หนอนมรณะมองโกเลีย

หนอนมรณะมองโกเลีย (อังกฤษ: Mongolian Death Worm) คือ สัตว์ประหลาดที่เชื่อว่ารูปร่างคล้ายหนอนหรือไส้เดือนขนาดใหญ่ อาศัยในทะเลทรายโกบี ในมองโกเลีย

ภาพวาดในจินตนาการของหนอนมรณะมองโกเลีย ของ ปีเตอร์ เดิร์ก นักเขียนชาวเบลเยี่ยม

ที่มา แก้

หนอนมรณะมองโกเลีย เป็นสัตว์ที่อยู่ในความเชื่อของชาวมองโกล มีชื่อในภาษามองโกลว่า олгой-хорхой (ทับศัพท์: olgoi-khorkhoi) คำว่า olgoi หมายถึง ลำไส้ใหญ่ และ khorkhoi หมายถึง หนอน เนื่องจากชาวมองโกลเชื่อว่ามันจะอยู่ในลำไส้ใหญ่ของวัวและแพะ

หนอนมรณะมองโกเลีย เป็นที่รู้จักครั้งแรกของชาวตะวันตก เมื่อปี ค.ศ. 1926 เมื่อนักสำรวจและนักบรรพชีวินวิทยาชาวอเมริกันชื่อ รอย แชพแมน แอนดรูว์ เขียนไว้ในหนังสือของเขาที่ชื่อ On the Trail of Ancient Man บอกถึงหนอนมรณะมองโกเลียนี้ตามที่เขาได้ยินมาจากชนพื้นเมือง

 
รอย แชพแมน แอนดรูว์ ผู้ที่ทำให้โลกได้รู้จักกับหนอนมรณะมองโกเลีย

ลักษณะและพฤติกรรม แก้

ลักษณะของหนอนมรณะโกเลีย กล่าวคือ มีความยาวประมาณ 2–5 ฟุต หรือยาวและใหญ่ได้มากกว่านั้น มีลำตัวสีแดงคล้ายเลือด ลำตัวคล้ายไส้กรอกและเป็นปล้อง ๆ มองเห็นชัดเจน แทบแยกไม่ออกระหว่างส่วนหัวและหาง เป็นสัตว์ดุร้ายกินสัตว์อื่นด้วยการโจมตีเป็นอาหาร โดยการพ่นกรดกำมะถันสีเหลืองใส่เหยื่อ รวมถึงมนุษย์ได้ อีกทั้งยังเล่ากันอีกว่า มันสามารถปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อสังหารเหยื่อคล้ายปลาไหลไฟฟ้าที่พบในลุ่มแม่น้ำอเมซอนในอเมริกาใต้ได้อีกด้วย

มีเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับหนอนมรณะมองโกเลียของชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในทะเลทรายโกบี เช่น มีชายผู้หนึ่งที่เคยเป็นล่ามให้กับกองทหารรัสเซีย ครั้งหนึ่งเคยนั่งรถไปกับทหารคนหนึ่ง ทันใดนั้นก็พบกับวัตถุประหลาดบางอย่างสีเงิน ทหารคนนั้นก็หยุดรถและเดินเข้าไปใกล้ เขาตะโกนว่ามันอันตราย แต่ทหารคนนั้นไม่ฟังและได้ราดน้ำมันลงใส่สิ่งนั้น ทันใดนั้นมันก็ระเบิดออก, หญิงชราผู้หนึ่งเล่าว่าเธอเคยเห็นมันในระยะไกล ๆ ในสมัยที่เธอยังเป็นเด็ก, มีเรื่องเล่ากันว่าขณะที่มีฝูงอูฐเดินข้ามทะเลทราย อูฐตัวหนึ่งได้เดินเหยียบหนอนมรณะมองโกเลียเข้า มันก็ระเบิดตัวออกพร้อมกับพ่นสารเคมีบางอย่างใส่ ทำให้ขาของอูฐเป็นรอยแผลไหม้, หรือชายเร่รอนกลุ่มหนึ่งขณะเดินข้ามทะเลทราย ชายคนหนึ่งในกลุ่มก็เจอกับหนอนมรณะมองโกเลีย เมื่อเดินเข้าไปใกล้ มันก็ปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าใส่จนชายคนนั้นเสียชีวิตทันที และเมื่อคนอื่น ๆ วิ่งเข้าไปช่วยก็เจอแบบเดียวกัน จนเสียชีวิตทั้งหมดและมีผู้เหลือรอดชีวิตมาได้เพียงคนเดียวเท่านั้น

หรือชายผู้หนึ่งที่อ้างว่าเมื่อตนเองอายุได้ 12 ขวบ ขณะที่ต้อนฝูงแกะอยู่ ทันใดนั้นแกะตัวหนึ่งก็เกิดอาการหวาดกลัวเมื่อเจอกับหนอนมรณะมองโกเลีย เขาได้เข้าใกล้มันอย่างกลัว ๆ กล้า ๆ และใช้ไม้เขี่ยดู ปรากฏว่ามันยกส่วนหัวขึ้นใส่ทันที เขาตกใจและวิ่งหนีไป ชายคนนี้อ้างว่า เขาเห็นมันมีอวัยวะเหมือนตาเล็ก ๆ อยู่ด้านข้างด้วย แต่กลับไม่เห็นอะไรที่จะมองออกว่าเป็นส่วนปาก นับว่าเป็นรูปลักษณะของหนอนมรณะมองโกเลียที่แตกต่างออกไปจากที่เล่า ๆ กัน

และยังมีความเชื่อว่า หนอนมรณะมองโกเลียชอบกินพืชทะเลทรายมีพิษชนิดหนึ่งที่เรียกว่า มาโย

การค้นหาความจริง แก้

ในเรื่องนี้ นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่า มันจะมีอยู่จริง เพราะทะเลทรายโกบีเป็นทะเลทรายที่ทุรกันดารมาก ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่เช่นนั้นอาศัยอยู่ได้ ถึงอย่างไรก็ตาม มีผู้ได้ทำการศึกษาและค้นหาหนอนมรณะมองโกเลียนี้อย่างจริงจัง ชื่อ อีวาน แมคเคเรล ที่ให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Fate Magazine เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1991 ว่า พวกมันเหมือนไส้กรอก ที่ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ลำตัวอ้วนเท่าแขนของผู้ชาย พวกมันอาศัยอยู่ในลำไส้ของพวกวัวควาย พวกมันมีหางสั้น และเป็นการยากที่จะบอกว่าส่วนไหนเป็นหัว หรือหางเนื่องจากพวกมันไม่มีตา หรือรูจมูก และปาก พวกมันมีสีแดงคล้ำ คล้ายเลือด พวกมันเคลื่อนที่โดยการคลาน หรือบางครั้งก็บิดไปทางด้านข้าง ก่อนที่จะฝังตัวเข้าไปในเหยื่อ พวกมันจะอาศัยอยู่ในทราย และจะโผล่ขึ้นมาในช่วงที่มีฝนตกเท่านั้น

ต่อมาหนอนมรณะมองโกเลียเป็นที่รู้จักเพิ่มขึ้นอีก เมื่อ คาร์ล ชูเกอร์ ซึ่งเป็นนักสัตววิทยาชาวอังกฤษที่สนใจค้นคว้าด้านสัตว์ประหลาดโดยเฉพาะ นำเรื่องของมันดังมาเปิดเผย จนเป็นที่กล่าวขานกัน เมื่อมีการตีพิมพ์ลงในหนังสือที่มีชือว่า The Unexplained ในปี ค.ศ. 1996

ต่อมาในปี ค.ศ. 2005 ได้มีการจัดคณะสำรวจ ที่เกิดจากความร่วมมือของ Center for Fortean Zoology และ E-Mongol Investigsted ได้ทำการออกสำรวจและศึกษาหนอนมรณะมองโกเลียอย่างจริงจัง แต่ไม่พบหลักฐานของการมีตัวตนของมัน แต่ยังไม่สามารถสรุปว่า จะไม่มีพวกมันอยู่จริงในส่วนลึกของทะเลทรายโกบี

เป็นไปได้ว่า สิ่งที่ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นหนอนมรณะมองโกเลีย คือ งูโบอาทรายตาร์ตัน (Eryx tataricus) ที่เป็นงูขนาดใหญ่ไม่มีพิษจำพวกโบอาที่อาศัยอยู่ในทะเลทรายโกบี และการที่เล่ากันว่ามันมีสีแดง เป็นไปได้ว่าเป็นการทำตัวเพื่อให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ที่สัตว์ที่อาศัยในทะเลทรายโกบีส่วนใหญ่จะมีลำตัวสีแดง

ไฟล์:Raymi surplice.jpg
ชุดเซอร์พลีซของเวิร์ม ไรมี่ ที่คล้ายกับหนอนมรณะมองโกเลีย

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย แก้

หนอนมรณะมองโกเลีย หรือ สัตว์ประหลาดที่มีลักษณะใกล้เคียงกันนี้ ได้ถูกอ้างอิงในวัฒนธรรมร่วมสมัยหลายอย่าง เช่น หนอนทรายในนวนิยายและภาพยนตร์เรื่อง Dune ของแฟรงค์ เฮอร์เบิร์ต, สัตว์ประหลาดในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่อง Tremors ซึ่งออกฉายในปี ค.ศ. 1990 นำแสดงโดย เควิน เบคอน ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนกระทั่งได้มีการสร้างภาคต่อออกมาด้วยกันรวมทั้งหมดเป็น 4 ภาค ก็มีลักษณะคล้ายหนอนมรณะมองโกเลียนี้

หรือในการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่อง เซนต์เซย่า ก็มีตัวละครตัวหนึ่งที่ชื่อ เวิร์ม ไรมี่ ซึ่งปรากฏตัวในภาคเจ้านรกฮาเดส ก็สวมใส่ชุดเซอร์ฟลีซรูป เวิร์ม ที่มีรูปร่างเป็นหนอนขนาดใหญ่ ตากลมโต มีปากกว้างและฟันเขี้ยวที่แหลมคม และมีพฤติกรรมมุดดินเพื่อโจมตีอีกด้วย

ในสารคดีของดิสคัฟเวอรี่ แชนนอล ในชุด Lost Tapes (นำมาออกอากาศในประเทศไทยช่วงกลางปี พ.ศ. 2552) ซึ่งเป็นสารคดีเกี่ยวเรื่องราวของสัตว์ประหลาดที่โจมตีใส่มนุษย์ชนิดต่าง ๆ ก็มีเรื่องของหนอนมรณะมองโกเลียด้วย ในชื่อเรื่องว่า Death Worm

และเป็นภาพยนตร์สำหรับฉายทางโทรทัศน์ ในปี ค.ศ. 2010 ในชื่อ Mongolian Death Worm ด้วย[1]

สัตว์ประหลาดชนิดใกล้เคียง แก้

ที่ทวีปอเมริกาใต้ ในประเทศโบลิเวีย ก็มีเรื่องราวของสัตว์ประหลาดที่มีลักษณะคล้ายหนอนมรณะมองโกเลียนี้ มีชื่อเรียกว่า Minhocão ซึ่งเป็นภาษาโปรตุเกสแปลว่า ไส้เดือนดินยักษ์

อ้างอิง แก้

แหล่งข้อมูลอื่น แก้