พะยูน
พะยูน ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: อีโอซีนยุคต้น–ปัจจุบัน | |
---|---|
![]() | |
คู่พะยูนแม่ลูก | |
![]() | |
ขณะใช้ปากดุนพื้นทรายหาอาหาร | |
สถานะการอนุรักษ์ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Chordata |
ชั้น: | Mammalia |
อันดับ: | Sirenia |
วงศ์: | Dugongidae Gray, 1821 |
วงศ์ย่อย: | Dugonginae Simpson, 1932 |
สกุล: | Dugong Lacépède, 1799 |
สปีชีส์: | D. dugon |
ชื่อทวินาม | |
Dugong dugon Müller, 1776 | |
![]() | |
แผนที่แสดงที่อยู่อาศัยของพะยูน | |
ชื่อพ้อง | |
|
พะยูน เป็นสัตว์ป่าสงวนชนิดหนึ่งตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เป็นสัตว์น้ำชนิดแรกของประเทศไทยที่ได้รับการกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าสงวน เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ในทะเลเขตอบอุ่น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dugong dugon อยู่ในอันดับพะยูน (Sirenia)
วิวัฒนาการแก้ไข
มีการศึกษาพะยูนในทางวิทยาศาสตร์เป็นครั้งแรกใน ค.ศ. 1776 โดยได้ตัวอย่างต้นแบบจากที่จับได้จากน่านน้ำแหลมกู๊ดโฮปถึงฟิลิปปินส์ เนื่องจากมีรูปร่างคล้ายโลมาและวาฬ เดิมจึงถูกจัดรวมอยู่ในอันดับเดียวกันคือ Cetacea แต่จากการศึกษาลักษณะโครงสร้างโดยละเอียดพบว่ามีความแตกต่างกันมาก กล่าวคือ มีขนาดเล็กกว่า หัวกลม รูจมูกแยกจากกัน ปากเล็ก มีฟันหน้าและฟันกรามพัฒนาดี ไม่เป็นฟันยอดแหลมธรรมดาอย่างวาฬ[4] และมีเส้นขนที่ริมฝีปากตลอดชีวิต ใน ค.ศ. 1816 อ็องรี มารี ดูว์ครอแต เดอ แบล็งวีล นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสได้แยกความแตกต่างระหว่างพะยูนกับโลมาและวาฬออกจากกัน และจัดพะยูนเข้าไว้ในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีกีบในอันดับ Sirenia โดยนับว่าพะยูนมีบรรพบุรุษร่วมกันกับช้างมาก่อน
นอกจากนี้ การศึกษาซากโบราณของพะยูนในสกุล Eotheroides ในประเทศอียิปต์ ยังพบว่ามีลักษณะบางอย่างเหมือนและใกล้เคียงกันกับ Moeritherium ซึ่งเป็นต้นตระกูลของช้างยุคอีโอซีนตอนต้นหรือเมื่อประมาณ 40 ล้านปีมาแล้ว Eotheroides เป็นสัตว์มี 4 ขา มีฟันครบและอาศัยอยู่ในน้ำ ต่อมามีวิวัฒนาการเพื่อให้อาศัยอยู่ในน้ำได้ดีขึ้น โดยขาหลังจะลดขนาดลงและหายไปในที่สุด ส่วนขาหน้าจะเปลี่ยนแปลงไปมีลักษณะคล้ายใบพายเพื่อให้เหมาะสมกับการว่ายน้ำ จากนั้นก็มีวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ จนกลายมาเป็นพะยูนในปัจจุบัน
ลักษณะและพฤติกรรมแก้ไข
พะยูนมีรูปร่างคล้ายแมวน้ำขนาดใหญ่ที่อ้วนกลมเทอะทะ ครีบมีลักษะคล้ายใบพายซึ่งมีวิวัฒนาการมาจากขาหน้าใช้สำหรับพยุงตัวและขุดหาอาหาร ไม่มีครีบหลัง ไม่มีใบหู ตามีขนาดเล็ก ริมฝีปากมีเส้นขนอยู่โดยรอบ ตัวผู้บางตัวเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นจะมีฟันคู่หนึ่งงอกออกจากปากคล้ายงาช้าง ใช้สำหรับต่อสู้เพื่อแย่งคู่กับใช้ขุดหาอาหาร ในตัวเมียมีนมอยู่ 2 เต้า ขนาดเท่านิ้วก้อย ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร อยู่ถัดลงมาจากขาคู่หน้า สำหรับเลี้ยงลูกอ่อน มีลำตัวและหางคล้ายโลมา สีสันของลำตัวด้านหลังเป็นสีเทาดำ หายใจทางปอด จึงต้องหายใจบริเวณผิวน้ำ 1–2 นาที อายุ 9–10 ปี สามารถสืบพันธุ์ได้ เวลาท้อง 9–14 เดือน ปกติมีลูกได้ 1 ตัว ไม่เกิน 2 ตัว แรกเกิดยาว 1 เมตร หนัก 15–20 กิโลกรัม ใช้เวลาตั้งท้องประมาณ 1 ปี กินนมและหญ้าทะเลประมาณ 2–3 สัปดาห์ หย่านมประมาณ 8 เดือน อายุประมาณ 70 ปี โดยแม่พะยูนจะดูแลลูกไปจนโต ขนาดเมื่อโตเต็มที่ประมาณ 2 เมตร ถึง 3 เมตร น้ำหนักเต็มที่ได้ถึง 300 กิโลกรัม
พะยูนสามารถกลั้นหายใจใต้น้ำได้นานราว 20 นาที เมื่อจะนอนหลับพักผ่อน พะยูนจะทิ้งตัวลงในแนวดิ่ง และนอนอยู่นิ่ง ๆ กับพื้นทะเลราว 20 นาที ก่อนจะขึ้นมาหายใจอีกครั้งหนึ่ง
อาหารของพะยูน ได้แก่ หญ้าทะเลที่ขึ้นตามแถบชายฝั่งและน้ำตื้น โดยพะยูนมักจะหากินในเวลากลางวัน และใช้เวลานานถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน[5] พฤติกรรมการหากินจะคล้ายกับหมู โดยจะใช้ครีบอกและปากดุนพื้นทรายไถไปเรื่อย ๆ จนบางครั้งจะเห็นทางยาวตามชายหาด จากพฤติกรรมเช่นนี้ พะยูนจึงได้ชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "หมูน้ำ" หรือ "หมูดุด" ในแถบจังหวัดจันทบุรี[6] บางตัวที่เชื่องกับมนุษย์อาจเกาะกินตะไคร่บริเวณใต้ท้องเรือได้[7]
การกระจายพันธุ์และการอนุรักษ์แก้ไข
พะยูนพบได้ในทะเลเขตอบอุ่นอย่างกว้างขวางตั้งแต่ชายฝั่งของแอฟริกาตะวันออก มหาสมุทรอินเดีย ทะเลอันดามัน อ่าวไทย ทะเลจีนใต้ ทะเลฟิลิปปิน ทะเลซูลู ทะเลเซเลบีส เกาะชวา จนถึงโอเชียเนีย โดยปกติแล้วมักจะไม่อาศัยอยู่น้ำที่ขุ่น
สำหรับสถานะของพะยูนในประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤต เนื่องจากถูกคุกคามอย่างหนักในเรื่องถิ่นที่อยู่อาศัย ทำให้พฤติกรรมการหากินเปลี่ยนไปกลายเป็นมักจะหากินเพียงลำพังตัวเดียว ปัจจุบันในประเทศไทยเหลืออยู่เพียงที่เดียว คือ บริเวณหาดเจ้าไหมและรอบ ๆ เกาะลิบง จังหวัดตรัง เท่านั้น และอาจเป็นไปได้ว่ายังมีเหลืออยู่แถบทะเลจังหวัดระยอง แต่ยังไม่มีรายงานที่มีข้อมูลยืนยันถึงเรื่องนี้เพียงพอ
ในวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2549 มีชาวประมงจับพะยูนตัวหนึ่งได้ที่อ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี หลังจากการหายตัวไปนานของพะยูนในแถบนี้นานถึง 34 ปี (ตัวสุดท้ายที่จับได้ในบริเวณนี้คือเมื่อ พ.ศ. 2515) พะยูนตัวดังกล่าวมีความยาว 2 เมตร น้ำหนักประมาณ 200 กิโลกรัม
ใน พ.ศ. 2554 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ทำพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการอนุรักษ์และการจัดการพะยูนและแหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูน โดยครอบคลุมพื้นที่อาศัยของพะยูนทั้งหมด ระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กับโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ/อนุสัญญาว่าด้วยชนิดพันธุ์ที่มีการเคลื่อนย้ายถิ่น โดยที่ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่ 20 ที่ลงนามในบันทึกความเข้าใจนี้
มีรายงานว่า ประเทศที่มีประชากรพะยูนที่หลงเหลืออยู่มากที่สุดคือออสเตรเลีย มีอยู่ประมาณ 20,000 ตัว[8] โดยสถานที่ที่พบมากที่สุดคืออ่าวชาร์กทางภาคตะวันตกของประเทศ มีประมาณ 10,000 ตัว คิดเป็นร้อยละ 12.5 ของประชากรพะยูนทั่วโลก เพราะเป็นสถานที่อุดมไปด้วยหญ้าทะเล[9][5] ขณะที่ในประเทศไทย สถานที่ที่เป็นแหล่งอาศัยแหล่งสุดท้ายของพะยูน คือ ทะเลจังหวัดตรัง โดยพบที่รอบ ๆ เกาะลิบง มากที่สุด คาดว่ามีราว 210 ตัว ซึ่งเป็นข้อมูลจากการสำรวจในเดือนมกราคม พ.ศ. 2557 โดยเฉพาะที่เกาะลิบงนั้นเป็นที่อาศัยของจำนวนประชากรพะยูนในประเทศมากถึงร้อยละ 60–70 ซึ่งปัจจุบันถูกคุกคามอย่างหนัก โดยมีการล่าเอาเนื้อ กระดูก และเขี้ยวไปขายตามความเชื่อทางไสยศาสตร์ มีการคำนวณว่าหากพะยูนในน่านน้ำไทยตายปีละ 5 ตัว พะยูนจะหมดไปภายใน 60 ปี[10] และเหลือ 169 ตัว ในการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2560[6]
ความเชื่อแก้ไข
พะยูนเป็นสัตว์ที่ทำให้นักเดินเรือในยุคกลางเชื่อว่าคือ นางเงือก เนื่องจากแม่พะยูนเวลาให้นมลูกมักจะกอดอยู่กับอกและตั้งฉากกับท้องทะเล ทำให้แลเห็นในระยะไกลคล้ายผู้หญิงอยู่ในน้ำ พะยูนมีชื่อเรียกในภาษามลายูว่า ดูยุง หรือ ดูยง (duyung) แปลว่า "หญิงสาว"[6] หรือ "ผู้หญิงแห่งท้องทะเล"[11] มีนิทานพื้นบ้านเล่าว่า พะยูนเดิมเป็นผู้หญิงที่ตั้งครรภ์และอยากกินหญ้าทะเล ผู้เป็นสามีจึงไปนำหญ้าทะเลมาให้ แต่ว่ายังไม่พอใจจึงลงไปกินหญ้าทะเลเองในน้ำ เมื่อน้ำทะเลขึ้น ก็กลายเป็นพะยูนไป และได้ให้สัญญากับสามีว่า หากต้องการพบให้ปักเสาไม้ลงไปหนึ่งเสา และจะมาที่เสานี้ตามที่เรียก[10]
มีความเชื่อว่า ทั้งเนื้อ กระดูก และเขี้ยวพะยูน มีคุณสมบัติทางเมตตามหานิยม เขี้ยวพะยูนมีชื่อเรียกเฉพาะในแวดวงการค้าในตลาดมืดว่า "งาช้างน้ำ" ทั้งเขี้ยวและกระดูกพะยูนมีราคาซื้อขายที่แพงมาก โดยมักนำไปทำเป็นหัวแหวน เหมือนกับหนามปลากระเบน[10] นอกจากนี้แล้วยังเชื่อว่าน้ำตาพะยูนและเขี้ยวพะยูนมีอำนาจทำให้เพศตรงข้ามลุ่มหลงคล้ายน้ำมันพรายซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดและไม่ควรทำตามอย่างยิ่ง เพราะไม่สามารถเป็นจริงได้ [12]
ในปัจจุบันยังพบผู้ลักลอบ ตัดเขี้ยวพะยูนเพื่อนำไปทำพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ โดยไม่คำนึงถึงการเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของสัตว์ดังกล่าว [13]
ดูเพิ่มแก้ไข
อ้างอิงแก้ไข
- ↑ Marsh, H. (2008). Dugong dugon. In: IUCN 2008. IUCN Red List of Threatened Species. Downloaded on 29 December 2008.
- ↑ http://eprints.cmfri.org.in/655/1/Bulletin_No_26.pdf R.V. Nair, R.S. Lal Mohan, K. Satyanarayana Rao. The Dugong. Dugong dugon. „Bulletin”. 26, ss. 1-47, 1975. Central Marine Fisheries Research Institute Cochin (ang.)]
- ↑ Dugong dugon in Mammal Species of the World. Wilson, D. E. & Reeder, D. M. (eds.) (2005). Mammal Species of the World. A Taxonomic and Geographic Reference. Third edition. ISBN 0801882214
- ↑ Myers, P. 2002. Dugongidae. University of Michigan Museum of Zoology. Retrieved on 10 March 2007.
- ↑ 5.0 5.1 "สารคดี BBC : อัศจรรย์แดนจิงโจ้ ตอนที่ 5 คลิป 2/2". ช่อง 7. 4 November 2014. สืบค้นเมื่อ 4 November 2014.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 จุดประกาย, แกะรอยดุหยงทะเลใต้ โดย ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี. กรุงเทพธุรกิจปีที่ 29 ฉบับที่ 10441: วันจันทร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2560
- ↑ "Dugong & Din". by: Animal Planet.
- ↑ "พะยูนไทยเหลือแค่240ตัวตายปีละ15ตัว". กรุงเทพธุรกิจ. 30 June 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-06-27. สืบค้นเมื่อ 3 September 2014.
- ↑ Riley, Laura and William (2005). Nature's Strongholds: The World's Great Wildlife Reserves. Princeton, New Jersey: Princeton University Press. pp. 595–596. ISBN 0-691-12219-9. สืบค้นเมื่อ 12 July 2011.
- ↑ 10.0 10.1 10.2 "เปิดปม : ล่าพะยูน". ไทยพีบีเอส. 1 September 2014. สืบค้นเมื่อ 3 September 2014.
- ↑ Winger, Jennifer. 2000. What's in a Name: Manatees and Dugongs เก็บถาวร 2007-08-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Smithsonian National Zoological Park. Retrieved on 22 July 2007.
- ↑ ยืดหยัด ใจสมุทร. ตรัง. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2539. 161 หน้า. ISBN 974-7115-60-3
- ↑ "ตัดปมล่า "ตัดเขี้ยว" พะยูนแม่ลูก-มีแผลลึกคาดสมอเรือกระแทก". Thai PBS. 2020-12-18.
แหล่งข้อมูลอื่นแก้ไข
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ: พะยูน |
- ข้อมูลและวิดีโออนุรักษ์พะยูน
- โครงการอนุรักษ์พะยูน เก็บถาวร 2007-07-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- นักวิชาการผ่าพิสูจน์ซากพะยูนตายที่ระยอง เก็บถาวร 2016-03-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ไทยจับมือญี่ปุ่นศึกษาพฤติกรรมพะยูน เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- พยูนหวนคืนถิ่นอ่าวไทยในรอบ 34 ปี พื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน