วชิราวุธวิทยาลัย

โรงเรียนประจำชายล้วนในกรุงเทพมหานคร
(เปลี่ยนทางจาก โรงเรียนมหาดเล็กหลวง)

วชิราวุธวิทยาลัย เป็นโรงเรียนประจำชายล้วน สถาปนาขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้มีพระบรมราชโองการให้รวมโรงเรียนมหาดเล็กหลวง กรุงเทพ และโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้าด้วยกัน โดยให้นักเรียนย้ายมาเรียนรวมกันที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวงกรุงเทพ พร้อมทั้งได้พระราชทานนามโรงเรียนขึ้นใหม่ว่า “วชิราวุธวิทยาลัย” เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

วชิราวุธวิทยาลัย
Vajiravudh College
ที่ตั้ง
แผนที่
ข้อมูล
ประเภทโรงเรียนประจำชายล้วน
โรงเรียนเอกชน
สถาปนา29 ธันวาคม 2453 (113 ปี 81 วัน)
ผู้ก่อตั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
หน่วยงานกำกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน
รหัส1110100022
ผู้บังคับการเกียรติคุณ ชาติประเสริฐ
ระดับปีที่จัดการศึกษาประถมศึกษาปีที่ 4–มัธยมศึกษาปีที่ 6
จำนวนนักเรียน983 คน (กุมภาพันธ์ 2565)
เพลงเพลงมหาวชิราวุธราชสดุดี
เว็บไซต์www.vajiravudh.ac.th

วชิราวุธวิทยาลัยมีตึกที่พักนักเรียน เรียกว่า "คณะ" เป็นเสมือนบ้านของนักเรียน แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือ คณะเด็กโต สำหรับนักเรียนชั้นมัธยม แบ่งออกเป็น 6 คณะ คือ คณะผู้บังคับการ คณะดุสิต คณะจิตรลดา คณะพญาไท คณะจงรักภักดี คณะศักดิ์ศรีมงคล ส่วนคณะเด็กเล็กสำหรับนักเรียนชั้นประถม แบ่งออกเป็น 3 คณะ คือ คณะสนามจันทร์ คณะนันทอุทยาน และ คณะสราญรมย์ นอกจากนี้ ทางโรงเรียนยังส่งเสริมให้นักเรียนได้เล่นกีฬาต่าง ๆ เช่น รักบี้ฟุตบอล แบดมินตัน และสควอต นอกจากนี้ ยังมีการจัดการแข่งขันรักบี้ประเพณีกับมาเลย์ คอลเลจ (Malay College Kuala Kangsar) จากประเทศมาเลเซีย เป็นประจำทุก ๆ ปีและยังมีการแข่งกีฬาภายในโรงเรียนของแต่ละคณะอีกด้วย

ปัจจุบัน ดำเนินการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ตั้งอยู่ที่ ถนนราชวิถี แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

ประวัติ แก้

 
หอประชุมวชิราวุธวิทยาลัย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ซึ่งในเวลานั้นคือพระยาไพศาลศิลปศาสตร์ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเป็นการส่วนพระองค์ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เมื่อวันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2453 เพื่อรับกระแสพระราชดำริเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของชาติ

ในวันรุ่งขึ้น วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2453 จึงได้เปิดโรงเรียนสำหรับมหาดเล็กข้าหลวงเดิมเป็นการชั่วคราว โดยแบ่งพื้นที่ของอาคารโรงเรียนราชกุมารเก่าในพระบรมมหาราชวังสำหรับโรงเรียนมหาดเล็กซึ่งต่อมาได้พระราชทานนามโรงเรียนใหม่ว่า ‘โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ โดยโรงเรียนสำหรับมหาดเล็กข้าหลวงเดิมที่เปิดทำการสอนขึ้นใหม่นั้น ได้พระราชทานนามว่า ‘โรงเรียนมหาดเล็กหลวง’

นอกจากนั้นยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงิน 100,000 บาทเป็นทุนรอนของโรงเรียน โดยนำไปฝากไว้กับแบงก์สยามกัมมาจลหรือธนาคารไทยพาณิชย์ในปัจจุบัน

สำหรับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง นอกจากเป็นสถานที่ทรงทดลองการจัดการศึกษาของชาติ ในลักษณะเดียวกับการที่ทรงตั้งดุสิตธานีสำหรับทดลองการปกครองในระบอบประชาธิไตยแล้ว ยังมีพระราชดำริอย่างใหม่ในการสร้างโรงเรียนแทนวัดด้วย เนื่องจากทรงเล็งเห็นว่าในรัชสมัยของพระองค์มีพระอารามหลวงอยู่มากแล้ว หากสถาปนาพระอารามหลวงขึ้นอีก ก็จะเป็นพระราชภาระในการบูรณปฏิสังขรณ์ อีกทั้งทรงเห็นว่าสิ่งจำเป็นในขณะนั้นคือการให้การศึกษาแก่ราษฎร อันจะนำพามาซึ่งความเจริญแก่ชาติบ้านเมืองในอนาคต ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หาที่ตั้งถาวรของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง โดยทรงให้พระยาไพศาลศิลปศาสตร์ (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) และพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) จางวางมหาดเล็ก และกรรมการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง เป็นผู้ไปตรวจพิจารณาหาสถานที่อันเหมาะสม ซึ่งได้พิจารณาเลือกที่ดินพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ที่ ‘สวนกระจัง’ บริเวณริมคลองเปรมประชากร ส่วนหนึ่งของพระราชวังดุสิต เป็นสถานที่ตั้งถาวรของโรงเรียน

โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เอ็ดเวิร์ด ฮิลลี่ (Edward Healey) อาจารย์ใหญ่โรงเรียนช่างของสามัคยาจารย์เป็นผู้วางผังโรงเรียนให้สอดรับกับวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร เมื่อการก่อสร้างโรงเรียนชั่วคราวเป็นเรือนไม้หลังคามุงจากที่สวนกระจังแล้วเสร็จ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายนักเรียนจากโรงเรียนชั่วคราวในพระบรมมหาราชวังมาอยู่ที่โรงเรียนแห่งใหม่ ณ สวนกระจัง พร้อมกับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีทำบุญขึ้นโรงเรียนใหม่เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2454

เมื่อเอ็ดเวิร์ด ฮิลลี่ พร้อมด้วยพระสมิทธเลขา (ปลั่ง วิภาตะศิลปิน) นายช่างออกแบบของกรมศิลปากรจัดการออกแบบก่อสร้างหอสวดและหอนอนของนักเรียนแล้วเสร็จ ได้โปรดพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 750,000 บาท เพื่อจัดสร้างโรงเรียนถาวรด้วยสถาปัตยกรรมไทยอันวิจิตร

สำหรับการจัดการศึกษาของโรงเรียนมหาดเล็กหลวง นอกจากทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดการศึกษาไปในแนวทางแบบพับบลิคสกูลของอังกฤษแล้ว ยังได้พระราชทานพระบรมราโชบายในการอบรมสั่งสอนนักเรียนมหาดเล็กหลวงไว้เป็นพิเศษ ดังปรากฏในพระราชบันทึกที่พระราชทานไปยังเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ซึ่ง ม.ล.ปิ่น มาลากุล ได้นำมาแปลเป็นภาษาไทย ความว่า

ข้าส่งข้อความนี้มาเพื่อให้เสนาบดีและปลัดทูลฉลองกระทรวงธรรมการอ่าน ข้าได้ขีดเส้นแดงใต้ข้อความบางตอน คือตอนที่ถูกใจข้าและตอนที่แสดงให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งในเรื่องที่ข้ารู้สึกตลอดมา

ระบบการศึกษาและกฎเกณฑ์ทั้งหลาย ตลอดจนหลักสูตรแท้จริงทำให้เปลืองกระดาษไปเปล่า ๆ ยิ่งกว่านั้นคือ เปลืองเวลาด้วย ถ้าไม่ทำให้ประชาชนเป็นอย่างที่เราต้องการสำหรับประเทศของเราได้เป็นผลสำเร็จ ข้าไม่หมายความว่าอะไรดีสำหรับเมืองอังกฤษจะต้องดีสำหรับเมืองไทยด้วย ตรงกันข้าม ถ้าจะเอาวิธีการของคนอังกฤษมาใช้ทั้งดุ้นโดยไม่มีการดัดแปลง ก็จะเป็นการผิดพลาดอย่างมหันต์ แต่บันทึกนี้อาจทำให้ผู้อ่านเกิดความคิดอะไรบ้าง

สำหรับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง ข้าไม่เป็นห่วงการปั้นนักเรียน ‘ชั้นมัธยม’ ให้เป็นเทวดาเหมือน กันหมดทุกคน ได้คะแนนกันคนละหลายพันคะแนนเท่าการสร้างเด็กหนุ่มที่ขยันขันแข็ง และสะอาดทั้งทางร่างกายและจิตใจ เตรียมพร้อมที่จะรับภาระต่าง ๆ ซึ่งจะมีมาในอนาคต ข้าไม่ต้องการนักเรียนตัวอย่างที่สอบไล่ได้คะแนนขั้นเกียรตินิยมทุก ๆ ครั้ง ข้าไม่ต้องการตำราเรียนที่เดินได้ ที่ข้าอยากได้นั้นคือ เยาวชนที่เป็นสุภาพบุรุษ ซื่อสัตย์สุจริต มีอุปนิสัยใจคอดี และข้าจะไม่โศกเศร้าเลย ถ้าเจ้ามารายงานว่า เด็กคนหนึ่งเขียนหนังสือไม่คล่อง คิดเลขเศษซ้อนไม่เป็น และไม่รู้วิชาเรขาคณิตเลย ถ้าข้ารู้ว่าเด็กคนนั้นได้ศึกษาพอที่จะรู้ว่าความเป็นลูกผู้ชายคืออะไร และขี้แยคืออะไร ข้าไม่อยากได้ยิน ‘คนฉลาด’ บ่นอีกว่า ‘ปัญญาท่วมหัวเอาตัวไม่รอด’ สิ่งที่ข้าต้องการในโรงเรียนมหาดเล็กหลวงคือ ให้การศึกษาเป็นเครื่องทำให้เด็กเป็นเยาวชนที่น่ารัก และเป็นพลเมืองดี ไม่ใช่ทำลายบุคลิกภาพเสียหมด โดยบรรทุกหลักสูตรและระบบการต่าง ๆ ลงไป ข้าต้องการให้การศึกษาเป็นสิ่งที่งดงาม จนทำให้เด็กที่ออกไปแล้วหวนกลับมาคิดถึงในวันข้างหน้าด้วยความภาคภูมิใจ ขออย่าเอาโรงเรียนของข้าไปเปรียบกับโรงเรียนอื่น เพราะมีจุดหมายต่างกัน ถ้าข้าอยากจะได้โรงเรียนธรรมดาเพียงหลังหนึ่งสร้างเป็นโรงเรียนไปมาจะไม่ดีกว่าหรือจะสร้างโรงเรียนกินนอนขึ้นมาทำไม

ที่ข้ากล่าวมานี้จะเข้ากันได้กับระบบการศึกษาของเจ้าหรือไม่ก็ตาม ถ้าเข้ากันได้ข้าก็ดีใจ แต่ถ้าเข้ากันไม่ได้ก็ขอให้วิธีการของข้าได้รับการพิจารณาดำเนินการโดยยุติธรรมด้วย อย่าพยายามบังคับให้ครูของข้าทำตามข้อไขของเจ้า ให้ทำตามข้อไขของข้าเถิด เพราะกีฬาประเภทนี้ข้าคิดให้เขาเล่น และตัวข้าเองจะเป็นผู้ให้ถ้วยรางวัล

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 7 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ และทรงรับเป็นองค์บรมราชูปถัมภกโรงเรียนมหาดเล็กหลวง แต่ด้วยในช่วงนั้นเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ทำให้เศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลกส่งผลกระทบให้สภาวะเศรษฐกิจไทยฝืดเคือง รัฐบาลจึงต้องปรับลดงบประมาณรายจ่ายลง รวมทั้งพระราชทรัพย์รายปีที่ถวายพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ถูกตัดทอนลงด้วย พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมโรงเรียนราชวิทยาลัยเข้ากับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง กรุงเทพ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามโรงเรียนให้ใหม่ว่า ‘วชิราวุธวิทยาลัย’

อาคารเรียน แก้

อาคารเรียน พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกำเนิดโรงเรียนมหาดเล็กหลวง โดยพระราชทานที่ดินและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ซึ่งลักษณะของหอประชุม หอนาฬิกา อาคารจิตรลดา และตึกขาว เป็นอาคารที่มีรูปแบบของสถาปัตยกรรมไทย ผสมผสานสถาปัตยกรรมตะวันตก โดยได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ในปี พ.ศ. 2525 [1]

หอสวดหรือหอประชุม แก้

หอสวดหรือหอประชุม ตั้งอยู่กลางพื้นที่ของโรงเรียน เป็นอาคารรูปทรงโกธิกที่ผสานรูปแบบศิลปกรรมไทยตามแนวคิดของศาสนสถานในพระพุทธศาสนาไว้อย่างกลมกลืน หน้าบันของหอประชุมทั้ง 4 ด้านจำหลักไม้เป็นสัญลักษณ์แทนองค์เทพทั้งสี่ในศาสนาฮินดู หอประชุมนี้จึงเปรียบเสมือนวิมานของทวยเทพ และเป็นที่ประชุมสวดมนต์ไหว้พระของนักเรียน ประกอบพิธีกรรมสำคัญของโรงเรียนสืบมาจนปัจจุบัน[ต้องการอ้างอิง]

หอประชุมนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาทรงวางศิลาพระฤกษ์เมื่อวันจันทร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2458 และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเหยียบหอสวดของโรงเรียนมหาดเล็กหลวงเป็นปฐม เมื่อวันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2460[ต้องการอ้างอิง]

เอ็ดเวิร์ด ฮิลลี่ ออกแบบหอสวดประจำโรงเรียนมหาดเล็กหลวงให้เป็นไปตามแบบของพับลิกสกูลในอังกฤษ คืออยู่ตรงกลางโรงเรียน แต่ยังคงความเป็นไทยด้วยการใช้สถาปัตยกรรมไทยและให้หันหน้ามาทางทิศตะวันออก[ต้องการอ้างอิง]

สุดทางเดินของหอสวดด้านทิศตะวันตก ประดิษฐานธรรมาสน์บุษบกซึ่งได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาประดิษฐานใว้ ธรรมาสน์บุษบกนี้ได้รับมาจากงานพระศพของพลเรือเอก สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ กรมหลวงนครราชสีมา โดยมีสัญลักษณ์ให้สังเกตและจำได้ว่าเป็นของพระองค์คือมีรูปราชสีห์จำหลักไม้ปิดทองเป็นฐานทั้ง 4 ด้านกับมีราชสีห์ปิดทองหมอบรองรับขั้นบันไดขึ้นธรรมาสน์ 3 ขั้น รูปราชสีห์นั้นสันนิษฐานว่า น่าจะมีที่มาจากพระนามกรมนครราชสีมา แหงนขึ้นไปมองด้านบนจะพบกับพระวิสูตร 3 องค์ สำหรับประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ขององค์บรมราชูปถัมภกวชิราวุธวิทยาลัย องค์กลางประดิษฐานพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์บรมราชภูษิตาภรณ์ องค์ซ้ายประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉลองพระองค์จอมพล จอมทัพบกสยาม และองค์ขวาประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงฉลองพระองค์เต็มยศจอมพล ผู้บังคับการพิเศษกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมฉายาลักษณ์ทั้ง 3 องค์นี้ ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิสูตร ซึ่งจะเปิดต่อเมื่อมีงานประจำปีของโรงเรียนเท่านั้น[ต้องการอ้างอิง] ลงมาข้างล่าง จะพบกับหน้าบันที่ไม่เหมือนกันทั้ง 4 ด้านของหอสวดแห่งนี้

ทิศตะวันออก หรือด้านหน้าของหอสวด เป็นตราพระราชลัญจกรพระวชิระ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระอินทร์ในคัมภีร์ไตรเพท ซึ่งเป็นมูลรากแห่งศาสนาพราหมณ์นั้น พระอินทร์เป็นพระเจ้าใหญ่ยิ่งกว่าเทวดาทั้งหลาย นับว่าเป็นเจ้าแห่งฟ้า เป็นผู้ถือไว้ซื่งอสุนีบาต และเป็นผู้บันดาลให้ฝนตกเพื่อบำรุงพืชผลทั้งปวงในแผ่นดิน[ต้องการอ้างอิง]

ทิศเหนือ เป็นตราพระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระนารายณ์ ซึ่งเป็นพระเป็นเจ้าองค์หนึ่งในหมู่พระเป็นเจ้าทั้ง 3 ในศาสนาพราหมณ์ มีความในหนังสือวิษณุปุราณะ ซึ่งเป็นตำรับสำหรับแสดงเรื่องพระวิษณุสรุปไว้ตอนหนึ่งว่า โลกนี้ไซร้ ได้บังเกิดมาแต่พระวิษณุ โลกนี้มีอยู่ในพระองค์ พระองค์เป็นผู้บันดาลให้โลกนี้คงอยู่และสูญไป[ต้องการอ้างอิง]

ทิศตะวันตก เป็นตราพระราชลัญจกรหงส์พิมาน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระพรหม ซึ่งเป็นพระเป็นเจ้าองค์หนึ่งในหมู่พระเป็นเจ้าทั้ง 3 ในศาสนาพราหมณ์ นับถือว่าเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งทั้งปวง เป็นสยัมภู คือเกิดขึ้นอีกเอง กำเนิดของพระพรหมนี้ ตามคัมภีร์ต่าง ๆ ข้างศาสนาพราหมณ์มีเล่าเรื่องไว้ต่าง ๆ กันหลายอย่าง พระมนูว่าแรกบังเกิดนั้นเป็นไข่ฟองใหญ่ก่อน ไข่แตกออกแล้วจึ่งเป็นองค์พระพรหม แต่หนังสือมหาภารตะและคัมภีร์ปุราณะบางฉบับว่า พระพรหมาได้เกิดขึ้นในดอกบัวหลวง ซึ่งผุดขึ้นมาจากพระนาภีพระนารายณ์ พรหมาปุราณะกลับว่าพระพรหมา ฤๅในที่นี้เรียกว่า ‘อาปวะ’ ได้แบ่งพระองค์เป็น 2 ภาค เป็นชายภาคหนึ่ง หญิงภาคหนึ่ง และพระนารายณ์ได้เกิดมาแต่ภาคทั้งสองนี้ แล้วพระนารายณ์จึ่งสร้างพระวิราช ซึ่งเป็นบิดาของมนุษย์คนแรก แต่ในคัมภีร์นี้เองมีฎีกาอธิบายไว้ว่า ในชั้นต้นพระนารายณ์ได้สร้างพระอาปวะ ฤๅ วิสิษฎ ฤๅ วิราช ขึ้น โดยอาสํยกำลังพระพรหมา แล้วพระวิราชจึ่งสร้างพระมนูซึ่งเป็นบิดาแห่งมนุษย์ทั้งหลายอีกชั้นหนึ่ง[ต้องการอ้างอิง]

ทิศใต้ เป็นตราพระราชลัญจกรมหาโองการ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระอิศวรซึ่งเป็นพระเป็นเจ้าองค์หนึ่งในหมู่พระเป็นเจ้าทั้งสามในศาสนาพราหมณ์ ถือว่าเป็นผู้ล้างฤๅทำลาย แต่โดยเหตุที่ในศาสนาพราหมณ์ถือว่าสัตว์ไม่ตายสูญเลย คงท่องเที่ยวอยู่ในวัฏสงสาร จึ่งไม่ถือว่าพระอิศวรเป็นผู้ผลาญอย่างเดียว ทั้งเป็นผู้สร้างขึ้นใหม่ด้วย เพราะฉะนั้น นับว่าเป็นผู้ที่เปลี่ยนแปลงของเก่าให้เป็นใหม่ดีขึ้น[ต้องการอ้างอิง]

ตึกวชิรมงกุฎ แก้

ตึกวชิรมงกุฎ เป็นตึกเรียน 2 ชั้น มีทั้งหมด 12 ห้องเรียน สร้างขึ้นโดยเงินทุนพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและเงินสะสมของโรงเรียนในวงเงินค่าก่อสร้าง 105,900 บาท เป็นตึกทรงไทย 2 ชั้น มีมุขหน้าและมุขหลัง ที่ตอนปลายอาคารทั้งสองด้านหลังคาลดสามชั้นพร้อมช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ หน้าบันมุขหน้าเป็นปูนปั้นลายใบเทศ การก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าพี่ยาเธอ กรมขุนชัยนาทนเรนทร เสด็จแทนพระองค์ทรงเปิดตึกเรียนถาวรที่ได้พระราชทานนามว่าตึกวชิรมงกุฎ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2475

อาคารเพชรรัตน แก้

อาคารเพชรรัตน เป็นอาคาร 2 ชั้น ตั้งชื่อตามพระนามของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ใช้เงินค่าก่อสร้างจากเงินส่วนพระองค์และเงินจากการแสดงละครพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 6 ออกแบบโดยหม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ นักเรียนเก่ามหาดเล็กหลวง และคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารนี้เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2506

อาคารสุวัทนา แก้

อาคารสุวัทนา เป็นอาคารเรียน 2 ชั้น ตั้งชื่อตามพระนามของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ 6 และเป็นพระมารดาของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ออกแบบโดย หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคารนี้เมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2507

อาคารประชาธิปก แก้

อาคารประชาธิปก เป็นอาคารเรียน 3 ชั้น ตั้งชื่อตามพระนามของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในโอกาสพระบรมราชสมภพครบ 100 ปี ออกแบบโดยนายโอภาส สายะเสวี สถาปนิกประจำสำนักพระราชวัง สิ้นค่าก่อสร้าง 11,400,000 บาท สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีเสด็จมาทรงเปิดเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2536

ตึกวชิราวุธานุสรณ์ แก้

ตึกวชิราวุธานุสรณ์ เป็นอาคารกีฬาในร่มเอนกประสงค์ (Indoor Stadium) ที่สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ บริจาคทุนทรัพย์จากเงินรายได้การจัดงานวชิราวุธานุสรณ์ ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ จัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2514 โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดตึกวชิราวุธานุสรณ์นี้เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2514 ต่อมาใน พ.ศ. 2548 จึงได้รื้ออาคารเดิมซึ่งชำรุดทรุดโทรมลง และก่อสร้างอาคารกีฬาในร่มใหม่แทนอาคารเดิม การก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดใช้งานเมื่อปี พ.ศ. 2550

อาคารเวสสุกรรมสถิต แก้

เป็นตึก 3 ชั้นรูปทรงสถาปัตยกรรมไทยสร้างขึ้นทดแทนตึกเรียนวิชาหัตถศึกษา การก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2543 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามอาคารเรียนศิลปกรรมหลังใหม่นี้ว่า ‘ตึกเวสสุกรรมสถิต’ และโปรดเกล้าฯ ให้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเปิดอาคารนี้เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543

อาคารวชิราวุธ 100 ปี แก้

อาคารวชิราวุธ 100 ปี สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสที่วชิราวุธวิทยาลัยมีอายุครบ 100 ปี ใน พ.ศ. 2553 เป็นอาคารสูง 5 ชั้น ลักษณะอาคารเป็นงานสถาปัตยกรรมไทย มี 19 ห้องเรียน มีพื้นที่ใช้งาน 3,000 ตารางเมตร มีความพร้อมที่จะใช้สื่อการสอนที่ทันสมัย โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเปิดอาคารนี้เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2555

หอประวัติ แก้

หอประวัติ เดิมเป็นตึกพยาบาล เป็นอาคารสำหรับพยาบาลนักเรียนเจ็บป่วย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2475 เป็นการทำผาติกรรมทดแทน ‘พระตำหนักสมเด็จ’ ซึ่งโรงเรียนจัดเป็นตึกพยาบาล แต่ได้โปรดเกล้าฯ ให้รือย้ายไปปลูกสร้างเป็นกุฏิสงฆ์วัดราชาธิวาส ต่อมาได้เปลี่ยนตึกพยาบาลนี้เป็นหอประวัติ และให้ย้ายตึกพยาบาลไปไว้ในสถานที่ที่เหมาะสม

อาคารนวมภูมินทร์ แก้

อาคารนวมภูมินทร์ เป็นอาคารเอนกประสงค์คอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทยประเพณี 3 ชั้น ออกแบบโดยนิธิ สถาปิตานนท์ ศิษย์เก่าซึ่งตั้งใจสร้างอาคารใหม่ให้กลมกลืนกับอาคารเก่าโดยรอบ ผสมผสานวัสดุแบบโบราณกับเทคโนโลยีสมัยใหม่

ปัจจุบันชั้นล่างจัดเป็นห้องประชุมขนาดเล็ก ห้องทำงานผู้บังคับการ ห้อง Community Room ห้องพักครู และห้องเอนกประสงค์ ชั้นที่ 2 จัดเป็นห้องประชุมใหญ่ ชั้นที่ 3 จัดเป็นห้องรับรองและห้องประชุม ชื่อนวมภูมินทร์นี้ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2561

หอนาฬิกา แก้

คณะข้าราชบริพารในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในนาม ‘คณะละครไทยเขษม’ ได้ร่วมกันจัดแสดงละครพระราชนิพนธ์เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 1 มกราคม พ.ศ. 2471 – 2472 เพื่อจัดหารายได้ก่อสร้างหอนาฬิกาอุทิศเป็นพระราชกุศล เมื่อ พ.ศ. 2473 โดยหอนาฬิกานี้นำนาฬิกาเรือนใหญ่ที่เคยติดบนหอประชุมของโรงเรียนราชวิทยาลัย ซึ่งพระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) ผู้บังคับการในขณะนั้นได้ให้พระสาโรชรัตนนิมมานก์ และศาสตราจารย์หลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) ร่วมกันออกแบบหอนาฬิกาพร้อมระฆังรูปสี่เหลี่ยมมีลวดลายเป็นพิเศษแบบสุโขทัย

กิจกรรมนักเรียน แก้

กีฬา แก้

วชิราวุธวิทยาลัยส่งเสริมให้นักเรียนได้เล่นกีฬา รวมทั้ง มีการจัดการแข่งขันกีฬาภายในทุกปี โดยมีการแบ่งประเภทกีฬาออกเป็นภาคการศึกษา ดังนี้

( ระเบียบแถว ) เป็น กีฬาที่ไม่ใช้แรงในการเล่นแต่เป็นการใช้ความอดทนการฝึกฝนที่ได้มาอย่างเป็นระเบียบ

โดยกีฬาแต่ละประเภทที่แข่งขัน คณะที่ชนะเลิศจะได้รับถ้วยรางวัลซึ่งแต่ละถ้วยรางวัลจะเป็นถ้วยรางวัลที่ได้รับพระราชทาน อาทิ ถ้วยชนะเลิศรักบี้ฟุตบอลรุ่นใหญ่ เป็นถ้วยพระราชทานของ กีฬาหลักของโรงเรียน คือ รักบี้ โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่ารักบี้นั้นจะเป็นกีฬาที่สอนให้นักเรียนรู้จักแพ้ ชนะ และอภัย และจะฝึกให้นักเรียนเป็นสุภาพบุรุษอย่างสมบูรณ์แบบ รักบี้ประเพณีกับมาเลย์ คอลเลจ (Malay College Kuala Kangsar) จากประเทศมาเลเซียจะถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุก ๆ ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 และรักบี้ประเพณีกับ Saad foundation school ประเทศมาเลเซีย[2]

ด้วยวชิราวุธวิทยาลัยเป็นโรงเรียนประจำชายล้วน จึงทำให้ที่นี่มีกีฬาให้เล่นเยอะมาก ได้แก่ รักบี้ฟุตบอลซึ่งเป็นกีฬาหลักของโรงเรียน มินิรักบี้ ฟุตบอล บาสเกตบอล ปิงปอง แบดมินตัน เทนนิส สควอช ไฟฟ์ ว่ายน้ำ กรีฑา โดยจะมีการแข่งขันกีฬาภายในระหว่างคณะเป็นประจำทุกปี คณะใดชนะเลิศจะได้ครองถ้วยรางวัลเงินแท้ หากเป็นรุ่นใหญ่มูลค่าถ้วยเกือบแสนเลยทีเดียว

นอกจากจะมีการแข่งขันกีฬาต่าง ๆ ที่นี่ยังมีการแข่งขันระเบียบวินัย การแข่งขันทดสอบสมรรถภาพร่างกาย กิจกรรมดนตรี และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่เรียกว่าชมรมวันเสาร์ ซึ่งให้เวลาเรียนรู้ตลอดวัน เพื่อเพิ่มทักษะและประสบการณ์ต่าง ๆ นอกห้องเรียน

หอพัก หรือคณะ แก้

วชิราวุธวิทยาลัยมีหอพัก หรือที่เรียกว่า "คณะ" เพื่อให้นักเรียนใช้เป็นที่พักอาศัยในช่วงระหว่างที่อยู่โรงเรียนสามอาทิตย์ คณะหนึ่งนั้นจะมีนักเรียนประมาณ 85 คน แต่ละคณะนั้นจะแบ่งกระจายนักเรียนของแต่ละชั้นเรียนให้เท่า ๆ กัน แบ่งเป็นสองฝั่ง คือ คณะเด็กใน และ คณะเด็กเล็ก โดยที่คณะเด็กในจะใช้เป็นที่พักพิงของนักเรียนตั้งแต่ชั้น ม.1 ถึง ม.6 ทั้งนี้ มีด้วยกันอยู่ 6 คณะ คือ คณะผู้บังคับการ คณะดุสิต คณะจิตรดา คณะพญาไท คณะจงรักภักดี คณะศักดิ์ศรีมงคล ส่วนคณะเด็กเล็กนั้นจะใช้เป็นที่พักของเด็กนักเรียนชั้น ป.4 ถึง ป.6 เมื่อนักเรียนแต่ละคนเข้าเรียนชั้น ม.1 แล้วจะทำการย้ายเข้าไปอยู่เด็กในกับรุ่นพี่ คณะของคณะเด็กเล็ก ได้แก่ คณะสนามจันทร์ คณะนันทอุทยาน และคณะสราญรมย์ การปกครองของคณะเด็กใน และเด็กเล็กนั้นจะต่างกันเพียงเล็กน้อย โดยคณะเด็กเล็กนั้นจะมีหัวหน้าครูคณะ และครูคณะมาช่วยดูแล และควบคุมเด็ก ๆ ส่วนคณะเด็กในนั้นจะมีเพียงผู้กำกับคณะคอยดูแล และหน้าที่ควบคุมเด็กในคณะนั้นจะตกอยู่กับรุ่นพี่หัวหน้าคณะโดยมีผู้กำกับคณะเป็นที่ปรึกษา การปกครองในคณะเด็กในนั้นจะเป็นระบบรุ่นพี่ รุ่นน้อง โดยจะเน้นอยู่ว่า "การจะเป็นผู้นำที่ดีได้ ต้องเคยเป็นผู้ตามที่ดีมาก่อน" ดังนั้น ก่อนที่นักเรียนแต่ละคนจะมาเป็นหัวหน้าคณะปกครองรุ่นน้อง ก็จะเคยเป็นผู้ตามถูกปกครองโดยรุ่นพี่มาก่อน และเรียนรู้การปกครองนั้นมาปกครองรุ่นน้องถัด ๆ ไป

ตึกครูและนักเรียน มีที่มาจากคำว่า House ซึ่งแปลว่า บ้าน เพราะอาคารที่จัดเป็นตึกครูและนักเรียนนั้น ในพับลิกสกูลของอังกฤษคือบ้านพักของนักเรียนที่อยู่ประจำในโรงเรียน เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์ให้โรงเรียนนี้เป็นเสมือนพระอารามหลวงประจำรัชกาล จึงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกบ้านของนักเรียนในโรงเรียนนี้ว่า ‘คณะ’ เช่นเดียวกับการเรียกหมู่กุฎิสงฆ์ในพระอารามซึ่งรวมหมู่กัน โดยมีครูกำกับกับคณะ หรือ House Master หรือที่เรียกกันว่าผู้กำกับคณะ เป็นเสมือนพระภิกษุอาวุโสที่ทำหน้าเจ้าคณะปกครองดูแลสงฆ์

เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหอสวดโรงเรียนมหาดเล็กหลวงใน พ.ศ. 2458 ก็โปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกครูและนักเรียนที่ 4 มุมโรงเรียนไปพร้อมกัน โดยเอ็ดเวิร์ด ฮิลลี่เป็นผู้ออกแบบอาคารทั้งสี่คณะแรก

นอกจากมีผู้กำกับคณะ ยังมีหัวหน้าคณะ คือกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่ได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าดูแลความเรียบร้อยในคณะตนเอง

คณะผู้บังคับการ (School House) แก้

คณะผู้บังคับการ มีที่มาจากชื่อภาษาอังกฤษของคณะคือ School House เพื่อรักษาประเพณีของ Public schools ที่คณะนี้มีผู้บังคับการเป็นผู้กำกับคณะ เป็นสถาปัตยกรรมแบบทวารวดี สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2459 สิ้นงบประมาณ 120,000 บาท

คณะดุสิต (Dusit House) แก้

คณะดุสิต มาจากนามของพระราชวังดุสิต เป็นสถาปัตยกรรมแบบอยุธยา สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2459 สิ้นงบประมาณ 130,000 บาท แต่ต่อมาเสียหายจากการทิ้งระเบิดของเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ส่วนหนึ่งของอาคารคณะดุสิตได้ถูกทำลายลง และมีการบูรณะขึ้นใหม่ใน พ.ศ. 2496 โดยต่อมาได้มีการบูรณะคณะดุสิตขึ้นใหม่อีกครั้งใน พ.ศ. 2553 จนสภาพเป็นเช่นในปัจจุบัน

คณะจิตรลดา (Chitrlada House) แก้

คณะจิตรลดา มาจากนามของพระตำหนักจิตรลดารโหฐานในพระราชวังดุสิต เป็นสถาปัตยกรรมแบบรัตนโกสินทร์ สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2459 สิ้นงบประมาณ 145,000 บาท ว่ากันว่า ก่อสร้างคณะจิตรลดาให้วิจิตรงดงามที่สุดเพราะว่าคณะนี้เป็นทางเสด็จผ่านเข้าโรงเรียนในงานประจำของโรงเรียน

คณะพญาไท (Phyathai House) แก้

คณะพญาไท มาจากนามของพระราชวังพญาไท เป็นสถาปัตยกรรมแบบสุโขทัย สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2459 สิ้นงบประมาณ 125,000 บาท สีประจำคณะคือสีชมพู นักเรียนคณะนี้ขึ้นชื่อเรื่องกีฬาว่ายน้ำ

คณะจงรักภักดี และคณะศักดิ์ศรีมงคล แก้

ต่อมาเมื่อวชิราวุธวิทยาลัยขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้จำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความแออัดในการพักอาศัย จึงได้มีการสร้างตึกนักเรียนขึ้นใหม่อีก 4 คณะ ได้แก่คณะจงรัก คณะภักดี คณะศักดิ์ศรี และคณะมงคล โดยในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2542 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์มาเปิดอาคารคณะใหม่ทั้ง 4 คณะ ซึ่งต่อมาได้มีการยุบรวมคณะทั้งสี่นี้ โดยให้เหลือเพียง 2 คณะ เป็น คณะจงรักภักดี และคณะศักดิ์ศรีมงคล

ประเพณีโรงเรียน แก้

เพลงโรงเรียน[3] แก้

หนึ่งในประเพณีของวชิราวุธวิทยาลัย คือ การร้องเพลงในงานสำคัญต่าง ๆ รวมถึงเพลงเชียร์กีฬา โดยเพลงที่มักจะได้ยินบ่อย ๆ มีดังนี้

  • เพลงมหาวชิราวุธราชสดุดี ประพันธ์โดยท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล ณ อยุธยา และทำนองโดย โฉลก เนตรสูตร เป็นเพลงประจำโรงเรียนมักถูกขับร้องในงานพิธีสำคัญ เพื่อเทิดทูนพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้สถาปนาโรงเรียน
  • เพลง Graduates Song Goodbye เป็นเพลงภาษาอังกฤษทำนองและเนื้อร้องโดย F.Rico ถูกขับร้องในงานพระราชทานประกาศนียบัตรนักเรียนเก่า โดยนักเรียนปัจจุบันที่กำลังจะจบการศึกษา เนื้อหาของเพลงนั้นเพื่อนึกถึงอนาคตเมื่อออกไปจากโรงเรียน และรำลึกถึงชีวิตในโรงเรียน
  • เพลงอีกสี่สิบปี ประพันธ์โดยท่านผู้หญิงดุษฎี มาลากุล ณ อยุธยา ทำนองนั้นคัดมาจาก Forty Years On ของโรงเรียนแฮร์โรว ในอังกฤษ มักถูกร้องในงานราชพิธีสำคัญ เนื้อหาในเพลงเพื่อรำลึกถึงชีวิตในโรงเรียน
  • เพลงเราเด็กในหลวง พระราชนิพนธ์โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทำนอง สิงโตเล่นหาง เป็นเพลงกลอนบรรเลงโดยวงดนตรีไทย เป็นเพลงปฏิญาณนึกถึงความสำคัญของนักเรียนมหาดเล็ก ดังมีตัวอย่างท่อนจบว่า "รักษาชาติศาสนากว่าจะตาย เป็นผู้ชายชาติไทยไม่ลืมเอย"
  • เพลงเชียร์กีฬา มักถูกขับร้องในการแข่งขันรักบี้ระหว่างโรงเรียน นอกจากนั้นสำหรับการแข่งขันภายใน แต่ละคณะก็จะมีเพลงเชีย์กีฬาของตัวเองอีกด้วย
  • เพลงจรรยานักกีฬา เป็นเพลงกลอนมักถูกขับร้องก่อนการแข่งขันกีฬาระหว่างคณะ เพื่อนึกถึงจรรยาของนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย

ผู้บังคับการ แก้

ผู้บังคับการ เป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบสูงสุดในการดูแลจัดการวชิราวุธวิทยาลัย เป็นทั้งหัวหน้าฝ่ายบริหาร และครูใหญ่ รวมทั้งผู้รับใบอนุญาตผู้จัดการโรงเรียน ทั้งนี้ เมื่อตำแหน่งผู้บังคับการว่างลง คณะกรรมการอำนวยการวชิราวุธวิทยาลัย จะดำเนินการสรรหาผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย และนำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อขอพระบรมราชานุมัติ จึงจะสามารถดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัยโดยสมบูรณ์

อาจารย์ใหญ่/ผู้บังคับการ
ลำดับ ชื่อ ตำแหน่ง ระยะเวลา
1 พระยาโอวาทวรกิจ (เหม ผลพันธิน) อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 - 8 กันยายน พ.ศ. 2455
2 พระยาบริหารราชมานพ (ศร ศรเกตุ) อาจารย์ใหญ่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง
ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
8 กันยายน พ.ศ. 2455 - 11 เมษายน พ.ศ. 2458
11 เมษายน พ.ศ. 2458 - 26 มีนาคม พ.ศ. 2460
3 พระยาบรมบาทบำรุง (พิณ ศรีวรรธนะ) ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง
ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย
26 มีนาคม พ.ศ. 2460 - 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469
4 พฤษภาคม พ.ศ. 2476 - 1 สิงหาคม พ.ศ. 2478
4 พระยาปรีชานุสาสน์ (เสริญ ปันยารชุน) ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469 - 16 เมษายน พ.ศ. 2476
5 อำมาตย์เอก พระพณิชยสารวิเทศ (ผาด มนตธาตุผลิน) ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย 1 สิงหาคม พ.ศ. 2478 - 1 มกราคม พ.ศ. 2486
6 มหาอำมาตย์ตรี พระยาภะรตราชา (หม่อมหลวงทศทิศ อิศรเสนา) ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย 1 มกราคม พ.ศ. 2486 - 28 ธันวาคม พ.ศ. 2518
7 ศาสตราจารย์ ดร.กัลย์ อิศรเสนา ณ อยุธยา ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2519 - 30 มิถุนายน พ.ศ. 2539
8 ศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย 30 มิถุนายน พ.ศ. 2539 - 28 มิถุนายน พ.ศ. 2550
9 ดร.สาโรจน์ ลีสวรรค์ ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย 28 มิถุนายน พ.ศ. 2550 - 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559
10 ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรวุธ กิจกุศล ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย 9 มิถุนายน พ.ศ. 2559 - 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564
11 เกียรติคุณ ชาติประเสริฐ ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย 1 มีนาคม พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน

รายพระนามและรายนามนักเรียนเก่าที่มีชื่อเสียง แก้

นักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง
ลำดับ พระนาม/นาม เกียรติประวัติ
1 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา [4] ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
2 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิวัฒนไชย [5] รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
3 หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล [6] นักโบราณคดี อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร
4 หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล [7] ผู้กำกับภาพยนตร์ และศิลปินแห่งชาติ
5 หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี [8] ประธานมูลนิธิโครงการหลวง
6 หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ [9] สถาปนิก ผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมสถาปนิกสยามฯ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
7 หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล [10] นักการเกษตร
8 หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล [11] ผู้กำกับภาพยนตร์
10 หม่อมราชวงศ์เกษมสโมสร เกษมศรี [12] อดีตรองนายกรัฐมนตรี

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

11 พลตรี หม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์
(หม่อมราชวงศ์เฉลิมลาภ ทวีวงศ์)
[13]
องคมนตรี เลขาธิการพระราชวัง
12 หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล [14] บุคคลสำคัญของโลก ศิลปินแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
13 หม่อมหลวงทวีสันต์ ลดาวัลย์ [15] องคมนตรี ราชเลขาธิการ
16 จุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา [16] อดีตองคมนตรี

อดีตสมาชิกวุฒิสภา
อดีตกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา

17 พลากร สุวรรณรัฐ [17] องคมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้
18 เชาวน์ ณ ศีลวันต์ [18] องคมนตรี สมาชิกวุฒิสภา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
19 พูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ [19] เลขาธิการพระราชวัง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
20 จักรพันธุ์ โปษยกฤต [20] ศิลปินแห่งชาติ
21 นิธิ สถาปิตานนท์ [21] ศิลปินแห่งชาติ
22 วิจิตร คุณาวุฒิ [22] ศิลปินแห่งชาติ
23 เสวกตรี นายลิขิตสารสนอง (ชัพน์ บุนนาค) [23] [24] ลูกเสือคนแรกของไทย
25 ศาสตราจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช [25] อดีตผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย

อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน

26 ศาสตราจารย์พิเศษประกอบ หุตะสิงห์ [26] อดีตองคมนตรี อดีตประธานศาลฎีกา
27 สุเมธ ตันติเวชกุล [27] เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
28 อดิศัย โพธารามิก [28] อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

30 พลตำรวจเอก เภา สารสิน [29] อดีตอธิบดีกรมตำรวจ
31 พลตำรวจเอก อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช [30] อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
32 ประสพสุข บุญเดช [31] อดีตประธานวุฒิสภา, ผู้พิพากษาศาลฎีกา
33 จุลสิงห์ วสันตสิงห์ [32] อดีตอัยการสูงสุด
34 พระนาย สุวรรณรัฐ [33] ปลัดกระทรวงมหาดไทย
36 รองศาสตราจารย์วุฒิชัย กปิลกาญจน์ [34] อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
37 พชร อิศรเสนา ณ อยุธยา [35] ปลัดกระทรวงพาณิชย์, สมาชิกวุฒิสภา
38 ดุสิต นนทะนาคร [36] ประธานสภาหอการค้าไทย
39 ศาสตราจารย์พิเศษอำนวย วีรวรรณ [37] รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
40 ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย [38] ประธานวุฒิสภา ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้พิพากษาศาลฎีกา
42 พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา [39] ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สมาชิกวุฒิสภา
44 พันตำรวจเอก ดุษฎี อารยวุฒิ [40] รองปลัดกระทรวงยุติธรรม
45 พันเอก วินธัย สุวารี [41] โฆษกกองทัพบก
46 เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ [42] อธิบดีกรมสรรพากร
47 นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร [43] ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี
49 บรรยง พงษ์พานิช [44] นักธุรกิจ
50 พิภู พุ่มแก้ว [45] ผู้ประกาศข่าว
51 ธนากร โปษยานนท์ [46] นักแสดง พิธีกร
52 ณัฏฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา [47] นักแสดง พิธีกร
54 ธราวุธ นพจินดา [48] อดีตผู้ประกาศข่าวกีฬา

อดีตผู้บรรยายการแข่งขันกีฬาทางโทรทัศน์

55 ปรัชฌา สนั่นวัฒนานนท์ [49] นักแสดง
56 วรชาติ มีชูบท [50] นักประวัติศาสตร์
57 พลตำรวจเอก สมาน ธูปะคุปต์ [51] ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ
58 ศาสตราจารย์กิตติคุณเติมศักดิ์ กฤษณามระ [52] อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายกสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
59 ภราเดช พยัฆวิเชียร [53] อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นายกสภามหาวิทยาลัยศิลปากร
60 พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา [54] สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประธานกรรมการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
61 สยาม สังวริบุตร [55] ผู้กำกับละคร
62 ชาติเชื้อ กรรณสูต [56] สมาชิกวุฒิสภา กรรมการช่อง 7
63 ชวลิต เสริมปรุงสุข [57] ศิลปินแห่งชาติ
64 ดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก
65 สารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. "สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ : อาคารอนุรักษ์ ประจำปี 2525 อาคารเรียน โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-16. สืบค้นเมื่อ 2007-04-27.
  2. วชิราวุธาสาส์น : รายงานประจำปี 2548 หน้า 52 จาก โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
  3. วชิราวุธวิทยาลัย. (2543). เพลงโรงเรียน. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
  4. วรชาติ มีชูบท. (2561). ราชสำนักรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ: มติชน, หน้า 82-83
  5. "วิวัฒนไชย : ผู้ว่าการธนาคารชาติคนแรก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-05. สืบค้นเมื่อ 2020-06-04.
  6. ชีวิตและงาน ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล
  7. "ประวัติศิลปินแห่งชาติ (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-04. สืบค้นเมื่อ 2020-06-04.
  8. "สายสัมพันธ์นักเรียนเก่าวชิราวุธ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-06-05.
  9. วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนมหาดเล็กหลวงที่ถอดแบบการศึกษาจากอังกฤษ
  10. นักเรียนเก่าที่มีชื่อเสียง : หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล
  11. คุณชายอดัม'มองเรื่องโค้ชเช ชี้เรียนวชิราวุธเจอหนัก
  12. ประวัติย่อ หม่อมราชวงค์เกษมสโมสร เกษมศรี
  13. วรชาติ มีชูบท. (2561). ราชสำนักรัชกาลที่ 6. กรุงเทพฯ: มติชน, หน้า 82-83
  14. "ปิ่น มาลากุล - ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-05. สืบค้นเมื่อ 2020-06-04.
  15. "สายสัมพันธ์นักเรียนเก่าวชิราวุธ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-06-05.
  16. นักเรียนเก่าที่มีชื่อเสียง : จุลนภ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
  17. ประวัติพลากร สุวรรณรัฐ
  18. ประวัติเชาวน์ ณ ศีลวันต์
  19. "สายสัมพันธ์นักเรียนเก่าวชิราวุธ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-06-05.
  20. ข้อมูลศิลปิน (จักรพันธุ์ โปษยกฤต)
  21. "ประวัติศิลปินแห่งชาติ (นิธิ สถาปิตานนท์)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-04. สืบค้นเมื่อ 2020-06-04.
  22. "ประวัติศิลปินแห่งชาติ (วิจิตร คุณาวุฒิ)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-04. สืบค้นเมื่อ 2020-06-04.
  23. "ชมรมสายสกุลบุนนาค". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-02-21. สืบค้นเมื่อ 2020-06-05.
  24. ลูกเสือคนแรกแห่งสยามประเทศ
  25. ข่าวการถึงแก่อนิจกรรม ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช
  26. "สายสัมพันธ์นักเรียนเก่าวชิราวุธ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-06-05.
  27. ประว้ติสุเมธ ตันติเวชกุล
  28. ประวัติย่อ ดร.อดิศัย โพธารามิก (ครม.ชุดพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร)
  29. พล.ต.อ.เภา สารสิน อดีตรองนายกฯ-อธิบดีกรมตำรวจ ถึงแก่อนิจกรรมด้วยวัย 83
  30. พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช
  31. "ประวัติประสพสุข บุญเดช". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-12-05. สืบค้นเมื่อ 2020-06-09.
  32. ประวัติจุลสิงห์ วสันตสิงห์
  33. โปรดเกล้าฯพระนายนั่งปลัดมท.-มีผล7ต.ค.
  34. "รองศาสตราจารย์ วุฒิชัย กปิลกาญจน์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-09-06. สืบค้นเมื่อ 2020-06-04.
  35. "ประวัติชีวิตและผลงานพชร อิศรเสนา ณ อยุธยา" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-12-06. สืบค้นเมื่อ 2020-06-04.
  36. "ดุสิต นนทะนาคร นายกสมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-04. สืบค้นเมื่อ 2020-06-04.
  37. "สายสัมพันธ์นักเรียนเก่าวชิราวุธ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-06-05.
  38. เปิดบันทึกความเก่ง 'พรเพชร วิชิตชลชัย' ประธานวุฒิสภามีมาตั้งแต่เด็ก
  39. ประวัติพล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา
  40. ชีวิตที่พลิกผันของ ดุษฎี อารยวุฒิฯ
  41. "ประวัติวินธัย สุวารี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-04. สืบค้นเมื่อ 2020-06-04.
  42. "ชีวิตที่มีแบบแผนของดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2020-06-04. สืบค้นเมื่อ 2020-06-04.
  43. ผู้ว่าอุดรใหม่ “สิงห์ดำ” หนุ่มวัย 47 ปี
  44. "OPTIMISE - Aim to Be The Best : เปิดปรัชญาที่หล่อหลอม บรรยง พงษ์พานิช". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-09. สืบค้นเมื่อ 2020-06-09.
  45. ดีกรีนักเรียนนอก “ต๊ะ พิภู” ผู้ประกาศข่าวหนุ่มหล่อ “ข่าวเช้า MONO 29”
  46. ประวัติธนากร โปษยานนท์
  47. ประวัติณัฏฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา
  48. ธราวุธ นพจินดา สิ้นใจกะทันหัน อาการเดียวกับพี่ชาย
  49. บีเจ - ปรัชฌา สนั่นวัฒนานนท์ องค์ดำตอนเด็ก
  50. แด่ อาจารย์วรชาติ มีชูบท หอสมุดวชิราวุธานุสรณ์เคลื่อนที่ผู้จากลา
  51. "สายสัมพันธ์นักเรียนเก่าวชิราวุธ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-06-05.
  52. หอเกียรติยศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  53. "สายสัมพันธ์นักเรียนเก่าวชิราวุธ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-06-05.
  54. เว็บไซต์กรมกิจการผู้สูงอายุ : นายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา
  55. "'สยาม สังวริบุตร' ชกต่อย มะเร็ง และวงการบันเทิง". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-06-05.
  56. "สายสัมพันธ์นักเรียนเก่าวชิราวุธ". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-06-05.
  57. ชวลิต เสริมปรุงสุข

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

พิกัดภูมิศาสตร์: 13°46′32″N 100°31′08″E / 13.775497°N 100.518785°E / 13.775497; 100.518785