อริยบุคคล แปลว่า บุคคลผู้ประเสริฐ, ผู้ไกลจากข้าศึก, ผู้หักกำล้อสังสารวัฏได้แล้วแบ่งได้หลายประเภทคือแบ่งอย่างใหญ่ได้เป็น พระเสขะและพระอเสขะ แบ่งตามประเภทบุคคลมี 4 ประเภทคือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ และยังแบ่งย่อยเป็น 8 ประเภท จัดเป็น 4 คู่ได้อีก

อริยบุคคลแบ่งตามประเภทใหญ่

แก้

เสขะ

แก้

เสขะ แปลว่า ผู้ยังต้องศึกษาอยู่ คือยังต้องศึกษาไตรสิกขาคือศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อบรรลุมรรคผลที่สูงขึ้นไปอีก เรียกเต็มว่า พระเสขะ หรือ เสขบุคคล เสขะ คือพระอริยบุคคลที่ยังไม่ได้บรรลุ อรหันตผล หรือยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี และพระอนาคามี เสขะ หากได้บรรลุอรหันตผลเป็นพระอรหันต์แล้วก็เป็นอันพ้นจากความเป็นเสขะ และได้ชื่อว่าใหม่ว่า อเสขะ

อเสขะ

แก้

อเสขะ แปลว่า ผู้ไม่ต้องศึกษาอีก คือไม่ต้องศึกษาไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญาอีกต่อไป เพราะได้ศึกษาจบโดยได้บรรลุอรหันตผลแล้ว เรียกเต็มว่า พระอเสขะ หรือ อเสขบุคคล อเสขะ ได้แก่พระอริยบุคคลระดับสูงสุดคือพระอรหันต์ ผู้เสร็จกิจการศึกษาไตรสิกขาแล้ว ผู้ไม่มีกิจที่จะต้องบำเพ็ญเพื่อละกิเลสอีก

อริยบุคคลแบ่งตามประเภทบุคคล

แก้

โสดาบัน

แก้

โสดาบัน แปลว่า ผู้เข้าถึงกระแสธรรม ผู้แรกถึงกระแสธรรม (คืออริยมรรค) เป็นชื่อเรียกพระอริยบุคคลประเภทแรกใน 4 ประเภท คือ โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์ ผู้ได้บรรลุโสดาปัตติผลแล้วด้วยการละ สังโยชน์ เบื้องต่ำ 3 ประการได้คือ

  1. สักกายทิฏฐิ คือ ความเห็นเป็นเหตุถือตัวตน เช่นเห็นว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวตนของเรา
  2. วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย เช่นสงสัยในข้อปฏิบัติของตนว่าถูกต้องหรือไม่ สงสัยในพระรัตนตรัยหรือในอริยสัจ 4 ว่ามีจริงหรือไม่
  3. สีลัพพตปรามาส คือ ความเชื่อถือยึดมั่นว่าความศักดิ์สิทธิ์มีได้ด้วยศีลและพรตอย่างนั้นอย่างนี้ ข้อนี้ขยายความได้ว่ารักษาศีลแต่เพียงทางกาย ทางวาจา แต่ใจยังไม่เป็นศีล หรืออย่างน้อยก็ยังไม่เป็นศีลตลอดเวลา

ความเป็นพระโสดาบันนี้ก็เช่นเดียวกับความเป็นพระอริยบุคคลประเภทอื่น ๆ ที่มิได้จำกัดอยู่เฉพาะเพศบรรพชิต (นักบวช) เท่านั้น แม้ คฤหัสถ์ คือชายหรือหญิงผู้ครองเรือน ก็สามารถเป็นพระโสดาบันได้ เช่น ในสมัยพุทธกาลคฤหัสถ์ที่เป็นพระโสดาบันที่มีชื่อเสียงก็มีจำนวนมาก ได้แก่ นางวิสาขามหาอุบาสิกา อนาถบิณฑิกเศรษฐี พระเจ้าพิมพิสาร หมอชีวก เป็นต้น

การเข้าถึงกระแสธรรมของพระโสดาบันนั้น เป็นการยกระดับจิตใจของท่านอย่างถาวร ทำให้ท่านไม่สามารถกลับมาเป็นปุถุชนได้อีก เป็นผู้ที่จะไม่ไปเกิดในอบายภูมิ (เช่น นรก หรือ เดียรฉาน) ทั้งยังเป็นผู้ที่จะบรรลุพระนิพพานในเบื้องหน้าอย่างแน่นอน

โสดาบันอาจจำแนกได้เป็น

  • จูฬโสดาบัน​ คือ ​กัลยาณปุถุชน​ผู้​แทงตลอดลำ​ดับแห่งนามรูปปริ​เฉทญาณ​ ​ที่​ 1 ถึง ​ลำ​ดับโคตรภูญาณที่​ 13 ตามสมควร
  • มหา​โสดาบัน​ คือ ​อริยบุคคล​ผู้​แทงตลอด​ใน​ลำ​ดับแห่งญาณ​ 16 ​โดย​สมบูรณ์​

สกทาคามี

แก้

สกทาคามี หรือ สกิทาคามี แปลว่า ผู้กลับมาเพียงครั้งเดียว เป็นชื่อเรียกพระอริยบุคคลลำดับที่ 2 ใน 4 ประเภท ที่เรียกว่า "ผู้กลับมาเพียงครั้งเดียว" หมายถึง พระสกิทาคามีจะเกิดในกามาวจรภพอีกเพียงครั้งเดียวเท่านั้นก็จะถึงพระนิพพาน ผู้ได้บรรลุสกทาคามิผลคือผู้ที่ละสังโยชน์เบื้องต่ำ 3 ประการแรกได้เช่นเดียวกับพระโสดาบัน อีกทั้งทำสังโยชน์เบื้องต่ำอีกสองประการที่เหลือให้เบาบางลงด้วยคือ

  • กามราคะ หมายถึง ความพอใจในกาม คือ การความเพลินในการได้เสพ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ ที่น่าพอใจ
  • ปฏิฆะ หมายถึง ความกระทบกระทั่งในใจ คล้ายความพยาบาทอย่างละเอียด

หากสังโยชน์เบื้องต่ำทั้งสองประการนี้หมดไปก็จะเป็นพระอนาคามี

อนาคามี

แก้

อนาคามี แปลว่า ผู้ไม่มาเกิดอีก หมายความว่าจะไม่กลับมาเกิดในกามาวจรภพอีก แต่จะเกิดใน พรหมโลก อีกเพียงครั้งเดียว แล้วจะนิพพานจากพรหมโลกนั้นเลย เป็นชื่อเรียกพระอริยบุคคลประเภทที่ 3 ใน 4 ประเภท คือ โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์ เป็นผู้ละสังโยชน์เบื้องต่ำ (โอรัมภาคิยสังโยชน์) ทั้ง 5 ประการได้แล้ว ยังเหลือสังโยชน์เบื้องสูง (อุทธัมภาคิยสังโยชน์) อีก 5 ประการ คือ

  1. รูปราคะ หมายถึง ความพอใจในรูปฌาน หรือ รูปธรรมอันประณีต หรือ ความพอใจในรูปภพ
  2. อรูปราคะ หมายถึง ความพอใจในอรูปฌาน หรือ พอใจในอรูปธรรม เช่น ความรู้ เป็นต้น หรือ ความพอใจในอรูปภพ
  3. มานะ หมายถึง ความสำคัญตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เช่น เป็นพระอนาคามี (แม้ว่าจะเป็นจริง ๆ) เป็นต้น
  4. อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งของจิต
  5. อวิชชา คือ ความไม่รู้แจ้ง

อนึ่งพึงเข้าใจว่า แม้สังโยชน์เบื้องสูงบางข้อจะมีชื่อเหมือนกิเลสอย่างหยาบที่ยังมีในปถุชน (ผู้ยังไม่เป็นบรรลุเป็นพระอริยบุคคล) เช่น มานะ อุทธัจจะ หรือ อวิชชา แต่สังโยชน์เบื้องสูงอันเป็นกิเลสที่ยังหลงเหลืออยู่ในจิตใจของพระอนาคามีนั้น เป็นกิเลสที่ละเอียดกว่าของปถุชนอย่างมาก

อรหันต์

แก้

พระอรหันต์ คือ ผู้สำเร็จธรรมวิเศษสูงสุดในพระพุทธศาสนา พระอริยบุคคลชั้นสูงสุด สามารถละสังโยชน์ได้ครบ 10 ประการ

อริยบุคคล แบ่งตามประเภทย่อย

แก้
  • คู่ที่ 1 พระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค - โสดาปัตติผล
  • คู่ที่ 2 พระผู้ตั้งในสกิทาคามิมรรค - สกิทาคามิผล
  • คู่ที่ 3 พระผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรค - อนาคามิผล
  • คู่ที่ 4 พระผู้ตั้งอยู่ในอรหัตมรรค - อรหัตผล

อ้างอิง

แก้