วัดสมรโกฏิ (กรุงเทพมหานคร)

วัดในกรุงเทพมหานคร

วัดสมรโกฏิ [สะ-หฺมอ-ระ-โกด] เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ริมฝั่งเหนือของคลองบางระมาด ในแขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร

วัดสมรโกฏิ
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 12 ซอยราชพฤกษ์ 22 ถนนราชพฤกษ์ แขวงฉิมพลี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร 10170
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระประธานพระธนนายก
พระพุทธรูปสำคัญหลวงพ่อดำ
เจ้าอาวาสพระปลัดบุญชู เตชวโร
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ แก้

หนังสือ ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร ของกรมการศาสนาระบุว่า วัดสมรโกฏิสร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ. 2294 ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2319 สันนิษฐานว่าในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นน่าจะเป็นสำนักเรียนที่สำคัญแห่งหนึ่ง เนื่องจากปรากฏในเอกสารโบราณ เมื่อปีขาล โทศก จ.ศ. 1192 (พ.ศ. 2373) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า มีพระสงฆ์รูปหนึ่งจากวัดสมรโกฏิเล่าเรียนคัมภีร์มูลกัจจายน์ได้จนถึงชั้นเอก โดยบันทึกว่าชื่อ "วัดสมรโกษบางลมาศ"[1]

ปี พ.ศ. 2543 เจ้าอาวาสในสมัยนั้นได้ปรับปรุงอุโบสถใหม่โดยใช้แผ่นใยขัดขัดภาพจิตรกรรมฝาผนังออกและปูวอลเปเปอร์แทน[2]

ราวปี พ.ศ. 2546–2547 ชาวบ้านร่วมใจกันบริจาคที่ดินของตนเพื่อตัดถนนจากถนนตัดใหม่คือถนนราชพฤกษ์เข้าสู่ซอยวัดสมรโกฏิและทำซุ้มประตูวัดขึ้นใหม่

อาคารเสนาสนะ แก้

อุโบสถเป็นอุโบสถมหาอุด ตั้งขนานไปกับคลองบางระมาด มีหน้าต่างด้านละ 3 ช่อง ประตูด้านหน้า 2 ช่อง ด้านหลังไม่มีประตู ผนังด้านหลังภายนอกติดแผ่นหินอ่อน จารึกการบูรณะใน พ.ศ. 2538 ซึ่งได้เปลี่ยนลวดลายหน้าบัน เดิมเป็นหน้าบันปูนปั้นประดับด้วยถ้วยชาม ในปัจจุบันเป็นรูปธรรมจักร ด้านหน้ามีมุข หน้าบันเป็นปูนปั้นรูปพระนารายณ์ 4 กร ยืนบนนาค เดิมไม่มีมุข เพิ่งสร้างเพิ่มเติมเมื่อ พ.ศ. 2500 ภายในอุโบสถประดิษฐาน พระธนนายก พระพุทธรูปประธานแบบสุโขทัย ปางมารวิชัย ลักษณะพระพักตร์ยิ้มแย้ม อิ่มเอิบ เดิมมีจิตรกรรมฝาผนังแต่ได้ปูวอลเปเปอร์แทน อกเลาประตูเป็นไม้แกะสลักลวดลายต่าง ๆ เช่น พระนารายณ์ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ครุฑ มีภาพจับและรูปสัตว์เล็ก ๆ แทรกอยู่ รูปแบบศิลปะน่าจะเก่าแก่ถึงสมัยอยุธยาตอนปลายหรือต้นรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันมีสภาพลบเลือน ทั้งยังถูกทาสีทองทับจนหนา ด้านหลังบานประตูหน้าต่างเขียนภาพจิตรกรรมเป็นรูปเทพทวารบาล ยืนถือพระขรรค์ น่าจะมีอายุราวสมัยรัชกาลที่ 4–5

ภายนอกมีเสมารอบอุโบสถ น่าจะสลักขึ้นจากหิน แต่มาปั้นปูนทับ แล้วทาสีขาวหมดทุกใบ ตั้งอยู่บนฐานเตี้ย ๆ ประดับลวดลายง่าย ๆ เอวเสมาเป็นกระหนกเล็ก ๆ งอนขึ้น ใบเสมาเอกสลักจากหินอ่อนแบบที่นิยมกันในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ถูกปิดประดับด้วยกระจกสีจนหมด

วิหารตั้งอยู่ในกำแพงแก้วข้างอุโบสถ หน้าบันปั้นปูนทาสีเป็นลายธรรมจักร มีหน้าต่างด้านละ 3 ช่อง มีประตูด้านหน้า 1 ช่อง ไม่มีประตูหลัง วิหารได้รับการบูรณะระหว่างปี พ.ศ. 2524–2527 ภายในประดิษฐาน หลวงพ่อดำ น่าจะอายุราวสมัยอยุธยาตอนปลาย เพิ่งมีการลงรักปิดทองหลวงพ่อดำใหม่ทั้งองค์เมื่อ พ.ศ. 2548 ซึ่งคาดว่าลงรักปิดทองเพื่อซ่อมแซมร่องรอยผุพังชำรุด ข้างวิหารมีพระปรางค์ขนาดเล็กประดิษฐานอยู่องค์หนึ่ง

ศาลาการเปรียญเป็นอาคารไม้ทรงไทย สร้างเมื่อ พ.ศ. 2499 บูรณะเมื่อ พ.ศ. 2530 ภายในมีธรรมาสน์ซึ่งมีจารึกอยู่บนพนักพิงหลังว่าสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2459 หอระฆังได้รับการบูรณะใหม่แต่ยังคงลักษณะเดิมในสมัยอยุธยาตอนปลาย หมู่กุฏิเป็นอาคารไม้เรือนไทย

วัดยังมีโรงเรียนพระปริยัติธรรม เป็นอาคารขนาดเล็ก ตั้งอยู่นอกเขตสังฆาวาส สร้างใน พ.ศ. 2535[3]

รายนามเจ้าอาวาส แก้

  • พระอธิการเฑียร
  • พระอธิการบอน อมโร
  • พระมหาลมูล
  • พระครูโสภณสาธุวัฒน์ (ทัน ยุตติธมฺโม)
  • พระปลัดบุญชู เตชวโร ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ พ.ศ. 2541 ถึงปัจจุบัน

อ้างอิง แก้

  1. ศรัณย์ ทองปาน. โครงการสำรวจเพื่อสร้างฐานข้อมูลของวัดในเขตตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2549. หน้า 81.
  2. วลัยลักษณ์ ทรงศิริ. การศึกษาภูมิหลังและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมชุมชนในพื้นที่ตลิ่งชัน. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2552. หน้า 164.
  3. "วัดสมรโกฏิ". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย.