เงือก (อังกฤษ: mermaid) เป็นอมนุษย์ชนิดหนึ่งตามความเชื่อนิยายปรัมปราเกี่ยวกับน้ำ โดยเป็นจินตนาการเกี่ยวกับสัตว์น้ำ โดยมากจะเล่ากันว่าเงือกนั้นเป็นสัตว์ครึ่งมนุษย์ มีส่วนครึ่งท่อนบนเป็นคน ส่วนครึ่งท่อนล่างเป็นปลา มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเงือกแพร่หลายไปทั่วโลก ทั้งในทวีปยุโรป เอเชียและแอฟริกา

เงือก
กลุ่มตำนาน
สัตว์คล้ายคลึงเมอร์แมน
ไซเรน
อันดายน์
ประเทศทั่วโลก

บางตำนานเล่าว่าเงือกมีความสัมพันธ์กับเหตุอันตรายอย่างอุทกภัย วาตภัย เรืออับปาง และการจมน้ำเสียชีวิต แต่ก็มีเล่าว่าเงือกอาจนำคุณมาให้ได้เช่นกัน เช่น มอบของกำนัลหรือตกหลุมรักมนุษย์

เงือกมีได้ทั้งเพศหญิงและชาย (เรียกว่า merman) แม้ตามตำนานจะเล่าว่าพบเห็นเงือกเพศชายน้อยกว่าเงือกเพศหญิง แต่โดยทั่วไปก็ถือกันว่าทั้งสองเพศอยู่ร่วมกัน บางทีอาจเรียกเงือกชายและหญิงรวม ๆ กันว่าชาวเงือก (merfolk หรือ merpeople)

ที่มาของเงือกในโลกตะวันตกนั้นอาจได้รับอิทธิพลมาจากไซเรนในปรัมปรากรีก ซึ่งเป็นอมนุษย์คล้ายนก แต่เมื่อมาถึงยุคศาสนาคริสต์อาจมองกลายเป็นกึ่งปลาไป บันทึกการพบเห็นเงือกในประวัติศาสตร์ เช่น ที่คริสโตเฟอร์ โคลัมบัสบันทึกไว้ระหว่างการสำรวจทะเลแคริบเบียนนั้น อาจเป็นการพบเห็นพะยูนหรือสัตว์น้ำที่คล้ายกันมากกว่า แม้ไม่มีหลักฐานว่าเงือกมีอยู่จริง แต่ก็ยังมีรายงานการพบเห็นเงือกเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

เงือกมีการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในศิลปะและวรรณกรรมในศตวรรษหลัง ๆ เช่นในเทพนิยาย เงือกน้อยผจญภัย ของฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน และยังมีการกล่าวถึงในโอเปรา จิตรกรรม หนังสือ การ์ตูน แอนิเมชันและภาพยนตร์คนแสดงอื่น ๆ อีกด้วย

ในยุโรป

แก้

ในประเทศยุโรปตอนเหนือ มีตำนานเกี่ยวกับเงือกด้วยเช่นกัน เงือกของยุโรปมีความน่ากลัว เป็นปิศาจลักษณะเดียวกับนิมฟ์จำพวกไซเรน, ไนแอด หรือลิมนาเดส ที่จะล่อลวงเหยื่อ โดยเฉพาะชายหนุ่มให้ลงไปในน้ำแล้วสังหารทิ้ง ซึ่งเสียงของเงือกมีพลังดึงดูด สามารถชักพาให้ผู้ที่ได้ยินเสียงคล้อยตามได้ การที่เรือเดินทะเลต้องชนกับหินโสโครก และอับปางลงลำแล้วลำเล่านั้น เป็นเพราะว่าถูกชักจูงให้เดินทางไปตามเสียงเพลงของเงือก[1]

เรื่องของเงือกที่มีชื่อเสียงที่สุดของยุโรป ปรากฏในนิทานพื้นบ้านของเยอรมนี ชื่อ "ลอเรไร" (เยอรมัน: Loreley; อังกฤษ: Lorelei) อาศัยอยู่กับพ่อริมแม่น้ำไรน์ เมื่อเสียชีวิตเธอได้กลายเป็นปีศาจที่ล่อลวงเรือให้อับปาง[2][3]

ที่อังกฤษ, สกอตแลนด์ รวมถึงไอร์แลนด์ก็มีความเชื่อทำนองนี้ โดยเรียกว่า "เซลกี" (Selkie) แปลว่า "ผู้หญิงแมวน้ำ" [2][4]

ในประเทศญี่ปุ่น

แก้

ในประเทศญี่ปุ่น มีความเชื่อเกี่ยวกับเงือกมากมายเช่นเดียวกัน โดยเงือกเป็นโยไกหรือปิศาจจำพวกพรายน้ำอย่างหนึ่งตามความเชื่อของศาสนาชินโต ศาสนาพื้นเมืองของญี่ปุ่น เงือกในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า "นิงเงียว" (人魚, Nin-gyo) ความเชื่อหลักเกี่ยวกับการกินเนื้อเงือก คือ เมื่อในอดีต มีหญิงสาวคนหนึ่งได้ช่วยนางเงือกเอาไว้ที่ชายหาด นางเงือกซาบซึ้งบุญคุณของหญิงคนนั้น จึงให้กินเนื้อเงือกเป็นการตอบแทน แต่ทว่า อาถรรพณ์ของเนื้อเงือก จะทำให้ผู้ที่กินเข้าไปไม่แก่ไม่ตาย หญิงสาวผู้นั้นมีชีวิตอยู่อย่างไม่มีวันแก่ตาย ได้เห็นผู้คนรอบข้างตายไปทีละคนจนทนไม่ได้ จึงบวชเป็นชีชื่อ แม่ชีเบคุนิ และยังมีความเชื่อว่าถ้าผู้ใดได้ดื่มน้ำตาของ”นิงเงียว” จะมีอายุยืนถึง 500 ปี

ปัจจุบัน ในประเทศญี่ปุ่น ตามวัดต่าง ๆ มักจะมีซากเงือกตั้งแสดงอยู่ เป็นของประหลาดและเป็นที่ตื่นตาสำหรับผู้ที่ได้พบเห็น แต่ทว่าซากของเงือกหรือสัตว์ประหลาดต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นของปลอมที่ทำขึ้น โดยการนำเอาอวัยวะของสัตว์ชนิดต่าง ๆ มาผสมรวมกัน[5]

 
เงือกยักษ์ ใน Jason and the Argonauts (1963)

ในประเทศไทย

แก้
 
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดตรีทศเทพวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

เงือกในประเทศไทย ถูกกล่าวขานมาตั้งแต่สมัยอดีต ผ่านเรื่องราวต่างๆ มากมาย แต่เป็นเงือกที่ได้รับความนิยม และกล่าวขานกันมากที่สุดก็คือ เงือกในวรรณคดีของ สุนทรภู่ เรื่อง พระอภัยมณี ที่นางเงือก (เงือกสาว) และเงือกตายาย ช่วยพาพระอภัยมณีหนีจาก ผีเสื้อสมุทรได้จนสำเร็จ และนางเงือกได้เป็นชายาของพระอภัยมณี จนมีโอรสด้วยกันหนึ่งองค์ ชื่อว่า สุดสาคร

ในภาษาไทยโบราณ รวมทั้งในวรรณคดีสมัยอยุธยา ถึงรัตนโกสินทร์ มีคำว่า เงือก มาแล้ว แต่มีความหมายแตกต่างกันไป พอจะสรุปได้ดังนี้

  • งู : คำว่าเงือกในภาษาไทยโบราณ และภาษาตระกูลไตบางถิ่นนั้น มักจะหมายถึง งู ดังปรากฏในลิลิตโองการแช่งน้ำ ที่ว่า "ท้าวเสด็จเหนือวัวเผือก เอาเงือกเกี้ยวข้าง อ้างทัดจันทร์เป็นปิ่น" นั่นคือ เอางูมาพันรอบกาย, "เสียงเงือกงูว้าง ขึ้นลง" หมายถึง เสียงงู เหล่านี้เป็นภาษาเก่าที่ไม่ปรากฏแล้วในปัจจุบัน [6]
  • สัตว์ร้าย จำพวกผี หรือปีศาจ : ปรากฏในลิลิตพระลอ วรรณกรรมสมัยอยุธยาเช่นกัน
  • สัตว์ครึ่งคนครึ่งปลา : เชื่อกันว่าเงือกในลักษณะนี้ปรากฏครั้งแรกในวรรณคดีพระอภัยมณีดังกล่าวมาข้างต้น แต่อาจมีค้นเค้าจากเรื่องอื่นก็เป็นได้ [6]
  • มังกร คนไทบ้างกลุ่มในประเทศจีนและเวียดนาม จะเรียกมังกรว่า "เงือก" เช่น ไทปายี ไทเมือง และกะเบียว ในเวียดนาม

และอาจสรุปลักษณะของเงือกตามตำนานต่าง ๆ ได้ว่า:

  • มีใบหน้าเล็กขนาดเท่างบน้ำอ้อย
  • มีหวีและกระจก มักจะปรากฏกายขึ้นเหนือน้ำในคืนวันพระจันทร์เต็มดวงเพื่อนั่งสางผม ถ้ามีใครผ่านมาเห็นจะตกใจหนีลงน้ำโดยทิ้งเอาไว้ ถ้ามีผู้ได้ครอบครองสามารถที่จะเข้าฝันทวงคืนได้
  • มีเสียงไพเราะล่อลวงให้คนเดินตกน้ำ [1]

ในวัฒนธรรมร่วมสมัย

แก้

จากนิทานและเรื่องเล่าเกี่ยวกับเงือกมากมายในอดีต ทำให้ในวัฒนธรรมร่วมสมัยมีการกล่าวถึงเงือกไว้ต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน อาทิ ในภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่อง Jason and the Argonauts ในปี ค.ศ. 1963 ซึ่งสร้างมาจากเทพปกรณัมกรีกเรื่อง เจสัน เมื่อเรืออาร์โกของเจสันกำลังผ่านช่องเขา และช่องเขากำลังถล่ม ก็ปรากฏมีเทพเจ้าโพไซดอน ผู้เป็นใหญ่แห่งมหาสมุทรทั้งปวง (โดยปรากฏเป็นชายร่างยักษ์ที่มีหางเป็นปลา โผล่ขึ้นมาช่วยดันภูเขาให้เรือผ่านไปได้ในที่สุด[7]

และในภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง The Little Mermaid ของวอลด์ ดีสนีย์ ในปี ค.ศ. 1989 ที่ดัดแปลงมาจากนิทานชื่อเดียวกันนี้ของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์สัน เมื่อออกฉาย ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีจนมีการสร้างภาคต่อตามมาอีกหลายภาคและสร้างเป็นซีรีส์ [8]

ในปี ค.ศ. 2012 แอนนิมอลแพลนเน็ต ซึ่งเป็นช่องรายการโทรทัศน์สารคดีชีวิตสัตว์โลกในเครือของช่องดิสคัฟเวอรี ได้เผยแพร่สารคดีชุด Mermaids: The Body Found เป็นที่ฮือฮาและประสบความสำเร็จอย่างมาก[9] จนเป็นที่กล่าวขานกันว่าเงือกมีจริงหรือไม่ ก่อนที่ผู้ผลิตจะยอมรับในเวลาต่อมาว่าเป็นเรื่องแต่ง[10][11] และได้ผลิตชุดที่สอง คือ Mermaids: The New Evidence ออกมาในปีต่อมา

ดูเพิ่ม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 ขวัญนุช คำเมือง (แปล) (มกราคม 2543). โลกเร้นลับของสิ่งมีชีวิต. นานมีบุ๊คส์. ISBN 974-472-262-2.
  2. 2.0 2.1 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ สุด
  3. Blottenberger, Dan (2012-03-07). "Rhine River Valley: Mystical Lorelei statue continues to enchant visitors". สืบค้นเมื่อ 2017-06-18.
  4. "The Viking Rune". สืบค้นเมื่อ 12 May 2013.
  5. "Urban Legends Reference Pages: Mermaid to Order". Snopes. สืบค้นเมื่อ 2012-04-24.
  6. 6.0 6.1 "พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒". พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-03-02. สืบค้นเมื่อ 2010-07-17.
  7. Jason and the Argonauts (1963) ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส  
  8. The Little Mermaid ที่อินเทอร์เน็ตมูวีเดตาเบส  
  9. "Animal Planet Slays With Best-Ever May in Network History". Animal Planet Press Release. สืบค้นเมื่อ 2012-05-31.
  10. Jim Vorel (July 17, 2012). "Mermaid body found? No, bad TV". Quad-City Times.
  11. Mermaid Body Found? No, Bad TV http://qctimes.com/entertainment/mermaid-body-found-no-bad-tv/article_5037b13c-d040-11e1-953f-0019bb2963f4.html