ท้าวสุรนารี
ท้าวสุรนารี หรือ คุณหญิงโม (ต้นฉบับว่า ท่านผู้หญิงโม)[1] นิยมเรียกว่า ย่าโม (พ.ศ. 2314 – เมษายน พ.ศ. 2395) เป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ไทยในฐานะวีรสตรีมีส่วนกอบกู้เมืองนครราชสีมาจากกองทัพเจ้าอนุวงศ์ พระมหากษัตริย์เวียงจันทน์ เมื่อปี พ.ศ. 2369 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ 3)ภายหลังคุณหญิงโมได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นท้าวสุรนารี[1]
ท้าวสุรนารี | |
---|---|
อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ณ เทศบาลนครนครราชสีมา | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | พ.ศ. 2314 นครราชสีมา |
เสียชีวิต | เมษายน พ.ศ. 2395 (81 ปี) |
เชื้อชาติ | ไทย |
คู่สมรส | พระยาปลัดทองคํา |
บุพการี |
|
เป็นที่รู้จักจาก | เชื่อว่าเป็นผู้นำกอบกู้นครราชสีมาในคราวกบฏเจ้าอนุวงศ์ |
ประวัติศาสตร์
แก้ท้าวสุรนารี มีนามเดิมว่า "โม" (แปลว่า ใหญ่มาก) หรือท้าวมะโหโรง[1] เป็นชาวเมืองนครราชสีมาโดยกำเนิด เกิดเมื่อปีระกา พ.ศ. 2314 มีนิวาสสถานอยู่ ณ บ้านตรงกันข้ามกับวัดพระนารายณ์มหาราช (วัดกลางนคร) ทางทิศใต้ของเมืองนครราชสีมา[2] ชอบเล่นกระบี่กระบองตั้งแต่เด็ก[3] เป็นธิดาของนายกิ่มและนางบุญมา มีพี่สาวหนึ่งคนชื่อ แป้นาผล ไม่มีสามี จึงอยู่ด้วยกันจนวายชนม์ มีน้องชายหนึ่งคน ชื่อ จุก
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2339 โม เมื่ออายุได้ 25 ปี ได้แต่งงานสมรสกับนายทองคำขาว พนักงานกรมการเมืองนครราชสีมา ต่อมานายทองคำขาว ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "พระภักดีสุริยเดช" ตำแหน่งรองปลัดเมืองนครราชสีมา นางโม จึงได้เป็น คุณนายโม และต่อมา "พระภักดีสุริยเดช" ได้เลื่อนเป็น "พระยาสุริยเดช" ตำแหน่งปลัดเมืองนครราชสีมา คุณนายโมจึงได้เป็น คุณหญิงโม[2] ชาวเมืองนครราชสีมาเรียกท่านทั้งสองเป็นสามัญว่า "คุณหญิงโม" และ "พระยาปลัดทองคำ" ท่านเป็นหมันไม่มีทายาทสืบสายโลหิต ชาวเมืองนครราชสีมาทั้งหลายจึงพากันเรียกแทนตัวคุณหญิงโมว่า "แม่" มีผู้มาฝากตัวเป็นลูกหลานกับคุณหญิงโมอยู่มาก ซึ่งเป็นกำลังและอำนาจส่งเสริมคุณหญิงโมให้ทำการใด ๆ ได้สำเร็จเสมอ หนึ่งในลูกหลานคนสำคัญที่มีส่วนร่วมกับคุณหญิงโม เข้ากอบกู้เมืองนครราชสีมาจากกองทัพเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์ ณ ทุ่งสัมฤทธิ์ คือนางสาวบุญเหลือ[2]
ท้าวสุรนารีเป็นคนมีสติปัญญาหลักแหลม เล่นหมากรุกเก่ง มีความชำนาญในการขี่ช้าง ขี่ม้า มีม้าตัวโปรดสีดำ และมักจะพาลูกหลานไปทำบุญที่วัดสระแก้วเป็นประจำเสมอ[2] ท้าวสุรนารี ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2395 (เดือน 5 ปีชวด จัตวาศก จศ. 1214) สิริอายุได้ 81 ปี
วีรกรรมและบำเหน็จความ
แก้เมื่อพุทธศักราช 2369 เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ เป็นกบฏต่อกรุงเทพมหานคร ยกกองทัพเข้ามายึดเมืองนครราชสีมาได้ แล้วกวาดต้อนครอบครัวชาวนครราชสีมาไป คุณหญิงโม และนางสาวบุญเหลือรวบรวมครอบครัวชาย หญิงชาวนครราชสีมาที่ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย เข้าต่อสู้ฆ่าฟันทหารลาวล้มตายเป็นอันมาก ณ ทุ่งสัมฤทธิ์ แขวงเมืองนครราชสีมา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พุทธศักราช 2369 ช่วยให้ฝ่ายไทยสามารถกอบกู้เมืองนครราชสีมากลับคืนมาได้ในที่สุด[ต้องการอ้างอิง]
เมื่อความทราบไปถึง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาคุณหญิงโม ขึ้นเป็น ท้าวสุรนารี เมื่อ วันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2370 เมื่อคุณหญิงโมมีอายุได้ 57 ปี พร้อมกับพระราชทานเครื่องยศ มีต่อไปนี้
- ถาดทองคำใส่เครื่องเชี่ยนหมาก 1 ใบ
- จอกหมากทองคำ 1 คู่
- ตลับทองคำ 3 ใบเถา
- เต้าปูนทองคำ 1 ใบ
- คนโท และขันน้ำทองคำอย่างละ 1 ใบ[ต้องการอ้างอิง]
เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2524 เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทรงวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ในโอกาสนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พระราชทานบรมราโชวาทมีความตอนหนึ่งว่า
....ท้าวสุรนารี เป็นผู้ที่เสียสละเพื่อให้ประเทศชาติได้อยู่รอดปลอดภัย
ควรที่อนุชนรุ่นหลัง จะได้ระลึกถึงคุณงามความดีของท่าน
บ้านเมืองทุกวันนี้เป็นสิ่งที่ต้องหวงแหน การหวงแหน คือ ต้องสามัคคี
รู้จักหน้าที่ ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ชาวนครราชสีมาได้แสดงพลังต้องการ
ความเรียบร้อย ความสงบ เป็นปัจจัยสำคัญทำให้ชาติกลับปลอดภัยอีกครั้งหนึ่ง
แม้ว่าสถานการณ์รอบตัวเราและรอบโลก จะผันผวนและ ล่อแหลมมาก
แต่ถ้าทุกคนเข้มแข็ง สามัคคี กล้าหาญ และเอื้อเฟื้อต่อกันชาติก็จะมั่นคง....[4]
อนุสาวรีย์
แก้เมื่อท้าวสุรนารี ถึงแก่อสัญกรรม เมื่อปีพุทธศักราช 2395 อายุ 81 ปี เจ้าพระยามหิศราธิบดีผู้เป็นสวามี ได้ฌาปนกิจศพ และสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิไว้ ณ วัดศาลาลอยซึ่งท้าวสุรนารีได้สร้างไว้ เมื่อเวลาผ่านไปเจดีย์ชำรุดลง พลตรีเจ้าพระยาสิงหเสนี (สอาด สิงหเสนี) ครั้นเมื่อยังเป็น พระยาประสิทธิศัลการ ข้าหลวงเทศาภิบาล ผู้สำเร็จราชการเมืองนครราชสีมา องคมนตรี และรัฐมนตรี ได้บริจาคทรัพย์สร้างกู่ขนาดเล็ก บรรจุพระอัฐิท้าวสุรนารีขี้นใหม่ที่วัดกลาง (วัดพระนารายณ์มหาราช) สร้างเสร็จเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ร.ศ.118 (พ.ศ. 2442)
ต่อมากู่นั้นได้ทรุดโทรมลงมาอีก อีกทั้งยังอยู่ในที่แคบ ไม่สมเกียรติ พระยากำธรพายัพทิศ (ดิส อินทรโสฬส) ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายพันเอกพระเริงรุกปัจจามิตร (ทอง รักสงบ) ผู้บังคับการมณฑลทหารบกที่ 5 พร้อมด้วยข้าราชการ และประชาชนชาวนครราชสีมาได้พร้อมใจกันสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารีด้วยสัมฤทธิ์ ซึ่งทางกรมศิลปากรได้มอบให้ศาสาตราจารย์ศิลป พีระศรีเป็นผู้ออกแบบร่วมกับ พระเทวาภินิมมิตร (ฉาย เทียมศิลปไชย) ประติมากรเลื่องชื่อในสมัยจอมพลแปลก พิบูลสงคราม พ.ศ. 2510 ทั้งนี้ได้อัญเชิญอัฐิของท่านนำมาบรรจุไว้ที่ฐานรองรับ และประดิษฐานไว้ ณ ที่หน้าประตูชุมพล อนุสาวรีย์หล่อด้วยทองแดงรมดำ สูง 1.85 เมตร หนัก 325 กิโลกรัม ตั้งอยู่บนฐานไพที สี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองซึ่งบรรจุอัฐิของท่าน แต่งกายด้วยเครื่องยศพระราชทาน ในท่ายืน มือขวากุมดาบ ปลายดาบจรดพื้น มือซ้ายท้าวสะเอว หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ซึ่งเป็นทิศที่ตั้งของกรุงเทพมหานคร นับเป็นอนุสาวรีย์ของสามัญชนสตรี คนแรกของประเทศ เริ่มก่อสร้างในปี 2476 แล้วเสร็จ และ มีพิธีเปิดอนุสาวรีย์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2477[5]
ในงานพิธีเปิดนี้ จึงได้มีการสร้างเหรียญไว้เป็นที่ระลึก โดยมี สมเด็จมหาวีรวงศ์ (ติสโส อ้วน) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และพระคณาจารย์สายพระอาจารย์มั่น - พระอาจารย์เสาร์ ร่วมพิธีปลุกเสกที่ วัดสุทธจินดาวรวิหาร ชาวเมืองนครราชสีมารัก และหวงแหนเหรียญรุ่นนี้กันมาก เพราะถือกันว่านี่คือ เหรียญแห่งชัยชนะ เพื่อศรีสง่าแห่งบ้านเมือง และเชิดชูเกียรติ ท้าวสุรนารี วีรสตรีไทยตลอดกาล[6] และทางกรมศิลปากร ได้ขึ้นทะเบียนอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เป็นโบราณสถานวัตถุแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2480[7] ครั้นเมื่อปี พ.ศ. 2510 ฐานอนุสาวรีย์ชำรุด ข้าราชการ และประชาชนชาวนครราชสีมาโดยสวัสดิวงศ์ ปฏิทัศน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น เป็นประธาน ได้ร่วมใจกันสร้าง ฐานอนุสาวรีย์บรรจุอัฐิท้าวสุรนารี ขึ้นใหม่ ณ ที่เดิม เพื่อให้เป็นศรีสง่าแก่บ้านเมือง และเชิดชูเกียรติท้าวสุรนารี วีรสตรีไทยตลอดกาลนาน แล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510[8]
ทางจังหวัดนครราชสีมา หน่วยงานราชการต่าง ๆ รวมทั้งประชาชนชาวนครราชสีมา ได้มีการจัดงานฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี (คุณหญิงโม) เป็นงานประจำปีของจังหวัด เพื่อเป็นการเคารพสักการะ เชิดชูเกียรติ ในวีรกรรมของท้าวสุรนารี และเหล่าบรรพบุรุษของชาวนครราชสีมา จัดขึ้นบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด กำหนดจัดระหว่างวันที่ 23 มีนาคม - 3 เมษายน ของทุกปี
ข้อขัดแย้ง
แก้คำให้การขุนโอฐบันทึกในใบบอกว่า "เวลาเช้าตรู่ พระยาปลัด พระยายกกระบัตร กรมการต่างคนต่างยิงปืนคนละนัด พวกครัวก็เข้าฟันแทง ทั้งพระสงฆ์ เถร เณร ผู้หญิงในครัว หนุนโห่ร้องไล่อ้ายลาวแตก" และ คำให้การอ้ายพระยานรินทร์แม่ทัพลาวที่ถูกจับ อ้างพระราชดำรัสเจ้าอนุวงศ์ว่า "อ้ายอนุบอกข้าพเจ้าว่าครัวเมืองโคราชซึ่งให้เพี้ยรามพิชัยคุมไพร่ 200 คนไปถึงบ้านสัมริด พวกครัวฆ่านายไพร่ตายเสียหมดแล้ว ให้อ้ายสุทธิสารคุมไพร่ 2,000 คน มีปืน 200 บอกยกไปรบกับครัวโคราช ณ บ้านสำริด อ้ายสุทธิสารแตกหนีมา พวกครัวฆ่านายไพร่ตายเป็นอันมาก" ซึ่งไม่มีการกล่าวถึงวีรกรรมของคุณหญิงโม แต่มีการกล่าวถึงวีรกรรมดังกล่าวในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 และ จดหมายเหตุเรื่องปราบกบฏเวียงจันทน์[9][10] ส่วนเรื่องนางสาวบุญเหลือยังไม่พบปรากฏในหลักฐานที่เป็นบันทึกใด ๆ ก่อนปี พ.ศ. 2475[9]
ในเรื่องนี้เป็นประเด็นถกเถียงอย่างกว้างขวางในปี พ.ศ. 2536 เมื่อหนังสือ การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ถูกตีพิมพ์ซึ่งหนังสือดังกล่าวปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์เรื่อง "ภาพลักษณ์ท้าวสุรนารีในประวัติศาสตร์ไทย" โดย สายพิน แก้วงามประเสริฐ นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยานิพนธ์ดีเด่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เรื่องนี้ตั้งคำถามว่า วีรกรรมนี้เกิดขึ้นจริงหรือ ซึ่งแม้แต่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ก็เคยตั้งคำถามว่า "เรื่องท่านผู้หญิงโม้นี้ดูก็ประหลาด ...ไม่เห็นว่าแสดงแผลงอิทธิฤทธิ์อะไร เป็นแต่ว่าคุมพวกผู้หญิงเป็นกองหลังเท่านั้น ทำไมยกย่องกันหนักหนาไม่ทราบ"[11] สายพินได้เสนอว่า วีรกรรมของท้าวสุรนารีมีจริงแต่ถูกนำมาใช้เพื่อเป้าประสงค์ทางการเมือง เป็นสามัญชนคนแรกที่ทางการสร้างอนุสาวรีย์ให้ และชี้ให้เห็นความล้มเหลวของวิชาประวัติศาสตร์ ที่ไม่ช่วยให้คนในสังคมแก้ปัญหาด้วยการค้นหาความจริง[11]
การที่สำนักพิมพ์หนึ่งนำวิทยานิพนธ์ไปตัดแต่งและตั้งคำถามที่ท้าทายความเชื่อของคนในพื้นที่ ทำให้ผู้เขียนถึงขนาดถูกข่มขู่เอาชีวิตและห้ามเข้าจังหวัดนครราชสีมา[12][13]
ตามทัศนะของ รศ.ศรีศักร วัลลิโภดม วีรกรรมที่ทุ่งสัมฤทธิ์อาจเป็นเรื่องที่แต่งขึ้นภายหลัง โดยมีฉากหลังเป็นวีรกรรมของการร่วมแรงร่วมใจสู้รบของชาวนครราชสีมา และเนื่องด้วย ท้าวสุรนารี เป็นบุคคลที่เป็นผู้นำทางวัฒนธรรม เป็นบุคคลที่ชาวบ้านให้การยอมรับนับถือ จึงมีการแต่งเรื่องราวขึ้นภายหลัง เช่นเดียวกับพญาแถนของประเทศลาว เป็นต้น[14][ระบุข้อมูลทางบรรณานุกรมไม่ครบ]
การดัดแปลงเป็นสื่อ
แก้พ.ศ. 2500 ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์เรื่อง สุรนารี ระบบ 35 มม. สีอิสต์แมน เสียงในฟิล์ม สร้างโดย วิจิตรเกษมภาพยนตร์ - ชอว์บราเดอร์ส นำแสดงโดยวิไลวรรณ วัฒนพานิช และสุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ ร่วมด้วยดาวรุ่งแห่งฮ่องกง ยูหมิ่น และเจาหลุ่ย ฉายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ได้แก่ อาหรับ, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย, อินโดจีน, ฮ่องกง, สิงคโปร์, มลายู, ไต้หวัน[ต้องการอ้างอิง]
อ้างอิง
แก้- ↑ 1.0 1.1 1.2 ทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3. กรุงเทพฯ : ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006), 2560, หน้า 74
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 "ประวัติท้าวสุรนารี". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-06. สืบค้นเมื่อ 2008-09-03.
- ↑ 'ย่าโม' วีรสตรีที่อยู่ในใจชาวโคราช - กรุงเทพธุรกิจ
- ↑ "ฐานข้อมูลบุคคลสำคัญ" ท้าวสุรนารี ", สำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-05-16. สืบค้นเมื่อ 2021-09-23.
- ↑ วันนี้ในอดีต[ลิงก์เสีย]
- ↑ "ประวัติและเหรียญท้าวสุรนารีรุ่นแรก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-01-23. สืบค้นเมื่อ 2008-09-26.
- ↑ "ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศกรมศิลปากร เรื่อง กำหนดจำนวนโบราณสำหรับชาติ, เล่มที่ ๕๔, เล่มที่ ๒๒๘๕". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-09-17. สืบค้นเมื่อ 2008-09-26.
- ↑ จารึกประวัติการสร้างอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (หลังอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี), เทศบาลนครนครราชสีมา, นครราชสีมา, 2530
- ↑ 9.0 9.1 จากเวียงจันทน์ถึงบางกอกตามรอยเจ้าอนุวงศ์ คลี่ปมประวัติศาสตร์ไทย-ลาว, นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 291 พฤษภาคม 2552, หน้า 138–141
- ↑ "จดหมายเหตุเรื่องปราบกบฏเวียงจันทน์". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-19. สืบค้นเมื่อ 2010-08-26.
- ↑ 11.0 11.1 หนังสือต้องห้าม. ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า. สืบค้น 19 มกราคม 2556.
- ↑ หนังสือต้องห้าม ความรู้ที่ถูกจองจำ เก็บถาวร 2007-01-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ฉบับที่ 260 ตุลาคม 49 ปีที่ 22
- ↑ จากจิ๋นซีถึง แฮร์รี่ พอตเตอร์ เก็บถาวร 2007-01-23 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ฉบับที่ 260 ตุลาคม 49 ปีที่ 22
- ↑ รายการพินิจนคร ตอน นครราชสีมา...รากแห่งนคราย่าโม ตำนานของคนโคราช เก็บถาวร 2010-01-25 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน : 4 มกราคม พ.ศ. 2553 ทางทีวีไทย
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน เก็บถาวร 2005-11-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- วีรกรรมทุ่งสัมฤทธิ์ เก็บถาวร 2008-12-20 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ชุมชนพิมาย เก็บถาวร 2012-02-16 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน