ผักโขม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Amaranthus viridis จัดอยู่ในวงศ์ Amaranthaceae[1] ผักโขมจะขึ้นอยู่ทั่วไปตามแหล่งธรรมชาติเช่น ป่าละเมาะ ริมทาง ชายป่าที่รกร้าง เป็นต้น และยังขึ้นเป็นวัชพืชในบริเวณสวนผัก สวนผลไม้ ไร่นาของชาวบ้าน ผักโขมเป็นพืชที่ขึ้นง่ายชาวบ้านจึงมักเก็บมาบริโภคในช่วงหน้าฝน[2]

ผักโขม
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ แก้ไขการจำแนกนี้
อาณาจักร: พืช
เคลด: พืชมีท่อลำเลียง
เคลด: พืชดอก
เคลด: พืชใบเลี้ยงคู่แท้
อันดับ: คาร์เนชัน
วงศ์: วงศ์บานไม่รู้โรย
สกุล: Amaranthus

L.
สปีชีส์: Amaranthus viridis
ชื่อทวินาม
Amaranthus viridis
L.

ผักโขมมีชื่ออื่นๆ อีกคือ ผักขม (กลาง), ผักโหม, ผักหม (ใต้), ผักโหมเกลี้ยง (แม่ฮ่องสอน), กระเหม่อลอเตอ (กะเหรี่ยง, แม่ฮ่องสอน)[3]

ผักโขม (อังกฤษ: amaranth) มักจะถูกเข้าใจผิดหรือแปลผิดว่าเป็นผักที่ป๊อบอายใช้เพิ่มพลัง ความจริงแล้วผักนั้นคือผักปวยเล้ง (spinach) ซึ่งในการ์ตูนป๊อบอายจะปรากฏการใช้คำว่า spinach อย่างชัดเจน[4]

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

แก้

ผักโขมเป็นไม้พุ่มเตี้ยและเป็นพืชล้มลุกปีเดียว สูง 30-100 ซม. ลำต้นอวบน้ำมีสีเขียวตั้งตรงแตกกิ่งก้านสาขามาก โคนมีสีแดงน้ำตาล ใบเป็นใบเดี่ยวรูปไข่คล้ายสามเหลี่ยมใบออกแบนสลับกว้าง 2.5-8 ซม.ยาว 3.5-12 ซม. ผิวเรียบหรือมีขนเล็กน้อย ขอบใบเรียบ หลังใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ดอกเป็นดอกช่อสีม่วงปนเขียว ออกดอกเป็นช่อตามซอกใบและปลายกิ่ง ดอกย่อยเรียงตัวอัดกันแน่น เมล็ดมีลักษณะกลมสีน้ำตาลเกือบดำ ขนาดเล็ก[2][5]

การขยายพันธุ์

แก้
  • ส่วนขยายพันธุ์ – เมล็ด
  • ฤดูเก็บส่วนขยายพันธุ์ – ตลอดทั้งปี
  • การปลูก – ผักโขมชอบดินร่วนซุยและชุ่มชื้น

การใช้ประโยชน์

แก้
  • ทางอาหาร – ยอดอ่อน ใบอ่อน ต้นอ่อน นำมาต้ม,ลวกหรือนึ่งให้สุกรับประทานเป็นผักจิ้มกับน้ำพริกเช่น น้ำพริกปลาร้า ปลาจ่อม กะปิ ปลาทูและน้ำพริกอีกหลายชนิด หรือนึ่งพร้อมกับปลา ทำผัดผักกับเนื้อสัตว์ นำไปปรุงเป็นแกงเช่น แกงเลียง[2][5] ชาวไทยอีสาน จังหวัดศรีสะเกษ บอกว่ากินใบผักโขมเป็นอาหาร เป็นยาชูกำลัง ทำให้สุขภาพดี[6]
  • ทางยาทั้งต้น ดับพิษภายในและภายนอก แก้บิด มูกเลือด ริดสีดวงจมูก ริดสีดวงทวาร แก้ผื่นคัน แก้รำมะนาด รักษาฝี แผลพุพอง[5] ใบสด รักษาแผลพุพอง ต้น แก้อาการแน่นหน้าอกและไอหอบ ราก ดับพิษร้อนถอนพิษไข้ ขับปัสสาวะ[2]
  • อื่นๆ – สมัยกรีกโบราณ ผักโขม หรือ amaranth เป็นของศักดิ์สิทธิ์ เชื่อกันว่าผักโขมมีฤทธิ์ในการเยียวยา และเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอมตะ มีการใช้ภาพของใบผักโขมในการประดับที่อยู่ของพระเจ้าและหลุมศพต่างๆ ดูจากการใช้งานทางการแพทย์ก็พอจะเห็นว่า ผักโขมเป็นพืชศักดิ์สิทธิ์ได้
  • ไมโครกรีน - นิยมใช้ในหมู่นักเพาะต้นต่อนไมโครกรีนเพราะรูปร่างหน้าตาเป็นเอกลักษณ์และบางสายพันธุ์มีสีแดงสะดุดตาอีกทั้งยังมีคุณค่าทางสารอาหาร

ผักโขมมีฤทธิ์ทางอัลลีโลพาที โดยสารสกัดจากใบ ลำต้นและรากที่สกัดด้วยน้ำแล้วเจือจางให้ได้ความเข้มข้น 20 – 100 % ยับยั้งการงอกของเมล็ดพริกพันธุ์จินดา[7]

คุณค่าทางอาหาร

แก้

ผักโขมมีโปรตีนสูงและมีกรดอะมิโนครบทุกชนิด เหมาะกับผู้ที่กินอาหารมังสวิรัติ เป็นผักใบเขียวที่มีวิตามินเอ บี 6 ซี ไรโบฟลาวิน โฟเลต และแร่ธาตุ สำคัญได้แก่ แคลเซียม เหล็ก แมกนีเซียม โพแทสเซียม สังกะสี ทองแดงและแมงกานีส ผักโขมยังเป็นผักบำรุงน้ำนมสำหรับคุณแม่ลูกอ่อน และแม้ผักโขมจะเป็นผักใบเขียว แต่ก็มีบีตา-แคโรทีนสูง โดยมีสารลูทีนและสารเซอักแซนทิน ซึ่งเป็นสารแคโรทีนอยด์อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งสารทั้งสองนี้มีสรรพคุณช่วยชะลอความเสื่อมของดวงตา ลดความเสี่ยงจากโรคดวงตาเสื่อมได้ถึงร้อยละ 43 ทั้งยังมีผลในการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอัลไซเมอร์ และมีสารซาโปนินที่ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดได้อีกด้วย นอกจากนั้นผักโขมยังมีเส้นใยอาหารมาก จึงช่วยระบบขับถ่าย และลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้[8]

ผักโขมเป็นผักใบเขียวที่มีปริมาณสารออกซาเลตค่อนข้างสูง ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาเรื่องนิ่ว เกาต์ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ รวมถึงผู้ที่ต้องการสะสมปริมาณแคลเซียมควรจะต้องหลีกเลี่ยงการกินผักขมในปริมาณมาก[6]

ผักโขมชนิดอื่น ๆ

แก้

รูปภาพผักโขม

แก้

อ้างอิง

แก้
  1. "บทความวิทยุรายการสาระความรู้ทางการเกษตร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-03-10. สืบค้นเมื่อ 2012-08-25.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 รักษ์ พฤษชาติ,ผักพื้นบ้าน ครบเครื่องเรื่องผักพื้นบ้าน ทั้งการปลูกและการตลาด,สำนักพิมพ์ นีออน บุ๊ค มีเดีย,พิมพ์ครั้งที่ 4 มีนาคม 2553
  3. "ผักโขม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-07. สืบค้นเมื่อ 2012-08-25.
  4. "ป๊อปอายไม่ได้กินผักโขมนะจะบอกให้! - OpenRice TH Editor". OpenRice ไทย.
  5. 5.0 5.1 5.2 แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ,ผักพื้นบ้านภาคกลาง,บริษัท สามเจริญพาณิชย์ (กรุงเทพ) จำกัด,พิมพ์ครั้งที่ 2 สิงหาคม 2547
  6. 6.0 6.1 หมอชาวบ้าน ผักโขม
  7. อมรทิพย์ วงศ์สารสิน และ อัญชลี จาละ. 2554. สารอัลลีโลเคมิคอลจากผักโขมที่มีผลต่อการงอกของเมล็ดพริก. การประชุมวิชาการทางพฤกษศาสตร์แห่งประเทศไทยครั้งที่ 5 30 มีนาคม - 1 เมษายน 2554 มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  8. สารพัดคุณค่าจาก"ผักโขม"[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้