พระครูสุวิชานวรวุฒิ (ปี้ ทินฺโน)

พระครูสุวิชานวรวุฒิ หรือ หลวงพ่อปี้ ฉายา ทินฺโน 15 ตุลาคม พ.ศ. 2445 - 11 มกราคม พ.ศ. 2517) พระเกจิอาจารย์ชาวสุโขทัย ที่มีวิทยาคมเป็นที่เลื่องลือ มีประวัติการเดินทางธุดงค์เป็นเวลาหลายปี ในหลายจังหวัด คือ เมืองร่างกุ้ง ประเทศพม่า ปาดังเบซา ประเทศมาเลเซีย เป็นต้น เป็นพระที่มีความเพียรสูง เคร่งครัดในพระธรรมวินัยและมีความมานะอดทนเป็นเลิศ ท่านเป็นศิษย์พระราชประสิทธิคุณ (ทิม ยสทินฺโน) แห่งวัดราชธานี และอดีตเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย เคยเข้าร่วมรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่รัชกาลที่ 9 ในคราวเสด็จประพาสเป็นประธานเปิดพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติรามคำแห่ง จังหวัดสุโขทัย เมื่อ 25 มกราคม พ.ศ. 2507 และถวายพระซุ้มกอ จำนวน 999 องค์ ดังปรากฏข้อมูลว่า "...เวลาประมาณ 13.30 น. อธิบดีกรมศิลปากรนำเสด็จออกจากบริเวณพิพิธภัณฑ์สถานฯ ทรงพระราชดำเนินโดยพระบาทไปตามถนนระหว่างพิพิธภัณฑ์สถานฯ ไปยังวัดมหาธาตุ มีประชาชนเฝ้าอยู่เนืองแน่นสองฟากถนน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงจุดธูปเทียน สักการะพระมหาธาตุเสร็จแล้ว พระครูวิชานวรวุฒิ (ปี้) ถวายพระพิมพ์แบบซุ้ม ก. จำนวน 999 องค์ ทรงรับแล้ว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร..."[1]

พระครูสุวิชานวรวุฒิ

(ปี้ ทินฺโน)
ชื่ออื่นหลวงพ่อปี้
ส่วนบุคคล
เกิด15 ตุลาคม พ.ศ. 2445 วันพุธ ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ปีขาล (72 ปี ปี)
มรณภาพ11 มกราคม พ.ศ. 2517
นิกายมหานิกาย
การศึกษานักธรรมชั้นเอก
ตำแหน่งชั้นสูง
ที่อยู่วัดลานหอย จังหวัดสุโขทัย
อุปสมบท10 พฤษภาคม พ.ศ. 2465
พรรษา51 พรรษา
ตำแหน่งอดีตเจ้าคณะอำเภอบ้านด่านลานหอย / อดีตเจ้าอาวาสวัดลานหอย

ประวัติ แก้

กำเนิด แก้

พระครูสุวิชานวรวุฒิ มีนามเดิมก่อนบวชว่า ปี้ ชูสุข (คำว่า "ปี้" หมายถึง เงินตราสมัยโบราณ) เกิดเมื่อวันพุธที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2445 ตรงกับวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ปีขาล ณ ตำบลลานหอย อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย [2]

การศึกษา แก้

การศึกษาแต่เดิมส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในวัด ที่มีพระ หรือฑิตที่ลาสิกขาไปเป็นผู้สอน หลวงพ่อปี้ ทินฺโน ในวัยเยาว์ คือเมื่ออายุประมาณ 12 ปี ทางครอบครัวบิดามารดา ได้นำไปฝากไว้กับพระอธิการหน่าย น้อยผล เจ้าอาวาสวัดเชิงคีรี ตำบลลานหอย อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย โดยเริ่มแรกได้เรียนหนังสือมูลบทบรรพกิจเบื้องต้น ทั้งหนังสือไทยและหนังสือขอม หลวงพ่อปี้ ในวัยเยาว์มีความสามารถอ่านเขียนหนังสือไทยและหนังสือขอมได้เป็นอย่างดี จนเป็นที่พอใจของพระผู้สอน และทางครอบครัว ต่อมาเมื่ออายุได้ 16 ปี จึงได้กลับบ้านเพื่อไปประกอบอาชีพทางการเกษตรอันเป็นอาชีพของครอบครัว

อุปสมบท แก้

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2465 หลวงพ่อปี้ ทินฺโน เมื่ออายุครบบวช 20 ปี จึงเข้ารับการอุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดสังฆาราม ตำบลบ้านด่าน อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย มีพระครูวินัยสาร (ทิม ยสฺทินโน)[3]วัดราชธานี[4] เจ้าคณะอำเภอเมืองสุโขทัย เป็นพระอุปัชฌาย์ [5] พระอธิการน้อย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้ฉายาว่า ทินโน เมื่ออุปสมบทแล้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดเชิงคีรี ตำบลลานหอย อำเภอบ้านด่านลานหอย จังหวัดสุโขทัย

สมณศักดิ์ การปกครอง แก้

  • พ.ศ. 2481 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดเชิงคีรี
  • พ.ศ. 2485 ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดลานหอย และพระกรรมวาจาจารย์
  • พ.ศ. 2492 ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
  • พ.ศ. 2496 เจ้าคณะตำบลบ้านด่านลานหอย
  • พ.ศ. 2510 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นโท
  • พ.ศ. 2510 เป็นเจ้าคณะตำบลกิตติมศักดิ์

มรณภาพ แก้

หลวงพ่อปี้ ทินโน ได้เกิดอาพาธ จนต้องนำส่งโรงพยาบาล ประกอบกับชราภาพ ท่านจึงมรณภาพด้วยโรคไตไม่ทำงาน และหัวใจวาย เมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2517 ณ โรงพยาบาลสุโขทัย ด้วยอาการสงบ สิริอายุ 71 ปี 2 เดือน 26 วัน

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

อ้างอิง แก้

  1. กรมศิลปากร. งานบูรณโบราณสถาน จังหวัดสุโขทัย พิมพ์เป็นที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพ หม่อมราชวงศ์ สุมนชาติ สวัสดิกุล ณ เมรุวัดเทพศิรินทราวาส 31 พฤษภาคม 2507[1] พระนคร : ห้างหุ้นส่วนจำกัดศิวพร 2507. หน้า 47
  2. www.oknation.net/blog/print.php?id=220458 พระครูสุวิชานวรวุฒิ .
  3. http://kanchanapisek.or.th/kp8/skt/skt2.html(สารานุกรมฉบัญกาญจนาภิเษก)[ลิงก์เสีย] .
  4. พระราชประสิทธิคุณ (ทิม ยสทินฺโน) ได้ช่วยเหลือราชการ โดยออกสำรวจโบราณสถานเก็บรวบรวมโบราณวัตถุ ช่วยดูแลปกป้องการลักลอบขุดค้น ทำลายโบราณสถาน รวมทั้งการบูรณะซ่อมแซมโบราณสถานเบื้องต้นหลายแห่งในเมืองสุโขทัย และศรีสัชนาลัย นับเป็นพระเถระผู้มีพระคุณูปการอันยิ่งใหญ่ต่อการอนุรักษ์โบราณวัตถุสถานในจังหวัดสุโขทัย ซึ่งถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันสำคัญของโลก พระราชประสิทธิคุณถึงแก่มรณภาพเมื่อปี พ.ศ. 2513 สิริอายุได้ 89 ปี :ที่มา http://www.traphangthong.org(วัดตระพังทอง).
  5. ต่อมาท่านได้เลื่อนขึ้นเป็นรองเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย นามสมณะศักดิ์ว่าพระครูวินิจฉัยพุทธบัญญัติและต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าคณะจังหวัดสุโขทัย