พระมหาโพธิวงศาจารย์ (สุจี กตสาโร)

พระมหาโพธิวงศาจารย์ นามเดิม สุจี ขรวงค์ ฉายา กตสาโร หรือ ตุ๊ปู่จี๋ อดีตที่ปรึกษาคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 6 อดีตประธานสภาวิทยาเขตแพร่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และอดีตเจ้าอาวาสวัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร พระนักการศึกษาแห่งแผ่นดินล้านนา

พระมหาโพธิวงศาจารย์

(สุจี กตสาโร)
คำนำหน้าชื่อพระเดชพระคุณ
ชื่ออื่นตุ๊ปู่จี๋
ส่วนบุคคล
เกิด5 เมษายน พ.ศ. 2460 (94 ปี 211 วัน ปี)
มรณภาพ2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554
นิกายมหานิกาย
การศึกษานักธรรมชั้นเอก
เปรียญธรรม 3 ประโยค
พธ.ด.กิตติมศักดิ์
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร จังหวัดแพร่
อุปสมบท14 พฤษภาคม พ.ศ. 2481
พรรษา75
ตำแหน่งอดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 6
อดีตเจ้าอาวาสวัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร

ประวัติ

แก้

พระมหาโพธิวงศาจารย์ หรือที่ชาวจังหวัดแพร่เรียก ตุ๊ปู่จี๋ หรือ ครูบาจี๋ นามเดิม สุจี ขรวงค์ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2460 ขึ้น 14 ค่ำ ปีมะเส็ง ณ บ้านทุ่งอ่วน หมู่ที่ 6 ตำบลนาจักร อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ เป็นบุตรของ นายลาด กับ นางผัน ขรวงค์ ได้สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนวัดนาจักร จนสำเร็จชั้นประถมปีที่ 5 อันเป็นชั้นสูงสุด แล้วบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 15 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2476 ณ วัดกาญจนาราม ตำบลนาจักร อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ พระอุปัชฌาย์คือพระครูมหาญาณสิทธิ์ วัดมิ่งเมือง (ปัจจุบันวัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร) อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ และอุปสมบทวันที่ 14 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2481 ณ วัดกาญจนาราม ตำบลนาจักร อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ พระอุปัชฌาย์คือพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ฟู อตฺตสิโว) (ในขณะดำรงสมนศักดิ์ที่ พระปริยัติวงศาจารย์) วัดพระบาท (ปัจจุบันวัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร) ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่[1]

พระมหาโพธิวงศาจารย์ (สุจี กตสาโร) มรณภาพลงเมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ด้วยโรคติดเชื้อในกระแสโลหิต สิริอายุ 94 ปี 211 วัน ปี พรรษา 75 ณ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่[2] พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปในการพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ณ เมรุปราสาทนกหัสดีลิงค์ มณฑลพิธีสนามหลวงจังหวัดแพร่

วิทยฐานะ

แก้
  • พ.ศ. 2484 สอบได้นักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนวัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร
  • พ.ศ. 2486 สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค สำนักเรียนวัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร
  • พ.ศ. 2529 ได้รับปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาครุศาสตร์) จากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์
  • พ.ศ. 2536 ได้รับปริญญาครุศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาการบริหารการศึกษา) จากมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
  • พ.ศ. 2551 ได้รับปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (สาขาบริหารศาสตร์) จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้

ความชำนาญพิเศษ เทศนาภาษาไทยถิ่นเหนือ อ่านและเขียนอักษรธรรมล้านนาได้[3]

การทำงาน

แก้

ด้านงานปกครองสงฆ์

แก้
  • พ.ศ. 2501 เป็นพระอุปัชฌาย์ จนถึงปัจจุบัน
  • พ.ศ. 2502 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้เป็นรองเจ้าอาวาสพระอารามหลวง
  • พ.ศ. 2509 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะจังหวัดแพร่
  • พ.ศ. 2510 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดแพร่
  • พ.ศ. 2518 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง
  • พ.ศ. 2522 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะภาค 6
  • พ.ศ. 2540 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้เป็นกรรมการฝ่ายปกครอง ของมหาเถรสมาคม
  • พ.ศ. 2541 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 6

ด้านงานการศึกษา

แก้
  • พ.ศ. 2484 เป็นครูสอนนักธรรมชั้นตรี สำนักเรียนวัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร
  • พ.ศ. 2486 เป็นกรรมการตรวจนักธรรมชั้นตรีสนามหลวง
  • พ.ศ. 2495 เป็นกรรมการตรวจนักธรรมชั้นโทสนามหลวง
  • พ.ศ. 2500 เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบาลีมัธยมธรรมราชวิทยา
  • พ.ศ. 2506 เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์
  • พ.ศ. 2513 เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนศึกษาผู้ใหญ่พุทธโกศัยวิทยา (ปัจจุบันโรงเรียนพุทธโกศัยวิทยา จังหวัดแพร่)
  • พ.ศ. 2514 เป็นกรรมการนำประโยคข้อสอบธรรมไปเปิดสอบ ณ ประเทศมาเลเซีย
  • พ.ศ. 2530 เป็นรองอธิการบดีมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ วิทยาเขตแพร่
  • พ.ศ. 2541 เป็นประธานสภา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่

ด้านงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา

แก้
  • พ.ศ. 2486 เป็นกรรมการส่งเสริมศีลธรรมแพร่
  • พ.ศ. 2490 เป็นผู้แทนนำพระไตรปิฎกไปประดิษฐานที่อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่
  • พ.ศ. 2497 เป็นอนุกรรมการ ก.ป.ช. จังหวัดแพร่
  • พ.ศ. 2508 เป็นประธานนำครู-อาจารย์โรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์อกกอบรม ศีลธรรมแก่ประชาชนตามอำเภอต่างๆ ในเทศกาลเข้าพรรษาจนถึงปัจจุบัน
  • พ.ศ. 2514 เป็นผู้ร่วมเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ ประเทศอินโดนีเซีย
  • พ.ศ. 2535 ได้ร่วมกับคณะเผยแผ่พระพุทธศาสนา ไปเผยแผ่ ณ ประเทศจีน
  • พ.ศ. 2539 ได้แสดงพระธรรมเทศนาทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดแพร่ ชื่อ รายการ “ธรรมะสู่ประชาชน” เป็นประจำทุกวัน เวลา 05.15 น.
  • ได้เชิญชวนพระภิกษุสามเณรและคณะศรัทธาญาติโยมผู้ใจบุญได้กระทำพิธีกรรมเกี่ยวกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา ตลอดจนวันสำคัญที่เกี่ยวกับบ้านเมือง
  • ได้ให้การอบรมศีลธรรมแก่นักเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ , โรงเรียนพุทธโกศัยวิทยาและพระนิสิตมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ ในบางโอกาส
  • ได้ให้การอบรมศีลธรรมแก่ผู้ใขบุญในวันธัมมัสวนะที่วัดทุกวัน
  • ได้ให้การอบรมศีลธรรมแก่ประชาชนตามโครงการต่างๆ ของคณะสงฆ์ และหน่วยงานราชการ
  • ได้ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการใช้สถานที่วัดจัดประชุมสัมมนาสอบบรรจุและบำเพ็ญสาธารณกุศลอื่นๆ

กิจกรรมภายในวัด

แก้
  • มีการทำอุโบสถกรรม (สวดปาฏิโมกข์) ตลอดปี และมีภิกษุที่สวดปาฏิโมกข์ได้ 1 รูป
  • มีการทำวัตรสวดมนต์เช้า – เย็น เป็นประจำตลอดปี
  • มีระเบียบการปกครองของวัด เป็นไปตามกฎระเบียบมหาเถรสมาคม พระธรรมวินัยและอาณัติสงฆ์ในเขตหนเหนือ จนถึงปัจจุบัน
  • มีกติกาของวัด โดยใช้กติกาของพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ฟู อตฺตสิโว) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหาร

สมณศักดิ์

แก้
  • พ.ศ. 2484 ได้รับแต่งตั้งเป็น พระใบฎีกา ฐานานุกรมของพระปริยัติวงศาจารย์ (ฟู อตฺตสิโว)[4]
  • พ.ศ. 2493 ได้รับแต่งตั้งเป็น พระครูปลัด ฐานานุกรมของพระเทพมุนี (ฟู อตฺตสิโว)[4]
  • พ.ศ. 2495 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษที่ พระครูธรรมสารสุจิต[4]
  • พ.ศ. 2500 รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญในราชทินนามที่ พระภัทรสารมุนี[5]
  • พ.ศ. 2514 รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชรัตนมุนี ศรีโกไสยคุณาทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[6]
  • พ.ศ. 2526 รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพวิริยาภรณ์ สุนทรกิจโกศล วิมลธรรมานุสิฐ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[7]
  • พ.ศ. 2535 รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมรัตนากร สุนทรพรหมปฏิบัติ สมณวัตรโกศล วิมลปิฎกธาดา มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[8]
  • พ.ศ. 2540 รับพระราชทานสถาปนาสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระมหาโพธิวงศาจารย์ ญาณจริยสมบัติ พุทธบริษัทปสาทนียคุณ วิบูลพัฒนวโรปการ ศาสนภารธุราทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี[9]

อ้างอิง

แก้
  1. ประวัติวัดพระบาทมิ่งเมืองวรวิหารฯ (๒๕๕๔), : เมืองแพร่การพิมพ์.
  2. อะลิตเติ้ลบุ๊คด่ะ ดอตคอม . หลวงปู่พระมหาโพธิวงศาจารย์ มหาเถระแห่งล้านนามรณภาพ
  3. วัดพนมขวัญ .ประวัติตุ๊ปู่จี๋ .พระมหาโพธิวงศาจารย์ (สุจี กตสาโร)
  4. 4.0 4.1 4.2 http://watpanomkwan.blogspot.com/2014/04/tupujeehistory3.html
  5. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๗๔, ตอนที่ ๑๐๗ , ๑๗ สิงหาคม ๒๕๐๐, หน้า ๒๙๕๕
  6. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๘๘, ตอนที่ ๑๕๑ ฉบับพิเศษ, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๑๔, หน้า ๕
  7. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม ๑๐๐, ตอนที่ ๒๐๗ ฉบับพิเศษ, ๓๑ ธันวาคม ๒๕๒๖, หน้า ๑
  8. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ เก็บถาวร 2015-09-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, เล่ม ๑๐๙, ตอนที่ ๑๕๕ ฉบับพิเศษ, ๕ ธันวาคม ๒๕๓๕, หน้า ๔
  9. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศสถาปนาสมณศักดิ์, เล่ม ๑๑๔, ตอนที่ ๒๘ ข, ๑๑ ธันวาคม ๒๕๔๐, หน้า ๕-๑๐