ปอมปาดัวร์
ชนิด S. aequifasciatus
ชนิด S. discus
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ชั้น: Actinopterygii
อันดับ: Perciformes
วงศ์: Cichlidae
วงศ์ย่อย: Cichlasomatinae
สกุล: Symphysodon
Heckel, 1840
ชนิดต้นแบบ
Symphysodon discus
Heckel, 1840
ชนิด
ดูในเนื้อหา
แผนที่แสดงการกระจายพันธุ์ของปลาปอมปาดัวร์

ปลาปอมปาดัวร์ (อังกฤษ: Pompadour, Discus) เป็นปลาน้ำจืดในสกุล Symphysodon (/ซิม-ฟี-โซ-ดอน/) ในวงศ์ปลาหมอสี (Cichlidae) ซึ่งเป็นปลาวงศ์ใหญ่ มีจำนวนสมาชิกที่หลากหลายมากกว่า 1,000 ชนิด

ลักษณะรูปร่าง แก้

มีรูปร่างทรงกลมเป็นรูปไข่คล้ายจาน ลำตัวแบนข้างมากเหมือนปลาเทวดา ครีบหลังและครีบท้องเรียงเป็นแถวยาวตลอดจนถึงโคนครีบหาง มีลวดลายและสีสันบนลำตัวหลายหลากสีสวยงามตามชนิด มีถิ่นกำเนิดในลุ่มแม่น้ำอเมซอนในทวีปอเมริกาใต้ มีขนาดใหญ่เต็มที่ไม่เกิน 7 นิ้ว มักอาศัยรวมกันเป็นในระดับกลางน้ำที่ไหลเอื่อย ๆ มีพุ่มไม้น้ำขึ้นหนาแน่น มีค่าความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำ (pH) ราว 6.4-7.5

ศัพทมูลวิทยา แก้

ศัพท์คำว่า "ปอมปาดัวร์" นั้น ได้มาจากชื่อของ มาดาม เดอ ปองปาดูร์ (Madame de Pompadour) สนมนางหนึ่งของพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 แห่งฝรั่งเศส (Louis XV de France) ที่กล่าวกันว่า มีความงดงามยิ่ง และชื่อสามัญอีกชื่อหนึ่งที่นิยมเรียกในภาษาอังกฤษก็คือ "ดิสคัส" (Discus) ซึ่งหมายถึงทรงกลม อันมาจากลักษณะของรูปร่างปลานั่นเอง

การจำแนก แก้

มีทั้งหมด 3 ชนิด คือ

แต่ชนิดของปลาปอมปาดัวร์ยังไม่เป็นที่แน่นอน เพราะในข้อมูลบางแหล่ง มิได้แบ่งเช่นนี้ หากแต่แบ่งเป็น S. aequifasciatus, S. discus และ S. haraldi[2] และในชนิด S. tarzoo ก็ยังมิได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง จึงอาจถูกแทนที่ด้วยชนิด S. haraldi[3])

การเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม แก้

 
ไข่ปลาปอมปาดัวร์
 
คู่ปลาในตู้เพาะขยายพันธุ์กับกระถางดินเผา

ปลาปอมปาดัวร์เป็นปลาที่มีสัสันสวยงามมาก จนได้รับฉายาว่า "ราชินีแห่งปลาตู้" ปัจจุบันได้มีการพัฒนาสายพันธุ์ให้มีสีสันที่สวยงามหลากหลายกว่าสีสันตามธรรมชาติมากมาย เช่น หนังงู, ปอมฯ ห้าสี, ปอมฯ เจ็ดสี, บลูไดมอนด์, ปอมฯ ฝุ่น เป็นต้น แต่ปลาปอมปาดัวร์เป็นปลาที่มีความอ่อนไหวง่ายมากกับสภาพน้ำและสภาพอากาศ จึงจัดเป็นปลาชนิดหนึ่งที่เลี้ยงยากมาก จำเป็นต้องใช้ฮีตเตอร์เพื่อควบคุมอุณหภูมิ จึงไม่เหมาะกับนักเลี้ยงปลามือใหม่

ปลาปอมปาดัวร์เป็นปลาอีกชนิดหนึ่งที่สามารถเพาะขยายพันธุ์ในตู้เลี้ยงได้ โดยปลาจะวางไข่ติดกับวัสดุใต้น้ำ โดยมากผู้เลี้ยงจะใช้เป็นเครื่องปั้นดินเผา ก่อนปลาจะวางไข่ 3-4 วัน ปลาจะมีอาการสั่นทั้งตัวผู้และตัวเมีย ในวันที่ปลาวางไข่จะสามารถสังเกตได้โดยดูอาการทั้งตัวผู้และตัวเมียจะไม่ยอมออกห่างจากและช่วยกันแทะเล็มเครื่องปั้นดินเผาเพื่อทำความสะอาดตลอดเวลา จากนั้นตัวเมียจะวางไข่บนเครื่องปั้นดินเผาครั้งละ 15-30 ฟอง แล้วตัวผู้จะปล่อยน้ำเชื้อลงบนไข่ แม่ปลาจะใช้เวลาในการวางไข่ประมาณ 2 ชั่วโมง วางไข่ 100-300 ฟอง ไข่ใช้เวลาฟักเป็นตัว 3 วัน หลังจากนั้นอีกราว 3 วัน ลูกปลาจะเริ่มเคลื่อนไหวได้ และจะมาเกาะกินเมือกบนตัวพ่อแม่ปลาเป็นอาหาร จนกระทั่งถึงวันที่ 17 ลูกปลาจึงมีขนาดโตขึ้นและเริ่มห่างจากพ่อแม่

โดยปลาปอมปาดัวร์ได้มีการนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามครั้งแรกราวปี ค.ศ. 1930 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและเยอรมนี แต่ในช่วงแรกยังไม่ประสบความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์ อันเนื่องจากขาดองค์ความรู้ต่าง ๆ การเพาะขยายพันธุ์ปลาปอมปาดัวร์เกิดขึ้นหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง ในราวปี ค.ศ. 1950-ค.ศ. 1960 พร้อม ๆ กับปลาสวยงามชนิดอื่น ๆ และปลาปอมปาดัวร์ก็ได้เดินทางมาสู่ประเทศไทยในฐานะปลาสวยงามเป็นครั้งแรกในยุคนั้น[4] [5]

ในปัจจุบัน ปลาปอมปาดัวร์สายพันธุ์ดั้งเดิมในธรรมชาติ หรือที่เรียกกันว่า ปลาป่า ได้รับความนิยมอย่างยิ่ง เนื่องจากมีความสวยงามในแบบดั้งเดิมตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่ยังเป็นปลาที่ต้องจับมาจากแหล่งน้ำในทวีปอเมริกาใต้ อันเป็นถิ่นกำเนิดดั้งเดิม (ฤดูกาลจับปลาปอมปาดัวร์ในธรรมชาติเริ่มในช่วงปลายฤดูน้ำน้อย เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำต่าง ๆ ลดลงถึงระดับต่ำสุดในราวเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน) จึงมีราคาซื้อขายที่แพงกว่าปลาปอมปาดัวร์ทั่วไป แต่การดูแลเลี้ยงดูทั่วไปก็เหมือนกัน[2]

รูปภาพ แก้

อ้างอิง แก้

  1. Matt Clarke (28 November 2006). "New Discus named Symphysodon tarzoo". Practical Fishkeeping. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-03. สืบค้นเมื่อ 29 August 2013.
  2. 2.0 2.1 หน้า 96-121, Wild Discus ทำความรู้จักปอมฯ ป่า. "Wild Ambition" โดย เอกราช กลิ่นบุปผา/Jack @ Brilliant Discus, น.สพ.ฐิตินันท์ เศียรอักษร, กองบรรณาธิการ. นิตยสาร Aquarium Biz ฉบับที่ 44 ปีที่ 4: กุมภาพันธ์ 2014
  3. Geerts, M. (2011): On the name Symphysodon Discus Tarzoo. The Cichlid Room Companion
  4. 4.0 4.1 ธรรมนูญ พูลสงวน กับความเชี่ยวชาญในการเลี้ยงปอมปาดัวร์นานกว่า 40 ปี, หนังสือพิมพ์เทคโนโลยีชาวบ้าน: วันที่ 01 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 ปีที่ 19 ฉบับที่ 400
  5. ลำดับ Perciformes > วงศ์ Cichlidae[ลิงก์เสีย]

แหล่งข้อมูลอื่น แก้

  ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Symphysodon ที่วิกิสปีชีส์