สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์

สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ เป็นรูปแบบหนึ่งของสถาปัตยกรรมไทยที่นำสถาปัตยกรรมไทยในอดีตมาร่วมใช้กับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่

หอรัชมงคล สวนหลวง ร.9 ออกแบบโดยหม่อมหลวงตรีทศยุทธ เทวกุล ใช้แนวคิดของผัง 9 เหลี่ยมเพื่อการเฉลิมพระเกียรติ การใช้เส้นสันหลังคาสีขาวโค้งไปรวมกันที่จุดยอดซึ่งถอดรูปแบบมาจากมณฑปในรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย

สถาปัตยกรรมไทยประเพณีแต่เดิมนั้นใช้เฉพาะกับอาคารของราชสำนักและอาคารทางศาสนา จึงมีข้อจำกัดในการนำมาใช้กับอาคารประเภทอื่น ๆ ของสังคมปัจจุบัน เช่น อาคารพาณิชยกรรม อาคารราชการ รวมทั้งอาคารศาล และอาคารรัฐสภา เป็นต้น ผนวกกับความต้องการสืบสานเอกลักษณ์ไทยให้เหมาะสมกับเทคโนโลยีการก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างสมัยใหม่ นำมาสู่การประยุกต์รูปแบบสถาปัตยกรรมไทยในอดีตเป็นรูปแบบที่เรียกโดยเฉพาะว่า "สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์"[1]

ที่มา แก้

 
ไทยแลนด์พาวิลเลี่ยน ในปี พ.ศ. 2553 ที่เซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน

สถาปัตยกรรมสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เริ่มมีการสร้างสถาปัตยกรรมแบบผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมแบบจารีตของสยามเข้ากับแบบตะวันตก ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่น วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และพระอุโบสถวัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการสร้างสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ ที่นําเอารูปแบบสถาปัตยกรรมแบบจารีตของไทยไปสวมทับ บนตึกอาคารที่มีการใช้สอยสมัยใหม่แบบตะวันตก เพื่อแสดงให้เห็นว่าชาติไทยไม่ใช่ชาติที่ป่าเถื่อน ควบคู่ไปกับการยืนยันว่ารูปแบบศิลปะแบบจารีตของสยามมีเอกลักษณ์ของตนเอง[2] ตัวอย่างเช่น โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (ต่อมาเป็น โรงเรียนวชิราวุธ)

ในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ด้วยนโยบายรัฐนิยมโดยอาศัยสุนทรีภาพในการแสดงอำนาจทางการเมือง ได้มีการบัญชาให้กรมโยธาธิการซึ่งรับผิดชอบการออกแบบอาคารราชการทั้งหลาย ออกแบบอาคารที่ทำการกระทรวงต่าง ๆ ให้มีลักษณะความเป็นไทย โดยมีการใช้หลังคาทรงสูง ก่อสร้างด้วยวัสดุที่มีความคงทนถาวรอย่างคอนกรีต ลดรายละเอียดสถาปัตยกรรม โดยระหว่าง พ.ศ. 2490–2500 อาคารราชการและอาคารสาธารณะต่าง ๆ ของไทย ไม่ว่าจะเป็นศาลากลาง ศาลหลักเมือง มักออกแบบเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมไทยคอนกรีตประยุกต์แบบสกุลช่างพระพรหมพิจิตร (พรหม พรหมพิจิตร)[3] สถาปนิกที่มีบทบาทอีกท่าน คือ หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร สถาปัตยกรรมยุคนี้มักมีความคล้ายคลึงกันหมด กล่าวคือ มีผังรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าแนวยาว มักมีมุขอาคารยื่นออกมาตรงกลางของผังอาคารซึ่งเป็นทางเข้าหลัก และอาจยื่นออกเป็น 3 มุข มีองค์ประกอบสถาปัตยกรรมแบบจารีต เช่น การใช้เสาอิงประดับผนังอาคาร มีค้ำยันรับหลังคา ปั้นลมคอนกรีต เป็นต้น[4]

ในช่วงพุทธทศวรรษ 2500–2520 สถาปนิกซึ่งสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ และมีความรู้ความเข้าใจสถาปัตยกรรมไทยอย่างจำกัด เห็นว่าสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยใหม่ ซึ่งในช่วงนั้นอิทธิพลของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ที่กำลังแผ่เข้ามาผ่านระบบการศึกษาทางสถาปัตยกรรม จึงทำให้เริ่มมีการชะงักการใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์พร้อม ๆ กับความเสื่อมของลัทธิชาตินิยม[5]

สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นหลังเหตุการณ์วิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ. 2540 การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อาคารสํานักงาน ตึกสูง และห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ได้รับผลกระทบโดยตรง จนเข้า พ.ศ. 2548 ที่ปัญหาทางเศรษฐกิจค่อย ๆ คลี่คลายลง แต่กลับเกิดสถาปัตยกรรมไทยในลักษณะร่วมสมัย เปิดโอกาสใหม่ให้กับการพัฒนางานสถาปัตยกรรมประเภทอื่น ๆ ในส่วนภูมิภาค อย่างสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์[6]

รูปแบบ แก้

งานออกแบบสัปปายะสภาสถานใช้แนวคิดในเรื่องของไตรภูมิ สะท้อนผ่านงานออกแบบให้เหมือนภูเขาขนาดใหญ่โดยใช้รูปแบบงานสมัยใหม่ ในขณะที่ศูนย์กลางของสภาใช้เจดีย์จุฬามณี เป็นสัญลักษณ์ตัวแทนตามรูปแบบประเพณีโดยตรง
 
โรงแรมรายาบุรี ป่าตอง

สันต์ สุวัจฉราภินันท์ แบ่งการประยุกต์สถาปัตยกรรมไทย ได้แก่ การนำสถาปัตยกรรมไทยในอดีตมาร่วมใช้กับสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ การเลือกใช้สัญลักษณ์บางส่วน เป็นการนำบางส่วนของสถาปัตยกรรมมาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการสื่อสารโดยเน้นการแสดงออกถึงความร่วมสมัยมากกว่า และการตึความใหม่ เป็นการนำสถาปัตยกรรมสมัยก่อนมาผ่านกระบวนการออกแบบวิธีการจนได้ผลลัพธ์ที่เป็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ที่เป็นการสื่อสารในรูปแบบที่ว่าง แสง เงา รูปทรง เป็นต้น[7]

อย่างไรก็ดีสถาปัตยกรรมในอดีตมีขนบในเรื่องฐานานุศักดิ์ซึ่งถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด การนำมาประยุกต์อาจเกิดความไม่เหมาะสม องค์ประกอบสถาปัตยกรรมไทยไปใช้โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือรู้แล้วก็ดันทุรังจะทำเพื่อการต่อยอดทางธุรกิจ ตัวอย่างเช่น กุฎาคาร คือ บริเวณส่วนบนของอาคารที่มียอดแหลม ตามประเพณีจะยกย่องว่าเป็นของสูงสร้างสำหรับพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ หรือพระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชาเท่านั้น[8]

อ้างอิง แก้

  1. Horayangkura, V. (1994). สถาปัตยกรรมไทย ข้อจำกัดและทางเลือกในการสืบสาน [Thai architecture: Limitations and alternatives in inheritance]. ASA – Journal of Architecture, November, 86-95.
  2. โดม ไกรปกรณ์ และ ธนสิษฐ์ ขุนทองพันธ์. "ความหมายทางการเมืองและความล้มเหลวของการสื่อความในงานสถาปัตยกรรมคณะราษฎร".
  3. ปติสร เพ็ญสุต. "ฝรั่งสวมชฎา". เดอะคลาวด์.
  4. ประกิตนนทการ, ชาตรี. การเมืองและสังคมในศิลปสถาปัตยกรรม สยามสมัย ไทยประยุกต์ ชาตินิยม. p. 421.
  5. Horayangkura, Vimolsiddhi (2010). "The Creation of Cultural Heritage: Towards Creating a Modern Thai Architectural Identity". Manusya Journal of Humanities. 13 (1): 7.
  6. "New Waves of Thai Architects คลื่นระลอกใหม่จากสถาปัตยกรรมร่วมสมัยในประเทศไทย". สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์.
  7. สันต์ สุวัจฉราภินันท์ และคณะฯ. (2555). สัญวิทยา: การถอดรหัสและการประยุกต์อัตลักษณ์ไทยเพื่อเป็นแนวทาง การออกแบบ. โครงการจัดประชุมวิชาการ ประจำปี 2555, 86–102.
  8. "สำนักสถาปัตยกรรม ห่วงฐานานุศักดิ์ ของ...สถาปัตยกรรมไทย". โพสต์ทูเดย์.