อนาคามี
อนาคามี แปลว่า ผู้ไม่มาเกิดอีก หมายความว่าจะไม่กลับมาเกิดในกามาวจรภูมิอีก แต่จะเกิดใน พรหมโลก อีกครั้งเดียวหรือหลายครั้งก็ได้ (เกิดในพรหมโลกหลายครั้ง เช่น อุทธังโสโต อกนิฏฐคามี) แล้วจะบรรลุอรหันต์แล้วนิพพานบนพรหมโลกนั้น
การละสังโยชน์
แก้อนาคามี เป็นชื่อเรียกพระอริยบุคคลขั้นที่ 3 จากทั้งหมด 4 ขั้น ได้แก่ โสดาบัน สกทาคามี อนาคามี อรหันต์ พระอนาคามีเป็นผู้ละสังโยชน์เบื้องต่ำ (โอรัมภาคิยสังโยชน์) ทั้ง 5 ประการได้แล้ว ยังเหลือสังโยชน์เบื้องสูง (อุทธัมภาคิยสังโยชน์) อีก 5 ประการ คือ
- รูปราคะ หมายถึง ความพอใจในรูปฌาน หรือ รูปธรรมอันประณีต หรือ ความพอใจในรูปภพ
- อรูปราคะ หมายถึง ความพอใจในอรูปฌาน หรือ พอใจในอรูปธรรม เช่น ความรู้ เป็นต้น หรือ ความพอใจในอรูปภพ
- มานะ หมายถึง ความสำคัญตนว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เช่น เป็นพระอนาคามี (แม้ว่าจะเป็นจริง ๆ) เป็นต้น
- อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งของจิต
- อวิชชา คือ ความไม่รู้แจ้ง
อนึ่งพึงเข้าใจว่า แม้สังโยชน์เบื้องสูงบางข้อจะมีชื่อเหมือนกิเลสอย่างหยาบที่ยังมีในปถุชน (ผู้ยังไม่เป็นบรรลุเป็นพระอริยบุคคล) เช่น มานะ อุทธัจจะ หรือ อวิชชา แต่สังโยชน์เบื้องสูงอันเป็นกิเลสที่ยังหลงเหลืออยู่ในจิตใจของพระอนาคามีนั้น เป็นกิเลสที่ละเอียดกว่าของปถุชนอย่างมาก
ประเภท
แก้พระอนาคามี มีอยู่ 5 ประเภท ได้แก่
- 1. อันตราปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานในระหว่าง คือ เกิดในสุทธาวาสภพใดภพหนึ่งแล้ว อายุยังไม่ถึงกึ่ง ก็ปรินิพพานโดยกิเลสปรินิพพาน
- 2. อุปหัจจปรินิพพายี ผู้จวนจะถึงจึงปรินิพพาน คือ อายุพ้นกึ่งแล้ว จวนจะถึงสิ้นอายุจึงปรินิพพาน
- 3. อสังขารปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานโดยไม่ต้องใช้แรงชักจูง คือ ปรินิพพานโดยง่าย ไม่ต้องใช้ความเพียรนัก
- 4. สสังขารปรินิพพายี ผู้ปรินิพพานโดยใช้แรงชักจูง คือ ปรินิพพานโดยต้องใช้ความเพียรมาก
- 5. อุทธังโสโต อกนิฏฐคามี ผู้มีกระแสในเบื้องบนไปสู่อกนิฏฐภพ คือ เกิดในสุทธาวาสภพใดภพหนึ่งแล้วก็ตาม จะเกิดเลื่อนต่อขึ้นไปจนถึงอกนิฏฐภพแล้วจึงปรินิพพาน
อ้างอิง
แก้- พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช) ป.ธ. ๙ ราชบัณฑิต พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุด คำวัด, วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ พ.ศ. 2548