มณฑลภูเก็ต หรือ มณฑลหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก เป็นมณฑลหัวเมืองชายทะเลซึ่งมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ มีรายได้มหาศาลจากแร่ดีบุก ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2435 ในปัจจุบันประกอบด้วยพื้นที่บริเวณจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

มณฑลภูเก็ต
มณฑลเทศาภิบาล
พ.ศ. 2435 – 2476
Flag of มณฑลภูเก็ต
ธง

เมืองหลวงภูเก็ต
การปกครอง
 • ประเภทสมุหเทศาภิบาลต่างพระเนตรพระกรรณ
สมุหเทศาภิบาล 
• พ.ศ. 2435–2441
พระยาทิพย์โกษา (โต โชติกเสถียร) (คนแรก)
• พ.ศ. 2444–2456
พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง)
• พ.ศ. 2456–2463
พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (หม่อมราชวงศ์สิทธิ์ สุทัศน์)
• พ.ศ. 2468–2473
หม่อมเจ้าสฤษดิเดช ชยางกูร
• พ.ศ. 2473–2476
พระยาศรีเสนา (ฮะ สมบัติศิริ) (คนสุดท้าย)
ยุคทางประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์
• จัดตั้งมณฑลหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก
พ.ศ. 2435
• จัดระเบียบบริหารราชการและเปลี่ยนชื่อเป็นมณฑลภูเก็ต
พ.ศ. 2438
• รวมมณฑลไทรบุรีไว้ในปกครอง
6 สิงหาคม พ.ศ. 2453
• ยกจังหวัดสตูลไปไว้ในการปกครองของมณฑลนครศรีธรรมราช
31 มีนาคม พ.ศ. 2469
• ยกเลิกการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล
9 ธันวาคม พ.ศ. 2476
ก่อนหน้า
ถัดไป
เมืองภูเก็ต
เมืองถลาง
เมืองพังงา
เมืองตะกั่วป่า
เมืองกระบี่
เมืองตรัง
เมืองระนอง
มณฑลไทรบุรี
จังหวัดภูเก็ต
จังหวัดพังงา
จังหวัดกระบี่
จังหวัดตรัง
จังหวัดระนอง
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ ไทย

ภูมิหลัง แก้

ก่อนสมัยรัตนโกสินทร์ หัวเมืองแถบนี้ยังไม่ค่อยมีความสำคัญต่อราชธานีมากนักทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง เนื่องจากอยู่ห่างไกล ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจึงเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะกลายเป็นเมืองท่าแทนเมืองมะริด ทวาย ตะนาวศรี ซึ่งเสียให้พม่าไป และยังเป็นเมืองหน้าด่าน หัวเมืองทางใต้ของไทย[1] เมื่อไทยได้ทำสนธิสัญญาเบาว์ริงกับอังกฤษ หัวเมืองแถบนี้มีการทำเหมืองแร่ดีบุก เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว รัฐบาลสามารถเก็บภาษีอากรได้มากขึ้น จึงหันมาสนใจหัวเมืองแถบนี้เป็นพิเศษ

พ.ศ. 2435 ได้มีการรวบรวมหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตกขึ้นเป็นมณฑล อันประกอบด้วย ภูเก็ต กระบี่ ตรัง ตะกั่วป่า พังงา และระนอง มีที่ตั้งบัญชาการมณฑลอยู่ที่ภูเก็ต ด้วยเหตุผลเพื่อแก้ไขปรับปรุงเศรษฐกิจ หาผลประโยชน์รายได้ของแผ่นดิน[2] และการปกครองหัวเมืองให้เรียบร้อยดีขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาทิพย์โกษา (โต โชติกเสถียร) ดูแลเรื่องภาษีอากร ทำให้มณฑลภูเก็ตสามารถเก็บภาษีได้มากกว่าหัวเมืองอื่น แต่ก็ทำให้พระยาทิพย์โกษาขัดแย้งกับผู้ว่าการเมืองต่าง ๆ จนมณฑลภูเก็ตได้รับการยกฐานะเป็นมณฑลเทศาภิบาลเมื่อ พ.ศ. 2438[3]

ข้าหลวงคนต่อมา คือ พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง) เมื่อ พ.ศ. 2444–2453 นโยบายในการปกครองนี้ระมัดระวังไม่ให้กระทบกระเทือนผลประโยชน์ของอังกฤษสำหรับหัวเมืองมลายู อันเนื่องมาจากการแทรกแซงของอังกฤษในรัฐมลายูที่อยู่ในการปกครองของไทย

พ.ศ. 2476 ได้มีการยุบเลิกมณฑลภูเก็ตพร้อมอีก 8 มณฑล คือ มณฑลนครราชสีมา นครศรีธรรมราช ปราจีน พายัพ พิษณุโลก ราชบุรี อยุธยา และอุดร[4]

การปฏิรูป แก้

 
ธนาคารชาร์เตอร์ที่ภูเก็ต

มีการจัดตั้งข้าหลวงพิเศษจัดการศาลยุติธรรมในมณฑลภูเก็ต เมื่อ พ.ศ. 2441 แบ่งศาลออกเป็น 3 ศาล คือ ศาลมณฑล ศาลเมืองและศาลแขวง[5]

ด้านการเก็บภาษีอากร รัฐบาลได้แต่งตั้งให้ผู้ว่าราชการเมืองเป็นเจ้าหน้าที่เก็บภาษีและข้าหลวงใหญ่คอยควบคุมการเก็บภาษี และมีการกำหนดอัตราภาษีใหม่ ทำให้รัฐบาลสามารถเก็บภาษีได้มากขึ้น ผู้ว่าราชการเมืองได้ผลประโยชน์มากขึ้นและได้ปรับปรุงระบบการคลังของมณฑลภูเก็ตได้ดีขึ้นจนได้มอบบัญชีการภาษีอากรตลอดจนข้อบังคับต่าง ๆ ให้อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติเป็นมณฑลแรก[6]

ด้านเศรษฐกิจ มีการตั้งกรมราชโลหกิจและภูมิวิทยา เมื่อ พ.ศ. 2437 เพื่อจัดระบบการทำเหมืองแร่ตามแบบตะวันตกเป็นครั้งแรก[7] อย่างไรก็ดี เกิดปัญหาที่ยังไม่ออกกฎหมายการทำเหมืองแร่ให้เรียบร้อยและขัดแย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน ต่อมาได้โอนกรมราชโลหกิจและภูมิวิทยามาขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทยเมื่อ พ.ศ. 2439 ในสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ราษฎรหันมาทำเกษตรกรรมมากขึ้น โดยเฉพาะยางพารา ผลผลิตจากมะพร้าว

มีการจัดตั้งธนาคารและหาแหล่งเงินกู้จากพวกแขกอินเดียที่เรียกว่า เชตตี (Chetteyar Moneylender) ให้แก่นายเหมือง หรือนำเทคนิคและเครื่องจักรสมัยใหม่เข้ามาขุดแร่[8] มีการขอจัดตั้งธนาคารชาร์เตอร์ที่ภูเก็ต เมื่อ พ.ศ. 2450 ทำให้สามารถกู้โดยเสียดอกเบี้ยน้อยลง[9]

อ้างอิง แก้

  1. มณฑลเทศาภิบาล : วิเคราะห์เปรียบเทียบ, 296.
  2. เทศาภิบาล, 43.
  3. กจช. เอกสารรัชกาลที่ 5 ค. 14.4 ก/25 2 กันยายน ร.ศ. 115.
  4. เทศาภิบาล, 224–225.
  5. มณฑลเทศาภิบาล : วิเคราะห์เปรียบเทียบ, 316.
  6. กจช. เอกสารรัชกาลที่ 5 ม.53/22 จดหมายกราบทูลกรมหมื่นดำรงราชานุภาพที่ 252/41210 7 มีนาคม ร.ศ. 115.
  7. มณฑลเทศาภิบาล : วิเคราะห์เปรียบเทียบ, 318.
  8. มณฑลเทศาภิบาล : วิเคราะห์เปรียบเทียบ, 328.
  9. "ธนาคารชาร์เตอร์ด (The Chartered Bank) สาขาภูเก็ต". ภูเก็ตสารสนเทศ.

บรรณานุกรม แก้

  • วุฒิชัย มูลศิลป์. "มณฑลเทศาภิบาล : วิเคราะห์เปรียบเทียบ" (PDF). สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-07-16. สืบค้นเมื่อ 2021-08-21.
  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพกับพระยาราชเสนา, เทศาภิบาล (พระนคร : โรงพิมพ์เจริญธรรม, 2495).