จิตร ภูมิศักดิ์

(เปลี่ยนทางจาก สุธรรม บุญรุ่ง)

จิตร ภูมิศักดิ์ (25 กันยายน พ.ศ. 2473 – 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509) เกิดที่อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี เป็นนักประวัติศาสตร์ นักกิจกรรม[1] นักคิดด้านการเมือง นักภาษาศาสตร์ชาวไทย ผลงานของเขาได้รับยกย่องเป็นหนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่านถึง 3 รายการ

จิตร ภูมิศักดิ์
จิตร ไม่ทราบปีที่ถ่าย
เกิดสมจิตร ภูมิศักดิ์
25 กันยายน พ.ศ. 2473
อำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี ประเทศสยาม
เสียชีวิต5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 (35 ปี)
อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร ประเทศไทย
สาเหตุเสียชีวิตถูกล้อมยิง
ชื่ออื่นสหายปรีชา
ศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาชีพนักเขียน, อาจารย์, นักประวัติศาสตร์, นักภาษาศาสตร์, นักกิจกรรม
ผลงานเด่น
พรรคการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พ.ศ. 2508–2509)
ถูกกล่าวหากระทำการเป็นคอมมิวนิสต์
สถานะทางคดีถูกคุมขังก่อนพิจารณาคดี และยกฟ้อง
บุพการี
  • ศิริ ภูมิศักดิ์ (บิดา)
  • แสงเงิน ฉายาวงศ์ (มารดา)
ลายมือชื่อ

จิตรเป็นนักวิชาการคนแรก ๆ ที่กล้าถกเถียงคัดค้านปราชญ์คนสำคัญ ด้วยวิธีคิดที่มีเหตุผลลุ่มลึก มีความโดดเด่นจากผลงานการค้นคว้าทางวิชาการที่แปลกใหม่และลึกซึ้ง ขณะเดียวกันจิตรยังมีความคิดต่อต้านระบบเผด็จการและการใช้อำนาจกดขี่ของชนชั้นสูงมาโดยตลอด[2]

แม้ว่าจะมีผลงานหลากหลายแขนง แต่อุดมการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของเขาเป็นปรปักษ์กับระบอบทหารที่ต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างเข้มข้นในเวลานั้น จนทำให้ตัดสินใจไปเข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก่อนถูกยิงเสียชีวิต กระนั้นผลงานและแนวคิดของเขาเป็นส่วนหนึ่งของพลังผลักดันให้เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา[3] และยังมีอิทธิพลอยู่เรื่อยมา

ประวัติ แก้

 
จิตร ภูมิศักดิ์ ในวัยเด็ก

จิตรเป็นบุตรของศิริ ภูมิศักดิ์ กับแสงเงิน ฉายาวงศ์[4] มีชื่อเดิมว่า สมจิตร ภูมิศักดิ์ แต่ต่อมาเปลี่ยนเป็น จิตร เพียงคำเดียว ตามนโยบายตั้งชื่อให้ระบุเพศชายหญิงอย่างชัดเจน ของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม[5] บิดาเป็นผู้มีความคิดก้าวหน้าและถือว่าหัวสมัยใหม่มากสำหรับคนในยุคนั้น มีการรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากต่างประเทศเข้ามาใช้ เป็นผลทำให้ความคิดของผู้เป็นบุตรมีความก้าวหน้าและเปิดกว้างมากกว่าเด็กในสมัยนั้น[5]

พ.ศ. 2479 จิตรติดตามบิดา ซึ่งรับราชการเป็นนายตรวจสรรพสามิต เดินทางไปรับราชการยังจังหวัดกาญจนบุรี และเข้ารับการศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนประจำจังหวัดกาญจนบุรี จนถึงปี พ.ศ. 2482 จิตรย้ายมาอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ อีก 7 เดือนบิดาก็ได้รับคำสั่งย้ายไปรับราชการในเมืองพระตะบอง (ปัจจุบันอยู่ในประเทศกัมพูชา) จิตรจึงย้ายตามไปด้วย และได้เข้าศึกษาชั้นมัธยมที่นั้น

พ.ศ. 2490 ประเทศไทยเสียพระตะบองให้ฝรั่งเศส จิตรจึงอพยพตามมารดากลับไทย ระหว่างที่ครอบครัวเขายังอยู่ที่เมืองพระตะบอง มารดาเดินทางไปค้าขายที่จังหวัดลพบุรี ขณะที่จิตรและพี่สาว เดินทางมาศึกษาต่อในกรุงเทพมหานคร โดยจิตรเข้าเรียนที่โรงเรียนเบญจมบพิตร (โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตรในปัจจุบัน) และสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในที่สุด

จิตร เคยคบหากับเวียน เกิดผล ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม แล้วใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอยู่นาน แต่ก็เลิกรากันไป โดยไม่ได้แต่งงานกัน[6]

การเคลื่อนไหวทางการเมือง แก้

 
จิตร ภูมิศักดิ์ ณ ที่ นครวัดกัมพูชา

จิตรเริ่มเป็นที่รู้จักจากกรณี "โยนบก" เมื่อครั้งที่เขาเป็นสาราณียากรให้กับหนังสือประจำปีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2496 ในครั้งนั้นเขาเปลี่ยนเนื้อหาของหนังสือโดยลงบทความสะท้อนปัญหาสังคม ประณามผู้เอารัดเอาเปรียบในสังคม ระหว่างการพิมพ์หนังสือได้ถูกตำรวจสันติบาลอายัด และมีการสอบสวนจิตรที่หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเหตุการณ์นั้น จิตรถูกกลุ่มนิสิตที่นำโดยนายสีหเดช บุนนาค คณะวิศวกรรมศาสตร์ จับโยนบกลงจากเวทีหอประชุม ทำให้จิตรได้รับบาดเจ็บต้องเข้าโรงพยาบาลและพักรักษาตัวอยู่หลายวัน ต่อมาทางมหาวิทยาลัยได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาโทษและมีมติให้จิตรถูกพักการเรียนเป็นเวลา 1 ปี คือในปี พ.ศ. 2497[7]

ระหว่างถูกพักการเรียน จิตรได้ไปสอนวิชาภาษาไทยที่โรงเรียนอินทร์ศึกษา แต่สอนได้ไม่นานก็ถูกไล่ออก เนื่องจากถูกกล่าวหาว่ามีหัวก้าวหน้ามากเกินไป จิตรจึงไปทำงานกับหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้เอง ที่จิตรได้สร้างสรรค์ผลงานการวิจารณ์ที่มีคุณค่าต่อวงวิชาการไทยหลายเรื่อง เช่น การวิจารณ์วรรณศิลป์ วิจารณ์หนังสือ วิจารณ์ภาพยนตร์ โดยใช้นามปากกา "บุ๊คแมน" และ "มูฟวี่แมน"[5]

ในงานเขียน โฉมหน้าศักดินาไทย จิตรใช้วิธีวิเคราะห์แบบวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์ในสำนักลัทธิมากซ์[8][9]

ปี พ.ศ. 2498 เขากลับเข้าเรียนอีกครั้งและสำเร็จปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิตในปี พ.ศ. 2500 จากนั้นก็เข้าเป็นอาจารย์ที่"วิทยาลัยเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์" และศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร[10]

จิตรถูกจับเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ในข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ โดยมีการนำตัวไปคุมขังหลายที่ และย้ายไปขังที่คุกลาดยาวใน พ.ศ. 2503[11] วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2506 อัยการศาลทหารกรุงเทพฯ ยื่นฟ้องจิตรตามพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495 ในคดีนี้ผู้พิพากษาให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมในโอกาสครบรอบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499 ไปแล้ว การฟ้องคดีดังกล่าวเป็นการฟ้องคดีซ้ำซึ่งขัดต่อหลักการพื้นฐานของกฎหมาย ศาลทหารยกฟ้องและมีคำสั่งปล่อยตัวจิตรเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2507[12]

เนื่องจากเขาถูกติดตามคุกคามจากทางการและเจ้าหน้าที่บ้านเมืองอย่างหนักทำให้เดือนตุลาคม พ.ศ. 2508 จิตรได้เดินทางสู่ชนบทภาคอีสาน เพื่อเข้าร่วมต่อสู้กับการปกครองด้วยระบบทหาร ในนาม สหายปรีชา เมื่อ พ.ศ. 2508 ต่อมาด้วยการคุกคามจากอำนาจรัฐ จิตรถูกอดีตกำนันตำบลคำบ่อ อาสาสมัคร และทหาร ล้อมยิงจนเสียชีวิตที่ทุ่งนากลางป่าละเมาะในบ้านหนองกุง ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509[13]

จากแนวคิดและอิทธิพลของเขาทำให้บ้างมีการเรียกเขาว่าเป็น "เช เกบาราเมืองไทย"[14]

ผลงานเขียน แก้

จิตรมีความสามารถในด้านภาษาศาสตร์และนิรุกติศาสตร์อย่างมาก และยังมีความสามารถระดับสูงในด้านอื่น ๆ เช่น ประวัติศาสตร์ ถือว่าเป็นอัจฉริยะบุคคลของไทยคนหนึ่ง ในด้านภาษาศาสตร์นั้น จิตรมีความเชี่ยวชาญในภาษาฝรั่งเศส ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาเขมร โดยเฉพาะภาษาเขมรนั้น จิตรมีความเชี่ยวชาญทั้งภาษาเขมรปัจจุบันและภาษาเขมรโบราณด้วย นอกจากนี้ จิตรได้เขียนพจนานุกรม"ภาษาละหุ" (มูเซอ) โดยเรียนรู้กับชาวมูเซอขณะอยู่ในคุกลาดยาว

ผลงาน 3 รายการของเขาได้รับยกย่องเป็น หนังสือดี 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน ประกอบด้วย โฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน (2500), ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ และ บทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์

รายการบทความและงานเขียนเท่าที่ปรากฏเช่น

  • จากพญาฝันถึงทยอยใน (2496)
  • นวนิยายเรื่องขวัญเมือง
  • การปฏิวัติในฝรั่งเศส
  • ตำนานนครวัด (2498-2499)
  • ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน (2500)
  • บทบาททางวรรณคดีของพระมหามนตรี (2500)
  • ชีวิตและศิลปะ (2500-2501)
  • โฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน (2500)
  • เพลงยาวบัตรสนเท่ห์ (2500)
  • คนขี่เสือ งานแปล (2501)
  • โองการแช่งน้ำ และ ข้อคิดใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา (2505)
  • ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และ ขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ ฉบับสมบูรณ์ เป็นผลงานรวมเล่มระหว่าง ข้อเท็จจริงว่าด้วยชนชาติขอม กับ ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และ ขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ
  • ศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย
  • ภาษาและนิรุกติศาสตร์
  • บทวิเคราะห์วรรณกรรมยุคศักดินา
  • ความเรียงว่าด้วยศาสนา งานแปล
  • ว่าด้วยงานศิลปะวรรณคดี งานแปล
  • เสียงเพลงแห่งการต่อต้าน
  • บทวิเคราะห์มรดกวรรณคดีไทย
  • โคทาน งานแปล
  • นิราศหนองคายวรรณคดีที่ถูกสั่งเผา
  • บทวิพากษ์ว่าด้วยศิลปวัฒนธรรม
  • ความอบอุ่นอันอ่อนหวาน
  • คาร์ลมาซ์ก งานแปล
  • แม่ งานแปล
  • กรณี'โยนบก' ๒๓ ตุลา
  • พระเจ้ากำเนิดข้ามาเสรี
  • ความใฝ่ฝันแสนงาม
  • หลุมฝังศพของดนตรีไทย

บทเพลงและบทกวีเท่าที่ปรากฏ

  • เพลง ภูพานปฏิวัติ
  • เพลง มาร์ชเยาวชนไทย
  • เพลง มาร์ชกรรมกร
  • เพลง เปิบข้าว
  • เพลง ธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ชิงชัย
  • เพลง แสงดาวแห่งศรัทธา
  • เพลง ทะเลชีวิต
  • บทกวี เธอคือหญิงรับจ้างแท้ใช่แม่คน
  • บทกวี อะไรแน่ ศาสนา ข้าสงสัย
  • บทกวี ฉันท์ ๒๙ มีน์ ๙๓ งานถวายพระเพลิง
  • บทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์

นามปากกา แก้

นามปากกา ของจิตรมีเป็นจำนวนมาก เช่น

อนุสรณ์ แก้

 
ป้ายโฆษณาสุขสันต์วันเกิดจิตรเมื่อปี 2563

อนุสาวรีย์จิตร ภูมิศักดิ์ตั้งอยู่ที่บ้านหนองกุง ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานวัน "จิตร ภูมิศักดิ์" ในวันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปี[10]

ในวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2547 ปานชัย บวรรัตนปราณ ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร (ในขณะนั้น) ร่วมกับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร และเทศบาลตำบลคำบ่อ ดำเนินการปรับภูมิทัศน์บริเวณที่จิตรถูกยิงเสียชีวิต พร้อมสร้างรูปปั้นจิตรแบบครึ่งตัวไว้ในพื้นที่ดังกล่าว ในโอกาสการรำลึก 80 ปีชาตกาลจิตร ภูมิศักดิ์ ในวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์การสร้างอนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์ และมีพิธีเปิดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ราษฎารานุสาวรีย์ของจิตร ภูมิศักดิ์ เป็นผลงานของสันติ พิเชฐชัยกุล

ใน พ.ศ. 2563 กรรมการนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกแถลงการณ์ขอโทษกรณีโยนบกจิตร[15]

อ้างอิง แก้

  1. "25 กันยายน 2473 วันเกิด จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิด-นักประวัติศาสตร์ที่ "ก่อเกิด" สองครั้ง". ศิลปวัฒนธรรม. 25 กันยายน 2016.
  2. "จากโซ่ตรวนถึงความตายวาระสุดท้ายแห่งชีวิตจิตร ภูมิศักดิ์". 18 ตุลาคม 2002. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2013. สืบค้นเมื่อ 10 มกราคม 2014.
  3. ธนาพล อิ๋วสกุล และคณะ. 5 พ.ค. 2509 จิตร ภูมิศักดิ์ จบชีวิตอย่างไร้ค่าที่สกลนคร ก่อนกำเนิดอีกครั้งหลัง 14 ตุลาฯ ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2547 สืบค้น 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564. ISSN 0125-3654.
  4. "บิดาและมารดาของจิตร ภูมิศักดิ์". สามัญชนบนถนนประชาธิปไตย. สืบค้นเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2015.
  5. 5.0 5.1 5.2 วีรชน, คนกล้า (7 พฤศจิกายน 2017). "ชีวประวัติบุคคลสำคัญ จิตร ภูมิศักดิ์". นักปราชญ์ประชาธิปไตย. สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2021.
  6. Artyasit Srisuwan (29 เมษายน 2018). "อัณฑะมาร์กซ ผู้หญิงของจิตร ภูมิศักดิ์ : เรื่องรักและความป่วยไข้ของนักคิดนักเขียน". The MATTER.
  7. จิตร ภูมิศักดิ์ กับกรณีโยนบก “28 ตุลาคม 2496” ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2547 สืบค้นเมื่อ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2563. ISSN 0125-3654.
  8. จิตร ภูมิศักดิ์ (2007). ประพต เศรษฐกานนท์ (บ.ก.). โฉมหน้าศักดินาไทย (9 ed.). นนทบุรี: สำนักพิมพ์ศรีปัญญา. ISBN 9789748075242.
  9. ธรรมเกียรติ กันอริ (กันยายน 1974). "โฉมหน้าศักดินาไทยในสายตาของจิตร ภูมิศักดิ์" (PDF). สังคมศาสตร์ปริทัศน์. 12 (9): 82–94. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 10 ตุลาคม 2021. สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2021.
  10. 10.0 10.1 "54 ปี "จิตร ภูมิศักดิ์" เผด็จการปลิดชีวิตกลางป่า ถูกตั้งศาลเตี้ย จับโยนบก". ข่าวสด. 5 พฤษภาคม 2020.
  11. ""จิตร ภูมิศักดิ์" กับชีวิตในห้องขังกองปราบปทุมวัน เผยสภาพชีวิตใน "คอมมูน"". ศิลปวัฒนธรรม. 5 May 2022. สืบค้นเมื่อ 31 July 2022.
  12. "จิตร ภูมิศักดิ์ เมื่อถูกปล่อยตัวจากคุกลาดยาว". มติชนออนไลน์. 5 May 2022. สืบค้นเมื่อ 31 July 2022.
  13. "วันนี้ในอดีต/เดือนพฤษภาคม, 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 : จิตร ภูมิศักดิ์ ถึงแก่อสัญกรรม". หอจดหมายเหตุ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ. 22 พฤษภาคม 2017.
  14. 50 ปีจิตร ภูมิศักดิ์ เช เมืองไทย Volce online สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2016.
  15. "5 พฤษภาคม 2509: จิตร ภูมิศักดิ์ ถูกยิงเสียชีวิต". The Momentum. 5 May 2022. สืบค้นเมื่อ 31 July 2022.

แหล่งข้อมูลอื่น แก้