สำหรับปลาสิงโตจำพวกอื่น ดูที่: ปลาย่าดุก และปลาคางคก

ปลาสิงโต
ปลาสิงโตไม่ทราบชนิด (Pterois sp.) ในแนวปะการัง
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Scorpaeniformes
วงศ์: Scorpaenidae
วงศ์ย่อย: Pteroinae
สกุล: Pterois
Oken, 1817
ชนิด
12 ชนิด (ดูในเนื้อหา)
ชื่อพ้อง[1]

ปลาสิงโต (อังกฤษ: Lionfishes, Turkeyfishes, Firefishes, Butterfly-cods) เป็นสกุลของปลาน้ำเค็มทะเลสกุลหนึ่ง ในวงศ์ปลาแมงป่อง (Scorpaenidae) ใช้ชื่อสกุลว่า Pterois (/เท-โร-อิส/; มาจากภาษากรีกคำว่า "πτερον" (pteron) หมายถึง "ปีก" หรือ "ครีบ"[2])

ลักษณะและพิษ

แก้

มีลักษณะทั่วไป คือ มีลำตัวยาวปานกลาง แบนข้างเล็กน้อย หัวมีขนาดใหญ่ ลำตัวปกคลุมด้วยแผ่นกระดูก และมีหนามจำนวนมาก เกล็ดขนาดเล็ก ครีบหลัง และครีบอกขนาดใหญ่แผ่กว้าง โดยทั่วไปครีบอกมีความยาวถึงโคนหาง ก้านครีบแข็งของครีบหลัง และครีบอกมีขนาดใหญ่แหลมคม แต่ละชนิดมีก้านครีบแข็งจำนวนแตกต่างกัน หัวและลำตัวมีแถบลายสีน้ำตาลปนแดง มักว่ายช้า ๆ หรือลอยตัวนิ่ง ๆ ตามแนวปะการัง และบริเวณแนวหินในเขตน้ำตื้นชายฝั่งทั่วไป

เป็นปลาที่มีต่อมพิษที่ก้านครีบแข็งทุกก้าน รวมถึงมีถุงพิษเล็ก ๆ อยู่เต็มรอบไปหมด[3] โดยจะอยู่ใต้ชั้นผิวหนังโดยอยู่รอบส่วนกลาง ส่วนปลายของก้านหนามหุ้มห่อด้วยเนื้อเยื่อ พิษเป็นสารประกอบโปรตีน เมื่อแทงเข้าไปแล้ว ถุงพิษเล็ก ๆ นั้นจะแตกกลายเป็นของเหลวเข้าไปในเนื้อเยื่อของเหยื่อ ซึ่งผู้ที่โดนแทงจะรู้สึกปวดแสบปวดร้อน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของปลาในวงศ์นี้ แต่โดยรวมแล้ว ปลาสิงโตจะมีความรุนแรงของพิษน้อยกว่าปลาสกุลอื่นหรือวงศ์อื่น ในอันดับเดียวกัน[4] ผู้ที่โดนต่อมพิษของปลาสิงโตแทงจะมีหลายอาการ ทั้งอัมพาต, อัมพาตชั่วคราว หรือแผลพุพอง[3]

เป็นปลาที่มีความสวยงาม จึงนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ปกติไม่บริโภคเป็นอาหาร พบกระจายพันธุ์อยู่ตามแนวปะการังหรือกองหินใต้น้ำ ในเขตอินโด-แปซิฟิก เป็นปลาที่กินกุ้งหรือปลาขนาดเล็กชนิดอื่นเป็นอาหาร ด้วยการกางครีบแล้วไล่ต้อนให้จนมุม แล้วใช้ปากฮุบกินไปทั้งตัว ขากรรไกรขยายออกถึงร้อยละ 40 นอกจากนี้แล้วครีบต่าง ๆ นั้นยังใช้สำหรับกางเพื่อขู่ศัตรูได้ด้วย[5] นอกจากนี้แล้วปลาสิงโตยังถือเป็นปลาที่ฮุบกินอาหารได้เร็วมากจนตาเปล่าไม่อาจมองทัน ต้องใช้กล้องถ่ายภาพความเร็วสูงที่มีความเร็ว 2,000 เฟรม/วินาที จึงจะจับภาพทัน[3]

การจำแนก

แก้

แบ่งออกได้เป็น 12 ชนิด[1]

วงจรชีวิตและชนิดพันธุ์ต่างถิ่น

แก้

นอกจากนี้แล้ว ปลาสิงโตยังกลายเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในฝั่งทะเลด้านตะวันออกของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะชนิด ปลาสิงโตปีกจุด (P. volitans) บริเวณแคริบเบียน, ชายฝั่งฟลอริดา และหมู่เกาะต่าง ๆ ในมหาสมุทรแอตแลนติกไปจนถึงตอนเหนือของบราซิล ตามท่าเรือ, ชายหาด หรือแนวปะการังทั้งน้ำตื้นและน้ำลึกถึง 600 ฟุต และยังไม่เป็นที่รู้แน่ชัดว่ามีการแพร่กระจายพันธุ์ข้ามคลองปานามาได้หรือไม่ โดยการพบปลาสิงโตครั้งแรกในฐานะชนิดพันธุ์ต่างถิ่นเกิดขึ้นในฤดูร้อนของปี ค.ศ. 2002 ที่ฟลอริดาโดยนักดำน้ำผู้หญิงคนหนึ่งในยามค่ำคืน เมื่อพบกับปลาที่เธอไม่รู้จัก จนกระทั่งต่อมาทราบว่า คือ ปลาสิงโตนั่นเอง[3] เชื่อว่าเกิดจากการเพาะขยายพันธุ์ของนักเลี้ยงปลาสวยงาม หรือพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำท้องถิ่น แล้วปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติหรือหลุดรอดออกมา แต่ในความเห็นของ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านสมุทรศาสตร์ชาวไทยเชื่อว่า คงเกิดจากเรือบรรทุกน้ำมันที่ดูดไข่ปลาสิงโตหรือตัวอ่อนของปลาซึ่งมีสภาพเป็นแพลงก์ตอนข้ามมหาสมุทรไป[8] ซึ่งปลาสิงโตสามารถที่จะขยายพันธุ์ได้เองในธรรมชาติ โดยวางไข่ในป่าชายเลน ปลาหนึ่งตัวภายในเวลาไม่ถึง 30 นาที สามารถกินลูกปลาหรือปลาขนาดเล็กไปได้ถึง 20 กว่าตัวเลยทีเดียว [9]คิดเป็นร้อยละ 60 ของน้ำหนักตัว กระเพาะอาหารของปลาสิงโตสามารถขยายออกได้ถึง 30 เท่าของขนาดกระเพาะปกติ นอกจากนี้แล้วปลาสิงโตยังเป็นปลาที่มีความสามารถในการสืบพันธุ์สูง ปลาตัวผู้จะเป็นฝ่ายเกี้ยวพาดึงดูดปลาตัวเมีย เมื่อตัวเมียตอบรับจะว่ายขึ้นสู่บน ปล่อยไข่ซึ่งเกาะตัวรวมเป็นเหมือนก้อนวุ้นออกมา ตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อเข้าไปผสมพันธุ์และปฏิสนธิ ก้อนวุ้นนี้จะลอยน้ำชั่วระยะ ก่อนจะค่อย ๆ แตกตัวสลายไปเป็นไข่และฟักออกเป็นลูกปลาตามกระแสน้ำไปไกล ปลาสิงโตสามารถวางไข่ได้ทุก ๆ 3–4 วัน โดยปริมาณไข่ในแต่ละครั้งนับแสนฟอง ปลาสิงโตตัวเมียสามารถวางไข่ได้ถึงปีละ 2 ล้านฟอง เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 1–2 ปี[3] แต่ขณะที่ยังเป็นปลาวัยอ่อน ลูกปลาจะมีสภาพเป็นแพลงก์ตอน และตกเป็นอาหารของสัตว์อื่นได้ [8] การแพร่ระบาดของปลาสิงโตที่มหาสมุทรแอตแลนติกพบมีปลาสิงโตแทบทุกพื้นที่ จนมีการกำจัดที่บาฮามาสโดยรัฐบาลที่นั่นเพื่อควบคุมปริมาณในแนวปะการัง รวมถึงมีการแข่งขันจับมารับประทานเป็นอาหาร และทางบริษัทไบโอบอต ได้จัดตั้งหน่วยงามชื่อ ศูนย์บริการหุ่นยนต์เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล ขึ้น โดยผลิตหุ่นยนต์ที่ช่วยในการกำจัดปลาสิงโต โดยการปล่อยประจุไฟฟ้าช็อตตัวปลา ทำให้ปลาเกิดความงุนงงและถูกดูดเข้าไปในแคปซูลของตัวหุ่นยนต์ ซึ่งหุ่นยนต์ตัวนี้มีราคาไม่แพง และใช้การควบคุมจากระยะไกล เหมาะสมกับการใช้โดยชาวประมงท้องถิ่น[10] แต่กระนั้น ปลาสิงโตก็ตกเป็นอาหารของปลาที่มีขนาดใหญ่กว่า เช่น ปลาเก๋า เป็นต้น[3]

อ้างอิง

แก้
  1. 1.0 1.1 "Pterois". ระบบข้อมูลการจำแนกพันธุ์แบบบูรณาการ.
  2. จาก fishbase.org (อังกฤษ)
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 3.4 3.5 The Lion Fish, " The Conquerors". สารคดีทางแอนิมอลพลาเน็ต ทางทรูวิชั่นส์: เสาร์ที่ 21 ธันวาคม 2556
  4. "สัตว์มีพิษในทะเลไทย:ปลาทะเลที่มีพิษ". healthcarethai. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2013-12-23.
  5. หน้า 111, คู่มือปลาทะเล โดย ดร.ชวลิต วิทยานนท์ (ตุลาคม, 2551) ISBN 978-974-484-261-9
  6. 6.0 6.1 Matsunuma M., Motomura H. (2015). "Redescriptions of Pterois radiata and Pterois cincta (Scorpaenidae: Pteroinae) with notes on geographic morphological variations in P. radiata". Ichthyological Research. 63 (1): 145–172. doi:10.1007/s10228-015-0483-6.
  7. Matsunuma, M. & Motomura, H. (2014): Pterois paucispinula, a new species of lionfish (Scorpaenidae: Pteroinae) from the western Pacific Ocean. Ichthyological Research, 62 (3): 327-346.
  8. 8.0 8.1 "ปลาสิงโต". ข่าวสด.
  9. รังผึ้ง, วินิจ. "ปลาสิงโตระบาดข้ามมหาสมุทร". ผู้จัดการออนไลน์.[ลิงก์เสีย]
  10. หน้า 7 โลกาภิวัฒน์ GLOBALIZATION, หุ่นยนต์ต้นแบบสำหรับจับปลาสิงโตในทะเล. "ทันโลก". ไทยรัฐปีที่ 68 ฉบับที่ 21646: วันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2560 ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา

แหล่งข้อมูลอื่น

แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Pterois ที่วิกิสปีชีส์