องข้าวน้อยแม่ฆ่า (ก่องข้าวใหญ่ฆ่าลูก) (2526)
  • แจกข้าวหาลุงแนบ (2529)
  • หนิงหน่องย่านตาย (2530)
  • หนิงหน่องย้านเมีย (2532)
  • หนิงหน่องย้านเมีย ภาค 2 (2536)
  • หนิงหน่องลองเกิบ (2536)
  • หนิงหน่องเอาลูกเขย (2540)
  • โมราพาซิ่ง (2540)
  • หนิงหน่องปะทะหมอลำซิ่ง (2540)
  • หนิงหน่องบ่ย้านเมีย (2543)
  • หนิงหน่องชวนหัว 1-2 (2543)
  • สอยพิศดาร (2543)
  • หนิงหน่องทอล์คโชว์ (2544)
  • หนิงหน่องแตกปอก (2545)
  • หนิงหน่องพาม่วน (2545)

นอกจากนี้ยังมีผลงานร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียงจำนวนหนึ่ง ดังนี้

  • ลาวต้มลาว (2530)
  • ตำรวจปวดใจ (2535)
  • มีหยังบ่ (2536)
  • หมู่บ้านเมียน้อย (2536)
  • ใคร?จะรักหนิงหน่อง (2538)
  • สี่หนุ่มมุมเดียว (2539)
  • หนิงหน่องปี 2000 (2543)

รางวัล แก้

  • ศิลปินมรดกอีสานและวัฒนธรรมสัมพันธ์ สาขาศิลปะการแสดง ประจำปี 2550 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

อ้างอิง แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้