ฟุตซอล
ฟุตซอล (อังกฤษ: futsal) ลักษณะการเล่นเหมือนฟุตบอล แต่เป็นการเล่นในร่ม โดยสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (ฟีฟ่า) เป็นองค์กรที่ควบคุมการเล่นฟุตซอลทั่วโลก ชื่อ ฟุตซอล มาจากวลีในภาษาโปรตุเกสว่า ฟูตึบอลดึซาเลา (futebol de salão) และในภาษาสเปนว่า ฟุตโบลซาลา (fútbol sala) ซึ่งวลีทั้งสองหมายถึง "ฟุตบอลที่เล่นในห้อง"
การแข่งขันฟุตซอลระหว่างทีมชาติอาร์เจนตินากับทีมชาติบราซิลใน ค.ศ. 2007 | |
สมาพันธ์สูงสุด | สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ |
---|---|
ลักษณะเฉพาะ | |
การปะทะ | ใช่[1] |
ผู้เล่นในทีม | ทีมละ 5 คน |
หมวดหมู่ | ในร่ม |
อุปกรณ์ | ลูกฟุตซอล |
สถานที่ | สนามฟุตซอล |
จัดแข่งขัน | |
โอลิมปิก | ไม่ (ยกเว้นโอลิมปิกเยาวชน 2018) |
พาราลิมปิก | ไม่ |
การเล่นฟุตซอลจะแบ่งออกเป็นสองทีม โดยแต่ละทีมมีทั้งหมด 5 คน รวมผู้รักษาประตูข้างละ 1 คน ลูกบอลที่ใช้เล่นจะมีขนาดเล็กกว่าลูกฟุตบอลทั่วไป และจะหนักกว่า
ประวัติ
แก้คำว่า ฟุตซอล มีรากศัพท์มาจากภาษาสเปนหรือโปรตุเกส ที่ว่า FUTbol หรือ FUTebol และภาษาสเปนหรือฝรั่งเศสเรียกคำว่า Indoor เป็นคำว่า SALa เมื่อนำมารวมกันจึงกลายเป็นคำว่า ฟุตซอล
กีฬาฟุตซอลถือกำเนิดขึ้นในประเทศแคนาดาเมื่อ ค.ศ. 1854 เนื่องจากเมื่อย่างเข้าหน้าหนาว หิมะตกคลุมทั่วบริเวณ ทำให้นักกีฬาไม่สามารถเล่นกีฬาฟุตบอลกลางแจ้งได้ จึงหันมาเล่นฟุตบอลในร่ม โดยใช้โรงยิมบาสเกตบอลเป็นสนามแข่ง ทำให้ช่วงนั้นเรียกกีฬาฟุตซอลว่า Indoor soccer (อินดอร์ซอคเกอร์) หรือ five a side soccer
ค.ศ. 1930 ฮวน คาร์ลอส เซอเรียนี จากเมืองมอนเตวิเดโอ ประเทศอุรุกวัย ได้นำกีฬาฟุตซอลไปใช้ในสมาคม YMCA (Young Man's Christian Association) โดยใช้สนามบาสเกตบอลในการเล่นทั้งภายในและภายนอกอาคาร ทำให้กีฬา Indoor soccer ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ
ค.ศ. 1932 โรเจอร์ เกรน ได้บัญญัติกฎเพื่อใช้เป็นมาตรฐานควบคุมกีฬาชนิดนี้ และใช้มาจนถึงทุกวันนี้ หลังจากนั้นไม่นาน กีฬาชนิดนี้ก็แพร่หลายไปทั่วโลก เป็นที่นิยมทั่วทั้งทวีปอเมริกาใต้ ทวีปยุโรป และแพร่กระจายไปทั่วโลก
ค.ศ. 1965 มีการจัดการแข่งขันฟุตซอลนานาชาติเป็นครั้งแรก และประเทศปารากวัยก็เป็นทีมชนะเลิศ ต่อจากนั้นก็มีการจัดแข่งขันในระดับนานาชาติมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1982 มีการจัดฟุตซอลชิงแชมป์โลกขึ้นที่ประเทศบราซิล และเจ้าภาพเองก็เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะไป จึงมีการจัดการแข่งขันอย่างไม่เป็นทางการอีก 2 ครั้ง ในปี ค.ศ. 1985 และ ค.ศ. 1988 ที่มีประเทศสเปนและออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพ จนกระทั่งปี ค.ศ. 1989 สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ ได้เข้ามาดูแลจัดการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกอย่างเป็นทางการ
กติกา
แก้ในกีฬาฟุตซอลมีกติกาสากลทั้งหมด 18 ข้อ หลักที่มีการใช้ในฟุตซอลทั่วโลก สนามแข่งขันต้องเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ความยาวเส้นข้างต้องยาวกว่าความยาวเส้นประตู โดยสนามมีความยาวต่ำสุด 25 เมตร สูงสุด 42 เมตร ความกว้างต่ำสุด 16 เมตร สูงสุด 25 เมตร
ลูกบอลต้องเป็นทรงกลม ทำด้วยหนังหรือวัสดุอื่น ๆ เส้นรอบวง ไม่น้อยกว่า 62 เซนติเมตร แต่ไม่เกิน 64 เซนติเมตร ขณะการแข่งขัน ลูกบอลต้องมีความดันลม ไม่น้อยกว่า 400 กรัม ไม่มากกว่า 440 กรัม ความดันลมของลูกบอลจะอยู่ผ่านเส้นประตูระหว่างเสาประตูใต้คานประตู แต่ต้องไม่มีการทำผิดกติกาโดยทีมที่ทำประตู ผู้รักษาประตูไม่สามารถทำประตูได้ด้วยมือแต่ทำด้วยการเตะได้ และผู้เล่นฝ่ายรุกไม่สามารถทำประตูได้ด้วยแขน
สรุปกติกา
แก้- ความยาวสนาม
- เล็กสุด 25 x 16 เมตร ใหญ่สุด 42 x 25 เมตร
- ลูกบอล
- การแข่งขันรุ่นอายุมากกว่า 13 ปี ใช้ลูกบอลไซต์ 4 มีขนาดก่อนเริ่มเกมคือ เส้นรอบวงยาว 62–64 ซม. น้ำหนักระหว่าง 400–440 กรัม
- การแข่งขันรุ่นอายุ 9-13 ปี ใช้ลูกบอลไซต์ 3 มีขนาดก่อนเริ่มเกมคือ เส้นรอบวงยาว 56–59 ซม. น้ำหนักระหว่าง 350–380 กรัม
- มาตราฐานลูกบอลคือ เมื่อปล่อยลูกบอลลงมาจากความสูง 2 เมตร การกระเด้งครั้งแรกต้องสูงไม่ต่ำกว่า 50 ซม. หรือมากกว่า 65 ซม.
- น้ำหนักที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 390-490 กรัม ไม่ควรเบากว่า 380 กรัม และ ไม่ควรหนักกว่า 500 กรัม
- ระยะเวลาการแข่งขัน
- การแข่งขันมีทั้งหมด 2 ครึ่ง ครึ่งละ 20 นาที และระยะเวลาการแข่งขันแต่ละครึ่งอาจเพิ่มเวลาเตะลูกโทษ ณ จุดโทษ ส่วนการขอเวลานอกนั้น ทั้งสองทีมมีสิทธิขอเวลานอก 1 นาที ในแต่ละครึ่งเวลา
- จำนวนผู้เล่น
- ส่งผู้เล่นลงสนามทีมละ 5 คน โดยมีผู้รักษาประตู 1 คน ตำแหน่งอื่น 4 คน ในหนึ่งเกมสามารถใช้ผู้เล่นได้สูงสุด 12 คน ไม่มีโควต้าการเปลี่ยนตัวสามารถเปลี่ยนได้เรื่อย ๆ และต้องเปลี่ยนทันที
ชิงแชมป์โลก
แก้การแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกครั้งแรกจัดที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีทีมที่ร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 16 ทีม ซึ่งทีมที่ได้แชมป์คือ ทีมชาติบราซิล ซึ่งชนะเนเธอร์แลนด์ 2–1 และตำแหน่งดาวยิงสูงสุดคือ Laszlo Zladany ทีมชาติฮังการี ทำได้ 7 ประตู
การแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกครั้งที่ 2 จัดขึ้นที่ฮ่องกงใน ค.ศ. 1992 และบราซิลก็ได้แชมป์สมัยที่ 2 อย่างสวยงาม ด้วยการถล่มสหรัฐอเมริกา 4–1 ส่วนดาวซัลโวคือ Rajabi Shirazi ทำได้ 16 ประตู
การแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกครั้งที่ 3 จัดที่ประเทศสเปนใน ค.ศ. 1996 ทีมชาติบราซิลก็ยังคงครองเจ้าสนามโต๊ะเล็กอีกครั้งด้วยการพิชิตสเปนเจ้าภาพ 6–4 และตำแหน่งดาวซัลโวคือ Manoel ทีมชาติบราซิล 14 ประตู
การแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกครั้งที่ 4 จัดที่ประเทศกัวเตมาลา ค.ศ. 2000 ซึ่งในครั้งนี้ทีมชาติไทยได้ลงสังเวียนระดับโลกเป็นครั้งแรก ถึงแม้ว่าจะแพ้ทั้ง 3 นัดแต่ก็เป็นการชิมลางในระดับโลกได้เป็นอย่างดี และสเปนรองแชมป์เก่าก็กลับมาทวงแค้นด้วยการเอาชนะบราซิล 4–3 คว้าแชมป์ไปครองอย่างพลิกความคาดหมาย ส่วนดาวซัลโวคือ Manoel Tobias ทีมชาติบราซิล 19 ประตู
การแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกครั้งที่ 5 ไทเป ค.ศ. 2004 ทีมชาติไทยก็ยังมีโอกาสมาโชว์ฝีเท้าอีกครั้ง และครั้งนี้ยังเก็บได้ 3 แต้ม ด้วยการชนะออสเตรเลีย 3–2 ส่วนแชมป์ตกเป็นของสเปนซึ่งเอาชนะอิตาลี 2–1
การแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกครั้งที่ 6 จะจัดขึ้นที่ประเทศบราซิล ค.ศ. 2008 ทีมชาติไทยก็ได้เป็นหนึ่งในตัวแทนจากทวีปเอเชียได้เข้าแข่งขันในครั้งนี้ด้วย
ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพฟุตซอลชิงแชมป์โลกครั้งที่ 7 ค.ศ. 2012 และประเทศโคลัมเบียได้เป็นเจ้าภาพฟุตซอลชิงแชมป์โลกครั้งที่ 8 ค.ศ. 2016
การแข่งขันฟุตซอล 5 คน ในประเทศไทย
แก้ประเทศไทยได้มีการจัดการแข่งขันฟุตซอล 5 คน ขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1997 ด้วยความร่วมมือจากหลาย ๆ ฝ่ายที่ช่วยกันผลักดันกีฬาชนิดนี้ให้ได้รับความนิยมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร การกีฬาแห่งประเทศไทย และเดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด ร่วมกันจัดการแข่งขันฟุตซอล 5 คน ในรายการ STAR IN DOOR SOCCER 1997 เมื่อวันที่ 12–21 กรกฎาคม 2540 ณ เดอะมอลล์ บางกะปิ โดยมี 12 ทีมสโมสรชั้นนำจากไทยแลนด์ลีกเข้าร่วมการแข่งขัน และทีมการท่าเรือแห่งประเทศไทยชนะเลิศ
ในปีต่อมาได้จัดการแข่งขันฟุตซอล 5 คน ขึ้นอีกเป็นครั้งที่ 2 ในครั้งนี้ ทีมกรุงเทพมหานครชนะแชมป์เก่าการท่าเรือแห่งประเทศไทย
ในปี ค.ศ. 2000 ได้มีการจัดการแข่งขันฟุตซอลขึ้นเป็นครั้งที่ 3 โดยมีการแข่งขันรอบคัดเลือกในแต่ละภาคเพื่อนำทีมชนะเลิศและรองชนะเลิศมาแข่งขันกับทีมสโมสรชั้นนำจากไทยลีก ในการแข่งขันฟุตซอลชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย จัดแข่ง ณ โรงเรียนเทคโนโลยีดอนบอสโกบ้านโป่ง
ซึ่งจากความสำเร็จในการแข่งขันครั้งนี้ทำให้กีฬาฟุตซอลเป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น
ต่อมาประเทศไทยได้มีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย และจากการแข่งขันดังกล่าวทำให้ประเทศไทยได้อันดับสามและได้สิทธิ์เดินทางไปแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลกรอบสุดท้าย ระหว่างวันที่ 18 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม ค.ศ. 2000 ณ ประเทศกัวเตมาลา
ในปัจจุบันฟุตซอล เป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมและสนใจจากทุกเพศทุกวัย เนื่องจากเป็นเกมกีฬาที่ตื่นเต้น สนุกสนานในทุก ๆ วินาทีของการแข่งขัน และสามารถเล่นได้ตลอดปี ทุกสภาพอากาศ ทำให้ฟุตซอล กลายเป็นกีฬายอดนิยมรับสหัสวรรษใหม่นี้
อันดับโลก
แก้วิธีคำนวณคะแนน
ซึ่ง:
- POld: คะแนนก่อนการแข่งขัน
- n : ค่าสัมประสิทธิ์ความสำคัญ:
- 70 สำหรับชิงแชมป์โลก
- 60 สำหรับชิงภายในทวีปหรือชิงระหว่างทวีปที่สำคัญ
- 50 สำหรับฟุตซอลโลกรอบคัดเลือกและทัวร์นาเมนต์สำคัญ
- 40 สำหรับทัวร์นาเมนต์อื่นทั้งหมด
- 30 สำหรับนัดกระชับมิตร
- r: ผลการแข่งขัน:
- 1 สำหรับชนะในเวลาปกติหรือทดเวลาพิเศษ
- 0.75 สำหรับการชนะในการดวลจุดโทษ
- 0.5 สำหรับการเสมอหรือแพ้ในการดวลจุดโทษ
- 0 สำหรับแพ้ในเวลาปกติหรือทดเวลาพิเศษ
- re : ผลการแข่งขันที่คาดหวัง:
- dR คือ ความต่างของคะแนนระหว่างทั้งสองทีม
ฟุตซอลชาย
แก้แสดงอันดับโลกสูงสุด 25 อันดับแรกตามการจัดอันดับ ข้อมูลเมื่อ 29 กรกฎาคม ค.ศ. 2022[update][2]
# | ทีมชาติ | คะแนน |
---|---|---|
1 | บราซิล | 1,796 |
2 | สเปน | 1,754 |
3 | โปรตุเกส | 1,744 |
4 | อาร์เจนตินา | 1,739 |
5 | รัสเซีย | 1,687 |
6 | อิหร่าน | 1,584 |
7 | คาซัคสถาน | 1,557 |
8 | ปารากวัย | 1,474 |
9 | โมร็อกโก | 1,450 |
10 | อิตาลี | 1,438 |
11 | ยูเครน | 1,427 |
12 | โคลอมเบีย | 1,419 |
13 | อาเซอร์ไบจาน | 1,378 |
14 | ญี่ปุ่น | 1,358 |
15 | โครเอเชีย | 1,349 |
16 | เซอร์เบีย | 1,334 |
17 | เช็กเกีย | 1,331 |
18 | ฟินแลนด์ | 1,327 |
19 | ฝรั่งเศส | 1,307 |
20 | ไทย | 1294 |
21 | สโลวีเนีย | 1,291 |
22 | เวเนซุเอลา | 1,273 |
23 | สโลวาเกีย | 1,266 |
24 | จอร์เจีย | 1,256 |
25 | โปแลนด์ | 1,254 |
ฟุตซอลหญิง
แก้แสดงอันดับโลกสูงสุด 10 อันดับแรกตามการจัดอันดับ ข้อมูลเมื่อ 11 มีนาคม ค.ศ. 2020[update][3]
# | ทีมชาติ | คะแนน |
---|---|---|
1 | บราซิล | 6,068 |
2 | สเปน | 5,909 |
3 | โปรตุเกส | 5,817 |
4 | รัสเซีย | 5,700 |
5 | อิตาลี | 5,599 |
6 | โคลอมเบีย | 5,552 |
7 | อาร์เจนตินา | 5,529 |
8 | อิหร่าน | 5,526 |
9 | ยูเครน | 5,508 |
10 | ญี่ปุ่น | 5,443 |
ดูเพิ่ม
แก้อ้างอิง
แก้- ↑ Junge, Astrid; Dvorak, Jiri (1 December 2010). "Injury risk of playing football in Futsal World Cups". British Journal of Sports Medicine. 44 (15): 1089–1092. doi:10.1136/bjsm.2010.076752. ISSN 0306-3674. PMID 20961918. S2CID 36295797 – โดยทาง bjsm.bmj.com.
- ↑ "Futsal World Ranking". Futsalworldranking.com. สืบค้นเมื่อ 29 July 2022.
- ↑ "Women's Futsal World Ranking". theroonba.com. สืบค้นเมื่อ 11 March 2020.
- ข้อมูล ฟุตซอล เก็บถาวร 2006-12-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก สำนักพัฒนาการกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
- ข้อมูล ฟุตซอล จาก คอลัมน์รู้ไปโม้ด
- โดยFifa.com เก็บถาวร 2007-04-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน