ลำดับเหตุการณ์การประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2565 (สิงหาคม 2563)

วันที่ 1 สิงหาคม กลุ่มเยาวชนปลดแอกพบว่า หลังจากผ่านไป 2 สัปดาห์ รัฐบาลไม่ตอบสนองแก่ข้อเรียกร้อง 3 ประการที่เรียกร้องไป ซ้ำยังพบการคุกคามประชาชนด้วย พ.ร.ก. ฉุกเฉิน มากกว่าเดิมอีก จึงได้โพสต์เฟซบุ๊กประกาศยกระดับการชุมนุม โดยตั้งกลุ่มการเมืองใหม่ในชื่อ "คณะประชาชนปลดแอก" (อังกฤษ: Free People) และได้เชิญชวนประชาชนทุกเพศ ทุกวัย มาร่วมมือกับเยาวชนเพื่อขับไล่รัฐบาลชุดนี้ด้วย โดยได้นัดหมายการชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 16 สิงหาคม[1]

วิดีโอจากแหล่งข้อมูลภายนอก
คำปราศรัยเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ของอานนท์ นำภา, วิดีโอยูทูบ

วันที่ 3 สิงหาคม กลุ่มมหานครเพื่อประชาธิปไตย และกลุ่มมอกะเสด (มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) จัดการชุมนุม มีแฮชแท็กว่า #เสกคาถาไล่คนที่คุณก็รู้ว่าใคร[2] เป็นการวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน[3] โดยเวลาประมาณ 20.00 น. อานนท์ นำภา ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขึ้นปราศรัย[4] ความตอนหนึ่งกล่าวถึงพระราชอำนาจที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปกฎหมายความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย[3] อานนท์ถูกตั้งข้อหาหลายข้อหา รวมทั้งข้อหาหนักสุดการปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครอง (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116) และถูกตำรวจจับกุมในวันที่ 7 สิงหาคม[5] ภาณุพงศ์ จาดนอก แกนนำเยาวชนปลดแอกในวันที่ 18 กรกฎาคม ถูกจับกุมด้วยอีกคน ทำให้เกิดแฮชแท็ก #หยุดคุกคามประชาชน ปล่อยอานนท์ ปล่อยไมค์" #saveทนายอานนท์ #saveไมค์ #หยุดคุกคามประชาชน[6] องค์การนิรโทษกรรมสากลประเทศไทยออกแถลงการณ์ให้ถอนข้อหา และคุ้มครองสิทธิในการชุมนุมของประชาชน[6] ปฏิกิริยาจากการจับกุมดังกล่าวทำให้เกิดการประท้วงที่มีผู้เข้าร่วมประมาณ 1,000 คนในวันที่ 8 สิงหาคม[7] ประมาณต้นเดือนสิงหาคม เกิดการรณรงค์ #ไม่รับปริญญา หมายถึง ไม่เข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตร[8]

วันที่ 7 สิงหาคม ไอลอว์เริ่มจัดกิจกรรมรวบรวมรายชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ หวังรวบรวมรายชื่อ 50,000 รายชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน[9]

วันที่ 9 สิงหาคม มีการจัดการชุมนุม "เชียงใหม่จะไม่ทน" ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี อานนท์ นำภา ปราศรัยเรื่องข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อีกครั้ง มีผู้ชมุนมประมาณ 500–1,000 คน[10]

วันที่ 10 สิงหาคม คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเข้ายื่นร่างพระราชบัญญัติออกเสียงลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยมีศูนย์กลางประสานงานนักศึกษา อาชีวะ ประชาชน ปกป้องสถาบันฯ (ศอปส.) ชุมนุมประท้วงตอบโต้ โดยกล่าวหาว่านักศึกษาถูกยุยงให้โจมตีรัฐบาลและกองทัพ และดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้อง อีกทั้งคิดล้มระบอบการปกครอง กลุ่มของตนจะใช้วิธีบีบบังคับทางสังคมเปิดโปงชื่อบุคคลให้สาธารณะทราบ[11] นอกจากนี้ กลุ่ม ศอปส. ยังประกาศจัดตั้งในทุกจังหวัด[12]

ในช่วงเย็นถึงหัวค่ำ มีการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จังหวัดปทุมธานี ชื่อ "#ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" มีผู้เข้าร่วมจากหลายกลุ่มและหลายมหาวิทยาลัย และมีกลุ่มอาชีวะมาช่วยรักษาความปลอดภัยให้[13] รวมประมาณ 3,000 คน[14] และใช้สโลแกนว่า "เราไม่ต้องการปฏิรูป เราต้องการปฏิวัติ" มีตัวแทนสหภาพแรงงานร่วมปราศรัย เล่าถึงปัญหาความไม่เสมอภาคและสัญญายกระดับคุณภาพชีวิตของรัฐบาลที่ทำไม่ได้จริง[15] นอกจากนี้ มีการปราศรัยของอานนท์ นำภา, เปิดคลิปของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ พร้อมกับยื่นข้อเสนอ 10 ข้อเพื่อปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อให้บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยสอดคล้องกับระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ[15] ตามข้อมูลของเอพี ผู้ประท้วงในงานรู้สึกคละกันเกี่ยวกับข้อเรียกร้องดังกล่าว[14] กลุ่มผู้ประท้วง มธ. แจ้งยกเลิกนัดหมายชุมนุมในวันที่ 12 สิงหาคมเนื่องจากทราบมาว่ามีผู้ไม่ประสงค์ดี[16]

ข้อเรียกร้อง 10 ประการของ #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน
  1. ยกเลิกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ห้ามผู้ใดกล่าวหาฟ้องร้องกษัตริย์ ให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ ดังที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร
  2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ให้แสดงความเห็นต่อสถาบันฯ ได้อย่างเสรี และให้นิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีทุกคน
  3. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2561 และให้แบ่งทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และทรัพย์สินส่วนพระองค์อย่างชัดเจน
  4. ลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ
  5. ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ และยกเลิกหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรี
  6. ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด
  7. ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ
  8. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการโฆษณาชวนเชื่อสถาบันกษัตริย์ทั้งหมด
  9. สอบสวนความจริงเกี่ยวกับการฆ่าราษฎรผู้ออกความเห็นหรือวิจารณ์สถาบันกษัตริย์
  10. ห้ามลงพระปรมาภิไธยรับรองรัฐประหารอีก

วันที่ 14 สิงหาคม บีบีซีรายงานว่ามีการจัดประท้วงแนวร่วมเยาวชนปลดแอกใน 49 จังหวัด และประชาชนปกป้องสถาบันฯ 11 จังหวัด[17]

การชุมนุมของคณะประชาชนปลดแอกที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม

วันที่ 16 สิงหาคม คณะประชาชนปลดแอกซึ่งยกระดับจากกลุ่มเยาวชนปลดแอก[18] จัดการชุมนุม "ขีดเส้นตายไล่เผด็จการ" ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียนรีวิวรายงานอ้างตำรวจภาคสนามว่ามีผู้เข้าร่วมอย่างน้อย 20,000 คน[19] โดยผู้ชุมนุมย้ำข้อเรียกร้อง 3 ข้อเดิม และเพิ่ม 2 จุดยืน ได้แก่ ไม่เอารัฐบาลแห่งชาติและรัฐประหาร รวมถึง 1 ความฝัน คือ ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ" กลุ่มยังยื่นคำขาดว่า ภายในเดือนกันยายน จะต้องยกเลิกวุฒิสภาชุดปัจจุบัน ซึ่งคณะประชาชนปลดแอกมองว่าเป็นกลไกสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้ได้[18] นอกจากนี้ในวันเดียวกัน มีการชุมนุมสนับสนุนในต่างประเทศ คือ ในกรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ซึ่งมีชาวไต้หวัน ชาวฮ่องกงและชาวสิงคโปร์เข้าร่วมด้วยจำนวนหนึ่ง[20] มีนักเรียนหลายโรงเรียนร่วมประท้วงด้วย ใช้แฮชแท็ก #โรงเรียนหน้าเขาไม่เอาเผด็จการ มีการกล่าวถึง 4 แสนครั้ง แต่มีโพสต์จากโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ว่าครูตราหน้านักเรียนว่าโง่และถูกพรรคการเมืองหลอก[21] รวมทั้งมีกรณีปัดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนักเรียนเสียหาย[22]

วันที่ 18 สิงหาคม กลุ่ม "นักเรียนเลว" จัดการประท้วงเป่านกหวีดที่กระทรวงศึกษาธิการเพื่อขับณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และอดีต กปปส.[23]

วันที่ 30 สิงหาคม มีกลุ่ม "ไทยภักดี" ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยประมาณ 1,000–1,200 คนชุมนุมในสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง จัดโดยนักการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ วรงค์ เดชกิจวิกรม ในพื้นที่ใกล้เคียงเกิดเหตุทำร้ายร่างกายภารโรงสูงอายุคนหนึ่งที่ใส่เสื้อแดง[24][25]

อ้างอิง แก้

  1. มติชน (1 August 2020). "เปิดตัว 'คณะประชาชนปลดแอก' ลั่น เยาวชนไม่อาจสู้ลำพัง เล็งนัดหมายเร็ว ๆ นี้". www.matichon.co.th. สืบค้นเมื่อ 3 August 2020.
  2. กรุงเทพธุรกิจ (3 August 2020). "กลุ่มมหานครฯ-มอกะเสด แต่งกายชุดพ่อมด-แม่มด ขับไล่อำนาจมืดจากคนที่คุณก็รู้ว่าใคร". www.bangkokbiznews.com. สืบค้นเมื่อ 3 August 2020.
  3. 3.0 3.1 Demonstrators gather in Harry Potter-themed protest against Thai monarchy
  4. มติชน (3 August 2020). "สวมหน้ากาก 'บิ๊กป้อม' ร่วมม็อบ เจอเสกคาถาไล่ ปล่อยมุขฮา 'ไม่รู้ ๆ '". www.matichon.co.th. สืบค้นเมื่อ 3 August 2020.
  5. ด่วน! โดนจับแล้ว 'อานนท์ นำภา' ตามหมายจับศาลอาญา
  6. 6.0 6.1 อานนท์ นำภา ส่งสารถึงผู้ชุมนุม "ต่อสู้ให้ถึงเส้นชัย" ด้านแอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย เรียกร้อง "ถอนข้อกล่าวหาที่ปราศจากมูลความจริง"
  7. "Rival protests raise fears of return to violence". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 11 August 2020.
  8. "คิดแต่ละเรื่อง! "อัษฎางค์" จวกยับ "เยาวชนปลดแอก" ยุ "ไม่รับปริญญา" "ปวิน" แอ่นรับสนับสนุนแคมเปญทันควัน". mgronline.com. 10 August 2020.
  9. เตือน!คนรุ่นใหม่ลุกฮือสู้เผด็จการ ล่า5หมื่นชื่อแก้รธน.60ตั้งส.ส.ร.
  10. "ทนายอานนท์ปราศรัยที่เชียงใหม่ ส่วนผู้จัดที่พิษณุโลกบอกถูกเจ้าหน้าที่ขอร้องไม่ให้จัด". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 10 August 2020.
  11. "ครช.ยื่นร่างพ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ร่าง รธน.ใหม่ ฝ่ายค้านรับเร่งเสนอในสัปดาห์นี้". prachatai.com. สืบค้นเมื่อ 10 August 2020.
  12. ""ประชาชนปกป้องสถาบันฯ" ผุด ศอปส. ทุกจังหวัด จับผิด-เปิดเผยตัวตน "คนชังชาติ"". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 10 August 2020.
  13. "ม็อบนศ.ฮือต้าน"รัฐบาลลุงตู่"แน่น ม.ธรรมศาสตร์". posttoday.com. สืบค้นเมื่อ 10 August 2020.
  14. 14.0 14.1 Press, Associated (11 August 2020). "Student Protest at Thammasat the Largest Rally in Months". Khaosod English. สืบค้นเมื่อ 11 August 2020.[ลิงก์เสีย]
  15. 15.0 15.1 "ประมวลชุมนุม #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน 'เราไม่ต้องการปฏิรูปเราต้องการปฏิวัติ'". prachatai.com. สืบค้นเมื่อ 10 August 2020.
  16. "รวมปฏิกิริยาต่อ 10 ข้อเรียกร้องของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 12 August 2020.
  17. "สำรวจแนวการชุมนุมประชาชนหนุน-ต้านรัฐบาล". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 18 August 2020.
  18. 18.0 18.1 ""ประชาชนปลดแอก" ประกาศจะไม่หยุดเคลื่อนไหวจนกว่า "อำนาจมืด" จะหมดไป". BBC ไทย. 16 August 2020. สืบค้นเมื่อ 16 August 2020.
  19. "Thailand's youth demo evolves to largest protest since 2014 coup". Nikkei Asian Review. สืบค้นเมื่อ 18 August 2020.
  20. "ชาวไทย-ไต้หวัน-ฮ่องกง จัดชุมนุม #ไทเปจะไม่ทน จี้ รัฐบาลไทย หยุดคุกคามประชาชน". มติชนออนไลน์. 16 August 2020. สืบค้นเมื่อ 16 August 2020.
  21. "โรงเรียนทั่วประเทศเดือด ชูสามนิ้ว-ผูกโบว์ขาว ไม่เอาเผด็จการ". ประชาชาติธุรกิจ. 17 August 2020. สืบค้นเมื่อ 17 August 2020.
  22. "ครูขอโทษแล้ว หลังคลิปว่อนด่าปัญญาอ่อน ตบมือถือ นร.วอนเคารพความคิด". ข่าวสด. 17 August 2020. สืบค้นเมื่อ 17 August 2020.
  23. "เอาแล้ว! กลุ่มนักเรียนเลว นัดเป่านกหวีดไล่ รมว.ศึกษา ลั่นต้องปกป้องอนาคต". ข่าวสด. 18 August 2020. สืบค้นเมื่อ 19 August 2020.
  24. "Royalists rally to support monarchy". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 2020-08-30.{{cite web}}: CS1 maint: url-status (ลิงก์)
  25. English, Khaosod (2020-08-31). "Royalists Slam 'Foreign Interference' in Major Counter-Rally". Khaosod English (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2020-08-31.