วิสุทธิมรรค
วิสุทธิมรรค (บาลี: Visuddhimagga, วิสุทฺธิมคฺค) เป็นคัมภีร์สำคัญคัมภีร์หนึ่ง ในพุทธศาสนานิกายเถรวาท ซึ่งได้รับการจัดลำดับความสำคัญเทียบเท่าชั้นอรรถกถา โดยมี พระพุทธโฆสะ ชาวอินเดีย เป็นผู้เรียบเรียงขึ้นในภาษาบาลี เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 10 มีเนื้อหาที่อธิบายเกี่ยวกับ ศีล สมาธิ และปัญญา ตามแนววิสุทธิ 7
ในปัจจุบัน คัมภีร์วิสุทธิมรรค ได้รับการยอมรับว่าเป็นผลงานสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งในทางพุทธศาสนา ได้รับการยกย่องจากนักวิชาการด้านพุทธศาสนาในหลายประเทศเป็นจำนวนมาก และได้รับการบรรจุในหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย ระดับชั้นเปรียญธรรม 8 ประโยค และเปรียญธรรม 9 ประโยค[1]
การแบ่งเนื้อหา
แก้คัมภีร์วิสุทธิมรรค มีการแบ่งเนื้อหาสาระทั้งหมดเป็น 23 ปริจเฉท ได้แก่[2]
- ศีลนิเทศ แสดงถึงการรักษาศีล
- ธุตังคนิเทศ แสดงถึงวิธีการบำเพ็ญธุดงควัตร
- กัมมัฏฐานคหณนิเทศ แสดงถึงบุพกิจเบื้องต้นก่อนการเจริญสมถกรรมฐาน
- ปฐวีกสิณนิเทศ แสดงถึงวิธีการเจริญปฐวีกสิณ โดยละเอียด
- เสสกสิณนิเทศ แสดงถึงวิธีการเจริญกสิณ ที่เหลืออีก 9 ประการ
- อสุภกัมมัฏฐานนิเทศ แสดงถึงวิธีการเจริญอสุภกรรมฐาน 10 ประการ
- ฉอนุสสตินิเทศ แสดงถึงวิธีการเจริญอนุสสติกรรมฐาน 6 ประการแรก ตั้งแต่พุทธานุสสติ ถึงเทวตานุสสติ
- อนุสสติกัมมัฏฐานนิเทศ แสดงถึงวิธีการเจริญอนุสสติกรรมฐาน ที่เหลืออีก 4 ประการ
- พรหมวิหารนิเทศ แสดงถึงวิธีการเจริญพรหมวิหารกรรมฐาน 4 ประการ
- อารุปปนิเทศ แสดงถึงวิธีการเจริญอรูปกรรมฐาน 4 ประการ
- สมาธินิเทศ แสดงถึงวิธีการเจริญอาหาเรปฏิกูลสัญญา และจตุธาตุววัตถาน
- อิทธิวิธนิเทศ แสดงถึงวิธีการแสดงฤทธิ์ต่างๆ 10 ประการ อันเป็นผลมาจากการเจริญสมถกรรมฐาน
- อภิญญานิเทศ แสดงถึงอภิญญา 6 ประการ อันเป็นผลจากการเจริญสมถกรรมฐาน
- ขันธนิเทศ แสดงถึงขันธ์ 5 อันเป็นภูมิของวิปัสสนากรรมฐาน
- อายตนธาตุนิเทศ แสดงถึงอายตนะ 12 และ ธาตุ 18 อันเป็นภูมิของวิปัสสนากรรมฐาน
- อินทริยสัจจนิเทศ แสดงถึงอินทรีย์ 22 และอริยสัจ 4 อันเป็นภูมิของวิปัสสนากรรมฐาน
- ปัญญาภูมินิเทศ แสดงถึงปฏิจจสมุปบาท 12 ประการ อันเป็นภูมิของวิปัสสนากรรมฐาน
- ทิฏฐิวิสุทธินิเทศ แสดงถึงวิธีการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนเห็นรูปนามตามความเป็นจริง
- กังขาวิตรณวิสุทธินิเทศ แสดงถึงวิธีการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนสิ้นความสงสัยในสภาวธรรม เพราะเห็นรูปนามพร้อมเหตุปัจจัย
- มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธินิเทศ แสดงถึงวิธีการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนข้ามพ้นวิปัสสนูปกิเลส
- ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธินิเทศ แสดงถึงวิธีการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนดำเนินไปตามวิถีของวิปัสสนาญาณ 9
- ญาณทัสสนวิสุทธินิเทศ แสดงถึงวิธีการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนได้บรรลุอริยมรรค เป็นพระอริยบุคคล
- ปัญญาภาวนานิสังสนิเทศ แสดงถึงอานิสงส์ของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
อ้างอิง
แก้- ↑ หลักสูตรการศึกษาบาลีปัจจุบัน | บาลีดิค.com เก็บถาวร 2012-02-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. เรียกข้อมูลวันที่ 10 ก.พ. 2554.
- ↑ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ), 2548 น. [18]-[21]
- สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถระ) (แปลและเรียบเรียง). คัมภีร์วิสุทธิมรรค. พิมพ์ครั้งที่ 6. กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2548. ISBN 974-91641-5-6
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้วิกิซอร์ซ มีงานต้นฉบับเกี่ยวกับ: