พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย

พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย เป็นพระอนุสาวรีย์ประดิษฐานพระรูปสมเด็จพระสุริโยทัย วีรสตรีไทยสมัยอยุธยา ตั้งอยู่ที่บริเวณทุ่งมะขามหย่อง ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีพื้นที่ประมาณ 250 ไร่ มีลักษณะเป็นอนุสรณ์สถาน ประกอบด้วยพระราชานุสาวรีย์ช้างทรงของสมเด็จพระสุริโยทัย มีนักรบจตุลังคบาทที่มีเค้าโครงหน้าละม้ายนายพลฯในยุคนั้น 2 ท่าน คือ พลเอก วิมล วงศ์วานิช และ พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ตั้งอยู่บนเกาะกลางน้ำ พื้นที่จำลองค่ายข้าศึกและกองทัพข้าศึก 4 ทัพ ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ของพื้นที่อ่างเก็บน้ำมีเนื้อที่ราว 180 ไร่ จุน้ำราว 1,000,000 ลูกบาศก์เมตร อาคารอเนกประสงค์ และสวนสาธารณะริมอ่างเก็บน้ำ

พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย
พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย
แผนที่
ที่ตั้งทุ่งมะขามหย่อง ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ประเภทพระบรมรูป
เริ่มก่อสร้างพ.ศ. 2534
การเปิด3 กรกฎาคม พ.ศ. 2538
อุทิศแด่พระสุริโยทัย
ประติมากรรมพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยและทหารนักรบจตุลังคบาท
พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยยามค่ำคืน
ดวงตราไปรษณีย์รูปพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย
ไฟล์:Suriyathai-flood1.jpg
พื้นที่พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยถูกใช้เป็นที่ผันน้ำคราวน้ำท่วมใหญ่
ผังแม่บทพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย
หุ่นจำลองส่วนอนุสรณ์สถานพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย

ประวัติ

แก้

พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยเป็นโครงการอนุสรณ์สถานที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัย พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2531 คณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นได้มีมติเห็นชอบให้ดำเนินการจัดสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติแก่พระองค์ท่าน[1] ที่ทรงเป็นวีรสตรีผู้กล้าหาญในประวัติศาสตร์ชาติไทย โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบ ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล จนกระทั่งสมัย พลเอก อิสระพงศ์ หนุนภักดี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้กรมโยธาธิการ (ชื่อในขณะนั้น) ได้ดำเนินการออกแบบวางผังก่อสร้างเพื่อเสนอต่อ นาย อานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีเพื่อขอรับความเห็นชอบ และได้ลงนามเห็นชอบ และแต่งตั้งคณะกรรมการจัดสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย เมื่อ วันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2534 ส่วนองค์พระราชานุสาวรีย์และประติมากรรมภายในพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัยนั้น ออกแบบและปั้นรูปโดยไข่มุกด์ ชูโต

โครงการนี้ยังเป็นโครงการตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่จะก่อประโยชน์ให้แก่ประชาชนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในด้านการป้องกันน้ำท่วมและเป็นแหล่งเก็บน้ำ อีกทั้งยังเป็นการสร้างจิตสำนึกในความรักชาติรักแผ่นดิน และเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระสุริโยทัยและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในโอกาสที่มีพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ในปี 2535[2]

พื้นที่นี้ถูกใช้เป็นพื้นที่รับน้ำหลายครั้ง ในคราวที่มีน้ำท่วมในจังหวัดภาคกลาง เช่น ในปี พ.ศ. 2538[3] โดยพื้นที่บริเวณทุ่งภูเขาทองและพระราชานุสาวรีย์เป็นทุ่งกว้าง และส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ส่วนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ซึ่งพระองค์มีพระบรมราชานุญาตให้ผันน้ำเหนือจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าที่ดินส่วนพระองค์ ส่งผลทำให้ชาวบ้านอีกหลายทุ่งอนุญาตให้ผันน้ำเข้าด้วย ตามมติที่ประชุมคณะที่ปรึกษาและกรรมการประสานการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตามแนวพระราชดำริ ครั้งที่ 1/2549 [4] นอกจากนี้ยังมีการปลูกต้นไม้ประเภทไม้ฟืน อาทิ ไผ่สีสุก และ ยูคาลิปตัส เพื่อเป็นไม้ฟืนสำหรับการตีมีด/ดาบอรัญญิก[5]

ที่ตั้งบริเวณทุ่งมะขามหย่องนี้มีความสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ คือเชื่อกันว่าพื้นที่ด้านตะวันตกของอยุธยานี้ ในสมัยก่อนเป็นพื้นที่ที่ข้าศึกเมื่อยกทัพมามักจะมีการตั้งค่ายในบริเวณที่ราบบริเวณนี้ จนฤดูน้ำหลากจึงจะล่าถอยออกไป การรบสมัยต่างๆคาดว่าน่าจะเกิดใกล้เคียงกับบริเวณนี้ รวมทั้งการทำยุทธหัตถีในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชด้วย ทำให้ทางกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการขยายพื้นที่ส่วนพระราชานุสาวรีย์ออกไป และได้จัดสร้างพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชในบริเวณนี้เช่นกัน นอกจากนี้ จากประวัติศาสตร์สมเด็จพระสุริโยทัยยังมีความสัมพันธ์มีศักดิ์เป็นพระบรมอัยยิกาเจ้า (ยาย/พระบรมราชชนนีของพระวิสุทธิกษัตรีย์) ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

แนวความคิดของผู้ออกแบบผังแม่บทฯ อริยา อรุณินท์ นั้น เน้นเป็นอนุสรณ์สถานที่ประกอบด้วยองค์พระราชานุสาวรีย์และภูมิทัศน์โดยรอบเป็นเรื่องราวที่สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ (ที่กองทัพข้าศึกเข้ามาตั้งทัพในบริเวณนี้ และต้องล่าถอยไป อันเนื่องจากน้ำหลากที่มาประจำทุกปี และส่วนจำลองความรู้สึกของประชาชนที่รอรับพระบรมศพของสมเด็จพระสุริโยทัย ขณะกลับพระนครฯ) อีกทั้งสามารถสนองตอบวัตถุประสงค์ในแง่การชลประทาน ที่ผันน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม และเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจอีกด้วย ส่วนประติมากร (คุณไข่มุกด์ ชูโต) ได้แรงบันดาลใจในการสร้างงานประติมากรรมตามบุคคลต่างๆ เช่น นักรบจาตุรงคบาท ที่มีหน้าละม้ายนายพลฯ ทำให้เมื่อเวลาที่นักท่องเที่ยวเดินทางไปนมัสการหรือเที่ยวชมอนุสรณ์สถานนี้ก็อดไม่ได้ที่จะทายกันว่าใครละม้ายใคร

ล่าสุดพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรความคืบหน้าของโครงการแก้มลิงในบริเวณพระราชานุสาวรีย์ฯ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ส่วนเกี่ยวข้อง

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. เว็บไซต์GotoKnow.org มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์[ลิงก์เสีย]บทความพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระศรีสุริโยทัย ที่ชาวอยุธยาภูมิใจ เปิดดู 21 พค.2555
  2. เว็บไซต์สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย (ทุ่งมะขามหย่อง)เปิดดู 21 พค.2555
  3. เว็บไซต์กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เก็บถาวร 2012-03-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน โครงการปรับปรุงพระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระศรีสุริโยทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดดู 21 พค. 2555
  4. "ข่าว ในหลวงมีพระบรมราชานุญาตให้ผันน้ำเข้าที่ดินส่วนพระองค์ สกัดน้ำท่วมกรุงเทพฯ ผู้จัดการออนไลน์ 10 ตุลาคม 2549". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2006-10-10.
  5. เว็บไซต์มูลนิธิชัยพัฒนา เก็บถาวร 2012-05-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนความเป็นมา/แนวพระราชดำริ โครงการพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย เปิดดู 21 พค. 2555

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
  • | Idea I do : รายการโทรทัศน์ทางสถานี Mango TV บทสัมภาษณ์ รศ.ดร. อริยา อรุณินท์ ในฐานะภูมิสถาปนิกผู้ออกแบบพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่รับน้ำ ทุ่งมะขามหย่อง จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2555 ทางช่อง Mango TV เบรก 1. Idea I Do เที่ยวพื้นที่รับน้ำ ทุ่งมะขามหย่อง (20 พฤษภาคม 2555)
  • | Idea I do : รายการโทรทัศน์ทางสถานี Mango TV บทสัมภาษณ์ รศ.ดร. อริยา อรุณินท์ ในฐานะภูมิสถาปนิกผู้ออกแบบพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่รับน้ำ ทุ่งมะขามหย่อง จ.พระนครศรีอยุธยา ในวันที่ 20 พฤษภาคม 2555 ทางช่อง Mango TV เบรก 2. Idea I Do ตามหาช้างจากพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระสุริโยทัย (20 พฤษภาคม 2555)

14°23′01″N 100°31′34″E / 14.3837315°N 100.5262112°E / 14.3837315; 100.5262112 แม่แบบ:สวนสาธารณะในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา