มีแชล แน

(เปลี่ยนทางจาก มิเชล ไนย)

มีแชล แน (ฝรั่งเศส: Michel Ney) เป็นนายทหารในสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส และต่อมาเป็นนายพลในสงครามนโปเลียน เขาเป็นหนึ่งใน 18 จอมพลฝรั่งเศสดั้งเดิมที่นโปเลียนทรงสถาปนา ได้รับสมญานามว่า จอมสุรโยธิน[1] (the bravest of the brave) เขาเป็นจอมพลแห่งจักรวรรดิเพียงคนเดียวที่ถูกตัดสินประหารชีวิตในข้อหากบฏต่อแผ่นดินหลังการฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บง

จอมพลแห่งจักรวรรดิ

มีแชล แน

ดยุกแห่งเอ็ลชิงเงิน เจ้าชายเดอลามอสโควา
ภาพเหมือนโดย ฟร็องซัว เฌราร์
ชื่อเล่นจอมสุรโยธิน (Le Brave des Braves)
เกิด10 มกราคม ค.ศ. 1769(1769-01-10)
ซาร์ลูอิส, ราชอาณาจักรฝรั่งเศส
(ปัจจุบันคือซาร์ลูอิส ประเทศเยอรมนี)
เสียชีวิต7 ธันวาคม ค.ศ. 1815(1815-12-07) (46 ปี)
ปารีส ราชอาณาจักรฝรั่งเศส
รับใช้ ฝรั่งเศส
ราชอาณาจักรชาวฝรั่งเศส
ฝรั่งเศส สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่หนึ่ง
 ฝรั่งเศส (ถึง 1814)
ฝรั่งเศสสมัยฟื้นฟูบูร์บง (ถึง 1815)
 ฝรั่งเศส (1815)
แผนก/สังกัดกองทัพบก
ประจำการ1787–1815
ชั้นยศจอมพลแห่งจักรวรรดิ
ลายมือชื่อ

วัยเยาว์ แก้

มีแชล แน เกิดวันที่10 มกราคม ค.ศ. 1769 ที่เมืองซาร์ลูย แคว้นลอแรน ประเทศฝรั่งเศส เป็นบุตรคนที่สองของปีแยร์ แน (Pierre Ney) ซึ่งทำอาชีพช่างทำถังไม้ บิดาของแนเคยเป็นทหารในสงครามเจ็ดปี แนได้เข้าเรียนที่วิทยาลัยโอกุสแต็ง (College des Augustins) หลังจากนั้นเขาได้ไปทำงานเป็นหน้าที่ทะเบียนและผู้ตรวจเหมืองแร่ในบ้านเกิด เนื่องจากอาชีพเหล่านี้ไม่ตรงกับบุคลิกของตน ดังนั้น เขาจึงตัดสินใจไปสมัครเป็นทหารที่เมืองแม็สเมื่อ ค.ศ. 1787 และได้ก้าวขึ้นสู่ระดับทหารชั้นประทวนอย่างรวดเร็ว ในปี ค.ศ. 1792 แนได้รับยศเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตร ช่วงสงครามปฏิวัติฝรั่งเศสนั้นแนได้ไปร่วมรบที่วาลมี เชอมาปป์ และไมนทซ์

สงครามปฏิวัติฝรั่งเศส แก้

 
แนในสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส

ในปี ค.ศ. 1796 แนได้เลื่อนยศเป็นพลจัตวา บังคับบัญชาทหารม้าบนแนวรบเยอรมัน วันที่ 17 เมษายน ค.ศ. 1797 ระหว่างยุทธการนอยวีด แนตกจากหลังม้าและถูกจับเป็นเชลยที่เมืองมันน์ไฮม์ แต่ได้รับการปล่อยตัวโดยแลกกับพลเอกออสเตรียนายหนึ่ง หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 1799 เขาได้ไปรบที่วินเทอร์ทูร์และได้รับบาดเจ็บที่สะโพกและข้อมือ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วก็ไปสมทบกับนายพลวิกเตอร์ โมโรที่เมืองโฮเฮลินเดิน

ชื่อเสียงเรียงนามและวีรกรรมของเขาทราบถึงจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 แห่งฝรั่งเศส ฝีมือการรบของเขานั้นเป็นที่พึงพอใจแก่นโปเลียน ถือเป็นโอกาสดีที่นโปเลียนจะได้มีกองหนุนที่มีความสามารถแบบนี้ นโปเลียนได้มอบหมายให้จักรพรรดินีโฌเซฟีน เดอ โบอาร์แนหาคู่ครองให้ โฌเซฟีนได้ทำการพูดจาสู่ขอกับนางกำนัลของนาง มีชื่อว่าอากลา โอกีเยร์ ซึ่งเป็นลูกสาวของหัวหน้าคนใช้ของมารี อ็องตัวแน็ต โดยพิธีสมรสจัดขึ้นที่โบสถ์ในปราสาทโอกีเอใกล้เมืองแวร์ซาย การกระทำดังกล่าวทำให้แนมีความเชื่อมั่นในตัวองค์จักรพรรดินโปเลียนและระบอบการเมืองโบนาปาร์ตได้อย่างแน่นแฟ้นมากขึ้น

จอมพลแห่งฝรั่งเศส และสงครามนโปเลียน แก้

 
แนในชุดจอมพลแห่งฝรั่งเศส

แนได้รับการแต่งตั้งเป็นจอมพลรุ่นแรกของจักรพรรดินโปเลียนเมื่อปี ค.ค.1804 ซึ่งเป็นปีเดียวที่นโปเลียนได้ขึ้นครองบัลลังก์เป็นจักรพรรดิแห่งชาวฝรั่งเศส จอมพลรุ่นแรกที่ได้รับแต่งตั้งเวลาเดียวกับแน ได้แก่ นิโกลาส์ ดาวูต์ ฌอง ลานน์ อังเดร มาสเซนา ฌอง เดอ ดิเยอ ซูลต์ ฌออากีม มูว์รา หลุยส์ อาแล็กซองดร์ แบร์ทิเยร์ เป็นต้น

ค.ศ. 1805 นโปเลียนส่งกองทัพของแนไปบดขยี้กองทัพออสเตรียที่ทุ่งเอลชิงเก็น ซึ่งสมภูมิครั้งนี้แนเป็นฝ่ายได้ชัยชนะอย่างเด็ดขาด หลังจากศึกนั้นนโปเลียนได้มอบบรรดาศักดิ์เป็นดุ๊กแห่งเอลชินเกน และในปีค.ค. 1806 แนได้ชัยชนะจากกองทัพปรัสเซียในสมภูมิรบที่เยนา ไอเลาและฟรีดลันด์ และในปี ค.ศ. 1808 แนได้ร่วมรบกับจอมพลมาสเซน่าที่สเปนในสงครามคาบสมุทร แนได้ขัดคำสั่งของมาสเซนา เมื่อนโปเลียนทรงรับรู้เรื่องนี้เข้าพระองค์จึงสั่งปลดและส่งกลับไปฝรั่งเศสแบบเสียหน้าเมื่อปี ค.ศ. 1811

บุคลิกและลักษณะของแนนั้น แนเป็นนายทหารที่มีความมุ่งมั่นในหน้าที่ของทหารสูง เพราะเวลาออกรบนั้นเขาจะรบอย่างห้าวหาญ ไม่เกรงกลัวภัยอันตรายใด ๆ เพื่อปลุกใจลูกน้องและกระทำตนเป็นตัวอย่างที่ดี เขาไม่ต้องการที่จะเลื่อนยศทหารระดับสูง และคัดค้านการเลื่อนยศทั้งต่อหน้าผู้บังคับบัญชาและนายทหารอาวุโส แต่สุดท้ายก็ต้องยอมจำนนได้รับยศ ในการต่อสู้ของเขานั้นเขามักหลีกเลี่ยงการใช้อาวุธปืน และใช้ดาบเป็นหลัก เขาจะเน้นฟันดาบหนัก ๆ และควบม้าพุ่งเข้าหาข้าศึกด้วยความเร็วสูงตามแบบการรบของทหารม้า ตลอดการรับใช้ชาติทหารเขาคิดว่าตนเป็นทหารม้าเท่านั้น เขาเป็นคนที่อารมณ์ร้อน ฉุนเฉียว บุ่มบ่าม และไม่ยอมฟังคำสั่งใครถ้าไม่ใช่คำสั่งของจักรพรรดินโปเลียน จึงมักทำให้การทำงานระหว่างเขากับแม่ทัพคนอื่น ๆ มีปัญหา

 
การรบที่โบโรดิโน
 
แนเป็นแม่ทัพกองระวังหลังระหว่างการล่าถอยออกจากรัสเซีย เมื่อปี ค.ศ. 1812

ปีค.ศ. 1812 นโปเลียนส่งกองทัพฝรั่งเศสไปบุกครองรัสเซีย เมื่อกองทัพฝรั่งเศสของนโปเลียนไปถึงกรุงมอสโก กลับพบว่ากรุงมอสโกเป็นเมืองร้าง และประชาชนชาวมอสโกเผาเมืองเพื่อไม่ให้นโปเลียนยึดได้ ส่วนพระเจ้าซาร์อเล็กซานเดอร์ที่ 1 ได้หลบหนีไปปารีสก่อนหน้านั้น นโปเลียนจึงสั่งถอยทัพออกจากรัสเซีย ระหว่างการถอยทัพนั้นเต็มไปอุปสรรคมาก อาทิ อากาศหนาวเย็น ฝูงหมาป่า เสบียงไม่เพียงพอ และเหล่าทหารคอสแซคเข้าโจมตี ทำให้ทหารฝรั่งเศสบาดเจ็บล้มตายเป็นอันมาก จอมพลแนที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำกองระวังหลังได้ข้ามแม่น้ำเบเรซินาที่จับตัวเป็นน้ำแข็ง และปะทะกับกองทัพรัสเซียของนายพลมีฮาอิล คูตูซอฟอย่างห้าวหาญที่ตำบลโบโรดิโน หลังศึกนั้นเขาขว้างปืนคาบศิลาประจำมือลงแม่น้ำตามวิสัยของทหารม้าแล้วกลับไปยังฝรั่งเศสแบบวีรบุรุษ ซึ่งเขาได้เป็นคนฝรั่งเศสคนสุดท้ายที่ออกมาจากพรมแดนรัสเซีย นโปเลียนได้เห็นความกล้าหาญของจอมพลผู้นี้จึงมอบบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าชายแห่งมอสโก และมอบสมญานามให้แนให้เป็นจอมสุรโยธิน

ในปีค.ศ. 1814 แนได้ออกทัพไปที่เมืองเดนเนวิทซ์ในช่วงสงครามมหาสัมพันธมิตร ในสงครามครั้งนี้ศึกคราวนี้แนต้องเจอคข้าศึกที่เป็นสหายเก่าของตน คือพระเจ้าคาร์ลโยฮันที่ 14 ซึ่งเคยเป็นจอมพลของนโปเลียนและเคยเป็นสิบเอกร่วมรบกับแนในช่วงสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส มีนามเดิมว่าฌอง-บับติสต์ แบร์นาดอตต์จากสงครามคราวนี้แนเป็นฝ่ายแพ้ หลังจากนั้นก็ไปรบที่ไลพ์ซิจจนได้รับบาดเจ็บ

เมื่อแนทราบว่าจักรพรรดินโปเลียนทรงประสงค์ระดมทหารไปตอบโต้ข้าศึกที่บุกมายังปารีส แนจึงตัดสินใจไม่ส่งกองทัพเข้าไปสนับสนุน จากนั้นก็มุ่งหน้าไปยังพระราชวังฟงแตนโบลและร่วมมือกับจอมพลคนอื่น ๆ ให้บีบบังคับให้นโปเลียนสละบังลังก์จนเป็นผลสำเร็จ ทำให้นโปเลียนถูกเนรเทศไปยังเกาะเอลบา

สมัยร้อยวัน แก้

จากนั้นฝรั่งเศสก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้าหลุยส์ที่ 18 แห่งฝรั่งเศส ตามนโยบายของสัมพันธมิตร ซึ่งบรรดาจอมพลของนโปเลียนนั้นยังรับใช้พระเจ้าหลุยส์โดยถือว่าพวกเขาเหล่าเป็นวีรชนของชาติ ซึ่งจอมพลแนได้ถวายสัตย์ปฏิญาณตนว่าจะจงรักภักดีต่อพระเจ้าหลุยส์ให้ดีที่สุด ตลอดที่แนได้เข้าทำงานภายใต้การปกครองของราชวงศ์บูร์บงนั้นเขาโดนพวกขุนนางเก่าและดัชเชลแห่งแองกุลาม (พระราชธิดาของพระเจ้าหลุยส์ที่ 16) ดูถูกภูมิหลังที่ต่ำต้อยและรังเกียจเขา เมื่อแนทนไม่ได้กับคำดูถูกเหล่านั้นเขาจึงขอลาออกจากราชการไปอยู่ที่คฤหาสน์ส่วนตัวแถบชนบทของตนเองอย่างเงียบๆ ข่าวนี้ส่งผ่านจดหมายถึงนโปเลียนที่ประทับอยู่เอลบา ทำให้นโปเลียนตระหนักว่าแนยังคงจงรักภักดีต่อตนและได้รู้ถึงความเดือดร้อนของชาวฝรั่งเศสในช่วงที่ฟื้นฟูราชวงศ์บูร์บง ดังนั้น นโปเลียนจึงตัดสินใจยกกองทัพหนีออกจากเกาะเอลบาไปยังฝรั่งเศสเพื่อทวงบัลลังก์คืน

เมื่อพระเจ้าหลุยส์ทรงทราบข่าวนี้แล้ว พระองค์จึงเรียกตัวแนให้จับกุมตัวนโปเลียนที่หนีออกมาจากเกาะเอลบา แนกราบทูลต่อหน้าพระพักตร์หลุยส์ที่ 18 ว่า "จะจับนโปเลียนขังไว้ในกรงเหล็ก" เมื่อได้พบกับกองทัพของนโปเลียนที่หนีมาเกาะเอลบา ณ เมืองโอแซร์แล้วนั้น ทหารในกองทัพของแนนั้นกลับไม่ยิงนโปเลียนแม้แต่นายเดียว รวมทั้งแนรู้สึกโอดโอนเมื่ออยู่ต่อหน้าองค์จักรพรรดิของตน เพราะนโปเลียนเป็นคนเลี้ยงแนมาตั้งแต่เป็นนายทหารชั้นผู้น้อยกระทั่งเป็นจอมพล[2] เขาจึงร่ำไห้กอดนโปเลียนและพานโปเลียนกลับไปครองบัลลังก์ฝรั่งเศสตามเดิม

วันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1815 นโปเลียนสั่งให้แนไปเป็นแม่ทัพทางด้านปีกซ้ายและไปจัดการกับกองทัพอังกฤษซึ่งนำทัพโดยอาร์เธอร์ เวลสลีย์ ดยุกที่ 1 แห่งเวลลิงตัน ที่กาเตร บราส (Quatre Bras) แนไม่เข้าใจคำสังของนโปเลียน จึงทำให้ไล่ต้อนกองทัพอังกฤษไม่หมด หลังจากศึกครั้งที่วอเตอร์ลูแล้ว แนได้หลบหนีออกจากเขตการรบแล้วเอาเขม่าควันทาที่ใบหน้าแล้วพูดกับนายทหารผู้หนึ่งว่า "หากว่ามันจับเราได้ครั้งนี้ มันจะแขวนคอเราแน่"[3]

ถูกจับกุมและประหารชีวิต แก้

 
การประหารชีวิตจอมพลแน

วันที่ 3 สิงหาคม ค.ศ. 1815 แนถูกจับกุมข้อหากบฏหลังจากที่พระเจ้าหลุยส์ที่ 18 กลับมาขึ้นครองราชย์อีกครั้ง เขาได้ถูกนำตัวไปขึ้นศาล ในบรรดาสมาชิกในวุฒิสภาในศาลนั้นส่วนใหญ่ฝักใฝ่บูร์บง ในรุ่งเช้าของวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1815 แนได้มุ่งหน้าไปยังลานประหารอย่างองอาจสมกับเป็นจอมสุรโยธิน เขาเดินตรงไปยังลานประหารตรงถนน l'Observatoire ใกล้ ๆ สวนลุกซ็องบูร์โดยไม่ต้องมีผู้คุมมาพยุงและไม่ผูกผ้าคาดตา แนได้สั่งให้พลปืนเพชฌฆาตยิงไปที่หัวใจของเขาพร้อมกับสั่งเสียให้กับทหารทั้งน้ำตาว่า

ทหารทั้งหลาย...ข้าพเจ้าสั่งให้เล็งปืนไปยังหัวใจของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าฝ่าฝันกับลูกกระสุนมาหลายครั้งแล้ว นี่คือคำสั่งสุดท้ายของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้ค้านการตัดสินมา และข้าพเจ้าก็ไม่เคยคิดร้ายต่อฝรั่งเศสเลยแม้แต่นิดเดียว ทหาร จงยิง!

จอมพลมีแชล แน ดยุคแห่งเอลชิงเกน เจ้าชายแห่งมอสโกวาถูกหน่วยพลปืนสำเร็จโทษ สิริอายุได้ 46 ปี ศพของแนนั้นตั้งอยู่ที่สุสานแปร์ ลาแชส (Pere Lachaise) ที่กรุงปารีส ส่วนบริเวณที่แนถูกประหารชีวิตนั้นได้ก่อสร้างเป็นอนุสาวรีย์ การประหารของจอมพลแนนั้นทำเกิดความแตกแยกในฝรั่งเศส อันก่อให้เกิดการปฏิวัติอีกครั้งในเวลาต่อมา

ดูเพิ่ม แก้

อ้างอิง แก้

  1. ศรีวรรณกรรมจากเหมืองหมึกของยาขอบ, โชติ แพร่พันธุ์, สำนักพิมพ์ดอกหญ้า, 2531, หน้า 219
  2. ประวัติศาสตร์สากล, หลวงวิจิตรวาทการ (วิจิตร วิจิตรวาทการ), สำนักพิมพ์สร้างสรรค์บุ๊คส์, 2547, หน้า 680
  3. สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม 5 อักษรL-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน, 2551, หน้า 652