สะพานว่านอัน

สะพานในอำเภอผิงหนาน มณฑลฝูเจี้ยน

สะพานว่านอัน (จีนตัวย่อ: 万安桥; จีนตัวเต็ม: 萬安橋; พินอิน: Wàn'ān Qiáo) สร้างข้ามแม่น้ำหลงเจียง (龙江) ที่หมู่บ้านฉางเฉียว[3] เมืองฉางเฉียว อำเภอผิงหนาน นครหนิงเต๋อ มณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน เป็นสะพานแบบโค้งสร้างด้วยไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศจีน[4]

สะพานว่านอัน
万安桥
พิกัด26°49′22″N 118°50′40″E / 26.8226852°N 118.844484°E / 26.8226852; 118.844484
ข้ามแม่น้ำหลงเจียง (มณฑลฝูเจี้ยน)
ที่ตั้งเมืองฉางเฉียว อำเภอผิงหนาน นครหนิงเต๋อ มณฑลฝูเจี้ยน
ชื่ออื่นสะพานฉาง (长桥), สะพานหลงเจียงกงจี้ (龙江公济桥)、สะพานไฉ่หง (彩虹桥)[1][2]
สถานะสิ่งอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งชาติ (全国重点文物保护单位)
ข้อมูลจำเพาะ
ประเภทสะพานแบบโค้ง
วัสดุไม้, หิน
ความยาว98.2 เมตร (322 ฟุต)
ความกว้าง4.7 เมตร (15 ฟุต)
ความสูง8.5 เมตร (28 ฟุต)
จำนวนช่วง6
จำนวนตอม่อ5
ประวัติ
ทำลาย6 สิงหาคม ค.ศ. 2022
ที่ตั้ง
แผนที่

สถาปัตยกรรม

แก้

สะพานว่านอัน มีความยาวรวม 98.2 เมตร กว้าง 4.7 เมตร ความสูงจากพื้นทางเดินสะพานถึงผิวน้ำ 8.5 เมตร[2][5] มีเสาห้าต้นและมีช่องโค้งหกช่องที่มีความกว้างแตกต่างกัน ฐานตอม่อของสะพานสร้างด้วยหินตัดก้อน โดยส่วนด้านหน้าและด้านหลังทำเป็นรูปหัวเรือ[2][6] ด้านข้างของฐานต่อม่อกลางมีจารึกทำด้วยแผ่นหินฝังไว้ อธิบายวัตถุประสงค์ของการสร้างสะพานและชื่อผู้บริจาค[a][8] ตัวสะพานทำจากไม้สนเฟอร์ ที่ปลายทั้งสองของแต่ละโค้งใช้ท่อนซุงเก้าท่อนและคานขวางสองท่อนเชื่อมต่อกันด้วยท่อนซุงแปดท่อนและคานขวางสี่ท่อนเพื่อสร้างซุ้มโค้ง[9][10] บนสะพานมีพื้นที่โถง 37 ช่วงและเสา 152 ต้นรองรับหลังคาโถงทางเดินบนสะพาน และมีเก้าอี้นั่งทั้งสองด้านของสะพาน[2][8][7] ศาลเจ้าดั้งเดิมในโถงทางเดินอุทิศให้กับพระโพธิสัตว์กวนอิม ต่อมาในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1950 เพื่อป้องกันอันตรายจากเพลิงไหม้ ศาลเจ้าได้ถูกรื้อถอนไป[2] บนสะพานมีจารึกของโคลง 13 บท[2] ที่ปลายด้านตะวันตกเฉียงเหนือของสะพานมีบันไดหิน 36 ขั้น และที่ปลายด้านตะวันออกเฉียงใต้มีบันไดหิน 10 ขั้น[2][11]

การก่อสร้าง

แก้

สะพานเป็นโครงสร้างไม้ โดยมีช่วงหกช่วงเป็นซุ้มโค้งรองรับด้วยเสาหินแกรนิตห้าต้น ระยะต่างกันในช่วงจาก 10.6 ม. (สั้นที่สุด) ถึง 15.3 ม. (ยาวที่สุด) พื้นทางเดินของสะพานเป็นทางราบ นำไปสู่ขั้นบันได 10 ขั้นทางตะวันตกเฉียงใต้ และ 36 ขั้นทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ แม้ว่าระดับความสูงจะค่อนข้างต่ำ แต่ก็เป็นสะพานโค้งไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศจีน[12]: 241  ตรงทางเข้าสะพานมีวัดขนาดใหญ่ที่ประดับด้วยไม้แกะสลักอย่างวิจิตรบรรจง แม้ว่าใบหน้าของรูปเคารพจำนวนมากจะถูกทำลายหรือเสียหาย[12]: 78  สะพานมีหลังคาหน้าจั่วรองรับด้วยเสาไม้ 152 เสา รวมกันเป็นพื้นที่โถง 37 ช่วง[3]

สะพานเป็นตัวอย่างของโครงสร้างโค้งไม้จากมณฑลฝูเจี้ยนและมณฑลเจ้อเจียง โครงสร้างของช่วงประกอบด้วยสองระบบคือคานตามยาว (ขนานกับแนวสะพาน) ที่เชื่อมต่อกับคานขวาง ระบบแรกประกอบเป็นส่วนโค้งที่มีสามส่วนย่อยโดยแต่ละส่วนมีคานตามยาวเก้าอัน (คานทแยงมุมสองอันและคานแนวนอนหนึ่งอันเชื่อมต่อกัน) ส่วนต่าง ๆ เชื่อมต่อกันด้วยคานขวางสองอัน ระบบที่สองสานเข้ากับระบบแรก ประกอบด้วยส่วนโค้งห้าส่วนที่ถูกมัดด้วยคานขวางสี่อัน แต่ละส่วนประกอบด้วยคานตามยาวแปดท่อน องค์ประกอบตามยาวของทั้งสองระบบสานเข้าด้วยกัน (คานของระบบที่สองตั้งอยู่ในช่องว่างระหว่างคานของระบบแรก) นอกจากนี้ โครงสร้างของช่วงการเสริมแรงยังประกอบด้วยคานรูปกากบาท ซึ่งทำให้ส่วนมีความแข็งแรงมากขึ้น[13]

ในความหมายที่เคร่งครัดของคำ โครงสร้างนี้ไม่ใช่ประเภทส่วนโค้ง (arch) (รวมถึงไม่ใช่โครงสร้างประเภทสะพานยื่น[14]) เนื่องจากคานขวางอยู่ภายใต้แรงดัดที่มีนัยสำคัญ และในโครงสร้างส่วนโค้งแบบคลาสสิก องค์ประกอบทั้งหมดควรเป็นแรงบีบอัดเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคานตามยาวที่ประกอบเป็นโครงสร้างรับน้ำหนักหลักทำงานเกือบทั้งหมดโดยการบีบอัด สะพานนี้จึงสามารถเรียกว่าเป็นสะพานโค้งไม้ หลังคาและอาคารที่สร้างขึ้นบนสะพานไม่เพียงแต่มีบทบาทในการป้องกันสภาพอากาศเท่านั้น แต่ยังมีบทบาททางโครงสร้างที่สำคัญคือ น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นทำให้ส่วนโค้งมีเสถียรภาพ แต่สะพานไม่ทนต่อแรงจากด้านล่างและอาจเสียหายหรือถูกทำลายได้ เช่นโดยลมที่มีความแรงพัดยกขึ้นจากด้านล่าง[3][13]

ประวัติ

แก้

นับตั้งแต่สะพานว่านอันสร้างเสร็จในสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ ก็ได้ถูกทำลายและสร้างใหม่หลายครั้ง ตามบันทึกบนศิลาที่ฝังอยู่ด้านข้างของตอม่อกลาง สะพานว่านอันสร้างขึ้นในปีที่ห้าของรัชสมัยจักรพรรดิซ่งเจ๋อจงในราชวงศ์ซ่งเหนือ (ค.ศ. 1090)[1][2] ในช่วงปลายราชวงศ์หมิงมีบันทึกว่า "ส่วนที่คงอยู่ถูกขโมยและถูกเผา เหลือเพียงกระดานแผ่นเดียวเท่านั้น"[b] คานไม้และพื้นของสะพานถูกเผาในปีที่ 47 ของรัชกาลจักรพรรดิคังซีแห่งราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1708) แล้วสะพานถูกสร้างขึ้นใหม่ในปีที่ 7 ของรัชกาลจักรพรรดิเฉียนหลง (ค.ศ. 1742) และปีที่ 33 ของรัชกาล (ค.ศ. 1768) ส่วนของสะพานถูกขโมยและเผาอีกครั้ง ต่อมาในปีที่ 25 ของรัชกาลจักรพรรดิเต้ากวัง (ค.ศ. 1845) สะพานที่มีหลังคาโถง 136 เสาและพื้นที่โถง 34 ช่วงได้ถูกสร้างขึ้นใหม่ สะพานถูกไฟไหม้อีกครั้งในช่วงปีแรก ๆ ของยุคสาธารณรัฐจีน และถูกสร้างขึ้นใหม่อีกครั้งในปีที่ 21 ของสาธารณรัฐจีน (ค.ศ. 1932) ตัวสะพานขยายออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ โดยมีพื้นที่โถง 38 ช่วงและหลังคาโถง 156 เสา ศาลาถูกสร้างขึ้นที่ปลายด้านตะวันตกเฉียงเหนือของสะพาน และมีการเปลี่ยนชื่อเป็น "สะพานว่านอัน" ในปี ค.ศ. 1952 น้ำท่วมได้พัดพาส่วนพื้นที่โถง 12 ช่วงทางตะวันตกเฉียงเหนือสุดของสะพานออกไป ในปี ค.ศ. 1954 ได้มีการสร้างสะพานขึ้นใหม่ด้วยเงินทุนจากรัฐบาลประชาชนของอำเภอผิงหนาน มีการเพิ่มเก้าอี้ตามทางเดินบนสะพาน ช่างไม้ของการสร้างใหม่ครั้งนี้คือหวง เชิงฝู และหวง เซียงหยาน ชาวหมู่บ้านฉางเฉียว และช่างก่ออิฐคือชิว หยุ่นชิง จากหมู่บ้านชูชือเหว่ย และหลิน ชิงเซียง จากหมู่บ้านเฉียนซี[8][15]

จากงานค้นคว้าทางวิชาการ สะพานว่านอันมีลักษณะเป็นสะพานคานแบนที่มีโครงทางสัญจรสองทิศทางในสมัยโบราณ แต่น่าจะถูกเปลี่ยนเป็นสะพานไม้แบบโค้งที่มีหลังคาเมื่อสร้างใหม่ในปี ค.ศ. 1932[16][17]

วันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ. 2022 เวลาประมาณ 21 นาฬิกา ชาวบ้านคนหนึ่งสังเกตเห็นไฟไหม้บนสะพาน แม้จะมีการแจ้งเหตุในทันทีและหน่วยดับเพลิงเข้าดำเนินการระงับเหตุ แต่สะพานว่านอันก็ถูกไฟไหม้ทั้งหมด ไฟได้สงบลงเมื่อเวลา 22:45 น. โดยซากของสะพานที่ถูกไฟไหม้ได้ทรุดตัวลง เจ้าหน้าที่ของอำเภอผิงหนานกล่าวว่าพวกเขาจะเริ่มงานปิดกั้นพื้นที่และฟื้นฟูสะพาน ในขณะที่กำลังสืบสวนสาเหตุของเพลิงไหม้[10]

สถานะการอนุรักษ์

แก้

ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1988 ได้มีการประกาศให้เป็นสิ่งอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในอำเภอผิงหนาน และเมื่อวันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1991 ได้มีการประกาศให้เป็นสิ่งอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในมณฑลฝูเจี้ยน[2] เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 2006 ได้มีการประกาศให้เป็นหนึ่งใน "สะพานที่มีหลังคาคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของฝูเจี้ยน" ซึ่งเป็นสิ่งอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญแห่งชาติชุดที่หก[18][19] และในเดือนกันยายน ค.ศ. 2012 ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งใน "สะพานไม้แบบโค้งที่มีหลังคาคลุมของฝูเจี้ยน-เจ้อเจียง" ในรายการเบื้องต้นสำหรับการเสนอมรดกโลกทางวัฒนธรรมของประเทศจีน[20]

เชิงอรรถ

แก้
  1. ข้อความคือ "ศิษย์ของเจียงเจิ่นขอขอบคุณสำหรับเงินสิบสามเหรียญและหินสามสิบสี่ก้อน, ตอม่อหินหนึ่งจุด, สำหรับมารดาที่ล่วงลับจากสกุลเกา และขอพรให้ครอบครัวทั้งชายและหญิงปลอดภัย ปีที่ห้าในรัชศกหยวนโย่ว (元祐) เดือนกันยายน"[7]
  2. ในปีที่ 34 ของรัชกาลจักรพรรดิกวังซฺวี่ เอกสารผิงหนานเซี่ยนจื้อ (屏南县志) ได้อ้างถึงพงศาวดารโบราณ

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 冯东生著 (2013). 闽都桥韵 (ภาษาจีน). 福州: 海峡文艺出版社. p. 27. ISBN 978-7-5550-0197-3.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 2.6 2.7 2.8 中国人民政治协商会议福建省屏南县委员会文史资料委员会编 (2003). 屏南文史资料·第18辑:屏南古代桥梁. 内部发行. pp. 7–9.
  3. 3.0 3.1 3.2 Y. Yang; B. Chen; J. Gao (2007). "Timber arch bridges in China". ใน Paulo B. Lourenc̦o; Daniel V. Oliveira; A. Portela (บ.ก.). ARCH'07: 5th International Conference on Arch Bridges, 12–14 September 2007 (PDF). Guimaraes: University of Minho. pp. 171–178. ISBN 978-972-8692-31-5. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-08-10. สืบค้นเมื่อ 2022-08-13.
  4. 詹詠淇 (7 สิงหาคม 2022). 中國現存最長木拱廊橋 近千年歷史「萬安橋」遭火焚. 新頭殼newtalk (ภาษาจีนกลางสำเนียงไต้หวัน). สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2022.
  5. 周芬芳,陆则起,苏旭东著 (2011). 中国木拱桥传统营造技艺. 浙江人民出版社. 杭州. pp. 35–36. ISBN 978-7-213-04656-8.
  6. 福建省地方志编纂委员会 (2002). 福建省志·文物志. 方志出版社. 北京. p. 131. ISBN 7-80122-638-0.
  7. 7.0 7.1 唐寰澄,唐浩编著 (2017). 中国桥梁技术史·第二卷·古代篇·下. 北京交通大学出版社. 北京. pp. 749–750. ISBN 978-7-5121-2386-1.
  8. 8.0 8.1 8.2 张春琳著;万敏主编 (2019). 活态遗产桥梁的价值及其评价研究. 华中科技大学出版社. 武汉. pp. 216–220. ISBN 978-7-5680-5439-3.
  9. 国家文物局主编 (2007). 中国文物地图集·福建分册(上). 福建省地图出版社. 福州. p. 351. ISBN 978-7-80516-829-6.
  10. 10.0 10.1 蒋子文 (7 สิงหาคม 2022). 消防部门发布万安桥火灾后现场照片:桥体已烧毁坍塌. 澎湃新闻. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 สิงหาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 7 สิงหาคม 2022.
  11. 国家文物局主编 (2007). 中国文物地图集·福建分册(下). 福建省地图出版社. 福州. p. 782. ISBN 978-7-80516-829-6.
  12. 12.0 12.1 Knapp, Ronald (2012). Chinese Bridges: Living Architecture From China’s Past. New York: Tuttle Publishing. ISBN 978-1-4629-0586-7.
  13. 13.0 13.1 Yan Yang; Shozo Nakamura; Baochun Chen; Takafumi Nishikawa (มีนาคม 2012). "Traditional construction technology of China timber arch bridges". Journal of Structural Engineering (ภาษาอังกฤษ). 58A: 777–784. doi:10.11532/structcivil.58A.777.
  14. Needham, Joseph (1971). "Science and Civilization in China". Physics and Physical Technology, Part 3: Civil Engineering and Nautics (ภาษาอังกฤษ). Vol. 4. Cambridge: Cambridge University Press. pp. 162–166.
  15. 屏南县地方志编纂委员会编 (1999). 屏南县志. 方志出版社. 北京. p. 231. ISBN 7-80122-453-1.
  16. 刘杰著 (2017). 中国木拱廊桥建筑艺术. 上海人民美术出版社. 上海. pp. 383–387. ISBN 978-7-5586-0338-9.
  17. 韩雨亭 (8 สิงหาคม 2022). 建筑历史学者谈万安桥遭焚毁:现代物质环境给桥梁带来新隐患. 澎湃新闻. สืบค้นเมื่อ 12 สิงหาคม 2022.
  18. 国务院关于核定并公布第六批全国重点文物保护单位的通知(国发〔2006〕19号). 中国政府网. 25 พฤษภาคม 2006. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 สิงหาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 8 สิงหาคม 2022.
  19. 福建省人民政府关于公布全国重点文物保护单位(第四至七批)保护范围的通知(闽政〔2016〕19号). 福建省人民政府. 29 เมษายน 2016. สืบค้นเมื่อ 8 สิงหาคม 2022.
  20. 国家文物局重设《中国世界文化遗产预备名单》. 光明日报. 18 พฤศจิกายน 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 สิงหาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 8 สิงหาคม 2022.