พระครูโอภาสพุทธิคุณ (กอง โอภาสโก)

พระครูโอภาสพุทธิคุณ (กอง โอภาสโก) นิยมเรียกว่า “หลวงพ่อกอง วัดโพธาราม” หรือ "หลวงพ่อกอง วัดบ้านคอยเหนือ" เป็นพระเถราจารย์จังหวัดสุพรรณบุรี อดีตเจ้าคณะตำบลบางงาม เจ้าอาวาสวัดโพธาราม (บ้านคอยเหนือ) ตำบลบางงาม อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี

พระครูโอภาสพุทธิคุณ

(กอง ภูฆัง , โอภาสโก)
ส่วนบุคคล
เกิด11 มกราคม พ.ศ. 2456 (52 ปี)
มรณภาพ18 ธันวาคม พ.ศ. 2508
นิกายมหานิกาย
การศึกษา- พระธรรมวินัย
- พระปริยัติธรรม (นักธรรมชั้นเอก)
- พุทธาคม
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดโพธาราม ตำบลบางงาม อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี
อุปสมบทพ.ศ. 2476
พรรษา32 พรรษา
ตำแหน่ง- อดีตเจ้าคณะตำบลบางงาม
- อดีตเจ้าอาวาสวัดโพธาราม

ประวัติ

แก้

ชาติภูมิ

แก้

ชื่อ กอง นามสกุล ภูฆัง ชาตะ วันอาทิตย์ ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2456 (แรม 1 ค่ำ เดือนยี่ ปีฉลู) ณ บ้านลำพันบอง[1] ตำบลลำพันบอง อำเภอเดิมบาง เมืองสุพรรณบุรี[2] (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลหนองโพธิ์ อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี)

เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวน 8 คน ของนายขวัญ นางซิว นามสกุล ภูฆัง ครอบครัวชาวไทย เชื้อสายลาวครั่ง ประกอบอาชีพกสิกรรม[3]

วัยเยาว์ - วัยหนุ่ม

แก้

วัยเยาว์ถึงวัยหนุ่ม ช่วยครอบครัวประกอบอาชีพด้วยความยากลำบาก ต้องอพยพย้ายที่ทำมาหากินบ่อยครั้ง เนื่องด้วยสาเหตุความแห้งแล้งกันดาร ต้องย้ายจากถิ่นฐานที่เกิดมาอยู่บ้านหนองโสน บ้านดอนยาว บ้านหนองแสลบ บ้านหนองนา สุดท้ายที่บ้านหินแลง ตำบลบ้านคอย อำเภอศรีประจันต์ (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์) จังหวัดสุพรรณบุรี[1]

อุปสมบท

แก้

พ.ศ. 2476 บรรพชาและอุปสมบทพัทธสีมาวัดราษฎรบำรุง[3] ตำบลบ้านคอย อำเภอศรีประจันต์ (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์) จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมี

พระครูพิบูลศีลวัตร (ยา คงฺคสุวณฺโณ) เจ้าคณะหมวดโคกคราม เจ้าอาวาสวัดลาดหอย[4] อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์

พระอธิการอ้วน ธมฺมกถิโก เจ้าอาวาสวัดสามทอง อำเภอท่าพี่เลี้ยง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์

เจ้าอธิการปุย ปุญฺญสิริ เจ้าคณะหมวดบางงาม เจ้าอาวาสวัดเกาะ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพระอนุสาวนาจารย์[5]

ได้รับฉายาทางพระพุทธศาสนาว่า โอภาสโก [โอ-พา-สะ-โก]

อุปสมบทแล้วอยู่วัดจิกรากข่า จวนใกล้เข้าพรรษาชาวบ้านคอยจึงนิมนต์ให้มาอยู่วัดโพธาราม (บ้านคอยเหนือ) ตำบลบ้านคอย (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลบางงาม) อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งขณะนั้นมีหลวงตายวงเป็นพระภิกษุชราภาพเฝ้าวัดอยู่เพียงรูปเดียว โดยจำพรรษาอยู่วัดนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2476 เป็นต้นมา[1]

การศึกษา

แก้

เนื่องจากบรรพบุรุษมีอาชีพกสิกรรม ชีวิตแต่เยาว์ของท่านส่วนมากคลุกคลีอยู่กับงานกลางไร่ นา ไม่มีโอกาสได้ศึกษาอักษรสมัย ประกอบกับการศึกษาสมัยนั้นส่วนมากต้องเรียนกับพระในวัด ไม่มีระบบการศึกษาภาคบังคับเยี่ยงปัจจุบันนี้ เยาวชนสมัยนั้นจึงสมัครใจอยู่บ้าน ช่วยผู้ปกครองประกอบอาชีพ ต่อเมื่อถึงคราวควรได้บวชตามประเพณีนิยม จึงจะมีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียน ดังนั้นชีวิตของท่านจึงมาเริ่มต้นศึกษาอ่านออกเขียนได้เมื่อบรรพชาอุปสมบทแล้ว[3]

โดยเริ่มศึกษาวิชาความรู้ด้วยตนเอง อาศัยสอบถามจากผู้มีความรู้ และเป็นศิษย์ศึกษาจากพระอธิการอ้วน ธมฺมกถิโก (หลวงพ่ออ้วน วัดสามทอง) กับเจ้าอธิการปุย ปุญฺญสิริ (หลวงพ่อปุย วัดเกาะ) และยังศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรม สอบได้นักธรรมชั้นตรี ชั้นโท ชั้นเอก ตามลำดับ[5]

วัตรปฏิบัติ - ปฏิปทา

แก้

วัตรปฏิบัติ และปฏิปทาของพระครูโอภาสพุทธิคุณ (กอง โอภาสโก)[3][1] เป็นผู้มีใจกว้างขวาง โอบอ้อมอารี มีคุณธรรม มีเมตตา มีศีลาจารวัตรงดงาม ให้ความอบอุ่นร่มเย็นแก่ชาวบ้าน ให้การเยี่ยมเยียนทุกครอบครัวโดยทั่วถึงเป็นประจำสม่ำเสมอ ประชาชนทั้งใกล้และไกลมีความศรัทธาเลื่อมใสท่านเป็นอย่างมาก

วัดโพธารามสมัยท่านมาอยู่ใหม่ๆ มีสภาพเสมือนวัดร้าง พื้นที่กว้างขวาง เป็นป่าดง ลุ่ม ดอน มีแมกไม้นานาพันธุ์ เช่น มะซาง มะกัก มะกอก ประดู่ แดง มะค่า ปรู ตะเคียน มะขามใหญ่ มะขามป้อม จันทร์โอ จันทร์อิน แจง พิกุล สารภี ฯลฯ ส่วนสิ่งก่อสร้างมีเพียงวิหารร้างเก่าแก่ จำนวน 1 หลัง กุฏิทรงไทยเก่าๆ จำนวน 2 หลัง และศาลาการเปรียญ ขนาดเล็ก ยกพื้นสูง 2 ศอก สภาพผุพัง จำนวน 1 หลัง นอกนั้นไม่มีอะไรเลย

สมัยนั้นโรงเรียนประชาบาลมีจำนวนน้อย ทั้งค่านิยมในสังคมชนบทที่ไม่นิยมส่งเสริมเรื่องการศึกษา ด้วยเกรงว่าจะไม่มีแรงงานช่วยภาคเกษตรกรรม เด็กส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับการศึกษา และด้วยท่านเคยเป็นผู้ไม่ได้รับการศึกษามาก่อน จึงเห็นความสำคัญของการศึกษา เมื่อพบเห็นเด็กตามบ้านป่า ท้องถิ่นทุรกันดารในสมัยนั้น เช่น บ้านลำพันบอง บ้านหนองโสน บ้านดอนยาว บ้านหนองแสลบ ตลอดจนแถบเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ท่านจึงไปเยี่ยมเยียนบ้านต่างๆ พูดคุยทำความเข้าใจกับชาวบ้านให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษา และขออนุญาตนำลูกหลานมาอุปการะเลี้ยงดู ส่งเสริมให้ได้รับการศึกษา อบรมสั่งสอนเต็มความรู้ความสามารถของท่าน

ท่านดำเนินเรื่องขออนุญาตทางราชการเปิดโรงเรียนประชาบาลที่วัดโพธาราม แต่ว่าไม่ได้รับอนุญาต จึงต้องอาศัยศาลาวัดเป็นสถาบันขั้นต้นไปก่อน แต่ท่านก็ยังไม่ลดละความพยายาม ตั้งใจจะเปิดโรงเรียนประชาบาลให้ได้ เพื่อเด็กจะได้มีสถานที่เรียนรู้ ไม่อยากให้มีความรู้น้อยเหมือนท่านในอดีต จึงจัดการบูรณปฏิสังขรณ์เสนาสนะในวัดเพื่อรองรับเด็กนักเรียน เริ่มจากปรับปรุงสภาพภูมิประเทศภายในวัด แผ้วถางป่ารก เมื่อชาวบ้านว่างจากการทำนา กลางคืนจะตีกลองเป็นสัญญาณ จุดตะเกียงเจ้าพายุ ชักชวนมาช่วยขุดดิน ถมบ่อ ส่วนกลางวันท่านจะขึ้นป่าหาไม้มาสร้างและปฏิสังขรณ์วัด กระทั่งทางราชการเห็นถึงความพยายามและความตั้งใจจริง จึงอนุญาตให้เปิดโรงเรียนประชาบาลประเภทนายอำเภอจัดตั้งได้สำเร็จ

ส่วนที่บวชเป็นพระภิกษุ - สามเณร ท่านส่งเสริมให้ศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรม โดยท่านเป็นครูสอนเอง หากผู้ใดประสงค์จะศึกษาให้ก้าวหน้ากว่านักธรรม ท่านก็สนับสนุนส่งไปเรียนในแหล่งที่เจริญด้วยการศึกษา มีผู้สำเร็จการศึกษาแล้วกลับมาช่วยท่านอบรมสั่งสอนที่สำนักเดิมหลายราย จวบจนสามารถจัดตั้งการศึกษาแผนกบาลีขึ้นในสำนักเรียนวัดโพธารามได้อีกแผนกหนึ่ง

การพัฒนาวัด ท่านวางแผนว่าสร้างกุฏิ ศาลาการเปรียญหลังใหม่ หอสวดมนต์ อาคารเรียน แล้วจะทำการสร้างอุโบสถต่อไปตามลำดับ เนื่องจากขณะนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาชนในท้องถิ่นมีจำนวนน้อย สภาพความเป็นอยู่แร้นแค้น ท่านไม่อยากเบียดเบียนรบกวนชาวบ้าน จึงดำเนินการปักเขตพัทธสีมา ปลูกสร้างอาคารชั่วคราว โดยขึ้นเสา มุงหลังคา ไม่มีฝาผนัง เป็นที่ประกอบสังฆกรรมเพียงใช้ได้ชั่วคราวก่อน

การดำเนินการก่อสร้างในวัดทั้งกุฏิ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์ อาคารเรียน ท่านใช้วิธีขึ้นป่าหาไม้ "ทอดผ้าป่าไม้" นำไม้มาเลื่อย ถาก สร้างกันเอง โดยมีหลวงพ่อแต้ม วัดพระลอย หลวงพ่อเจริญ วัดธัญญวารี ฯลฯ ชาวบ้านและศิษย์วัดช่วยกันทำ

ผลงาน

แก้

งานปกครอง

แก้
  • พ.ศ. 2476 เป็น กรรมการรักษาวัดโพธาราม
  • พ.ศ. ยังไม่พบข้อมูล เป็น ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดโพธาราม
  • พ.ศ. 2486 เป็น เจ้าอาวาสวัดโพธาราม
  • พ.ศ. ยังไม่พบข้อมูล เป็น พระกรรมวาจาจารย์
  • พ.ศ. ยังไม่พบข้อมูล เป็น เจ้าคณะตำบลบางงาม

งานสาธารณูปการ

แก้
  • พ.ศ. ยังไม่พบข้อมูล บูรณะกุฏิเก่า และสร้างกุฏิใหม่
  • พ.ศ. 2480 ปรับสภาพภูมิประเทศในวัด ขุดพบเครื่องปั้นดินเผา รูปปั้นช้างม้า อาวุธโลหะ ดาบ โล่ ขอ ง้าว สภาพผุพังจำนวนมาก
  • พ.ศ. 2485 สร้างศาลาการเปรียญหลังใหม่ (หลังปัจจุบัน)เสร็จ โดย พระครูประภัศร์ธรรมาภรณ์ (แต้ม ปุญฺญสุวณฺโณ) วัดพระลอย เป็นนายช่าง ช่วยก่อสร้าง
  • พ.ศ. 2487 ดำเนินเรื่องขอพระราชทานวิสุงคามสีมา ได้รับพระราชทานเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2487[6] แต่เนื่องจากเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประชาชนในท้องถิ่นมีจำนวนน้อย สภาพความเป็นอยู่แร้นแค้น จึงดำเนินการปักเขตพัทธสีมา และปลูกสร้างอาคารชั่วคราว โดยขึ้นเสา มุงหลังคา ไม่มีฝาผนัง เป็นที่ประกอบสังฆกรรมเพียงใช้ได้ชั่วคราวก่อน
  • พ.ศ. 2493 สร้างหอสวดมนต์เสร็จ โดยมีพระครูประภัศร์ธรรมาภรณ์ (แต้ม ปุญฺญสุวณฺโณ) วัดพระลอย เป็นนายช่าง ช่วยก่อสร้าง[7]

งานการศึกษา

แก้
  • เป็น ครูสอนพระปริยัติธรรม สำนักศาสนศึกษาพระปริยัติธรรมวัดโพธาราม
  • เป็น กรรมการตรวจธรรมสนามหลวง
  • เป็น กรรมการศึกษา โรงเรียนประชาบาลตำบลดอนเจดีย์ 2 (วัดโพธาราม)

งานศึกษาสงเคราะห์

แก้
  • พ.ศ. 2482 เป็นผู้อุปถัมภ์ และตั้งโรงเรียนประชาบาล ชื่อว่า "โรงเรียนประชาบาลตำบลดอนเจดีย์ 2 (วัดโพธาราม)" แรกเริ่มใช้ศาลาการเปรียญหลังเก่าและหลังใหม่เป็นสถานที่เรียน (ตามลำดับ) กระทั่งสร้างอาคารเรียนเสร็จจึงย้ายนักเรียนไปที่อาคารดังกล่าว
  • พ.ศ. 2487 จัดซื้อตำราเรียนพระปริยัติธรรม ถวายประจำวัดโพธาราม เพื่อให้พระภิกษุ - สามเณร ได้ใช้ศึกษา
  • พ.ศ. 2496 สร้างอาคารเรียน โรงเรียนประชาบาลตำบลดอนเจดีย์ 2 (วัดโพธาราม) เสร็จ
  • พ.ศ. 2501 - 2508 เป็นผู้อุปถัมภ์สำนักเรียนพระปริยัติธรรม วัดดอนเจดีย์ ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอศรีประจันต์ (ภายหลังแยกเป็นอำเภอดอนเจดีย์) จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเริ่มเปิดใหม่ ยังขาดความพร้อม ความสะดวก ในหลายด้าน จึงเป็นผู้อุปถัมภ์สำคัญ[5]

สมณศักดิ์

แก้
  • พ.ศ. 2486 เป็น เจ้าอาวาสวัดโพธาราม สมณศักดิ์ที่ พระอธิการกอง โอภาสโก
  • พ.ศ. ยังไม่พบข้อมูล เป็น พระครูประทวน สมณศักดิ์ที่ พระครูกอง โอภาสโก
  • พ.ศ. 2505 เป็น พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นตรี ในราชทินนามที่ พระครูโอภาสพุทธิคุณ[8]

อาพาธ - มรณภาพ

แก้

ท่านเริ่มอาพาธตั้งแต่เมื่อไรไม่มีใครทราบ เพราะปกติท่านเป็นผู้มีขันติ เยือกเย็น อดทน ดังนั้นจึงดูเหมือนว่าท่านได้เจ็บลงอย่างกระทันหัน โดยไม่มีผู้ใดทราบว่าท่านป่วยเป็นโรคอะไร กว่าจะเป็นที่ทราบถึงคณะศิษยานุศิษย์และญาติโยมก็ต่อเมื่ออาการหนักเสียแล้ว แม้กระนั้นก็ไม่ละความพยายาม ได้นำท่านไปตรวจรักษายังโรงพยาบาล จึงเป็นที่ทราบกันว่าท่านป่วยเป็นโรคมะเร็ง น่าใจหาย เพราะโรคร้ายนี้กว่าจะรู้ก็ต่อเมื่อสายเสียแล้ว จึงนำท่านกลับวัด อาการทรุดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2508 ด้วยอาการอันสงบ[3] สิริอายุ 52 ปี อุปสมบทได้ 32 พรรษา

การจัดการศพ

แก้

พระครูโอภาสพุทธิคุณ (กอง โอภาสโก) ได้สั่งเสียไว้ก่อนมรณภาพว่าให้จัดการศพแบบเรียบง่าย ภายหลังท่านมรณภาพ ทางคณะสงฆ์จึงแต่งตั้ง พระมหาคำพร เมธงฺกุโร (ลูกศิษย์) เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดโพธาราม ตั้งพระครูวรนาถรังษี (ปุย ปุญฺญสิริ) วัดเกาะ พระครูสุวรรณวิสุทธิ์ (เจริญ ปภาโส) วัดธัญญวารี พระครูสุนทรวิริยานุวัตร (เทพ ถาวโร) วัดกุฎีทอง และพระมหาคำพร เมธงฺกุโร เป็นคณะจัดการงานศพ

มีพิธีสรงน้ำศพ , พิธีบำเพ็ญกุศล - สวดพระอภิธรรม ต่อเนื่องจนครบ 7 วัน (สัตตมวาร) , ครบ 50 วัน (ปัญญาสมวาร) , ครบ 100 วัน (ศตมวาร) , วันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2509 มีพิธีบำเพ็ญกุศล สวดพระอภิธรรม , วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2509 มีพิธีอัญเชิญหีบศพยังฌาปนสถานชั่วคราว (เมรุลอย) พระสงฆ์สวดมาติกา บังสุกุล ศราทธพรตคาถา และพิธีพระราชทานเพลิงศพ โดยมี สมเด็จพระวันรัต (ปุ่น ปุณฺณสิริ) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร เป็นประธาน , วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2509 พิธีสามหาบ เก็บอัฐิ เป็นอันเสร็จพิธี

 
โกศอัฐิ และรูปเหมือนพระครูโอภาสพุทธิคุณ (กอง โอภาสโก)

สิ่งเกี่ยวเนื่อง - อนุสรณ์

แก้
  • โรงเรียนวัดโพธาราม (โอภาสราษฎร์ประสิทธิ์) เป็นโรงเรียนซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่วัดโพธาราม โดยพระครูโอภาสพุทธิคุณ (กอง โอภาสโก) เป็นผู้นำสร้าง เดิมชื่อว่า "โรงเรียนประชาบาลตำบลดอนเจดีย์ 2 (วัดโพธาราม)" เปิดดำเนินการวันแรกเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2482 สมัยนายดาบจันทร์ รูปสูง เป็นธรรมการอำเภอ มีนายเตือน บุญแย้ม เป็นครูสอนคนแรก แรกเริ่มใช้ศาลาการเปรียญหลังเก่าและหลังใหม่ของวัดเป็นสถานที่เรียน (ตามลำดับ) กระทั่งสร้างอาคารเรียนเสร็จเมื่อ พ.ศ.2496 จึงย้ายนักเรียนไปที่อาคารดังกล่าว ต่อมาเมื่อโอนย้ายโรงเรียนและวัดมาอยู่ในเขตปกครองตำบลบางงาม จึงเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนวัดโพธาราม (โอภาสราษฎร์ประสิทธิ์)" โดยนำสมณศักดิ์ของท่านมาตั้งชื่อเพื่อเป็นอนุสรณ์ และเปิดดำเนินการต่อเนื่องมา จวบจนระยะหลังมีนักเรียนจำนวนน้อย เหลือเพียง 9 คน ทางราชการจึงมีคำสั่งให้เลิกล้มโรงเรียนนี้ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2535[1]
  • รูปเหมือนหลวงพ่อกอง สร้างภายหลังพระครูโอภาสพุทธิคุณ (กอง โอภาสโก) มรณภาพแล้ว ปัจจุบันประดิษฐานบนศาลาการเปรียญวัดโพธาราม
  • วันบูรพาจารย์วัดโพธาราม เป็นวันคล้ายวันมรณภาพพระครูโอภาสพุทธิคุณ (กอง โอภาสโก) มีพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทาน และถวายภัตตาหารเพล วันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปี
  • คำขวัญประจำหมู่บ้าน เป็นคำขวัญประจำหมู่บ้าน หมู่ที่ 4 ตำบลบางงาม อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี โดยนำสมณศักดิ์ของพระครูโอภาสพุทธิคุณ (กอง โอภาสโก) มาเป็นส่วนหนึ่งของคำขวัญประจำหมู่บ้าน คือ "หมู่บ้านประวัติศาสตร์ พระครูโอภาสศักดิ์สิทธิ์ ศูนย์สาธิตเป็นที่พึ่ง ความเป็นหนึ่งคือสามัคคี"

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 ประนันท์ ศรีหมากสุก. (2536). ที่ระลึกเนื่องในงานปิดทองฝังลูกนิมิต ผูกพัทธสีมา และฉลองสิ่งปลูกสร้าง วัดโพธาราม ตำบลบางงาม อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี 9-17 มกราคม 2536. สุพรรณบุรี: เซ็นทรัลมีเดีย แอนด์ แอดเวอร์ไทซิ่ง.
  2. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย ประกาศตั้งอำเภอเดิมบางและเปลี่ยนชื่ออำเภอเดิมบางเก่าเป็นอำเภอบ้านเชียน" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 28 (0 ง): 299–300. May 21, 1911.
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 ประนันท์ ศรีหมากสุก. (2509). ไม่วุ่นจะว่าง โดย พุทธทาสภิกขุ บริษัทกรุงเทพสัมพันธ์ จำกัด พิมพ์เป็นธรรมบรรณาการเนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พระครูโอภาสพุทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดโพธาราม. พระนคร: จำลองศิลป์.
  4. กรมธรรมการ. (2473). ทำเนียบสมณศักดิ์ กับ ทำเนียบเปรียญ พ.ศ.2473. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
  5. 5.0 5.1 5.2 พีระศักดิ์ สุนทรวิภาต. (2563). ที่ระลึก 125 ปีชาตกาล 40 ปีมรณภาพ พระครูวรนาถรังษี (ปุย ปุญฺญสิริ). พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: กุศลบุญการพิมพ์.
  6. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ พระราชทานวิสุงคามสีมา (ให้วัดที่มีชื่อในบัญชีท้ายประกาศ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาตามเขตที่กำหนดไว้ในบัญชีนั้น)ประกาศ ณ วันที่ 7 กันยายน พุทธศักราช 2487), เล่ม 61, ตอน 58 ก, 19 กันยายน 2487, หน้า 837
  7. พระครูประภัศร์ธรรมาภรณ์. (2510). อนุสสรณ์งานทำบุญอายุครบ 76 ปี พระครูประภัศร์ธรรมาภรณ์ (แต้ม ปุญฺญสุวณฺโณ). กรุงเทพฯ: บูรณะการพิมพ์
  8. ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์, เล่ม 80, ตอน 3 ง, 4 มกราคม 2506, หน้า 13

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้
ก่อนหน้า พระครูโอภาสพุทธิคุณ (กอง โอภาสโก) ถัดไป
พระภิกษุยวง
(ผู้ดูแลวัด)
   
เจ้าอาวาสวัดโพธาราม
(รักษาการ พ.ศ. 2476 – พ.ศ. 2486)
(เจ้าอาวาส พ.ศ. 2486 – พ.ศ. 2508)
  พระมหาคำพร เมธงฺกุโร
(รักษาการ)
พระครูสิริยาภินันท์ (แช่ม ฐานคุโณ)    
เจ้าคณะตำบลบางงาม
(ไม่พบข้อมูล – พ.ศ. 2508)
  พระครูวรนาถรังษี (ปุย ปุญฺญสิริ)