มณฑลไทรบุรี หรือ มณฑลเกอดะฮ์ ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2440 มีพื้นที่ครอบคลุมเมืองไทรบุรี เมืองปลิศ และเมืองสตูล มีทิศเหนือจดเมืองตรัง มณฑลภูเก็ต และจดเมืองพัทลุง เมืองสงขลา มณฑลนครศรีธรรมราช ทิศตะวันออกจดเมืองสงขลา เมืองนครศรีธรรมราช มณฑลนครศรีธรรมราช และเมืองปัตตานี ทิศตะวันตกจดสมารังไพรของรัฐปีนังในสเตรตส์เซตเทิลเมนต์ ทิศใต้จดรัฐเประในสหพันธรัฐมาเลเซียและจดช่องแคบมะละกา มหาสมุทรอินเดีย ปัจจุบันดินแดนมณฑลไทรบุรีบางส่วนอยู่ในประเทศไทย และส่วนใหญ่อยู่ในมาเลเซีย ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ไทยตกลงยกดินแดนส่วนใหญ่ของมณฑลไทรบุรีให้แก่อังกฤษ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2452[1] ดินแดนที่ยังคงปรากฏอยู่ในอธิปไตยของไทย คือ จังหวัดสตูล และดินแดนส่วนใหญ่ของอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ส่วนไทรบุรีและปลิศ ปัจจุบันคือ รัฐเกอดะฮ์และรัฐปะลิส ของประเทศมาเลเซีย

มณฑลไทรบุรี
มณฑลเทศาภิบาล
พ.ศ. 2440 – 2453
เมืองหลวงไทรบุรี (พ.ศ. 2440–2452)
สตูล (พ.ศ. 2452–2453)
การปกครอง
 • ประเภทข้าหลวงเทศาภิบาลต่างพระเนตรพระกรรณ
ข้าหลวงเทศาภิบาล 
• พ.ศ. 2440–2452
เจ้าพระยาฤทธิสงครามรามภักดี (อับดุล ฮามิด)
ยุคทางประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์
• จัดตั้ง
7 เมษายน พ.ศ. 2440
10 มีนาคม พ.ศ. 2452
• ยุบรวมกับมณฑลภูเก็ต
6 สิงหาคม พ.ศ. 2453
ก่อนหน้า
ถัดไป
เมืองไทรบุรี
เมืองปลิศ
เมืองสตูล
รัฐเกอดะฮ์
รัฐปะลิส
มณฑลภูเก็ต
ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ ไทย
ธงของประเทศมาเลเซีย มาเลเซีย

ภูมิหลัง แก้

ก่อนการปฏิรูปการปกครองในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หัวเมืองมลายูของไทย ได้จัดการปกครองแบบเมืองประเทศราช เพราะสภาพภูมิศาสตร์ตั้งอยู่ห่างไกลศูนย์กลางการปกครอง มีการตั้งเจ้าเมืองมลายูเพื่อแสดงถึงการยอมรับว่าอนุญาตให้จัดการปกครองภายในได้อย่างถูกต้อง พร้อมทั้งพระราชทานยศบรรดาศักดิ์ ชั้นสัญญาบัตรเป็นที่พระยาเมืองและผู้ช่วยราชการเมือง ในการควบคุมของรัฐบาล จะมอบให้เมืองนครศรีธรรมราช หัวเมืองชั้นเอกทางภาคใต้เป็นผู้ควบคุมดูแลโดยอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของอัครมหาเสนาบดี กรมพระกลาโหม ซึ่งรับสนองพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์ จนถึง พ.ศ. 2352 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ไทรบุรีภายใต้การปกครองของเจ้าพระยาไทรบุรี (ตนกูปะแงรัน) จึงมีพฤติการณ์แยกอิสระจากไทย อย่างไรก็ตามเจ้าพระยาไทรบุรี (ตนกูปะแงรัน) ทำความดีความชอบนำเมืองเประเป็นเมืองประเทศราชของไทยเพิ่ม รัฐบาลจึงได้เลื่อนบรรดาศักดิ์และยศเป็นเจ้าพระยา แต่ไม่นานก็ปรากฏหลักฐานว่า เจ้าพระยาไทรบุรี (ตนกูปะแงรัน) ได้ติดต่อคิดคบกับพม่าจะเข้าตีไทย รัฐบาลจึงสั่งให้เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย ณ นคร) เข้าปราบปรามเมื่อ พ.ศ. 2365[2] เจ้าพระยาไทรบุรี (ตนกูปะแงรัน) จึงหลบหนีไปอาศัยอยู่ในเขตมลายูของอังกฤษ รัฐบาลจึงส่งคนไทยเข้าไปเป็นพระยาเมือง อย่างไรก็ดีเจ้าพระยาไทรบุรี (ตนกูปะแงรัน) สำนักผิดเข้ามากราบทูลขอพระกรุณาอภัยโทษ รัฐบาลจึงได้เจ้าพระยาไทรบุรีไปปกครองดังเดิม

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราว พ.ศ. 2415 รัฐบาลกลางได้ประกาศให้เมืองไทรบุรีขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลางเนื่องจากหวั่นได้รับภัยคุกคามจากอังกฤษ ครั้น พ.ศ. 2439 พระยาปลิศถึงแก่อสัญกรรม ไทรบุรีจึงถือโอกาสขอรวมปลิศกับไทรบุรี จึงได้เปลี่ยนการปกครองใหม่คล้ายมณฑลเทศาภิบาล โดยยังคงให้พระยาเมืองมีอำนาจในการปกครองบ้านเมืองของตน ส่วนข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นเพียงผู้รับคำสั่งจากรัฐบาลในราชการที่เกี่ยวกับหัวเมืองมลายูตะวันตก ขณะนั้นรัฐบาลไทยได้ตกลงทำอนุสัญญาลับ พ.ศ. 2440 กับรัฐบาลอังกฤษ โดยตกลงรับรองอธิปไตยของไทยในหัวเมืองมลายู ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงประกาศปฏิรูปการปกครองหัวเมืองมลายูตะวันตก จัดตั้งเป็นมณฑลไทรบุรี เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2440 โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาฤทธิสงครามรามภักดี เจ้าพระยาไทรบุรีเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลบังคับบัญชาเมืองไทรบุรี ปลิศ และสตูล[3]

การปฏิรูป แก้

แต่ละเมืองจะมีผู้ว่าราชการเมืองจัดการปกครองตามคำสั่งของรัฐบาลที่สั่งผ่านข้าหลวงเทศาภิบาล ส่วนการถวายฎีกา ผู้ว่าราชการเมืองนำกราบทูลถวายโดยตรงไปยังกระทรวงมหาดไทย ไม่ต้องรายงานข้าหลวงเทศาภิบาล ด้านการคลังผู้ว่าราชการเมืองมีอำนาจอิสระในการจัดการคลังภายใน แต่ก็เกิดปัญหาว่าเจ้าพระยาเมืองใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยเกิดหนี้สินมาตลอด ด้านการศาลก็เช่นเดียวกับการคลัง คือให้อิสระภายในเมือง ลักษณะศาลในมณฑลไทรบุรีมี 2 ประเภทคือ ศาลคดีทางศาสนาหรือเรียกว่า มาห์กะมาซาระยะห์ พิจารณาคดีจำพวก คดีมรดก ผัวเมีย หย่าร้าง และชู้ อีกศาลคือ ศาลคดีอาญามีสองแบบ คือ ศาลบ้างเมืองกับศาลโปลิสสภา โดยนายอำเภอเป็นผู้พิพากษา

ในการปฏิรูปการปกครองมณฑลไทรบุรี รัฐบาลไทยประสบอุปสรรคจากการแทรกแซงของอังกฤษ ที่เกิดความยุ่งยากที่สุด คือ การแทรกแซงเกี่ยวกับศาลยุติธรรม เพราะอังกฤษถือว่ามีสิทธิสภาพนอกอาณาเขตตามสนธิสัญญาเบาว์ริง เมื่อเกิดคดีคนในบังคับอังกฤษกับคนในบังคับไทย เป็นโอกาสให้อังกฤษเรียกร้องทางการทูตเรื่องค่าชดใช้ค่าเสียหายทุกรายไป อีกทั้งการตีความในอนุสัญญาลับระหว่างไทยกับอังกฤษ พ.ศ. 2440 ซึ่งอังกฤษจะถือว่ารัฐบาลไทยอนุญาตหรือให้สิทธิพิเศษทั้งหมดในดินแดนใต้เมืองบางสะพานลงไปจดเมืองมลายูของอังกฤษ ขณะนั้นเยอรมนีพยายามขอเช่าพื้นที่ในเมืองไทรบุรีและเกาะลังกาวีเพื่อสร้างสถานีเชื้อเพลิงและฐานทัพเรือ ไทยก็ต้องปฏิเสธไป

รัฐบาลอังกฤษจึงได้เสนอแนะว่า ไทยไม่ได้รับผลประโยชน์คุ้มค่าอันใดจากไทรบุรี กลันตันและตรังกานู แต่ต้องมารับผิดชอบการปกครองต่าง ๆ ก่อให้เกิดความยากลำบากในการบริหารตลอดมา ถ้าไทยยอมมอบไทรบุรี กลันตังและตรังกานูให้แก่อังกฤษ อังกฤษจะยอมยกเลิกสัญญาลับและสิทธิสภาพนอกอาณาเขต[4] อังกฤษยังขอเมืองปลิศ เมืองสตูล และมณฑลปัตตานี เพิ่มเติม ในที่สุดไทยก็ยอมยกไทรบุรี กลันตันและตรังกานู รวมถึงปลิศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของไทรบุรีมาก่อนด้วย[3]

หลังจากนั้นอังกฤษยังให้ไทยยอมกู้เงิน 4.63 ล้านปอนด์ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 สำหรับสร้างทางรถไฟสายใต้ของไทย[5] สนธิสัญญาฉบับนี้ลงนามที่กรุงเทพเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2452[3] เมืองสตูลได้กลับเป็นเมืองขึ้นของมณฑลภูเก็ต[6]

อ้างอิง แก้

  1. สมโชติ อ๋องสกุล. ปัญหาการปกครองมณฑลไทรบุรี ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พ.ศ. 2440–2452. มหาวิทยาลัย ศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร.
  2. รัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2325 – 2394) เล่ม 1. กรุงเทพฯ: คณะกรรมการจัดงาน สมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี สำนักนายกรัฐมนตรี.
  3. 3.0 3.1 3.2 วุฒิชัย มูลศิลป์. "มณฑลเทศาภิบาล : วิเคราะห์เปรียบเทียบ" (PDF). สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-07-16. สืบค้นเมื่อ 2021-07-16.
  4. กองบรรณสาร กระทรวงต่างประเทศ หมวดสนธิสัญญา เรื่องสัญญาสยาม-อังกฤษ แฟ้ม 1.8 ปึก 1. บันทึก มร. สโตรเบล ลงวันที่ 4 ธันวาคม ร.ศ. 1907.
  5. "มุมมองต่อสนธิสัญญา ค.ศ.1909 ระหว่างสยาม-อังกฤษ และการแลกดินแดนมลายู". ศิลปวัฒนธรรม.
  6. "พระบารมีปกถิ่นแผ่นดินสตูล" (PDF).