ปะโอ
ปะโอ (พม่า: ပအိုဝ်းလူမျိုး, ไทใหญ่: ပဢူဝ်း) บ้างเรียก ต่องสู่ หรือ ต้องสู้ (พม่า: တောင်သူ, กะเหรี่ยงโปตะวันออก: တံင်သူ, กะเหรี่ยงสะกอ: တီသူ), กะเหรี่ยงดำ หรือ กะเหรี่ยงพะโค เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศพม่าที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับเจ็ด อาศัยในรัฐฉาน รัฐกะยา รัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ และเขตพะโค ทั้งนี้สามารถแบ่งชาวปะโอออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มที่ราบ คือชาวปะโอที่อยู่เมืองสะเทิม กับกลุ่มที่สูง คือชาวปะโอในแถบรอบเมืองตองยีในรัฐฉาน และมีกลุ่มย่อยไม่น้อยกว่า 20 กลุ่ม[2] ในประเทศไทยมีชุมชนปะโอทางภาคเหนือกระจายตัวในจังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดพะเยา เป็นต้น[5]
ประชากรทั้งหมด | |
---|---|
ราว 1,800,000[1] – 2,000,000 คน[2] | |
ภูมิภาคที่มีประชากรอย่างมีนัยสำคัญ | |
ประเทศพม่า · ประเทศไทย | |
ภาษา | |
ปะโอ · พม่า · ไทใหญ่ | |
ศาสนา | |
ศาสนาพุทธนิกายเถรวาท | |
กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้อง | |
กะเหรี่ยง[3] · กุลา[4] |
ชาวปะโอมีวัฒนธรรมและภาษาร่วมรากกับชาวกะเหรี่ยง แต่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเป็นหลัก เช่นเดียวกับชาวพม่า มอญ และไทใหญ่ ชาวปะโอมีอุปนิสัยและการแต่งกายอย่างไทใหญ่ พวกเขาสามารถใช้ภาษาไทใหญ่ควบคู่กับภาษาตัวเอง และบางคนก็มีจิตสำนึกว่าเผ่าของตนเป็นชาวไทอีกกลุ่มหนึ่ง[6]: 11
ประวัติ
แก้ตามมุขปาฐะอธิบายว่า เดิมชาวปะโอตั้งถิ่นฐานที่เมืองสะเทิม มีเครื่องแต่งกายหลากสีสัน ครั้นพระเจ้าอโนรธามังช่อพิชิตเมืองสะเทิมเมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 11 ชาวปะโอถูกเกณฑ์ไปสร้างเจดีย์ที่เมืองพะโค บางส่วนก็อพยพลี้ภัยในแถบรัฐฉาน พวกเขาเศร้าเสียใจที่พลัดเมืองจึงสวมชุดย้อมครามหรือดำตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[5]
ชาวปะโอมีนิสัยรักการค้ามาแต่โบราณ ปรากฏหลักฐานการค้าขายกับอาณาจักรล้านนาช่วง พ.ศ. 1839–1898 ทำให้เกิดการค้าขายระหว่างประเทศกันอย่างกว้างขวาง[6]: 12 และถือว่าชาวปะโอเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกลุ่มหนึ่งของภาคเหนือ[6]: 28
ในยุคร่วมสมัยชาวปะโอเริ่มอพยพเข้าสู่ประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2428 หลังการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงและสนธิสัญญาเชียงใหม่ฉบับที่ 2 ทำให้บริษัทสหราชอาณาจักรในพม่าเข้ามาสัมปทานป่าไม้ทางเหนือของไทย ชาวปะโอจึงเข้ามาดำเนินกิจการค้าขายมากขึ้น โดยเฉพาะที่เมืองเชียงใหม่ มีชาวปะโอบางกลุ่มตั้งร้านค้าแบบเรือนแพที่ย่านท่าแพ ตลาดวโรรส และช้างม่อย บางกลุ่มที่ขายเร่ก็ตั้งบ้านเรือนแถบวัดมหาวัน วัดบูรพาราม วัดเชตวัน และวัดหนองคำ ซึ่งลูกหลานชาวปะโอเหล่านี้ถูกกลืนเข้าสู่วัฒนธรรมไทยวนไปแล้ว เช่น ชุมชนหน้าตลาดเก่า อำเภอหางดง, บ้านแม่ก๊ะ อำเภอสันป่าตอง, บ้านข่วงเปา อำเภอแม่ริม, บ้านเวียง อำเภอฝาง และบ้านบ่อหิน อำเภอพร้าว[5] นอกจากนี้ยังมีชาวปะโอร่วมเดินทางกับชาวไทใหญ่ ไปค้าขายในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยและกัมพูชา และถูกเรียกรวม ๆ ว่า กุลา[7][6]: 15
อ้างอิง
แก้- ↑ Interactive Myanmar map, คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 กรกฎาคม 2013, สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2014
- ↑ 2.0 2.1 Pa-Oh National Organization (2010). Pyidaungzu De-Ga Pa-Oh: Union of Pa-Oh (ပြည်ထောင်စု ထဲက ပအိုဝ်း. Pa-Oh National Organization. p. 23.
{{cite book}}
: templatestyles stripmarker ใน|title=
ที่ตำแหน่ง 41 (help) - ↑ James Minahan (2012). Pa-O. Ethnic Groups of South Asia and the Pacific: An Encyclopedia. Santa Barbara, CA: ABC-CLIO. pp. 244–246. ISBN 978-1-59884-659-1.
- ↑ สุธิดา ตันเลิศ และพัชรี ธานี. 2559. ประวัติศาสตร์กุลา. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี. 12(1). ISSN 1686-5596.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 มนตรี วงษ์รีย์. "ชุมชนชาติพันธุ์ : ปะโอ (จ.แม่ฮ่องสอน)". ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2022.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 อิสริยะ นันท์ชัย และโชติมา จตุรวงศ์ (2562). สถาปัตยกรรมจองวัดปะโอ (ต่องสู้) ในประเทศไทยและเมืองสะเทิม ประเทศพม่า. หน้าจั่ว (16:1) ISSN 1686-1841.
- ↑ สุรีย์ฉาย สุคันธรัต (กรกฎาคม–ธันวาคม 2560). มองเชิง : ศิลปวัฒนธรรมไทยกุลาบ้านโนนใหญ่สายใยจากเผ่าปะโอในเมียนมาร์. วารสารวิชาการมนุษย์และสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ (1:2). หน้า 24. ISSN 2586-9086.
แหล่งข้อมูลอื่น
แก้- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ ชาวปะโอ