สุสานแต้จิ๋ว (ตัวเต็ม: 潮州義山 อ่านในภาษาแต้จิ๋วว่า "แต้จิ๋วหงี่ซัว") เป็นสุสานสาธารณะจีนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเขตชั้นในกรุงเทพมหานคร มีพื้นที่ในปัจจุบันประมาณ 85 ไร่ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2442 หรือประมาณปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ตั้งอยู่บนถนนจันทน์บริเวณซอยวัดปรก 1 ถนนจันทน์ แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร กรุงเทพมหานคร สุสานแต้จิ๋วถือเป็น 1 ใน 3 สุสานสาธารณะจีนในกลุ่มสุสานวัดดอน หรือป่าช้าวัดดอน[1] ที่ประกอบด้วยสุสานวัดดอนกุศลของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง[2] และสุสานไหหลำ แต่สุสานทั้ง 2 แห่งได้ถูกรื้อออกไปแล้ว

สุสานแต้จิ๋ว
潮州義山
แผนที่
ข้อมูลทั่วไป
สถานะเปิดใช้งาน
ประเภทสุสาน
สถาปัตยกรรมสถาปัตยกรรมจีน
ที่ตั้งเขตสาทร กรุงเทพมหานคร
เมือง กรุงเทพมหานคร
ประเทศ ไทย
พิธีเปิดพ.ศ. 2442
เจ้าของสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย
ข้อมูลทางเทคนิค
พื้นที่136,000 ตร.ม. (85 ไร่)
เป็นสุสานขนาดใหญ่ในตัวเมืองชั้นในกรุงเทพ ที่มีการปรับภูมิทัศน์เป็นสวนสาธารณะ
สวนสุขภาพสมาคมแต้จิ๋ว
แผนที่
ประเภทสวนระดับชุมชน
ที่ตั้งเขตสาทร กรุงเทพมหานคร
พื้นที่85 ไร่
เปิดตัวพ.ศ. 2539
ผู้ดำเนินการสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย ชมรมนักวิ่งสมาคมแต้จิ๋ว และสำนักงานเขตสาทร
สถานะ04.00 - 20.00 น. ทุกวัน
บ่วงหยิ่งหมอ (万人墓) หรือหลุมบรรจุอัฐิรวม เป็นหลุมขนาดใหญ่บริเวณทางเข้าสุสาน
ศาลบรรพชนชาวแต้จิ๋ว (潮州公祠) เป็นศาลสำหรับบรรจุป้ายวิญญาณของชาวจีนแต้จิ๋วที่มาบรรจุไว้ในสุสานแต้จิ๋ว
อาคารทำพิธี (潮州義山礼堂) เป็นอาคารสำหรับประกอบพิธีในร่ม ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเป็นอาคารฝึกซ้อมเทควันโด
ศาลาองค์ไต้ฮงกง เป็นเทพเจ้าประจำมูลนิธิแต้จิ๋ว และยังเป็นจุดหมายตาสำคัญของสุสาน

สุสานแห่งนี้ ตั้งอยู่บนพื้นที่ดินของสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย เดิมสุสานแห่งนี้ ไม่ใช่ของสมาคมแต้จิ๋วฯ แต่ภายหลังได้โอนการบริหารและงานดูแลรักษาแก่สมาคมเป็นผู้ดำเนินการแทนทั้งหมด โดยสมาคมแต้จิ๋วฯ จะเป็นผู้ก่อสร้างหลุมฝังศพเอง และให้ถือเป็นลักษณะการเช่า ไม่ใช่การซื้อขาด ปัจจุบันสุสานแต้จิ๋วได้รับการดูแลรักษาพื้นที่โดยชมรมนักวิ่งสมาคมแต้จิ๋ว ในช่วงก่อตั้งใหม่ การบริหารสุสานนำเอาต้นแบบมาจากสิงคโปร์ คือระบบ กงซีซัว (ลักษณะเป็นหลุมฮวงซุ้ย) ซึ่งไม่มีการเก็บเงิน “แบบหงี่ท่ง” (บริการฟรี) โดยในช่วงแรกของสุสาน คือในปี พ.ศ. 2449 มีรายชื่อคนที่ถูกนำมาฝังรวมแล้วกว่า 4,267 ชื่อ โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ในช่วงวัยรุ่นและผู้ใหญ่ที่เข้ามาบุกเบิก ใช้แรงงานหนักเพื่อการพัฒนาประเทศ แล้วมาเสียชีวิตที่กรุงเทพ เนื่องจากระบบสาธารณสุขและการรักษาสุขภาพยังไม่ดี การฝังศพที่นี่มี 2 รูปแบบคือ มีศพที่ฝังในลักษณะของฮวงซุ้ย จำนวน 7,961 ศพ ศพที่บรรจุเฉพาะอัฐิอีก 1,800 กว่าศพ และศพที่ไม่มีญาติ บรรจุรวมกันไว้ อีกมากกว่าหมื่นศพ[3] มีค่าดูแลรักษาหลุมละ 800-1,000 บาทต่อปี[4]

ปัจจุบันพื้นที่สุสานแต้จิ๋ว ได้กลายเป็นสวนสาธารณะสำหรับคนในพื้นที่ ผ่านการเข้ามาปรับปรุงพื้นที่โดยสำนักงานเขตสาทรและเจ้าของพื้นที่ เมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยใช้ชื่อใหม่ว่า "สวนสุขภาพสมาคมแต้จิ๋ว"[5] ปัจจุบันสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทยได้มอบหมายให้ชมรมนักวิ่งสมาคมแต้จิ๋ว เป็นผู้ดำเนินการปรับปรุงดูแลและพัฒนาพื้นที่ร่วมกับสำนักงานเขตสาทร ถึงอย่างไรก็ดีสุสานแต้จิ๋วถือเป็นสวนเอกชน ที่เปิดเป็นสาธารณะประโยชน์ ไม่ถูกจัดเป็นสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานครเนื่องจากที่ดินดังกล่าวยังคงเป็นของสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย

สวนสุขภาพสมาคมแต้จิ๋ว มีเวลาเปิดบริการทุกวันระหว่างเวลา 04.00 - 20.00 น. ถือได้ว่าเป็นสวนชุมชนแห่งแรกของประเทศไทยที่ใช้พื้นที่ของสุสานจีน ภายในยังประกอบด้วยไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ที่ให้ความร่มรื่น ซึ่งแตกต่างจากสุสานจีนทั่ว ๆ ไป ที่โดยปกติแล้วต้องโปร่งโล่งตามคติความเชื่อชาวจีนดั้งเดิม

ที่ตั้ง

แก้

ขอบเขตสุสาน

แก้

สุสานวัดดอนมีอาณาเขตติดต่อดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ซอยโรงน้ำแข็ง 5 และสุสานไทยอิสลาม (กุโบร์มัสยิดยะวา)
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ซอยวัดปรก 1 และซอยเย็นจิต 12
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ชุมชนกุศลทอง และโรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ซอยเจริญราษฎร์ 3 สุสานไหหลำ และวัดปรก

ลักษณะทางกายภาพโดยรอบ

แก้

บริเวณโดยรอบสุสานยังสามารถแบ่ง ประเภทการใช้งานของอาคารและที่ดินได้หลายประเภทด้วยกัน เช่น

  • แหล่งชุมชน ประกอบด้วยชุมชนทั้งไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยซิกข์ ชาวไทยฮินดู ชาวไทยมุสลิม และชาวมอญ มีการตั้งที่อยู่อาศัยอย่างหนาแน่นตลอดทุกทิศโดยรอบสุสาน ที่อยู่อาศัยส่วนมากเป็นอาคารเดี่ยว หรือ อาคารพาณิชย์ คสล. ความสูงระหว่าง 2-5 ชั้น ซึ่งมีทั้งที่อยู่อาศัยส่วนบุคคล หอพัก และร้านค้า
  • แหล่งธุรกิจและที่พักอาศัยระดับไฮเอน เช่น คอนโดมิเนียม โรงแรมห้าดาว รวมถึงอาคารออฟฟิศ ซึ่งตั้งแนวตลอดถนนสาทร หรือทางทิศเหนือของสุสาน
  • สถานพยาบาล ประกอบด้วยสถานพยาบาลเอกชนหนึ่งแห่ง คือ โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์
  • ศาสนสถาน มีความหลากหลายตามเชื้อชาติและคติความเชื่อโดยรอบสุสาน อาทิเช่น วัดปรกซึ่งเป็นวัดมอญ วัดวิษณุ ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู วัดบรมสถล หรือ วัดดอน ซึ่งเป็นวัดพุทธ นอกจากนี้ยังพบศาสนสถานที่มีสุสานควบคู่กันด้วย คือ มัสยิดยะวาและสุสานมุสลิม ซึ่งตั้งอยู่ติดกับขอบเขตสุสานวัดดอนทางทิศเหนือ
  • สถานศึกษา ประกอบด้วยโรงเรียนเอกชน ได้แก่ โรงเรียนอัสสัมชัญแผนกประถม โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ วิทยาลัยเซนต์หลุยส์ โรงเรียนสังกัดรัฐบาล ได้แก่ โรงเรียนทุ่งมหาเมฆ โรงเรียนนิพัทธ์วิทยา และโรงเรียนวัดดอน

ประวัติ

แก้

ภูมิหลัง

แก้

ในอดีตบริเวณพื้นที่โดยรอบวัดดอนเรียกว่า ทุ่งวัดดอน เป็นทุ่งทางตอนใต้ของพระนคร ด้านที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยานั้น เดิมเรียกว่า "บ้านทวาย" ใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ กล่าวว่าในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ขณะนั้นเมืองทวายขึ้นตรงกับกรุงเทพ และมีชาวทวายติดตามมากรุงเทพ โดยมาตั้งบ้านเรือนอยู่นอกป่าช้าวัดสระเกศไปพลางก่อน จากนั้นบางส่วนไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่วัดคอกกระบือ (วัดยานนาวา) ทางตอนใต้ของพระนคร จึงได้เรียกขานย่านนี้ว่า บ้านทวาย ชาวทวายจึงได้ร่วมกันสร้างวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2340 บนที่ดอนของบ้านทวาย ที่เรียกขานว่า "วัดดอนทวาย" หรือวัดบรมสถลในปัจจุบัน[6] แต่ต่อมามีชาวมลายูมุสลิมซึ่งมาจากทางเมืองตานีมาตั้งถิ่นฐาน แต่ละชุมชนมลายูก็มีมัสยิดเป็นของตน และบ้านทวายก็ได้ชื่อว่า "บางคอแหลม" ซึ่งคอแหลม ก็แผลงมาจากภาษามลายู บริเวณบางคอแหลมทุกวันนี้ ยังปรากฏชุมชนชาวมลายู และมัสยิดอยู่หลายแห่ง

ต่อมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4–5 ได้มีชาวชวาที่เดินทางทางทะเลมาพร้อมกับบริษัทอินเดียตะวันออกของเนเธอร์แลนด์ อพยพเข้ามาอาศัยในพื้นที่ ชาวชวาเหล่านี้เป็นพวกที่หลบหนีการกดขี่ของดัตช์มาหาชีวิตใหม่ในกรุงเทพ ทำให้ที่ตั้งโดยรอบสุสานในปัจจุบัน ยังประกอบด้วยชุมชนชาวชวาที่มีมัสยิดยะวาเป็นศูนย์กลาง และกุโบร์ หรือสุสานของชาวมุสลิมอีกด้วย

ความเจริญได้เข้าสู่พื้นที่โดยรอบที่ตั้งสุสานมากขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ 4 มีการตัดถนนอย่างฝรั่งสายแรกของไทย คือถนนเจริญกรุง ทำให้ความเจริญหลั่งไหลออกมาจากพระนครตามถนนเจริญกรุงนี้ กลายเป็นถิ่นฐานใหม่ของฝรั่ง และจีน จนความเจริญได้ขยายเรื่อยมาจวบจนปัจจุบัน และได้กลายเป็นแหล่งธุรกิจ แหล่งการเงิน และแหล่งชุมชนที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ[7]

การก่อตั้งสุสาน

แก้

สุสานวัดดอน ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2442 หรือในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ที่ตรอกจันทร์ ยานนาวา ในช่วงเวลาดังกล่าว บริเวณโดยรอบสุสานยังเป็นเพียงพื้นที่ชานเมืองที่ประกอบด้วยโคกและทุ่งนา การฝังในสุสานนี้ เกิดขึ้นครั้งแรก ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2443 ตามประวัติเล่าว่า บุคคลแรกที่ฝังยุในสุสานนี้ ชื่อ “อื้อกิมไถ่” เป็นชาวจีน แต้จิ๋ว มาจากสิงคโปร์

การบริหารก่อตั้งสุสานเริ่มต้นเอาแบบมาจากสิงคโปร์ คือระบบ กงซีซัว (ลักษณะเป็นหลุมฮวงซุ้ย) ซึ่งไม่มีการเก็บเงิน “แบบหงี่ท่ง” (บริการฟรี) นับตั้งแต่ก่อตั้งสุสานนี้มาได้เพียง 6 ปี มีรายชื่อที่นามาฝังรวมแล้วถึง 4,267 ชื่อ โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย ผู้หญิงมีไม่ถึง 8% รุ่นอายุ 20-30 ปี มากที่สุดประมาณ 70% รองลงมาคืออายุ 40-50 ปี ส่วน 60-70 ปี น้อยมาก แต่อย่างไรก็ตาม สมัยนั้นคนจีนโพ้นทะเลส่วนใหญ่ที่อพยพมาได้รับการสาธารณสุขและการรักษาสุขภาพไม่ดีซึ่งส่วนใหญ่เป็น ชายหนุ่มที่เดินทางเข้ามาบุกเบิกทำงานหนักเพื่อการพัฒนาประเทศ แล้วมาเสียชีวิตที่เมืองไทย

ปัจจุบัน

แก้

เดิมสถานที่แห่งนี้ ไม่ใช่สมาคมแต้จิ๋วเป็นผู้ดูแล แต่ภายหลังได้มีการโอนการบริหาร ให้แก่สมาคมแต้จิ๋วฯ เป็นผู้ดำเนินการ จึงมีการเปลี่ยนแปลงโดยทางสมาคมแต้จิ๋วฯ จะเป็นผู้ก่อสร้างหลุมฝังศพเอง และให้ถือเป็นลักษณะการเช่า ไม่ใช้การซื้อ จากนั้นหลายปีต่อมา ทางสมาคมแต้จิ๋วฯ ได้ก่อตั้งสานักงานขึ้นในเนื้อที่ 10 ไร่ ส่วนที่เป็นสุสานเหลือเนื้อที่อยู่ประมาณ 85 ไร่ เนื่องจากทางการได้เวนคืนที่ดินไปจำนวน 4 ไร่ เพื่อก่อสร้างแนวถนนเจริญราษฎร์[1]

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 เป็นต้นมาสำนักงานเขตสาทร ได้เข้ามาพัฒนาพื้นที่ในส่วนสุสานให้พื้นที่สาธารณะ โดยชมรมนักวิ่งสุขภาพสมาคมแต้จิ๋วซึ่งเป็นหนึ่งกิจกรรมของสมาคมฯ ได้เข้ามาบริหารลานสุขภาพให้สุสานมีความสวยงาม ร่มรื่น ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและเยาวชนมาใช้เป็นที่ออกกำลังกาย [8]

การใช้ประโยชน์ที่ดินภายในสุสานแต้จิ๋ว

แก้

การจัดสรรพื้นที่นอกเหนือจากหลุมฝังศพ สามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ส่วนพิธีกรรม ส่วนนันทนาการ และส่วนบริการ

ส่วนพิธีกรรม

แก้

เป็นส่วนหลักของสุสานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบพิธีศพภายในพื้นที่ ได้แก่ [9]

  • ศาลเจ้าที่ 2 แห่ง ได้แก่ ศาลเจ้าแป๊ะกงชิงเฮงเก็ง ตั้งอยู่บริเวณซุ้มประตูสุสานวัดดอนนอกรั้วสุสานติดต่อกับวัดปรกยานนาวา และศาลเจ้าฟู่เต๊อะแป๊ะกง ตั้งอยู่ภายในสุสานทางทิศใต้
  • อาคารทำพิธี (潮州義山礼堂) เป็นอาคารสำหรับประกอบพิธีในร่ม ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเป็นอาคารฝึกซ้อมเทควันโด
  • ศาลบรรพชนชาวแต้จิ๋ว (潮州公祠) เป็นศาลสำหรับบรรจุป้ายวิญญาณของชาวจีนแต้จิ๋วที่มาบรรจุไว้ในสุสานแต้จิ๋ว
  • ศาลาไต้ฮงกง ตั้งอยู่ใจกลางสุสานนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 เป็นที่สถิตของเทพไต้ฮงกง บริเวณด้านหน้ามีลานพิธีสำหรับการไหว้สักการะ
  • บ่วงหยิ่งหมอ (万人墓) หรือหลุมบรรจุอัฐิรวม เป็นหลุมขนาดใหญ่บริเวณทางเข้าสุสาน

ส่วนนันทนาการ

แก้

ประกอบด้วย สนามบาสเกตบอล 2 สนาม สนามตะกร้อ 1 สนาม สนามแบตมินตัน 1 สนาม สนามเด็กเล่น 2 แห่ง ฟิตเนสในร่ม 1 หลัง อาคารเรียนและฝึกซ้อมเทควันโด ลานแอโรบิค ลานโยคะ ซุ้มศาลา สนามหญ้าขนาดหย่อม[5] และทางสัญจรสำหรับการวิ่งหรือเดิน

ส่วนบริการ

แก้

ประกอบด้วยอาคารบรรจุอัฐิรวมซึ่งตั้งใกล้กับส่วนพิธีกรรม ที่ทำการสุสานและฌาปนกิจสมาคมแต้จิ๋ว ตั้งอยู่ติดต่อพื้นที่สำหรับจอดรถ ประมาณ 15-20 คัน นอกจากนี้ยังมีร้านค้าประมาณ 6 ร้าน ห้องน้ำ 3 แห่ง ตู้บริการน้ำดื่มสาธารณะ และศาลาอเนกประสงค์[5]

ทัศนียภาพสุสานแต้จิ๋ว ในปี พ.ศ. 2564

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล. "ฮาโลวีน: ป่าช้าวัดดอน ลดทอนความหวาดกลัว ด้วยสวนสุขภาพในสุสานกลางกรุง". บีบีซีไทย.
  2. "พิธีเซ่นไหว้ดวงวิญญาณไร้ญาติ เทศกาลเช็งเม้ง ณ สุสานวัดดอนกุศล (สุสานเก่าของมูลนิธิ) เขตสาทร กรุงเทพฯ". pohtecktung.org/. มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง. สืบค้นเมื่อ 26 June 2022.
  3. "ยุทธศาสตร์เมืองน่าอยู่ กับการพัฒนา ป่าช้าวัดดอน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-04-16. สืบค้นเมื่อ 19 January 2021.
  4. ลิมป์สุทธิรัชต์, วธิชาธร (2014). โครงการสวนสาธารณะแต้จิ๋ว. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. {{cite book}}: |access-date= ต้องการ |url= (help)
  5. 5.0 5.1 5.2 จันทร์พรหม, กนกวรรณ (2017). การจัดการพื้นที่สาธารณะในเขตเมือง: กรณีศึกษาสุสานแต้จิ๋ว กรุงเทพมหานคร (PDF). คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. สืบค้นเมื่อ 26 June 2022.
  6. บัณฑิต จุลาสัย และรัชดา โชติพานิช. "เขตวัดยานนาวา". มติชน.
  7. จับเข่าเล่าประวัติศาสตร์. (2560). สืบค้นข้อมูลเมื่อ 20 มกราคม 2564.
  8. ชูชัย ศุภวงศ์ และ ยุวดี คาการณ์ไกล. ชมรมนักวิ่งสมาคมแต้จิ๋ว. (2549). หนังสือทำเนียบชมรมนักวิ่งสมาคมแต้จิ๋ว. บรรณาธิการ. (2540). ประชาสังคม. หน้า 10-12
  9. Lee, Khai Sin. REVITALIZING TIO CHEW CHINESE CEMETERY THROUGH A DESIGN OF AN ELDERLY CENTER (PDF). Chulalongkorn University. Faculty of Architecture. p. 65-86. สืบค้นเมื่อ 24 June 2022.

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

13°42′52″N 100°31′29″E / 13.714378°N 100.524848°E / 13.714378; 100.524848