กสิณ
กสิณ คือวิธีการปฏิบัติสมาธิแบบหนึ่งในพระพุทธศาสนา มีความหมายว่า เพ่งอารมณ์ เป็นสภาพหยาบ สำหรับให้ผู้ฝึกจับให้ติดตาติดใจ ให้จิตใจจับอยู่ในกสิณใดกสิณหนึ่งใน 10 อย่าง ให้มีอารมณ์เป็นหนึ่งเดียว จิตจะได้อยู่นิ่งไม่ฟุ้งซ่าน มีสภาวะให้จิตจับง่ายมีการทรงฌานถึงฌาน 4 ได้ทั้งหมด กสิณทั้ง 10 เป็นพื้นฐานของอภิญญาสมาบัติ
การเพ่งกสิณนับว่าเป็นอุบายกรรมฐานกองต้น ๆ ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ ว่าด้วยการปฏิบัติสมาธิภาวนาเพื่ออบรมจิต (อันเป็นแนวทางแห่งการบรรลุสำเร็จมรรคผลนิพพาน หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนี้ออกไปได้) ซึ่งอุบายกรรมฐานมีอยู่ด้วยกันทั้งหมดสี่สิบกอง ภายใต้กรรมฐานทั้งสี่สิบกองนั้น จะประกอบไปด้วยกรรมฐานที่เกี่ยวเนื่องกับการเพ่งกสิณอยู่ถึงสิบกองด้วยกัน
การเพ่งกสิณ คือ อาการที่เราเพ่ง (อารมณ์) ไม่ได้หมายถึงเพ่งมอง หรือจ้องมอง ไปยังวัตถุหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อาทิเช่น พระพุทธรูป เทียน สีต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งอากาศ ฯลฯ แล้วเรียนรู้ รับรู้/บันทึก สภาพหรือคุณสมบัติเฉพาะ ของวัตถุ (ธาตุ) หรือสิ่ง ๆ นั้นไว้เช่น เนื้อ สี สภาพผิว ความหนาแน่น ความ เย็นในจิตจนกระทั่งเมื่อหลับตาลงจะปรากฏภาพนิมิต (นิมิตกสิณ) ของวัตถุหรือสิ่ง ๆ นั้นขึ้นมาให้เห็นในจิต หรือแม้กระทั่งยามลืมตาก็ยังสามารถมองเห็นภาพนิมิตกสิณดังกล่าวเป็นภาพติดตา
การเพ่งกสิณจัดเป็นอุบายวิธีในการทำสมาธิที่มีดีอยู่ในตัว กล่าวคือ การเพ่งกสิณเป็นเสมือนทางลัดที่จิตใช้ในการเข้าสู่สมาธิได้อย่างรวดเร็วและง่ายดายกว่าการเลือกใช้อุบายกรรมฐานกองอื่น ๆ มากมายนัก ทั้งนี้เนื่องจากแนวทางในการปฏิบัติสมาธิภาวนาด้วยการใช้อุบายวิธีการเพ่งกสิณนั้น จิตจะยึดเอาภาพนิมิตกสิณที่เกิดขึ้นมาเป็นเครื่องรู้ของจิต แทนอารมณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในจิต และเมื่อภาพนิมิตกสิณเริ่มรวมกันเป็นหนึ่งเดียวกันกับจิต จิตก็จะรับเอาภาพนิมิตกสิณนั้นมาเป็นหนึ่งเดียวกันกับจิต
จากนั้นภาพนิมิตกสิณดังกล่าวจะค่อย ๆ พัฒนาไปเองตามความละเอียดของจิต ซึ่งจะส่งผลให้เกิดมีความเปลี่ยนแปลงขึ้นกับภาพนิมิตกสิณนั้น เริ่มตั้งแต่ความคมชัดในการมองเห็นภาพนิมิตกสิณที่ปรากฏขึ้นภายในจิต และสามารถมองเห็นภาพนิมิตกสิณนั้นได้อย่างชัดเจน ราวกับมองเห็นด้วยตาจริง ๆ ไปจนกระทั่งการที่จิตสามารถบังคับภาพนิมิตกสิณนั้นให้เลื่อนเข้า-เลื่อนออก หรือหมุนไปทางซ้าย-ทางขวา หรือยืด-หดภาพนิมิตกสิณดังกล่าวได้ อันเป็นพลังจิตที่เกิดขึ้นจากการเพ่งนิมิตกสิณ
แต่ในที่สุดแล้วภาพนิมิตกสิณทั้งหลายก็จะมาถึงจุดแห่งความเป็นอนัตตา อันได้แก่ ความว่างและแสงสว่าง กล่าวคือ ภาพนิมิตทั้งหลายจะหมดไปจากจิต แม้กระทั่งอาการและสัญญาในดวงจิตก็จะจางหายไปด้วย จากนั้นจิตจึงเข้าสู่กระบวนการของสมาธิในขั้นฌานต่อไปตามลำดับ[1]
กสิณทั้ง 10 อย่าง แบ่งออกเป็น 2 พวก
แก้- พวกที่หนึ่ง คือ กสิณธาตุ มี 6 อย่าง คนทุกจริตฝึกกสิณได้ทั้ง 6 แต่ต้องดูให้เหมาะกับจริตนิสัย ของแต่ละคน เช่น คนมีโทสะจริต ไม่ควรฝึกกสินไฟ เพราะจะไปเสริมธาตุไฟในตัว ทำให้ยิ่งมีโทสะมากขึ้น (ยิ่งทำให้หงุดหงิดง่าย) เนื่องจากอารมณ์ของจิตจะเป็นไปตามสิ่งที่เพ่ง เช่น เพ่งน้ำทำให้ใจเย็น เพ่งดินทำให้รู้สึกมั่นคง เพ่งลมทำให้รู้สึกอิสระ เป็นต้น
- อาโปกสิณ (ธาตุน้ำ/ของเหลว) จิตนึกถึงน้ำเพ่งน้ำไว้ คือการเพ่งน้ำ นั่งมองน้ำในธรรมชาติ เช่น หนองน้ำ หรือนำน้ำใส่ภาชนะกลม ๆ เช่น ถาด หรือ ขันน้ำ แล้วเพ่งดู ให้นิมิตรน้ำไม่ใหญ่จนเกินไป จนมองขอบนิมิตรไม่ครบถ้วน และไม่เล็กจนเกินไป จนภาพอื่นนอกจากนิมิตรเข้ามาในสายตามากเกินไป โดยกำหนดเพ่งว่าสิ่งนี้เป็นน้ำโดยความเป็นน้ำ แล้วหลับตานึกถึงภาพน้ำความเป็นน้ำ แล้วบริกรรมในใจก็ได้ หายใจเข้าให้บริกรรมว่า "อาโป" หายใจออกบริกรรมว่า "กสิณัง" (การเพ่งน้ำท่านว่าเป็นกสิณที่ปลอดภัยที่สุด เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้น หรือต้องการแค่สมาธิเบื้องต้น เนื่องจากง่ายสุด)
- ปฐวีกสิณ (ธาตุดิน/ของแข็ง ไม่ใช่เฉพาะดิน) จิตเพ่งดิน โดยกำหนดว่าสิ่งนี้เป็นดิน แล้วหลับตานึกถึงภาพดินความเป็นดิน หายใจเข้าให้บริกรรมว่า "ปฐวี" หายใจออกให้บริกรรมว่า "กสิณัง"
- วาโยกสิณ (ธาตุลม) จิตเพ่งวัตถุที่ลมพัด เช่น ยอดไม้ ลมพัดกระทบร่าง แล้วหลับตานึกถึงภาพความเป็นลม โดยกำหนดว่าสิ่งนี้เป็นลม หายใจเข้าให้บริกรรมว่า "วาโย" หายใจออกบริกรรมว่า "กสิณัง" (เป็นกสิณที่ยากในการภาวนา เพราะลมตามธรรมชาติมักเดี่ยวพัดเดี่ยวหยุด ควรชำนาญกสิณอย่างอื่นก่อนแล้วจึงมาเพ่ง)
- เตโชกสิณ (ธาตุไฟ ธาตุร้อน) จิตเพ่งไฟ คือการเพ่งเปลวไฟ โดยกำหนดว่าสิ่งนี้เป็นไฟ แล้วหลับตานึกถึงไฟความเป็นไฟ หายใจเข้าให้บริกรรมว่า "เตโช" หายใจออกบริกรรมว่า "กสิณัง" (เพ่งไฟเป็นกสิณที่อันตรายที่สุด ควรชำนาญกสิณอื่นก่อนแล้วจึงมาเพ่ง เนื่องจากเพ่งจ้องเกินไปมากเกินไปอาจตาเสียตาบอดได้ ลักษณะของไฟที่กวัดเเกว่งง่ายไม่เสถียรทำเกิดความวูบวาบอาจทำผู้เพ่งเกิดวิกลจริตได้ อีกทั้งกสิณไฟอาจทำให้จิตผู้เพ่งเกิดความเร่าร้อนเพราะการมีไฟเป็นอารมณ์ภาวนา)
- อาโลโกกสิณ (กสิณแสงสว่าง) จิตเพ่งอยู่กับแสงสว่าง หลับตานึกถึงแสงสว่าง วิธีเจริญอาโลกกสิณให้ผู้ปฏิบัติยึดโดยทำความรู้สึกถึงความสว่าง ไม่ใช่เพ่งที่สีของแสงนั้น เวลาหายใจเข้าให้บริกรรมว่า "อาโลโก" หายใจออกให้บริกรรมว่า "กสิณัง"
- อากาโสกสิณ (ช่องว่าง) จิตเพ่งอยู่กับอากาศ หลับตานึกถึงอากาศ คือการเพ่งช่องว่าง โดยกำหนดว่าสิ่งนี้เป็นช่องว่าง เวลาหายใจเข้าให้บริกรรมว่า "อากาโส" หายใจออกบริกรรมว่า "กสิณัง" (อากาโสกสิณ ให้เจริญกสิณอย่างใดอย่างหนึ่งจนได้ปฐมฌานแล้วจึงค่อยเพ่งอากาโสกสิณให้ได้ปฐมฌานตาม เนื่องจากอากาสเป็นอารมณ์ที่ละเอียด เป็นกสิณที่ทำให้เกิดฌานยากที่สุด แต่เป็นกสิณที่สำคัญ เพราะการจะเข้าอรูปกรรมฐานต้องได้อากาสกสิณก่อน และใช้อากาสกสิณเป็นบาทฐานเข้าสู่อรูปฌานต่อไป)
- พวกที่สอง คือ วรรณกสิณ หรือ กสิณสี เหมาะสำหรับคนมีอุปนิสัยโกรธง่าย หรือพวกโทสจริต
- โลหิตกสิณ เพ่งกสิณ หรือนิมิตสีแดงจะเป็นดอกไม้แดง เลือดแดง หรือผ้าสีแดงก็ได้ทั้งนั้น แล้วหลับตานึกภาพสีแดง แล้วหายใจเข้าบริกรรมว่า "โลหิตัง" หายใจออกบริกรรมว่า "กสิณัง"
- นีลกสิณ ตาดูสีเขียวใบไม้ หญ้า หรืออะไรก็ได้ที่เป็นสีเขียว แล้วหลับตานึกถึงภาพสีเขียว หายใจเข้าบริกรรมว่า "นีลัง" หายใจออกบริกรรมว่า "กสิณัง"
- ปีตกสิณ จิตเพ่งของอะไรก็ได้ที่เป็นสีเหลือง แล้วหลับตานึกถึงภาพสีเหลือง หายใจเข้าบริกรรมว่า "ปีตัง" หายใจออกบริกรรมว่า "กสิณัง"
- โอทาตกสิณ ตาเพ่งสีขาวอะไรก็ได้แล้วแต่สะดวก แล้วหลับตานึกถึงภาพสีขาว หายใจเข้าบริกรรมว่า "โอทาตัง" หายใจออกบริกรรมว่า "กสิณัง" จนจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งภาพกสิณชัดเจน
ให้เลือกภาวนากสิณใดกสิณหนึ่งให้ได้ถึงฌาน 1 หรือฌาน 4 กสิณอื่น ๆ ก็ทำได้ง่ายทั้งหมด เมื่อปฏิบัติอยู่ดังนี้ ก็จะข่มนิวรณ์ธรรมเสียได้โดยลำดับ กิเลสก็จะสงบระงับจากสันดาน สมาธิก็จะกล้าขึ้น จิตนั้นก็ชื่อว่าตั้งมั่น เป็นอุปจารสมาธิ เมื่อทำได้สำเร็จปฐมฌานแล้ว ก็พึงปฏิบัติในปฐมฌานนั้นให้ชำนาญคล่องแคล่วด้วยดีก่อนแล้วจึงเจริญทุติยฌานสืบต่อไปได้
ท่านว่าจิตเข้าถึงฌาน 4 ก็เป็นจิตเฉยมีอุเบกขาอยู่กับภาพกสิณต่าง ๆ ที่จิตจับเอาไว้ เป็นเอกัคคตารมย์
อานุภาพกสิณ 10
แก้กสิณ 10 ประการนี้ เป็นปัจจัยให้แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ตามนัยที่กล่าวมาแล้วในฉฬภิญโญ เมื่อบำเพ็ญปฏิบัติใน กสิณกองใดกองหนึ่งสำเร็จถึงจตตุถฌานแล้ว ก็ควรฝึกตามอำนาจที่กสิณกองนั้นมีอยู่ให้ชำนาญ ถ้าท่านปฏิบัติถึงฌาน 4 แล้ว แต่มิได้ฝึกอธิษฐานต่าง ๆ ตามแบบ กล่าวกันว่าผู้นั้นยังไม่จัดว่าเป็นผู้เข้าฌานถึงกสิณ
อำนาจฤทธิ์ในกสิณทางพระพุทธศาสนา
แก้
|
|
วิธีอธิษฐานฤทธิ์
แก้วิธีอธิษฐานจิตที่จะให้เกิดผลตามฤทธิ์ที่ต้องการท่านให้ทำดังต่อไปนี้
- ท่านให้เข้าฌาน 4 ก่อน
- แล้วออกจากฌาน 4
- แล้วอธิษฐานจิตในสิ่งที่ตนต้องการจะให้เป็นอย่างนั้น
- แล้วกลับเข้าฌาน 4 อีก
- ออกจากฌาน 4
- แล้วอธิษฐานจิตทับลงไปอีกครั้ง สิ่งที่ต้องการจะปรากฏสมความปรารถนา
ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้ |
อ้างอิง
แก้- ↑ อาจารย์บูรพา ผดุงไทย, กสิณไฟ, หจก. ส เจริญการพิมพ์, 2551