วัดราษฎรบำรุง (อำเภอดอนเจดีย์)

วัดราษฎรบำรุง [วัด-ราด-สะ-ดอน-บำ-รุง] ตั้งอยู่เลขที่ 1 ถนนทางหลวงชนบทสุพรรณบุรี หมายเลข 3011 หมู่ที่ 1 ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นวัดราษฎร์ คณะสงฆ์มหานิกาย เขตปกครองคณะสงฆ์ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี คณะสงฆ์ ภาค 14

วัดราษฎรบำรุง
ชื่อสามัญวัดราษฎรบำรุง
ที่ตั้งเลขที่ 1 หมู่ที่ 1 ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี 72170
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
ก่อตั้งสมัยรัชกาลที่ 5
เจ้าอาวาสพระครูวิสุทธิ์สุวรรณสีล (สมมาตร วิสุทฺธสีโล)
มหามงคล- รูปเหมือนหลวงพ่ออินทร์
- รูปเหมือนหลวงพ่อเทพ
- รูปเหมือนหลวงพ่อแช่ม
จุดสนใจ- อุโบสถ
- เมรุทรงปรางค์
พระพุทธศาสนา ส่วนหนึ่งของสารานุกรมพระพุทธศาสนา

ประวัติ

แก้

สมัยแรกเริ่ม

แก้

วัดสร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน อยู่ในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แรกเริ่มสร้างวัด ชื่อว่า วัดใหม่ แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า วัดใหม่โรงหีบ ตามชื่อหมู่บ้าน[1]

พื้นที่ตั้งวัดเดิมอยู่ที่ลานท่าดุมเกวียน (ใต้วัดในปัจจุบัน) มีกุฏิทำด้วยไม้ไผ่ หลังคามุงด้วยแฝก ฝาทำด้วยใบตาล จำนวน 2 - 3 หลัง มีลักษณะเป็นสำนักสงฆ์ชั่วคราว เมื่อถึงฤดูตรุษสงกรานต์และพรรษากาล ชาวบ้านต้องไปนิมนต์พระภิกษุตามวัดต่างๆ มาพัก เพื่อให้ได้ทำบุญกัน

ต่อมามีพระภิกษุชาวพระนครศรีอยุธยาชื่อ หลวงพ่อเผือก และพระอนุจรจำนวนหนึ่งมาจำวัดอยู่ที่นี่ เห็นว่าสถานที่ตั้งวัดไม่เหมาะสม จึงชักชวนชาวบ้านช่วยกันย้ายวัดขึ้นมาอยู่ในพื้นที่ปัจจุบันนี้ เริ่มจากสร้างกุฏิ ทำด้วยวัสดุไม้ไผ่บ้าง ไม้จริงบ้าง หลังคามุงด้วยแฝก จำนวน 3 หลัง สร้างหอสวดมนต์ เครื่องบนทำด้วยไม้สัก ฝาไม้สัก จำนวน 1 หลัง สร้างศาลาดิน จำนวน 1 หลัง เรี่ยไรวัสดุทองเหลืองนำมาหล่อเป็นพระศรีอริยเมตไตรย จำนวน 1 องค์ ระฆังใบใหญ่ จำนวน 1 ใบ ต่อมาหลวงพ่อเผือกย้ายไป พระผ่องซึ่งเป็นพระอนุจรติดตามจึงปกครองวัดสืบมา[2]

สมัยเสื่อมโทรม

แก้

สมัยพระผ่องปกครอง ปล่อยวัดทรุดโทรมลงเป็นลำดับ ชาวบ้านขาดความเลื่อมใส ในที่สุดพระผ่องจึงลาสิกขาไป มีหลวงปู่คุ้มเป็นพระผู้เฒ่าเฝ้าวัดอยู่เพียงรูปเดียว ต่อมาเมื่อหลวงปู่คุ้มมรณภาพ วัดนี้จึงไม่มีพระภิกษุเลยในราว พ.ศ.2446

เมื่อวัดไม่มีพระภิกษุดูแล นายผ่อง (อดีตพระผ่อง) จึงนำสิ่งปลูกสร้าง ถาวรวัตถุภายในวัด ไปขายให้เจ้าอธิการอินทร์ เจ้าอาวาสวัดโพธาราม (บ้านคอยเหนือ) แล้วชาวบ้านวัดโพธารามจึงมารื้อหอสวดมนต์ กุฏิที่ทำด้วยวัสดุไม้จริง กับพระศรีอริยเมตไตรย ระฆัง และวัสดุทองเหลืองที่เหลือจากการหล่อนำไปวัดโพธารามทั้งหมด

ชาวบ้านทะเลาะถึงขั้นจะฟ้องร้องเป็นคดีความ เกิดความไม่สบายใจต่อกัน จึงนำเรื่องดังกล่าวไปปรึกษาพระครูปลื้ม วัดพร้าว (เจ้าคณะแขวงศรีประจันต์) ท่านไม่อยากให้ชาวบ้านแตกแยก จึงชี้แจงทำความเข้าใจว่าของที่เขาเอาไปก็ไม่มีราคาค่างวดอะไรมากนัก เป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เขารื้อเอาไปก็เอาไปไว้ในวัด การที่จะไปฟ้องร้องเอากลับคืนมา ก็ไม่ค่อยมีประโยชน์อะไรนัก ลำบากกันไปเปล่าๆ เราควรจะสร้างเอาใหม่ดีกว่า พร้อมทั้งรับรองว่าจะส่งพระภิกษุผู้มีความรู้ความสามารถมาอยู่ เพื่อให้เป็นผู้ก่อสร้างวัดขึ้นใหม่ ชาวบ้านจึงยอมล้มเลิกที่จะฟ้องร้องกันต่อไป[2]

สภาพวัดในขณะนั้นแทบไม่หลงเหลืออะไรเลย มีเพียงกุฏิทำด้วยไม้ไผ่ หลังคามุงแฝก ฝาทำด้วยใบตาล อยู่เพียงหลังเดียว พื้นที่แถบตะวันตกตั้งแต่หลังวัดเป็นต้นไปมีสภาพเป็นป่า มีสัตว์ป่า เช่น เสือ สุนัขป่า เก้ง ละมั่ง กวาง อาศัยชุกชุม บ้านเรือนชาวบ้านมีน้อย สภาพความเป็นอยู่ลำบาก เมื่อพระครูปลื้มให้พระภิกษุรูปใดมาอยู่ จึงไม่มีผู้ใดมา

สมัยฟื้นฟู - รุ่งเรือง

แก้

จวนใกล้เข้าพรรษา พระครูปลื้มก็ยังหาผู้ใดมาอยู่ไม่ได้ เพื่อไม่ให้เสียคำที่ท่านได้รับรองกับชาวบ้านไว้ จึงตกลงมาอยู่เอง เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ พระภิกษุรูปอื่นในวัดพร้าวและวัดอื่นจึงพากันติดตามท่านมา รวมเป็น 10 รูป มีพระใบฎีกาอินทร์ (พระฐานานุกรมของพระครูปลื้ม) กับพระอาจารย์สุ่ม เป็นต้น

ขณะนั้นวัดใหม่มีกุฏิทำด้วยไม้ไผ่เหลืออยู่เพียงจำนวน 1 หลัง พระครูปลื้มจึงขอให้ชาวบ้านช่วยสร้างกุฏิชั่วคราวอีกจำนวน 2 หลัง เพียงพอให้พระภิกษุจำนวน 10 รูป อาศัยอยู่จำพรรษาได้ จวบจนออกพรรษา (ปวารณาแล้ว) พระครูปลื้มจึงกลับวัดพร้าวตามเดิม และมอบหมายให้พระใบฎีกาอินทร์ เป็นหัวหน้าปกครองวัดสืบต่อมา

พระใบฎีกาอินทร์กับพระอาจารย์สุ่ม เป็นพระมีความรู้ความสามารถในวิชาช่าง การก่อสร้างใดๆ ท่านล้วนเป็นช่างก่อสร้าง โดยมีชาวบ้านเป็นลูกมือ (ผู้ช่วย) เข้าป่าพลีไม้นำมาสร้างกันเอง เริ่มจากสร้างหอสวดมนต์ จำนวน 1 หลัง สร้างกุฏิทำด้วยวัสดุไม้จริง รวมจำนวน 5 หลัง ทำนอกชานหอสวดมนต์เชื่อมกุฏิทั้งหมดติดต่อกัน สร้างศาลาการเปรียญ จำนวน 1 หลัง ต่อมามีชาวบ้านศรัทธาเลื่อมใสท่านมาก ศาลาการเปรียญไม่เพียงพอรองรับจำนวนคน จึงต้องสร้างศาลาคู่ขึ้นอีก 2 หลัง

นอกจากสร้างเสนาสนะ ถาวรวัตถุภายในวัดใหม่ พระใบฎีกาอินทร์ยังช่วยวัดอื่นสร้างอีก แม้กระทั่งสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ถนน สระน้ำ ศาลาพักริมทาง ท่านก็เป็นผู้นำชาวบ้านสร้าง ผลงานสุดท้ายท่านสร้างหอไตร 2 ชั้น จำนวน 1 หลัง และมีโครงการจะสร้างอุโบสถทำด้วยไม้ทั้งหลัง แต่ก็มรณภาพเสียก่อน

ต่อมาเมื่อขอพระราชทานวิสุงคามสีมาสร้างอุโบสถ พ.ศ. 2468 พบว่าชื่อวัดใหม่ซ้ำกับหลายวัด จึงถือโอกาสเปลี่ยนเป็น วัดราษฎร์บำรุง [วัด-ราด-บำ-รุง] โดยมี พระครูธรรมสารรักษา (พริ้ง วชิรสุวณฺโณ) เจ้าคณะแขวงศรีประจันต์ เป็นผู้ดำเนินเรื่อง และเป็นประธานสร้างอุโบสถจวบจนแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2470[2]

ชื่อวัดราษฎร์บำรุงซ้ำกับหลายวัด ส่งผลให้เกิดความสับสน สมัยพระครูสิริยาภินันท์ (แช่ม ฐานคุโณ) เป็นเจ้าอาวาส จึงเปลี่ยนเป็น วัดราษฎรบำรุง [วัด-ราด-สะ-ดอน-บำ-รุง] ไม่มีการันต์ และใช้ชื่อนี้ถึงปัจจุบัน

สมัยพระครูสิริยาภินันท์ (แช่ม ฐานคุโณ) เป็นเจ้าอาวาส ท่านเป็นพระเถราจารย์ที่มีชื่อเสียง เป็นที่เคารพนับถือของประชาชน มีพระเทพคุณาธาร (ผล ชินปุตฺโต) ศิษย์เก่าของวัด เป็นผู้อุปถัมภ์ในการพัฒนา วัดมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก

ที่ดินตั้งวัดมีพื้นที่จำนวน 23 ไร่ 3 งาน 78 ตารางวา[3] ได้รับอนุญาตตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. 2448 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2468[4]

ทำเนียบเจ้าอาวาส

แก้

ทำเนียบเจ้าอาวาสวัดราษฎรบำรุง อดีต - ปัจจุบัน เท่าที่พบข้อมูล[2][5][6]

ลำดับ รายนาม เริ่มวาระ สิ้นสุดวาระ หมายเหตุ
1 หลวงพ่อเผือก - -
2 พระผ่อง - - ลาสิกขา
3 หลวงปู่คุ้ม - - รักษาวัด , มรณภาพ
4 พระครูปลื้ม (วัดพร้าว) พ.ศ. 2446 พ.ศ. 2446 เจ้าคณะแขวง รักษาการ 1 พรรษา
5 พระใบฎีกาอินทร์ พ.ศ. 2446 26 กันยายน พ.ศ. 2463 เจ้าอาวาส , เจ้าคณะหมวด , มรณภาพ
6 พระอาจารย์ทอง ศรีคำ พ.ศ. 2463 พ.ศ. 2466 รักษาการ , ลาสิกขา
7 พระอาจารย์โพธิ์ ศรีคำ พ.ศ. 2466 พ.ศ. 2470 รักษาการ , ลาสิกขา
8 พระเสงี่ยม พ.ศ. 2470 พ.ศ. 2472 รักษาวัด
9 หลวงตาอิ่ม พ.ศ. 2472 พ.ศ. 2474 ลาสิกขา
10 พระอธิการเพชร พ.ศ. 2474 พ.ศ. 2478 เจ้าอาวาส , ลาออก ไปอยู่วัดไผ่แขก
11 พระอธิการหวาด จิณฺณธมฺโม พ.ศ. 2478 พ.ศ. 2480 รักษาการ
24 ธันวาคม พ.ศ. 2480 19 ธันวาคม พ.ศ. 2487 เจ้าอาวาส , มรณภาพ
12 พระครูสิริยาภินันท์ (แช่ม ฐานคุโณ) พ.ศ. 2487 พ.ศ. 2489 รักษาการ
1 มิถุนายน พ.ศ. 2489 13 มีนาคม พ.ศ. 2524 เจ้าอาวาส , เจ้าคณะตำบล , มรณภาพ
13 พระปลัดสวาท ปญฺญาสาโร 19 มีนาคม พ.ศ. 2524 พ.ศ. 2526 รักษาการ , มรณภาพ
14 พระมหาสุจินต์ อธิวโร ป.ธ.3 พ.ศ. 2526 - รักษาการ , ลาออก ไปศึกษา 2 ปี
15 พระครูปริยัติวราภรณ์ (เฉลี่ย สิริธโร) ป.ธ.3 (วัดธัญญวารี) - - เจ้าคณะตำบล รักษาการ 1 พรรษา
16 พระครูปริยัตยานุศาสก์ (สุจินต์ อธิวโร) ป.ธ.3 25 มิถุนายน พ.ศ. 2529 พ.ศ. 2541 เจ้าอาวาส , เจ้าคณะตำบล , ลาสิกขา
17 พระครูวิสุทธิ์สุวรรณสีล (สมมาตร วิสุทฺธสีโล) พ.ศ. 2541 พ.ศ. 2543 รักษาการ
พ.ศ. 2543 - เจ้าอาวาส , ปัจจุบัน

การศึกษา

แก้
  • สำนักศาสนศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกธรรม วัดราษฎรบำรุง ก่อตั้งโดยพระมหาสุนทร ศรีโสภาค เปิดสอนเมื่อ พ.ศ. 2466 - ปัจจุบัน
  • เป็นสถานที่ตั้งโรงเรียนวัดราษฎรบำรุง ตำบลดอนเจดีย์ อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ก่อตั้งเมื่อ วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2478[1]

เทศกาล และงานประจำปี

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 พระศีลขันธโศภิต. (2499). ที่ระลึกในงานเปิดป้ายและฉลองอาคารเรียน โรงเรียนประชาบาลตำบลดอนเจดีย์ 1 (วัดราษฎร์บำรุง). ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 พระอธิการจุ้ย ตนฺติปาโล. (2525). อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระครูสิริยาภินันท์ (หลวงพ่อแช่ม ฐานคุโณ). สุพรรณบุรี: มนัสการพิมพ์
  3. กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ. (2545). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 21. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา
  4. สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุพรรณบุรี. (2535). ทำเนียบวัดและโบราณสถานจังหวัดสุพรรณบุรี. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
  5. สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุพรรณบุรี. (2535). ทำเนียบวัดและโบราณสถานจังหวัดสุพรรณบุรี. ม.ป.ท.: ม.ป.พ.
  6. กรมการศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ. (2545). ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม 21. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา